ทิศทาง “อุตฯยานยนต์ไทย” หลังโควิด

คอลัมน์ แตกประเด็น 
สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ 
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

 

แม้ยังไม่มีใครตอบได้ว่าโควิด-19 จะอยู่กับเราไปอีกนานแค่ไหน แต่ทุกชีวิตก็ยังคงต้องดำเนินต่อไปและเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับมัน ในช่วงที่ผ่านมาโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบกับทุกภาคส่วนของประเทศไทยเรา ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ เศรษฐกิจ อุตสาหกรรม สังคม และประชาชน ซึ่งเครื่องยนต์เดียวที่ยังคงขับเคลื่อนและช่วยพยุงเศรษฐกิจของไทยในตอนนี้ คือ “ภาคการส่งออก” โดยมีภาคอุตสาหกรรมเป็นกำลังหลักอยู่เบื้องหลัง ถึงแม้ว่าจะมีแรงงานในภาคอุตสาหกรรมติดเชื้อโควิด-19 อยู่บ้างก็ตาม ซึ่งภาครัฐควรเร่งฉีดวัคซีนให้กับแรงงานภาคอุตสาหกรรมโดยเร็วที่สุด เพื่อป้องกันเครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวสุดท้ายสะดุด

เมื่อพูดถึงเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจไปแล้ว จะขอพูดถึงเครื่องยนต์จริง ๆ กันบ้าง ในเดือนสิงหาคม 2564 เราเห็นสถิติที่ไม่สู้ดีนัก โดยพบว่า มียอดผลิตรถยนต์ 104,144 คัน ต่ำสุดในรอบ 13 เดือน ลดลงจากเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ร้อยละ 11.18 เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้มีการชะลอการผลิตรถยนต์บางรุ่น สาเหตุหลัก คือ การขาดชิป หรือเซมิคอนดักเตอร์ และชิ้นส่วนของรถยนต์

ส่วนยอดขายรถยนต์ในประเทศมี 42,176 คัน ต่ำที่สุดในรอบ 15 เดือน ลดลงจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้ว ร้อยละ 38.80 และลดลงจากเดือนกรกฎาคม 2564 ร้อยละ 19.58 ซึ่งการล็อกดาวน์ตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา ทำให้ลูกค้ากังวลรายได้ในอนาคต จึงถอนมัดจำและเลื่อนการรับรถ

ส่วนตัวเลขการส่งออกรถยนต์อยู่ที่ 59,571 คัน แม้ว่าจะต่ำที่สุดในรอบ 4 เดือน แต่ก็เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2563 ร้อยละ 3.78 ซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 35,737.02 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2563 ร้อยละ 3.20 ก็ถือว่าไม่ได้แย่ไปซะหมด

โดยกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท.ยังยืนยันเป้าเดิมว่า ปี 2564 ไทยจะสามารถผลิตรถยนต์ได้ 1,550,000-1,600,000 คัน โดยแบ่งเป็นผลิตเพื่อส่งออก 800,000-850,000 คัน และผลิตเพื่อขายในประเทศ 750,000 คัน ซึ่งหลังจากที่ภาครัฐคลายล็อกดาวน์เมื่อต้นเดือนกันยายน 2564 จะเห็นได้ว่ามีผู้คนเริ่มเข้าโชว์รูมรถยนต์และเข้าอู่บริการตรวจเช็กและซ่อมรถยนต์มากขึ้น ส่วนปลายปีนี้หากสถานการณ์ในประเทศเริ่มดีขึ้น และสามารถจัดงาน Motor Expo 2021 ได้ตามปกติ ก็คิดว่าน่าจะเป็นสัญญาณที่ดี ส่งผลให้ตัวเลขเป็นไปตามที่ตั้งเป้าไว้

แต่ถ้าจะให้ยอดผลิตรถยนต์ถึง 2 ล้านคัน ยอดขายภายในประเทศ 1 ล้านคัน ยอดส่งออก 1 ล้านคัน เท่ากับปี 2562 ก่อนเกิดโควิด-19 คงต้องใช้เวลาอีก 2-3 ปี เพราะนอกจากโควิด-19 ที่กลายพันธุ์แล้ว ยังมีเรื่องชิปหรือเซมิคอนดักเตอร์ที่ยังขาดแคลนรุนแรงอีกด้วย

ทีนี้มาดูสถานการณ์รถยนต์ไฟฟ้าในบ้านเรากันบ้าง หากย้อนไปในปี 2558 บ้านเรามีรถยนต์ไฟฟ้า (ไม่รวมไฮบริด) แค่ 50 คันเท่านั้น แต่ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 มีรถยนต์ไฟฟ้า 2,079 คัน เรียกว่าเติบโตแบบก้าวกระโดดทีเดียว มาดูว่าปีนี้กับปีก่อนเติบโตเท่าไหร่ในภาวะที่มีการระบาดของโควิด-19 และมีการล็อกดาวน์ทั้งสองปีเหมือนกัน โดย 8 เดือนปีนี้ขายรถยนต์ไฟฟ้าได้ 1,230 คัน ส่วน 8 เดือนปีที่แล้วขายได้ 982 คัน เติบโตร้อยละ 25.3 ในขณะที่ยอดขายรถยนต์ทุกประเภทเติบโตเพียงร้อยละ 2.4 เท่านั้น

แสดงว่าประชาชนเริ่มนิยมรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ถ้าสามารถทำให้ราคาเทียบเคียงกับในประเทศจีนได้ (คันละประมาณ 200,000 บาท) ก็น่าจะทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นได้

สำหรับแนวโน้มการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในบ้านเรานั้นยังคงค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากผู้ซื้อยังมีความกังวลเรื่องสถานีชาร์จไฟในปัจจุบันที่ยังมีไม่มากนัก ทำให้ยังไม่กล้าซื้อแม้ว่าส่วนใหญ่จะกลับไปชาร์จที่บ้านได้ก็ตาม ส่วนคนที่วางแผนจะซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้ ควรติดต่อการไฟฟ้าให้มาตรวจสอบสายไฟที่บ้านว่าเพียงพอที่จะใช้ได้ปลอดภัยหรือไม่ เมื่อชาร์จทั้งแบบช้าและแบบเร็ว และควรแยกสายไฟฟ้าที่จะติดตั้งเบ้าชาร์จจากสายไฟที่ใช้อยู่จะปลอดภัยกว่า