วิธีสร้าง “คน“ ศิริราช คิดถึงส่วนรวม-ซื่อสัตย์-รับผิดชอบ

ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล
ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล

ปี 2565 ถือเป็นก้าวสำคัญของโรงพยาบาลศิริราช และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เนื่องเพราะหลังจาก “ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล” ขึ้นดำรงตำแหน่งคณบดีคนใหม่ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2565 ด้วยการรับไม้ต่อจาก “ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา” ที่หมดวาระตั้งแต่เดือน ก.ย. 2565

“ศ.นพ.อภิชาติ” ประกาศเป้าหมายใหม่อย่างชัดเจนว่าจะนำพาศิริราชก้าวสู่ Smart Hospital พร้อมยกระดับการรักษา และให้บริการแก่ประชาชนดีขึ้น อีกทั้งยังวางเป้าหมายให้คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เป็นโรงเรียนแพทย์อันดับหนึ่ง ผลิตบุคลากรทางการแพทย์ที่มีจรรยาบรรณ และมีทักษะการเป็นผู้นำสูง

ทว่าก่อนเข้าดำรงตำแหน่งคณบดีคณะแพทยศาสตร์ “ศ.นพ.อภิชาติ” ทำงานกับศิริราชมาเป็นระยะเวลามากกว่า 35 ปี ทั้งยังเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัดที่ศิริราช รวมถึงเคยเป็นแพทย์ผ่าตัดกระดูกเนื้อเยื่อ และผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งเนื้องอกกระดูกมาตั้งแต่ปี 2530

“ภารกิจของผมคือดูแลคนไข้ ดูแลชีวิตของคน พร้อมกับสอนนักศึกษาแพทย์ให้ออกไปดูแลคนไข้ในทุก ๆ พื้นที่ของประเทศไทย สิ่งที่ผมพยายามปลูกฝังนักศึกษาแพทย์ทุกคนคือการเป็นแพทย์นั้นใคร ๆ ก็รัก เราคือผู้ให้ คนไข้คือผู้ที่มีความยากลำบาก เขาถึงมาหาเรา

ดังนั้น จึงต้องระลึกเสมอว่าเราเป็นผู้โชคดีที่ได้ช่วยชีวิตเขา แม้ว่าอาชีพนี้จะมีความเหนื่อยยาก ลำบาก ควบคุมยากในบางกรณี แต่เราต้องเห็นใจ เข้าใจทุกชีวิต สิ่งเหล่านี้คือผมพยายามสอนลูกศิษย์เสมอ และสิ่งที่ศิริราชปลูกฝังลูกศิษย์ทุกคนคือเมื่อไปไหนก็อย่าลืมเอาใจศิริราชไปด้วย”

Advertisment

ศิริราชชูกลยุทธ์ “AIR” สร้างคน

“ศ.นพ.อภิชาติ” กล่าวต่อว่า หัวใจหลักที่คนศิริราชยึดมั่นทั้งองค์กร ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษา บุคลากรด้านต่าง ๆ คือ “AIR” ซึ่งมาจากตัว R คือ responsibility หรือความรับผิดชอบ ทุกคนต้องรู้ว่างานของตนเองคืออะไร ต้องทำงานของตนเองให้ดีที่สุดด้วยทักษะความรู้ ประสบการณ์ที่มี

ตามมาด้วย I คือ intregity ความซื่อสัตย์ สุจริต บนฐานข้อมูลที่เป็นจริง และ A คือ altalism การคิดถึงประโยชน์ส่วนรวม ดังนั้น ไม่ว่าจะทำอะไรคนศิริราชต้องนึกถึงประชาชน เพราะเราต้องการสร้างความเชื่อมั่นให้กับองค์กรของเรา

“ผมเข้ามารับไม้ต่อจากนายแพทย์ประสิทธิ์ ภารกิจที่ผมดำเนินต่อจากนี้คือการเพิ่มคุณค่า และการให้บริการที่เป็นเลิศกับผู้ป่วย ด้วยการเสริมเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาช่วยดูแลคนไข้ และเทคโนโลยีนั้นต้องมีความเหมาะสม แม่นยำ และคุ้มค่า

อีกทั้งยังต้องเป็นโรงเรียนแพทย์ที่สร้างหรือผลิตบัณฑิตแพทย์ให้มีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์ มีจริยธรรม และเมื่อออกไปปฏิบัติหน้าที่ ไม่ว่าจะอยู่ตรงไหนของประเทศไทย เขาจะต้องภาคภูมิใจในฐานะนักศึกษาแพทย์ของศิริราช”

