JobsDB เผยสำรวจ ตลาดแรงงานร้อนระอุ อนาคตการจ้างงานเปลี่ยน

JobsDB-ปก

เปิดผลสำรวจ 68% ของผู้ตอบแบบสอบถามในประเทศไทยได้รับข้อเสนองานหลายครั้งต่อปี และ 34% ได้รับการติดต่อทุกเดือน

วันที่ 3 มีนาคม 2566 SEEK (ซีค) บริษัทแม่ของแพลตฟอร์มหางานออนไลน์ชั้นนำของเอเชียอย่าง JobStreet (จ๊อบสตรีท) และ JobsDB (จ๊อบส์ดีบี) ร่วมกับ Boston Consulting Group (BCG) (บริษัท เดอะ บอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป จำกัด) และ The Network (เดอะ เน็ตเวิร์ค) เผยผลสำรวจใหม่ล่าสุดในหัวข้อ “สิ่งที่ผู้สมัครอยากให้ผู้ประกอบการรู้ : อนาคตแห่งการจ้างงาน และการสรรหาที่เปลี่ยนไป (What Job Seekers Wish Employers Knew : Unlocking the Future of Recruitment)

การสำรวจครั้งนี้ มีผู้ร่วมตอบแบบสอบถามรวม 97,324 คน จากอินโดนีเซีย ฮ่องกง มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และประเทศไทย

เศรษฐกิจถดถอยสวนทางตลาดแรงงาน

นางสาวดวงพร พรหมอ่อน กรรมการผู้จัดการ JobsDB Thailand (จ๊อบส์ ดีบี ประเทศไทย) กล่าวว่า แม้เศรษฐกิจจะชะลอตัว แต่ในปี 2566 ตลาดแรงงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และฮ่องกงยังคงคึกคัก ผู้ตอบแบบสอบถามยังคงรู้สึกมั่นใจที่จะมองหาโอกาสใหม่ ๆ แม้จะกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยอยู่บ้าง

โดยพบว่า 34% ของผู้ตอบแบบสอบถามกำลังมองหางานใหม่ ทั้งนี้ เหตุผล 3 อันดับแรกที่ทำให้ผู้สมัครงานเริ่มมองหางานใหม่คือ ต้องการมองหาตำแหน่งที่น่าสนใจกว่าหรือตำแหน่งสูงขึ้นกว่าเดิม (49%), งานที่ทำอยู่ปัจจุบันมีโอกาสในการเติบโตน้อย (30%) และเงินเดือนและสวัสดิการในปัจจุบันยังไม่น่าพอใจ (27%)

ซึ่ง 74% ของผู้สมัครงานทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และฮ่องกงได้รับการติดต่อเรื่องตำแหน่งงานใหม่ ๆ ปีละหลายครั้ง และ 36% ได้รับการติดต่อทุกเดือน แม้ว่าผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทยจะได้รับการเสนองานน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของทั่วโลกเล็กน้อย แต่ตลาดแรงงานยังค่อนข้างตื่นตัว

โดย 68% ของผู้ตอบแบบสอบถามในประเทศไทยได้รับข้อเสนองานหลายครั้งต่อปี และ 34% ได้รับการติดต่อทุกเดือน ซึ่งใกล้เคียงกับผู้ตอบแบบสอบถามทั่วโลก นอกจากนั้น 68% รู้สึกว่าตนมีอํานาจต่อรองสูงเมื่อมองหางาน

ข้อมูลเชิงลึก ประเทศไทย

แนวโน้มทั่วโลกที่นําเสนอไปก่อนหน้าสามารถใช้กับผู้สมัครงานในประเทศไทยได้ อย่างไรก็ตาม ข้อแตกต่าง
ที่น่าสนใจ คือ สิ่งที่ผู้สมัครต้องการเมื่อมองหางาน และมุมมองที่มีต่อกระบวนการสรรหาบุคคลากร

นางสาวดวงพรอธิบายว่า กระบวนการสรรหาที่คนไทยต้องการมีรายละเอียดบางอย่างที่แตกต่าง
จากค่าเฉลี่ยทั่วโลก ดังนี้

  • เปิดกว้างที่จะได้รับข้อเสนอจากบริษัทจัดหาบุคลากร
  • สมัครงานผ่านเว็บไซต์ขององค์กรมากกว่า
  • ต้องการทราบช่วงเงินเดือนล่วงหน้า ก่อนการสมัคร เช่น แจ้งในประกาศงาน
  • รู้สึกพึงพอใจมากกว่ากับผู้ประกอบการที่เปิดโอกาสให้เจรจาต่อรองข้อเสนอ

สำหรับประเทศไทย ผู้สมัครงานมากถึง 72% ต้องการการทำงานแบบ hybrid ซึ่งตัวเลขดังกล่าวสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั่วโลกถึง 18% และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และฮ่องกง 10%

“ตลาดแรงงานไทยนับเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคที่ตำแหน่งงานที่ได้รับการเสนองานบ่อยเป็นอันดับ 1 ไม่ใช่สายงานด้านไอที แต่เป็นสายงานผู้ใช้แรงงาน (58%) และภาคธุรกิจบริการ (57%)

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังคงต้องการบุคลากรในสายงานไอทีเป็นจำนวนมาก สะท้อนจากจำนวนการเสนองานต่อสัปดาห์ที่สูงที่สุดในประเทศไทย เนื่องจากธุรกิจในหลายอุตสาหกรรมล้วนปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเติบโตท่ามกลางการแข่งขันที่สูงขึ้นในปัจจุบัน” นางสาวดวงพรกล่าว