Care the Wild ผนึก TCM ปลูกป่าชุมชนบ้านโคกพลวง โคราช ลดโลกร้อน

ทุก ๆ ปี ป่าได้รับผลกระทบจากการถูกตัด บุกรุกผืนป่า และไฟป่าที่รุนแรงขึ้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ที่ก่อปัญหาทางธรรมชาติ เช่น ภาวะโลกร้อน และภัยแล้ง เพราะปริมาณน้ำฝนน้อยลง ซึ่งป่าไม้มีบทบาทสำคัญในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะสามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นสาเหตุของก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า 1 ใน 3 เพื่อรักษาภาวะโลกร้อนให้ต่ำกว่า 2ºC ตามเป้าหมายของ Paris Agreement

ด้วยเหตุนี้ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จึงริเริ่มโครงการ Care the Wild “ปลูกป้อง Plant & Protect” มาอย่างต่อเนื่องตลอด 3 ปี ผ่าน collaboration platform ที่เป็นกลไกระดมทุนจากภาคีองค์กรเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อการปลูกต้นไม้ใหม่ ปลูกต้นไม้เสริม และส่งเสริมการดูแลต้นไม้ให้รอด 100%

กระทั่งปัจจุบันได้ขยายพื้นที่ปลูกต้นไม้ร่วมกับพันธมิตร 86 ราย ไปแล้ว 12 ป่าชุมชน ครอบคลุมพื้นที่ 378.5 ไร่ ใน 9 จังหวัด ได้แก่ สุพรรณบุรี เชียงราย ราชบุรี เพชรบุรี น่าน กาญจนบุรี แพร่ นครราชสีมา มหาสารคาม

ล่าสุด โครงการ Care the Wild ได้รับการสนับสนุนการปลูกป่า 15 ไร่ จำนวนต้นไม้ 200 ต้นต่อไร่ รวม 3,000 ต้น จาก บริษัท ทีซีเอ็ม คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TCM กลุ่มธุรกิจผู้ผลิตพรมรายใหญ่ของประเทศ รวมถึงผลิตและจัดจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์แบรนด์ชั้นนำในประเทศอังกฤษ และได้ลงพื้นที่ปลูกร่วมกันที่ชุมชนบ้านโคกพลวง ต.หินโคน อ.จักราช จ.นครราชสีมา โดยมีกรมป่าไม้และสมาชิกในชุมชนให้ความช่วยเหลือ “ร่วมปลูกและร่วมปกป้อง”

Advertisment

นอกจากนั้น TCM ได้มอบปุ๋ยที่ทำจากกากตะกอนน้ำเสียในโรงงาน จำนวน 10 ถุง 500 กิโลกรัม แก่ชุมชนบ้านโคกพลวงอีกด้วย

“นงรัก งามวิทย์โรจน์” ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาเพื่อสังคม ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตลอด 3 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่เริ่มโครงการ Care the Wild มีการปลูกไปแล้วกว่า 378.5 ไร่ ใน 12 ป่าชุมชนทั่วประเทศ นับเป็นต้นไม้จำนวน 75,700 ต้น และส่งผลให้สามารถช่วยลดก๊าซเรือนกระจก 683,300 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

ตลท.ส่งเสริมให้ทุกภาคใช้แนวทาง ESG

ที่ผ่านมา ตลท.พยายามมุ่งส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนนำแนวทาง ESG มาดำเนินงาน เพื่อก่อให้เกิดความสมดุล 3 ด้าน คือ E (environment) การรักษาและฟื้นฟูธรรมชาติ, S (social) การเอาใจใส่คนในสังคม และ G (governance) ดำเนินธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล

Advertisment

ซึ่งโครงการ Care the Wild เป็นหนึ่งกลไกที่สอดคล้องกับ ESG เพราะทำเพื่อสิ่งแวดล้อม ลดโลกร้อน ป้องกันภัยแล้งและน้ำท่วม ช่วยพัฒนาชุมชน ให้พื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีพืชผลที่เก็บกินได้ และมีความโปร่งใส เพราะมีการรายงานผลให้ผู้บริจาคเงินทุนในการปลูกไม้ ต้นละ 220 บาท ทุก 6 เดือน ผ่านแอปพลิเคชั่น Care the Wild

“จากความมุ่งมั่นดังกล่าว ก่อให้เกิดความตระหนักในกลุ่มภาคเอกชนเข้าร่วมโครงการมากขึ้น ทำให้โครงการ Care the Wild ตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (UNSDG Goal) ในข้อ 13 (Climate Action) และข้อ 17 (Partnership for the goals)

สำหรับ TCM ได้ร่วมปลูกป่ากับเราเป็นปีแรก และนับเป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญในการทำเพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง เพราะมีการปฏิบัติลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ภายในองค์กร”

ปิยพร พรรณเชษฐ์
ปิยพร พรรณเชษฐ์

“ปิยพร พรรณเชษฐ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีซีเอ็ม คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TCM กล่าวว่า บริษัทตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมกับความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และดำเนินธุรกิจอย่างมีคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณ

TCM ทำกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมมาต่อเนื่อง เช่น การใช้ขวดน้ำดื่ม PET ที่ถูกทิ้งหลังจากการใช้แล้ว มารีไซเคิลเป็นไหมเพื่อผลิตพรมรุ่นพิเศษ โดยตั้งเป้ารีไซเคิลขวดน้ำดื่มพลาสติกให้ได้ 1 พันล้านขวดภายในปี 2568 ถึงตอนนี้ทำได้แล้ว 920 ล้านขวด นอกจากนั้น มีการรีไซเคิลกากตะกอนน้ำทิ้งหลังจากการผลิตพรมมาเป็นปุ๋ยที่ใช้ได้จริง

