คิดแบบ ‘โซเด็กซ์โซ่’ เขาทำเพื่อบริษัท บริษัทต้องดูแลเขาด้วย

อาร์อาร์โนด์ เบียเลคกิ
อาร์อาร์โนด์ เบียเลคกิ

ต้องบอกว่า “โซเด็กซ์โซ่ กรุ๊ป” เป็นบริษัทสัญชาติฝรั่งเศสที่ดำเนินธุรกิจการให้บริการ และสนับสนุนธุรกิจอย่างครบวงจร ตั้งแต่บริการต้อนรับ, บริการเกี่ยวกับอุปกรณ์ทางการแพทย์, บริการทำความสะอาด, บริการอาหาร รวมไปถึงการให้บริการผู้ดูแลผู้สูงอายุตามบ้าน ศูนย์รับเลี้ยงเด็ก และอื่น ๆ อีกมากมาย

ทั้งนั้น เพราะ “โซเด็กซ์โซ่” มีสำนักงานใน 53 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย ขณะเดียวกัน ก็มีพนักงานกว่า 422,000 คนทั่วโลก ทั้งยังให้บริการอาหารแก่ผู้บริโภคเฉลี่ย 100 ล้านคน/วัน ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่บริษัทนี้จะมีรายได้รวมกว่า 21.1 พันล้านยูโร

สำหรับประเทศไทย บริษัท โซเด็กซ์โซ่ ประเทศไทย จำกัด เริ่มดำเนินธุรกิจตั้งแต่ปี 2547 ปัจจุบันดำเนินธุรกิจ 3 กลุ่มหลัก ๆ ได้แก่ บริการด้านอาหาร, บริการด้านอาคาร ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับบริการด้านเทคนิค วิศวกรรมอาคาร และบริการทั่วไป รวมไปถึงการให้บริการด้านอุปกรณ์เทคโนโลยีทางการแพทย์

โดยมีพนักงานทั้งหมดประมาณ 4,000 คน และมี “อาร์อาร์โนด์ เบียเลคกิ” ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท โซเด็กซ์โซ่ ประเทศไทย จำกัด ขณะเดียวกัน เขายังดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ดูแลทั้งหมด 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย, สิงคโปร์, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, เวียดนาม และฟิลิปปินส์

นอกจากนั้น “อาร์โนด์ เบียเลคกิ” ยังได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลฝรั่งเศสให้เป็นประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาการค้าต่างประเทศของฝรั่งเศส ประจำประเทศไทยอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย ดังนั้น จึงไม่แปลกเมื่อถามคำถามแรกกับเขาว่า…ยุ่งไหม ?

“ยุ่งมาก” เขาตอบกลับมาอย่างรวดเร็ว

จากนั้น “อาร์โนด์ เบียเลคกิ” ก็เริ่มเล่าให้ฟังถึงภาพรวมของการบริหารธุรกิจในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ฟังว่า หากนับพนักงานทั้งหมดจาก 6 ประเทศที่ผมดูแลมีอยู่ประมาณ 1 หมื่นกว่าคน และมีรายได้รวมอยู่ประมาณ 8 พันล้านบาท ถามว่าเยอะไหม ก็เยอะ แต่เมื่อเทียบกับปี 2565 ถือว่าดีขึ้นมาก

“ตอนนี้สำนักงานใหญ่อยู่ที่สิงคโปร์ เพียงแต่ผมไม่ได้นั่งประจำการที่นั่น ผมอยู่ประเทศไทย แต่จะมีผู้บริหารของแต่ละภูมิภาครายงานมาที่ผม และเราจะแลกเปลี่ยนมุมมองธุรกิจกันทางออนไลน์ มีบ้างเหมือนกันที่ผมต้องบินไปสิงคโปร์ หรือประเทศอื่น ๆ บ้าง แต่พอหลังจากช่วงโควิด ผมว่าการบริหารจัดการง่ายขึ้น เพราะทุกคนคุ้นชินกับการประชุมทางออนไลน์หมดแล้ว”

ดังนั้น ถ้าถามว่ารายได้ของประเทศไทยเป็นอย่างไร ผมต้องบอกว่าตลอด 3 ปีที่เจอโควิด รายได้ไม่ได้ลดลงเลย กลับเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ เพราะตอนหลังคนมาใช้บริการที่โรงพยาบาลมากขึ้น ถ้าจะมียอดตกจริง ๆ คงตอนปิดประเทศ และบริษัทต่าง ๆ หันมา WFH มากขึ้น ตรงนี้ยอดขายหายไปบ้าง แต่พอเราทำ flexible model เพื่อเป็นทางเลือกในการนำเสนอลูกค้า เขาก็ค่อนข้างพอใจ

“ยกตัวอย่าง ช่วง WFH อาจมีคนมาทำงานจริงประมาณ 20% เราก็บริการอาหารเฉพาะแค่ 20% และเราคิดเขาในราคาเท่านี้ หรือพรุ่งนี้ถ้าผู้บริหารสั่ง WFH 100% แต่ภายในอาคารสำนักงานยังมีแม่บ้าน พนักงานรักษาความปลอดภัย ช่างประจำสำนักงาน ราคาจาก 100% ก็จะเหลือเพียง 30-40% แต่จะไม่เหลือศูนย์เปอร์เซ็นต์ ตรงนี้ทำให้ผู้บริหารมีทางเลือกมากขึ้น”