Advertisment

เติมผู้นำสร้างบัณฑิตแพทย์

ในส่วนของการสร้างบัณฑิตแพทย์ “ศ.นพ.อภิชาติ” กล่าวว่า ปัจจุบันโลกมีการเปลี่ยนแปลงเยอะมาก ทุกอาชีพต้องปรับเปลี่ยนบทบาท ดังนั้น คนที่เรียนแพทย์จบไปต้องมีทักษะความเป็นแพทย์ที่สามารถดูแลคนไข้ได้ทุกโรค คือต้องมีทักษะในการคิดวิเคราะห์ วินิจฉัย โดยการใช้ข้อมูลที่ได้จากการซักประวัติ ตรวจร่างกาย ส่งห้องปฏิบัติการที่เหมาะสม ให้ยาที่เหมาะกับโรค ไม่ทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะแทรกซ้อน

ถ้าเป็นแพทย์ผ่าตัดก็ต้องผ่าตัดดี แก้ไขได้ รู้จักกายวิภาคทั้งก่อน และหลังผ่าตัด นอกจากนั้น จะต้องรู้วิธีว่าถ้าเกิดข้อแทรกซ้อนแล้ว จะรักษาอย่างไร แน่นอนว่าถ้าไม่รู้ หรือไม่มีความสามารถต้องรู้จักวิธีการส่งต่อไปในที่ ที่เขามั่นใจว่าจะดูแลคนไข้ได้ นี่คือทักษะพื้นฐานของการเป็นแพทย์

“สิ่งที่เพิ่มเติมคือทักษะซอฟต์สกิล ผมอยากให้นักศึกษาแพทย์ทุกคนมีความเป็นผู้นำ สามารถตัดสินใจได้ดี อยากสอนให้รู้จักการทำงานเป็นทีม เพราะความเป็นแพทย์ไม่มีทางที่จะทำงานคนเดียวได้ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ด้านไหนก็ต้องทำงานกับพยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล นักกายภาพบำบัด นักสังคมสงเคราะห์

เพื่อดูแลคนไข้อย่างต่อเนื่อง และรู้จักการสื่อสารจะพูดกับญาติผู้ป่วยอย่างไร และที่สำคัญต้อง active learning เรียนรู้ตลอดเวลา เพราะปัจจุบันเทรนด์ของโลกเปลี่ยน ไม่ว่าจะอาชีพไหนต้องหมั่นเรียนรู้เพิ่มเติมทักษะอยู่เรื่อย ๆ”

อีกหนึ่งทักษะที่สำคัญคือ mega skills เป็นสกิลที่จะช่วยให้เรามีความก้าวหน้าในชีวิต หมายความว่าเราต้องรู้จักตัวเราเองว่ามีจุดอ่อน จุดแข็งอะไร ต้องการอะไร เมื่อเรารู้จักตัวเราแล้ว เราถึงก้าวข้ามออกไปข้างนอก เพื่อไปช่วยเหลือคนอื่น ตรงนี้เป็นทักษะที่คนยังพูดถึงไม่มาก และเมื่อเรารู้จักตนเองแล้ว

สุดท้ายเมื่อเราผิดพลาด เกิดปัญหาจะต้องรีบแก้ไข เพื่อให้กลับมาเป็นตัวของตนเองให้ได้มากที่สุด จะต้องไม่จมปลักกับปัญหานั้นอยู่นาน เราต้องมีความฉับไวในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นทันที”

ขยายศูนย์ผู้สูงอายุที่สมุทรสาคร

อีกภารกิจสำคัญคือการขยายพื้นที่บริการ “ศ.นพ.อภิชาติ” เล่าเรื่องนี้ให้ฟังว่าศิริราชมีคนไข้มหาศาล ปัจจุบันมีคนไข้เข้ามาใช้บริการที่โรงพยาบาลเฉลี่ยถึงวันละ 10,000 คน หรือประมาณ 4.2 ล้านคนใน 1 ปี เราพยายามวางแผนการรักษาอย่างต่อเนื่องว่าจะทำอย่างไร

เพราะนอกจากที่ศิริราชแล้ว ยังมีโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ และศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก ซึ่งตั้งใจทำให้เป็นศูนย์การรักษาโรคเฉพาะทาง เช่น ศูนย์อุบัติเหตุ แต่การจะเป็นศูนย์อุบัติเหตุได้ ต้องมีความพร้อมทั้งคน และระบบ เช่น ความพร้อมของแพทย์ ต้องมีคลังเลือดเพียงพอ มีพยาบาลที่มีทักษะดูแลคนไข้ฉุกเฉินได้ และมีไอซียู มีห้องผ่าตัดที่พร้อม

