#MeToo ไทยแลนด์

Photo by pexels
สามัญสำนึก
ชุมฉันท์ ชำนิประศาสน์

ตอนเกิดกระแส #MeToo ครั้งใหญ่ที่เริ่มในอเมริกาเมื่อ 5 ปีก่อน จากคดี ฮาร์วีย์ ไวน์สตีน ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ฮอลลีวูดที่ทรงอิทธิพล ถูกบรรดาผู้หญิง รวมถึงดาราสาวหลายคนทยอยเปิดโปงว่ามีพฤติกรรมล่วงละเมิดทางเพศ เวลานั้นฝั่งประเทศไทยไม่ได้อินกับกระแสนี้มากนัก ทั้งกับตัวข่าวและกระแสย้อนดูสังคมตัวเอง

#MeToo ไม่เป็นเพียงกระแสที่ผู้หญิงกล้าเปิดเผยเรื่องราวว่า “ฉันก็โดนเหมือนกัน” ในกรณีถูกล่วงละเมิดทางเพศ แต่หมายถึงการเรียกร้องความยุติธรรม ซึ่งผู้กระทำต้องไม่ลอยนวล หรือลอยหน้าลอยตา อยู่ในสังคม หากต้องชดใช้กรรมในชาตินี้ไม่ต้องรอชาติหน้า

5 ปีมานี้สังคมผู้ชายเป็นใหญ่ของเอเชียเกิดเคสใหญ่ ๆ จากกระแส #MeToo อยู่บ้าง ที่เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และจีน ซึ่งเหยื่อกล้าเผยตัวเอาเรื่องคนที่รังแก คดีลงเอยทั้งสองด้าน มีทั้งผู้กระทำถูกตัดสินลงโทษ จ่ายค่าปรับ จำคุก และมีทั้งโจทก์ที่ต้องผิดหวัง

ส่วนไทยมีการเปิดเผยเรื่องแบบนี้บ้างในบางอาชีพ รวมถึงวงการสื่อมวลชน ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับคดี #MeToo ในต่างประเทศ คือผู้ลงมือเป็นผู้ชายที่มีตำแหน่งหน้าที่การงานสูงกว่าเหยื่อที่ทำงานอยู่ด้วยกัน หรือเป็นครูที่ใช้อำนาจกับเด็ก

กระทั่งเกิดคดีครึกโครมในปัจจุบันจนเป็นข่าวในสื่อต่างประเทศตอนนี้ที่อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ถูกกล่าวหาล่วงละเมิดผู้หญิงหลายคน ซึ่งกองบัญชาการตำรวจนครบาลเผยว่า มีผู้แจ้งความแล้วประมาณ 14-15 คน ในข้อหาอนาจาร ข่มขืน และพรากผู้เยาว์

ความพิเศษของคดีนี้อยู่ที่ผู้ถูกกล่าวหามีสถานะดีทางสังคม ครอบครัวดูดี การศึกษาดี บุคลิกหน้าตาก็ดี แต่พฤติกรรมที่ถูกแฉและแจ้งความนั้นเป็นด้านมืดที่แตกต่างกับด้านสว่างอย่างสิ้นเชิง

จึงเป็นหัวข้อสนทนาที่น่าติดตามว่าอะไรถึงทำให้มาถึงจุดนี้ได้

คดีแบบนี้น่าจะใช้เวลาอีกพักใหญ่ในการสอบสวนพิสูจน์หลักฐานและเข้าสู่กระบวนการต่อสู้ในศาล ซึ่งยังคาดเดาไม่ได้ว่าจะลงเอยอย่างไร

แต่อย่างน้อย กระแส #MeToo ได้รับความสนใจในสังคมมากขึ้นกว่าเมื่อ 5 ปีก่อนอาจช่วยผลักดันประเด็นเรื่องการพัฒนาสังคมที่เท่าเทียมกันมากขึ้น อย่างน้อยละครที่มีเนื้อหาโรแมนติกโหดแต่มักได้รับความนิยม ว่าสุดท้ายเหยื่อก็เออออห่อหมกใช้ชีวิตกับผู้ชายที่กระทำย่ำยีตนอย่างแฮปปี้เอ็นดิ้ง ถ้ามาฉายตอนนี้ก็คงจะมีทัวร์ลงกันบ้าง

หรือต่อไป ไทยแลนด์อาจมีทีมสำรวจและศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังเหมือนในต่างประเทศ หลังกระแส #MeToo มีการวิจัยด้านผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจในภาพใหญ่ด้วย

เว็บไซต์ Institute Economic Thinking เผยแพร่รายงานเรื่อง “$MeToo ค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจจากการล่วงละเมิดทางเพศ” เมื่อปี 2561 ระบุถึงค่าเสียหายจากกรณีล่วงละเมิดทางเพศในรัฐบาลกลางสหรัฐ ตั้งแต่เมื่อปี 2537 ออกมาเป็นตัวเลข 327 ล้านดอลลาร์ วัดจากการลาออก ลาป่วย และลดผลผลิตการทำงานลง (เนื่องจากเกิดแผลในใจ) ของบรรดาผู้ถูกล่วงละเมิด

ส่วนงานวิจัยระยะหลังของคณะนักสังคมวิทยา พบว่าการล่วงละเมิดทางเพศส่งผลต่อผู้หญิงในด้านเศรษฐกิจอย่างชัดเจน โดยร้อยละ 80 ของคนที่ถูกล่วงละเมิด จะออกจากงานภายใน 2 ปี และเสียโอกาสในการสร้างความก้าวหน้า

คดีใหญ่ครึกโครมของสหรัฐอีกคดี นายแลร์รี นาสซาร์ อายุ 54 ปี อดีตแพทย์ประจำทีมยิมนาสติกทีมชาติสหรัฐ ล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กสาวนักกีฬานับร้อยคน ถูกพิพากษาจำคุกในที่สุดนานถึง 175 ปี เพิ่งมีประเด็นเรียกร้องค่าเสียหายเมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2565 เมื่อเหยื่อ 13 คนของคดีนี้ ยื่นฟ้องตำรวจเอฟบีไอ 130 ล้านดอลลาร์ ฐานละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ไม่สอบสวนให้จริงจัง เท่ากับซ้ำเติมเหยื่อให้ทุกข์ทรมานหลายปีกว่าจะได้ความยุติธรรม

กรณีแบบนี้จึงไม่ใช่เรื่องเฉพาะบุคคล เฉพาะกลุ่มอาชีพ หรือเฉพาะประเทศ กระแส #MeToo อาจจะมาช้า แต่เมื่อมาแล้วจะไม่จบง่าย