YouthSpark “ไมโครซอฟท์” ให้โอกาสผู้พิการ

เป็นที่ทราบว่าเทคโนโลยีส่งผลถึงทุกคนอย่างปฏิเสธไม่ได้ แต่กระนั้น ก็เถียงไม่ได้อีกเช่นกันว่าการเข้าถึงเทคโนโลยียังมีความเหลื่อมล้ำอยู่มาก แม้ประเทศไทยกำลังจะก้าวสู่ยุค 4.0 ก็ตาม

ไมโครซอฟท์ ในฐานะผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม และบริการด้านเทคโนโลยี และคลาวด์ระดับโลก จึงได้จัดทำโครงการ YouthSpark โดยมุ่งมั่นให้เยาวชนทุกคน และทุกกลุ่ม ได้เข้าถึง และรับโอกาสอย่างเท่าเทียมกันในเรื่องของการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ และทักษะเชิงดิจิทัล

โดยปี 2561 บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด มีแผนสนับสนุนเงินทุนจำนวน 3 ล้านบาท ผ่านการขยายโครงการ “YouthSpark” ที่สนับสนุนให้ทุกคนเข้าถึงเทคโนโลยี เพื่อส่งเสริม และเตรียมความพร้อมให้กับเยาวชน บุคคลทั่วไปได้รับทักษะ และความรู้เชิงดิจิทัลที่จำเป็น เพื่อสร้างให้เยาวชนเหล่านั้นเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันต่อการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศไทยต่อไป

“ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า YouthSpark เป็นโครงการระดับโลกของไมโครซอฟท์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชน เพราะเราเชื่อมั่นว่าเยาวชนทุกคนควรได้รับโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์อย่างเท่าเทียมกัน

“ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย จึงผนึกกำลังกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสถาบันเชนจ์ฟิวชั่น จัดอบรมทักษะด้านคอมพิวเตอร์ และการโค้ดดิ้งเบื้องต้นผ่านศูนย์ดิจิทัลชุมชนทั่วประเทศ โดยในปีนี้นับว่าดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 ทั้งยังตั้งเป้าหมายในการพัฒนาเยาวชนเพิ่ม 1,800 คน พร้อมกับจัดอบรมครูฝึกอีกจำนวน 1,200 คน”

“สำหรับปีนี้เป็นปีที่ 2 ที่ทางไมโครซอฟท์ดำเนินการร่วมกับภาคสังคม คือ มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อพัฒนาคนพิการ ในการสนับสนุนให้เยาวชนผู้พิการที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล หรือยังขาดโอกาสในการเข้าถึงการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีเข้าร่วมโครงการ เพื่อเปิดโลกทัศน์ในการสร้างโอกาสทางอาชีพ”

นอกจากนั้น “ธนวัฒน์” ยังฉายภาพสถานการณ์ด้านความต้องการด้านแรงงานทักษะคอมพิวเตอร์ว่า จากการสำรวจบน LinkedIn พบว่าทักษะเพื่อการประกอบอาชีพที่บริษัทต่าง ๆ ต้องการมากที่สุดในปี 2561 มีจำนวน 24 ประเภท จากทั้งหมด 25 ประเภท ส่วนใหญ่เป็นทักษะด้านความรู้เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เช่น คลาวด์ และคอมพิวติ้ง ดังนั้นการได้รับโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์อย่างเท่าเทียม จึงเป็นเพียงหนทางเดียวที่เยาวชนไทยจะได้เพิ่มพูนทักษะ และความรู้เชิงดิจิทัล เพื่อที่พวกเขาจะมีความรู้ และนำไปประกอบอาชีพเพื่อขับเคลื่อนเทคโนโลยีต่อไป

“เพราะเราพบผู้พิการส่วนใหญ่ของไทยยังขาดโอกาสในการทำงาน ทั้งรูปแบบงานที่เหมาะสม และขาดทักษะที่สถานประกอบการต้องการ ทั้ง ๆ ที่งานทางด้านไอทีเป็นงานที่พวกเขาสามารถทำที่บ้านได้ และไม่ต้องใช้ร่างกายหนัก อีกทั้งยังทำให้พวกเขาเกิดความภาคภูมิใจ และมั่นใจในตนเองมากยิ่งขึ้น”

“บาทหลวงภัทรพงศ์ ศรีวรกุล” รองประธานมูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อพัฒนาคนพิการ กล่าวเสริมว่า การพัฒนาคนพิการในประเทศไทยก้าวหน้าอย่างมากในปัจจุบัน สืบเนื่องจากการบังคับ

ใช้กฎหมายใหม่ต่าง ๆ ทั้งนี้การสนับสนุนจากไมโครซอฟท์ และรัฐบาล ทำให้ปัจจุบันเราสามารถเข้าถึงผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลได้ และสามารถมอบโอกาสให้กับคนพิการจำนวนมหาศาลในการเพิ่มทักษะด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในทักษะที่สำคัญเป็นอันดับต้นในตลาดงาน

“ปัจจุบัน พวกเขาสามารถใช้ทักษะเหล่านี้ในการค้นหาโอกาสในการประกอบอาชีพที่ดียิ่งขึ้น ปลูกฝังความสามารถในการพึ่งพาตนเอง และบรรลุเป้าหมายชีวิตในยุคแห่งสภาพแวดล้อมเชิงเศรษฐกิจและสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างที่เป็นอยู่นี้”

ผลจากการดำเนินการครั้งนี้ นอกเหนือกว่าการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุด คือการสร้างโอกาสในการทำงาน เพื่อต่อยอดไปสู่โอกาสของชีวิตในที่สุด