ที่สำคัญ อีกอย่างคือเราอยากพัฒนาให้เป็นศูนย์อื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง อันเป็นแนวทางที่เราจะก้าวต่อไป นับว่าเป็นความท้าทายอย่างมาก

“ในปี 2566 เราจะขยายอีกพื้นที่เรียกว่าศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุระดับชาติที่ จ.สมุทรสาคร ตรงนี้จะเป็นที่รองรับผู้สูงอายุที่เคยเป็นผู้ป่วยหนักจากศิริราชมาอยู่ที่นี่ เพื่อทำการฟื้นฟู เพราะคนไข้บางรายไม่สามารถทรงตัวได้ แต่เนื่องจากที่ศิริราชมีจำนวนคนไข้มาก

เราจึงอยากให้มีสถานที่รองรับเฉพาะคนที่มีอาการหนัก มีการวางแผนว่าจะให้ศูนย์ผู้สูงอายุเป็นแหล่งฟื้นฟูผู้ป่วย นอกจากนี้ ยังตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะเป็นศูนย์สอนลูกหลานให้รู้จักวิธีดูแลพ่อแม่ของเขา เพื่อจะได้มีพื้นฐาน มีศาสตร์ในการดูแลผู้สูงอายุอย่างแท้จริง”

โดยศูนย์ผู้สูงอายุแห่งนี้ “คุณวารุณี อยู่พูนทรัพย์” เป็นผู้ใจดีมอบที่ดินให้ 24 ไร่ พร้อมงบประมาณ 200 ล้านบาท ท่านระบุว่าอยากให้ผลิตบุคลากรผู้เชี่ยวชาญดูแลผู้สูงอายุ เป็นศูนย์วิจัยนำเสนอรูปแบบการดูแลผู้สูงอายุที่ถูกต้อง และเป็นสถานที่สำหรับระยะฟื้นฟูผู้ป่วย ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ท่านอยากให้ทำ เราจึงพร้อมใจทำตามคำมั่นของผู้ให้

เพราะวิสัยทัศน์ของเรา อะไรที่มีประโยชน์ถ้าศิริราชทำได้ก็จะทำ ทำไม่ได้ก็ปฏิเสธ เพราะเงินทุกบาททุกสตางค์ที่คนบริจาคให้ผ่านศิริราชมูลนิธิ เราทำตามวัตถุประสงค์ผู้ให้ ดังนั้น ใครบริจาคจะต้องระบุวัตถุประสงค์ว่าอยากให้ช่วยใคร ช่วยคนไข้ ช่วยนักศึกษา ทำงานวิจัย หรือสร้างอาจารย์ เวลาเบิกจ่ายจะเบิกตามวัตถุประสงค์ของคนบริจาค

นอกจากนี้ ยังร่วมกับผู้ประกอบการศูนย์การค้า และห้างสรรพสินค้าบ้างแล้วในการขยายบริการรูปแบบใหม่ เพื่อรองรับกลุ่มคนไข้และประชาชนในทุกระดับ เพื่อเน้นการเข้าถึงง่ายในด้านบริการ และเป็นการดูแลในเชิงป้องกัน

“สิ่งสำคัญที่เรายึดมั่นคือไม่ว่าจะไปเปิดบริการที่ไหนสิ่งที่ต้องระมัดระวังคือแบรนด์ของเราต้องไม่ตกมาตรฐาน กล่าวได้ว่าแบรนด์ของศิริราชต้องไปพร้อมกับคนศิริราช คนต้องพร้อม คนของเราจบออกไป ต้องดูทักษะ ประสบการณ์ จิตสาธารณะ ระบบเป็นเรื่องง่าย แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือคน”

คนของศิริราชต้องมีความสุข

“ศ.นพ.อภิชาติ” กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า ศิริราชมีพันธกิจหลากหลาย แต่โดยรวมแล้วเราหวังจะเป็นสถาบัน เป็นองค์กรที่คนไทยเชื่อมั่น เราอยากเป็นผู้นำ สามารถชี้แนะสังคม เป็นต้นแบบด้านการแพทย์ เราไม่อยากให้ประชาชนเสียความศรัทธาในแบรนด์ของศิริราช การพัฒนาศูนย์ต่าง ๆ องค์ความรู้ต่าง ๆ เราต้องทำให้เกิดความเชื่อมโยงกัน ซึ่งภารกิจที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ อาจจะเหนื่อย

แต่ผมเชื่อว่าเหนื่อยกายไม่เท่าไหร่ ขอแค่บุคลากรทุกฝ่ายของเราอย่าเหนื่อยใจก็พอ เพราะผมอยากให้ทุกคนอยู่กับศิริราชอย่างมีความสุข และเติบโตไปพร้อมกัน