ไขข้อข้องใจ ผู้ประกันตน ม.33-39-40 เสียชีวิต รับสิทธิประโยชน์เท่าไหร่

ประกันสังคม

กองทุนประกันสังคมเป็นกองทุนที่ลูกจ้าง นายจ้าง และรัฐบาลเป็นผู้จ่ายเงินสมทบ โดยจะให้ความคุ้มครองผู้ประกันตนในกรณีอันเนื่องจากการทำงาน เช่น เจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ เสียชีวิต สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และว่างงาน โดยผู้ประกันตนมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 จะได้ความคุ้มครองต่างกัน

ทั้งนี้ กองทุนประกันสังคมได้ให้สิทธิประโยชน์คุ้มครองผู้ประกันตนมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 ในกรณีเสียชีวิต ที่ไม่ได้เกิดจากการทำงาน ดังนั้น เมื่อผู้ประกันตนถึงแก่ความตาย ทายาทผู้มีสิทธิ เช่น บุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย, สามี-ภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมาย, บิดา-มารดาที่จดทะเบียนสมรสกัน หากไม่ได้จดทะเบียนสมรสจะได้เฉพาะมารดา หรือบุคคลอื่นที่ผู้ประกันตนทำหนังสือระบุไว้ให้ได้รับร่วมกับทายาทผู้มีสิทธิ สามารถรับสิทธิประโยชน์เป็นค่าทำศพ เงินสงเคราะห์ และเงินบำเหน็จชราภาพ

ผู้ประกันตนมีกี่ประเภท

ผู้ประกันตนมาตรา 33 คือ ลูกจ้างที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ในวันเข้าทำงาน และทำงานอยู่ในสถานประกอบการที่มีลูกจ้าง ตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป

ผู้ประกันตนมาตรา 39 คือ ผู้ประกันตนที่ลาออกจากงานแต่ต้องการรักษาสิทธิประกันสังคมให้ต่อเนื่องโดยสมัครใจ และมีเงื่อนไขคือ ต้องนำส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน และออกจากงานไม่เกิน 6 เดือน ไม่เป็นผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีทุพพลภาพจากกองทุนประกันสังคม

ผู้ประกันตนมาตรา 40 คือ บุคคลที่มิใช่ลูกจ้างตามมาตรา 33 และมาตรา 39 ไม่เป็นข้าราชการหรือบุคคลที่ถูกยกเว้นตามกฎหมายประกันสังคม เรียกว่าผู้ประกันตนโดยอิสระ ที่ประกอบอาชีพอิสระต่าง ๆ เช่น ฟรีแลนซ์, วินมอเตอร์ไซค์, พ่อค้าแม่ค้า, อินฟูลเอนเซอร์ เป็นต้น

Advertisment

โดยผู้ประกันตนมาตรา 40 จะจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมด้วยตัวเอง ได้ 3 ทางเลือกคือ ดังนี้ จ่ายเงิน 70 บาท/เดือน รับสิทธิประโยชน์ 3 กรณี, จ่ายเงิน 100 บาท/เดือน รับสิทธิประโยชน์ 4 กรณี, และจ่ายเงิน 300 บาท/เดือน รับสิทธิประโยชน์ 5 กรณี

  • ทางเลือกที่ 1 ยอดเงินสมทบ 70 บาท/เดือน
  • ทางเลือกที่ 2 ยอดเงินสมทบ 100 บาท/เดือน
  • ทางเลือกที่ 3 ยอดเงินสมทบ 300 บาท/เดือน

เงินค่าทำศพ

ผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 ได้รับค่าทำศพ 50,000 บาท ซึ่งจะจ่ายให้แก่ผู้จัดการศพคือ บุคคลที่ผู้ประกันตนทำหนังสือระบุไว้ แต่หากผู้ประกันตนจะไม่ได้ระบุไว้ จะดำเนินการจ่ายให้กับผู้ที่จัดการศพจริง โดยต้องมีเอกสารระบุจากสถานที่จัดการศพ ทั้งนี้ ต้องได้จ่ายเงินสมทบอย่างน้อย 1 ใน 6 เดือนก่อนเดือนที่เสียชีวิต