นอกจากนั้น “อาร์โนด์ เบียเลคกิ” ยังเล่าให้ฟังถึงบรรยากาศช่วงโควิด-19 ที่ประเทศฟิลิปปินส์ให้ฟังว่า…ที่นี่ลูกค้าหลัก ๆ ของเราคือกูเกิล ซึ่งช่วง 2-3 ปีผ่านมา พนักงาน WFH 100% และธุรกิจที่เราดูแลคือโรงอาหาร และโภชนาการ ซึ่งมีพนักงาน 3,000 กว่าคน พอผู้บริหารสั่ง WFH รายได้เหลือศูนย์เลย

“สิงคโปร์ก็เหมือนกัน ลูกค้าหลัก ๆ ของเราอยู่ตามสำนักงานใหญ่ ๆ ค่อนข้างเยอะ เพราะพนักงานออฟฟิศชอบทานอาหารที่โรงอาหาร ไม่เหมือนประเทศไทยที่ชอบออกไปทานอาหารกลางวันข้างนอก ดังนั้น พอพวกเขา WFH หายไปหมดเลย พอ ๆ กับโรงเรียนนานาชาติ พอสั่ง WFH รายได้กลายเป็นศูนย์เลย แต่ตอนนี้กลับมาสู่สภาวะปกติแล้ว”

“ผมมองว่าช่วงโควิดเป็นความท้าทายผู้บริหารหลายอย่าง ถ้าเราเห็นจากข่าวจะพบว่าหลายบริษัทเลิกจ้างพนักงานทันที โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจโรงแรม การท่องเที่ยว และการบริการ แต่สำหรับเราไม่ไล่พนักงานออกเลย ตรงกันข้าม เรากลับพยายามประคับประคอง แม้ช่วง 3-4 เดือนที่เขาไม่มีงานทำเลย เพราะธุรกิจทุกอย่างหยุดดำเนินการ ประเทศก็ปิด

แต่เราจ่ายเงินเดือนพนักงานประมาณ 50% ทั้ง ๆ ที่ช่วงนั้นรายได้เราก็ไม่มีเลย แต่คิดว่าทำอย่างไรถึงจะให้พนักงานอยู่ได้ ผมว่าเราคิดถูก พอถึงตอนนี้พนักงานก็ยังอยู่กับเรา และที่นี่พนักงานเทิร์นโอเวอร์น้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่ง”

“สำคัญไปกว่านั้น ผู้บริหารทุกคนจะไม่รับโบนัส แต่พนักงานที่อยู่หน้างานเราจ่ายให้เขาประมาณ 70-80% ของเงินเดือน ตอนนั้นขนาดช่วงแรก ๆ ของโควิดนะ เราอยากให้พวกเขา เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจกับพนักงานที่อยู่หน้างาน แม้ตอนนี้ที่ทุกอย่างเริ่มกลับสู่สภาวะปกติ เราก็พยายาม benchmark กับคู่แข่งในตลาด และไม่เฉพาะแต่ประเทศไทย แต่กับทั่วโลกด้วยว่าธุรกิจประเภทเดียวกันเขาให้สวัสดิการอะไรบ้าง เราจะให้แบบนั้นด้วย”

ส่วนในเรื่องของสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความหลากหลายทางเพศ การลาคลอด รวมไปถึงการทำประกันชีวิต “อาร์โนด์ เบียเลคกิ” กล่าวอย่างหนักแน่นว่า ตอนนี้กำลังศึกษากฎหมายทั้งหมด จนพบว่ากฎหมายแรงงานในประเทศไทยให้สิทธิลาคลอดกับผู้หญิงเพียง 45 วัน ขณะที่มาตรฐานโลกสามารถลาคลอดได้ถึง 90 วัน

“ปี 2566 ผมปรับเปลี่ยนทันที ทั้งยังให้สิทธิกับคู่สมรสที่เป็นเพศเดียวกันอีกด้วย ถ้าเขานำเด็กมาเลี้ยงเป็นลูกบุญธรรม และหากทำงานที่เดียวกัน ผมให้เขาเลือกเลยว่าใครคนใดคนหนึ่งจะลาเพื่อดูแลเด็ก 90 วัน ส่วนคู่สมรสเพศเดียวกันลาได้ 14 วัน ผมว่าโลกตอซีนนี้เปิดกว้างแล้ว และเราเองต้องยอมรับความหลากหลายทางเพศได้ด้วย พอเรามีนโยบายอย่างนี้ออกไป พนักงานมีความสุขในการทำงานมากขึ้นทันที”

“ส่วนปี 2567 จะมาดูเรื่องของประกันชีวิต เพราะปกติหากพนักงานเสียชีวิต ตามกรมธรรม์ที่ทำกันอยู่ทุกวันนี้จะจ่ายแค่ 1 ปี แต่หลังจากเรา benchmark กับคู่แข่งในตลาด และปีหน้าจะคุยกับบริษัทประกันชีวิต เพื่อหาทางเพิ่มวงเงินกรมธรรม์เป็น 200% เพราะเราอยากให้ครอบครัวของเขานำเงินส่วนนี้ไปใช้อะไรบ้าง หลังจากพ่อ แม่ พี่ น้องเป็นอะไรไป”

สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ แม้จะเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ “ผู้บริหาร” พยายามบริหารจัดการ แต่กระนั้น ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ เพราะนโยบายของ “โซเด็กซ์โซ่ กรุ๊ป” ให้ความสำคัญกับ “พนักงาน” เป็นอย่างมาก ดังนั้น กลุ่มประเทศอาเซียน 6 ประเทศที่ “อาร์โนด์ เบียเลคกิ” ดูแลพนักงานอยู่ จึงเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งสิ้น

“เขาทำเพื่อบริษัท บริษัทต้องดูแลเขาด้วย”