“ปีที่ผ่านมา เราเกิดแนวคิดปลูกป่า แต่ว่าเห็น pain point การปลูกป่ามีอยู่หลายเรื่อง เช่น ปลูกแล้วมีจำนวนตายสูง การหาสถานที่ปลูกที่ยั่งยืนก็เป็นอุปสรรค เป็นต้น พอได้เห็นโครงการ Care the Wild ของ ตลท.จึงสนใจ เพราะว่ามีกระบวนการติดตาม ประเมินผลการปลูก และเป็นการร่วมดูแลป่าไม้ของทั้งภาคเอกชน ภาครัฐ และชุมชน

ทำให้ป่าชุมชนอยู่ต่อไปอย่างยั่งยืน ทั้งยังเป็นการช่วยเหลือคนในชุมชนด้วย นอกจากนั้น ยังเป็นการส่งเสริมเป้าหมาย net zero ของ TCM ซึ่งการปลูกป่าครั้งนี้ช่วยให้บริษัทชดเชยคาร์บอน (carbon offset) ได้จำนวนหนึ่ง”

นันทนา บุณยานันต์
นันทนา บุณยานันต์

ร่วมกันแก้ปัญหาโลกร้อน

“นันทนา บุณยานันต์” ผู้อำนวยการสำนักจัดการป่าชุมชน รักษาการรองอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า ช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีดัชนีความร้อนสูงมาก แบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยสูงถึง 44.6 องศา

ซึ่งลักษณะอากาศที่เป็นอยู่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเกี่ยวข้องเรื่อง climate change นอกจากนั้น มีผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัยหลายคนยังทำนายว่า ช่วงปลายปี 2566 ไทยอาจจะประสบภัยแล้งระยะยาว “เอลนีโญ” เพราะฤดูร้อนปีนี้ฝนตกน้อยมาก

ถึงเวลาแล้วที่คนไทยทั้งประเทศจะร่วมกันแก้ปัญหาโลกร้อน ซึ่งการปลูกต้นไม้ยืนต้น 1 ต้น สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เฉลี่ย 9-15 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี และช่วยลดอุณหภูมิรอบพื้นที่ปลูกได้ 2-4 องศาเซลเซียส

“ทางกรมป่าไม้เป็นองค์กรที่มีภารกิจดูแลและปลูกป่า สนับสนุนชุมชนให้เห็นความสำคัญของป่าไม้ ปัจจุบันประเทศไทยมีป่าชุมชน 11,985 ป่า กินพื้นที่ 6.57 ล้านไร่ทั่วประเทศ อย่างไรก็ตามยังคงมีความจำเป็นที่ต้องเพิ่มพื้นที่ป่าต่อเนื่อง แต่ข้อจำกัดของภาครัฐคือ ด้านงบประมาณ

ขณะเดียวกันชาวบ้านก็ต้องการความช่วยเหลือและสนับสนุนในปัจจัยที่ขาดแคลน ด้วยเหตุนี้ โครงการ Care the Wild จึงมีความสำคัญอย่างมาก ยิ่งเราปลูกต้นไม้ถูกวิธี ทำให้ต้นไม้เติบโตได้อย่างยั่งยืนมากแค่ไหน วิกฤตโลกร้อนก็จะบรรเทาลงได้มาก”

ชาตรี เพชรนอก
ชาตรี เพชรนอก

“ชาตรี เพชรนอก” ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 11 และประธานคณะกรรมการป่าชุมชนบ้านโคกพลวง กล่าวว่า พื้นที่ป่าชุมชนแห่งนี้มีสภาพแห้งแล้งจากฝนทิ้งช่วงต่อเนื่องในฤดูแล้งที่ค่อนข้างยาวนาน ต้นไม้ที่เติบโตได้ดี คือ พะยูง ประดู่ ขี้เหล็ก และมีต้นไม้บางประเภทที่ไม่ทนแล้ง ได้แก่ ไม้ชนิดผล อาทิ ขนุน มะม่วง

“โครงการ Care the Wild มีส่วนสำคัญทำให้ชุมชนมีทุนซื้อต้นไม้มาปลูก และสร้างระบบน้ำที่ดำเนินการตามแผนรองรับการขาดช่วงฤดูฝน เพื่อทำให้ต้นไม้มีอัตรารอดตายสูงสุด โดยเราใช้ระบบน้ำจากบ่อบาดาล และต่อท่อด้วยสายยางเป็นระบบน้ำหยดไปยังโคนต้นไม้ และใช้ไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์”

นับว่า โครงการ Care the Wild เป็นโมเดลนำไปสู่การพัฒนาที่สมดุล และอยู่ร่วมกันของชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และตรงกับการสนับสนุนเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย ที่ได้เสนอไว้กับประชาคมโลก (National Determined Contribution-NDC) ว่า ภายในปี 2573 จะต้องลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 20-25 โดยเทียบจากการดำเนินการตามปกติของประเทศ

องค์กรที่สนใจร่วมปลูกต้นไม้ให้ได้ผืนป่า ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.setsocialimpact.com หรือ SET contact center 0-2009-9999