ส่วนผู้ประกันตนมาตรา 40 จะได้รับเงินค่าทำศพไม่เท่ากัน ทั้งนี้ ผู้ประกันตนมาตรา 40 ต้องได้จ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่า 6 ใน 12 เดือน เว้นแต่กรณีเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ จ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่า 1 ใน 6 เดือน ก่อนเดือนที่เสียชีวิต ดังนี้

-ผู้ประกันตนทางเลือกที่ 1 (จ่ายเงินสมทบ 70 บาทต่อเดือน) และทางเลือกที่ 2 (จ่ายสมทบ 100 บาทต่อเดือน) จะได้รับค่าทำศพ 25,000 บาท และได้รับเพิ่ม 8,000 บาท เมื่อจ่ายเงินสมทบครบ 60 เดือนก่อนเสียชีวิต

Advertisment

-ผู้ประกันตนทางเลือกที่ 3 (จ่ายเงินสมทบ 300 บาทต่อเดือน) จะได้รับค่าทำศพ 50,000 บาท

เงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต

เงินส่วนนี้จะได้รับจากนายจ้างเพิ่มเติม โดยสิทธิ์นี้จะเป็นสิทธิ์สำหรับผู้ประกันตน มาตรา 33 และมาตรา 39 จะได้รับสิทธิเมื่อจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 เดือน ภายในระยะเวลา 6 เดือนก่อนถึงแก่ความตาย และมีเงื่อนไข โดยจะจ่ายให้ทายาทผู้มีสิทธิ ดังนี้

  • จ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 36 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 120 เดือน จะได้รับเงินสงเคราะห์ร้อยละ 50 ของค่าจ้าง เฉลี่ย 4 เดือน
  • จ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 120 เดือนขึ้นไป จะได้รับในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย 12 เดือนขึ้นไป

เช่น ผู้ประกันตนมาตรา 33 มีเงินเดือน 20,000 บาท จ่ายเงินสมทบให้ประกันสังคมแล้ว 120 เดือน ภายหลังเสียชีวิต ผู้ที่มีสิทธิรับสิทธิ จะได้รับเงินค่าทำศพ 50,000 บาท ส่วนเงินสงเคราะห์ได้รับในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้าง 20,000 บาท สะสมนาน 12 เดือน (20,000 บาท x 50% x 12 เดือน) เป็นเงิน 120,000 บาท รวมได้เงินจากประกันสังคม 170,000 บาท

ส่วนผู้ประกันตนมาตรา 40 ทางเลือกที่ 1 และทางเลือกที่ 2 จะได้รับเงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต หากส่งเงินสมทบ 60 เดือนขึ้นไป จะได้รับเงินสงเคราะห์ 8,000 บาท ทั้งนี้ หากผู้ประกันตนเสียชีวิตก่อนกำหนดตามกฎหมายประกันสังคม ทายาทผู้มีสิทธิจะได้รับประโยชน์ทดแทนเป็นเงินบำเหน็จชราภาพคืนให้ทายาท

เงินชราภาพ

เงินชราภาพประกันสังคม แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ เงินบำเหน็จชราภาพ กับเงินบำนาญชราภาพ โดยผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และมาตรา 39 เท่านั้นที่จะได้รับสิทธิ์ และจะได้รับสิทธิต่อเมื่อตรงตามเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่ง ประกอบด้วย 1.อายุครบ 55 ปีบริบูรณ์และความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง 2.เป็นผู้ทุพพลภาพ 3.เสียชีวิต มีหลักเกณฑ์การจ่ายเงิน ดังนี้

– บำเหน็จชราภาพ

กรณีผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบน้อยกว่า 12 เดือน จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเท่ากับจำนวนเงินสมทบเฉพาะในส่วนของผู้ประกันตนจ่ายให้กับประกันสังคม

กรณีผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 180 เดือน จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเท่ากับจำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนจ่ายให้กับประกันสังคม รวมกับส่วนของนายจ้างจ่ายสมทบ และผลประโยชน์ตอบแทน ตามยอดเงินชราภาพ

– บำนาญชราภาพ (เงินที่ทยอยจ่ายเป็นรายเดือนตลอดชีวิต)

กรณีผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบครบ 180 เดือน รับเงินบำนาญชราภาพรายเดือน 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย

กรณีผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบจ่ายเงินสมทบมากกว่า 180 เดือน รับเงินบำนาญชราภาพรายเดือนเพิ่ม 1.5% จากอัตรา 20% ในทุก 12 เดือน