ประยุทธ์กับนายกฯ คนใหม่

FILE PHOTO : THAI ROYAL GOVERNMENT /
ชั้น 5 ประชาชาติ
ณัฐวุฒิ ประชาชาติ

นาทีนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม หวั่นไหวสั่นคลอนมากที่สุดนับตั้งแต่รัฐประหาร 2557

แม้ดูจากภาวะแวดล้อม เก้าอี้ผู้นำประเทศดูเหมือนยังมั่นคง แต่เกิดอาการ “กร่อนใน”

กับสถานการณ์ใหม่ มีการพูดถึงระยะเวลาดำรงตำแหน่งของ “พล.อ.ประยุทธ์” ใกล้ครบ 8 ปีแล้วหรือไม่

เพราะบัดนี้ พล.อ.ประยุทธ์ได้เป็นนายกรัฐมนตรียุค คสช.มาแล้ว 5 ปี รวมกับปัจจุบันที่เป็นนายกฯหลังเลือกตั้งอีก 2 ปี รวมแล้ว 7 ปี

ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158 วรรคสี่ ที่บัญญัติว่า “นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง”

ทว่า ปัญหายังอยู่ที่การตีความว่าตำแหน่งนายกฯของ พล.อ.ประยุทธ์ เริ่มนับตอนไหน ซึ่งขณะนี้มี 3 แนวทาง

หนึ่ง นับเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯรอบสอง แต่เป็นนายกฯภายหลังการเลือกตั้ง 2562 ตามรัฐธรรมนูญใหม่คือ 5 มิถุนายน 2562 จึงไม่นับการเป็นนายกฯยุค คสช. เท่ากับยกประโยชน์ให้จำเลย

สอง นับภายหลัง การมีผลบังคับใช้ของรัฐธรรมนูญ 2562 เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 อันเป็นจุดเริ่มต้นของรัฐธรรมนูญใหม่

สาม นับที่จุดเริ่มต้น ของการเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อ 24 สิงหาคม 2557 ตั้งแต่ยุค คสช.

เรื่องนี้ “ธนกร วังบุญคงชนะ” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ได้รับมอบหมายให้มาตอบคำถามสื่อมวลชนหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีแทน “พล.อ.ประยุทธ์” ถึงกรณีนี้ว่า นายกฯชี้แจงว่าต้องไปศึกษาดูว่านายกฯดำรงตำแหน่งมา 2 ครั้งด้วยรัฐธรรมนูญฉบับใด ซึ่งมีฝ่ายกฎหมายพิจารณาเรื่องนี้อยู่แล้ว นายกฯจะต้องวิตกทำไมเป็นเรื่องของรัฐธรรมนูญ

ดังนั้น อาจมี “มือดี” ไปยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความวินิจฉัยการ “นับอายุตำแหน่ง” ของ พล.อ.ประยุทธ์

ร้ายแรงที่สุด พล.อ.ประยุทธ์อาจอยู่ได้แค่ปีเดียวคือสิงหาคมปีหน้า เบากว่านั้นสามารถอยู่ในตำแหน่งได้ถึง 2568 หรือสามารถเป็นนายกฯได้ถึง 2570

ต่างจากผู้นำในต่างประเทศที่ทยอยผลัดใบผลัดเปลี่ยนกันหลายประเทศ นับตั้งแต่โควิด-19 ระบาดทั่วโลก เพื่อให้ผู้นำคนใหม่เข้ามาแก้ปัญหา

เช่น ญี่ปุ่น ตั้งแต่โควิด-19 เปลี่ยนนายกฯมาแล้ว 2 คนคือ ชินโสะ อาเบะ ลาออกเมื่อ 28 สิงหาคม 2563 ระบุว่ามาจากปัญหาสุขภาพ จากนั้นโยชิฮิเดะ ซูงะ รับตำแหน่งนายกฯต่อ แต่อยู่ได้เพียง 1 ปี ก็ประกาศลาออกจากตำแหน่ง หลังจากคะแนนความนิยมดิ่งเหวจากพิษแก้ปัญหาโควิด-19 และเตรียมเลือกนายกฯคนใหม่ 4 ตุลาคมนี้

16 สิงหาคมที่ผ่านมา นายกฯมาเลเซีย มูห์ยิดดิน ยัสซิน ก็ทูลเกล้าฯขอลาออกจากตำแหน่งเปิดทางให้นายกฯคนใหม่เข้ามาทำหน้าที่แก้ปัญหาโควิด-19 อีก 4 วันต่อมา “อิสมาอิล ซาบรี ยาค็อบ” จากพรรคอัมโน (UMNO) ก็ถูกเลือกให้มาเป็นนายกฯคนใหม่

ที่เยอรมนี อังเกลา แมร์เคิล วางมือจากการเป็นนายกรัฐมนตรีอย่างยาวนาน 16 ปี ผลการเลือกตั้ง “โอลาฟ โชลซ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเยอรมนี จากพรรคโซเชียลเดโมแครต SPD ฝ่ายซ้าย-กลาง ชนะเลือกตั้งและเตรียมฟอร์มรัฐบาลชุดใหม่

สหรัฐอเมริกาก็เปลี่ยนประธานาธิบดีจาก โดนัลด์ ทรัมป์ กลายเป็น “โจ ไบเดน” พลิกสถานการณ์จากที่สหรัฐเพลี่ยงพล้ำให้กับไวรัสโควิด-19 จนปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายลงมากขึ้น คนออกมาใช้ชีวิตปกติมากขึ้น

“จาตุรนต์ ฉายแสง” นักการเมืองรุ่นเก๋าเปรียบเทียบอย่างเห็นภาพว่า ความต่างวิกฤตโควิด-19 รอบนี้กับวิกฤตต้มยำกุ้ง ต้มยำกุ้งไม่ซับซ้อนมาก ภาค financial ได้รับผลกระทบพอลอยตัวค่าเงิน การส่งออกก็กลับมาอย่างรวดเร็วและแก้กันไปในขณะนั้น เราเพิ่งปฏิรูปการเมืองมาทำให้ระบบพรรคการเมือง ระบบรัฐสภา สามารถตอบสนองความต้องการของ
ประชาชนและเปิดรับความคิดเห็นที่กว้าง

แต่ขณะนี้ยากกว่าครั้งนั้น ปัญหาซับซ้อนกว่า ผลกระทบต่อประชาชนทุกระดับและรุนแรงมากกว่า อีกทั้ง การเมืองไม่เป็นตัวช่วยแก้ปัญหาได้เท่าที่ควร

“อย่างประเทศที่ประสบความสำเร็จในการรับมือกับโควิด-19 ดี ๆ เลือกตั้งผู้นำเขาชนะท่วมท้น แต่ถ้าล้มเหลวผู้นำเขาก็แพ้ไป เลือกพรรคใหม่ขึ้นมา การเมืองเป็นตัวทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปได้”

“แต่ประเทศไทย ส.ว. 250 คน ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปียังอยู่ ก็ยากไปอีกแบบ ทำให้การแก้ปัญหาของประเทศยิ่งแก้ยาก”

โอกาสการมีนายกฯคนใหม่ที่ไม่ใช่ “พล.อ.ประยุทธ์” จึงยาก…ยิ่ง