สังคมไร้เงินสด แบบ “ก้าวคนละก้าว”

คอลัมน์ สามัญสำนึก

โดย สุดใจ ชาญชาตรีรัตน์

ดูเหมือนเวลานี้ธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ จะแข่งขันดุเดือดเลือดพล่านมากกว่าใคร ๆ จากอุตสาหกรรมที่แข่งกันด้วย “ดอกเบี้ย” เพื่อช่วงชิงลูกค้าไม่ว่าจะเป็นดอกเบี้ยเงินฝากสูง-ดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำ แต่ปัจจุบันสมรภูมิการแข่งขันของแบงก์ช่างมีสีสันและดุเดือดด้วยเกมรบใหม่ แม้แต่อุตสาหกรรมสื่อสารที่เคยแข่งขันกันดุเดือดยังต้องหลีกทาง

เพราะตอนนี้ธนาคารพาณิชย์ยักษ์เล็กยักษ์ใหญ่กำลังเปลี่ยนเกมรบใหม่ เดินเข้าสู่สมรภูมิ “สังคมไร้เงินสด” ในการแย่งชิงร้านค้ารายย่อย ให้มาเปิดใช้บริการชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ด ด้วยข้อดีต่าง ๆ นานา นอกจากความสะดวกสบายในการรับและจ่ายเงินแล้ว ยังช่วยให้ร้านค้าต่าง ๆ ทำข้อมูลบัญชีรับจ่ายได้แบบอัตโนมัติ

ขณะเดียวกันธนาคารเจ้าของบัญชีก็จะเห็นข้อมูลธุรกรรมการขายสินค้าของร้านค้านั้น ๆ ได้ทันที แบบว่าต่อไปจะปล่อยกู้ก็อาจไม่ต้องขอเอกสารอะไร เพราะแบงก์เห็นอยู่แล้วว่ารายได้ของร้านค้า หรือพ่อค้าแม่ค้ารายนี้เป็นอย่างไรมีความสามารถในการชำระหนี้หรือไม่

ไม่ใช่แค่ร้านกาแฟ ร้านขายของชำ แต่ตอนนี้พ่อค้าแม่ค้าในตลาดสดเมืองไทย ร่วมถึงแผงขายลอตเตอรี่ ก็เริ่มมีการรับชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ดให้เห็นกันแล้ว

และอีกก้าวที่แบงก์พาณิชย์ใหญ่หลายรายกำลังซุ่มวางแผนขยายแนวรบ โดยเข้าหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กันแล้ว ก็คือการขยายเข้าสู่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซหรืออีมาร์เก็ตเพลซ เพราะถือเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างอีโคซิสเต็มของอุตสาหกรรมการเงินของแบงก์อีกทาง

เพราะปัจจุบันแบงก์ในหลายประเทศ โดยเฉพาะจีน ก็ขยายเข้าสู่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ถือเป็นการย้อนรอยยักษ์ไอทีอย่างอาลีบาบา เทนเซ็นต์ ที่ขยายแนวรบจากธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ต่อยอดเข้ามาเป็นผู้ให้บริการทางการเงินและตัดแบงก์ออกไปจากวงจรธุรกิจ

ธนาคารพาณิชย์จึงต้องหันมาสร้างอีโคซิสเต็มทางธุรกิจของตัวเองให้ตัวเองอยู่รอด และไม่ใช่แค่เพื่อให้ได้ค่าธรรมเนียมการขายเท่านั้น

แต่สิ่งที่แบงก์ต้องการคือ “ข้อมูล” ธุรกรรมการเงิน ข้อมูลการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภครายย่อยแต่ละคน

ข้อมูลเหล่านี้มีความสำคัญยิ่งของแบงก์เพื่อที่จะนำไปใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณาปล่อยกู้ต่อไป

และนี่เป็นภาพบางส่วนของอุตสาหกรรมการเงินที่อยู่ในช่วงจุดเปลี่ยน ที่ผู้บริโภคก็ต้องตั้งรับและตั้งหลักให้ดี กับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้

เพราะในยุคสังคมไร้เงินสดที่ธนาคารทั้งหลายพยายามแย่งชิงฐานลูกค้าด้วยเกมรบใหม่ในโลกยุคดิจิทัล อำนวยความสะดวกกันเต็มที่กับการจับจ่ายในทุกสิ่ง ทุกที่ทุกเวลา จนกลายเป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายตลอดเวลา

ทำให้เกิดคำถามว่า แล้วแบบนี้จะยิ่งทำให้เกิดปัญหาการใช้จ่ายเกินตัว หรือขาดวินัยในการออมหรือไม่ เพราะแม้จะไม่มีเงินสดในมือก็ยังซื้อสินค้าได้ทุกที่ทุกเวลา เพราะมองอีกด้านบางครั้งการทำอะไรที่ไม่สะดวกบ้าง หรือมีอุปสรรคบ้างก็มีข้อดี อย่างน้อยก็ทำให้ทุกคนได้มีเวลาคิดหรือไตร่ตรองให้ดีก่อนว่าจำเป็นหรือไม่

แม้ว่าสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจะอธิบายว่า เป็นการตอบสนองต่อพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปในยุคดิจิทัล

แต่สมรภูมิรบใหม่ที่เกิดขึ้น ปัจจัยหลักก็มาจากมุมมองการปรับตัวของแบงก์เพื่อความอยู่รอดในยุคของโลกดิจิทัล ที่เห็นประโยชน์และโอกาสที่จะเกิดขึ้นมากมาย ซึ่งเชื่อว่าจะมีผลกระทบต่อผู้บริโภคไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะในยุคบริโภคนิยมที่ประเทศไทยยังมีปัญหาสัดส่วนของ “เงินออม” ต่ำมาก หรือแทบจะไม่มีเพราะส่วนใหญ่มีแต่ “หนี้” ทำให้หนี้ครัวเรือนของประเทศสูงอยู่ในเวลานี้

ดังนั้น สิ่งสำคัญที่ ธปท.และแบงก์ต้องไม่ลืม คือการก้าวเข้าสู่สังคมไร้เงินสด ต้องก้าวไปพร้อม ๆ กับการสร้างวินัยทางการเงิน วินัยการออมของคนในประเทศด้วย