สร้างสมดุลโควิด…ทางรอดภาคท่องเที่ยว

Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP
บทบรรณาธิการ

Phuket Sandbox โครงการนำร่องเปิดเมืองภูเก็ตรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนครบ 2 โดสโดยไม่ต้องกักตัว ตั้งแต่ 1 ก.ค. 2564 เข้าสู่เดือนที่ 2 แต่ยังต้องลุ้นว่ายอดผู้ติดเชื้อภายในจังหวัดที่พุ่งขึ้นถึงจุดวิกฤต เตียงรองรับผู้ป่วยเริ่มมีปัญหา ต้องปรับอย่างไรให้สาธารณสุขไปรอด ภูเก็ตแซนด์บอกซ์เดินหน้าต่อได้ มีแนวทางใดจะสามารถควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้ภาคท่องเที่ยวที่เพิ่งจะรีสตาร์ตขับเคลื่อนต่อได้ไม่สะดุด

สำนักงานสาธารณสุข จ.ภูเก็ต ระบุว่า โควิดสายพันธุ์เดลต้าที่ระบาดหนักอยู่ขณะนี้แม้จะฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มก็ยังเอาไม่อยู่ แค่ผ่อนหนักเป็นเบา ช่วยป้องกันไม่ให้อาการป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิต แต่ไม่สามารถป้องกันเชื้อเดลต้าที่แพร่กระจายได้รวดเร็ว

ขณะที่นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการ จ.ภูเก็ต ส่งสัญญาณว่าทางออกในการแก้ปัญหาคือการอยู่กับโควิดให้ได้ เหนือสิ่งอื่นใดต้องรักษาแซนด์บอกซ์เพราะเป็นทางรอดเดียวที่ทำให้เศรษฐกิจภูเก็ตฟื้น

ขณะที่สมุย พลัส โมเดล ซึ่งต่อยอดจากโมเดลภูเก็ตแซนด์บอกซ์ เปิดเกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า รับนักท่องเที่ยวตั้งแต่ 15 ก.ค. 2564 ล่าสุดสำนักงานสาธารณสุข จ.สุราษฎร์ธานี รายงานว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ใน 3 เกาะ ตั้งแต่ 2 เม.ย.-6 ก.ย. 2564 เพียง 3 รายเท่านั้น โอกาสที่สมุย พลัสฯ จะพลิกสถานการณ์ภาคการท่องเที่ยวและบริการในพื้นที่ให้ฟื้นคืนกลับมาจึงน่าจะเข้าใกล้ความจริง

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แค่ จ.ภูเก็ต เกาะสมุย พะงัน กระบี่ ฯลฯ ที่ฝากความหวังให้ภาคท่องเที่ยวปลุกรายได้ เมืองท่องเที่ยวอีกหลายแห่งต่างผลักดันแผนเปิดรับนักท่องเที่ยวไทย ต่างชาติ ส่วนใหญ่กำหนดวันดีเดย์ 1 ต.ค.นี้ แม้ชื่อเรียกขานจะต่างกัน

แต่เป้าหมายคือการเปิดเมือง กระตุ้นการท่องเที่ยว อาทิ เชียงใหม่แซนด์บอกซ์ หัวหิน รีชาร์จ รีสตาร์ต หาดใหญ่แซนด์บอกซ์ ด่านนอกแซนด์บอกซ์ เกาะช้าง ทูเกเทอร์ ฯลฯ

เพราะแรงกดดันและความจำเป็นทางเศรษฐกิจ วิกฤตรายได้ ปัญหาปากท้อง คนตกงาน ฯลฯ ซึ่งลามสู่วิกฤตทางสังคม ทำให้ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด ผลพวงจากโควิดที่ยืดเยื้อและมีแนวโน้มว่าจะอยู่กับเราอีกนาน การปรับตัวในการใช้ชีวิต ทำงาน ภายใต้ความปกติวิถีใหม่ (new normal) อยู่ร่วมกับโควิดให้ได้ จึงเป็นทางเลือกเดียวในเวลานี้

อาจไม่มีสูตรตายตัวว่ากติกาเปิดเมืองแต่ละพื้นที่ต้องเข้มข้นมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับปัจจัยทั้งทางกายภาพ ประชากร สภาพแวดล้อม ฯลฯ แต่หากรัฐบาลมีเกณฑ์กลาง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการความเสี่ยงทั้งด้านเศรษฐกิจ สุขอนามัย ในระดับที่เหมาะสม

แต่ละพื้นที่ควบคุมดูแลให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตามกฎเคร่งครัด ก็จะรอดวิกฤตเศรษฐกิจ ลดความเสี่ยงด้านสุขอนามัย แม้โควิดจะไม่เป็นศูนย์