Care the Wild ศุภาลัย – BAM ปลูกปกป้องป่าชุมชน

นับจากโครงการ Care the Wild “ปลูกป้อง Plant & Protect” เกิดขึ้นเมื่อกลางปี 2563 จนถึงขณะนี้ต้องยอมรับว่า โครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก เพราะมีเครือข่ายพันธมิตรจากภาครัฐและบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก

จนทำให้ผืนป่าชุมชนที่เคยแห้งแล้งกลับคืนอุดมสมบูรณ์เขียวขจีอีกครั้งหนึ่ง

สร้างสมดุลใน 3 มิติ

ทั้งนั้นเพราะตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ต้องการส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดคำนึงถึงการดำเนินธุรกิจที่จะต้องสร้างสมดุลใน 3 มิติ คือเศรษฐกิจ, สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยยึดหลัก ESG อันประกอบด้วยสิ่งแวดล้อม (Environment), สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อมุ่งสู่ความยั่งยืนในอนาคต

สำหรับครั้งนี้ก็เช่นกัน โครงการ Care the Wild “ปลูกป้อง Plant & Protect” โดยตลาดหลักทรัพย์ฯร่วมมือกับ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ “BAM” และ กรมป่าไม้ ร่วมกันปลูกต้นไม้ 4,000 ต้น บนพื้นที่ 20 ไร่ ณ ป่าชุมชนบ้านโคกพลวง ต.หินโคลน อ.จักราช จ.นครราชสีมา

อำนวย จิรมหาโภคา
อำนวย จิรมหาโภคา

ชูแนวคิด “ปลูก ปกป้อง”

“อำนวย จิรมหาโภคา” ผู้ช่วยผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า โครงการ Care the Wild ภายใต้แนวคิด “ปลูก ปกป้อง” หรือ “Plant & Protect” เป็นการระดมทุนเพื่อการปลูกต้นไม้ และร่วมดูแลต้นไม้ให้เติบโตจนเป็นผืนป่า ด้วยการสร้างระบบธรรมาภิบาลในการปกป้องไม้ที่ปลูกเป็นเวลา 10 ปี ด้วยอัตราการรอดตาย 100% ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางการแก้ปัญหาที่ต้นทางอย่างยั่งยืน

Advertisment

“โดยปี 2565 โครงการมีกิจกรรมปลูกต้นไม้ให้ได้ผืนป่าบนพื้นที่ 10 ไร่ ด้วยการร่วมมือกับชุมชนเข็มแข็งดูแลป่าชุมชนบ้านโคกพลวง ต.หินโคน อ.จักราช จ.นครราชสีมา แห่งนี้ โดยได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรภาคเอกชน บมจ.ศุภาลัย และปี 2566 เป็นที่น่ายินดีที่ บมจ.ศุภาลัยสนับสนุนอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ด้วยการปลูกเพิ่มอีก 10 ไร่

รวมแล้ว บมจ.ศุภาลัยปลูกต้นไม้รวมทั้งสิ้น 4,000 ต้น บนพื้นที่ทั้งหมด 20 ไร่ นอกจากนั้นยังมีบริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ “BAM” มาร่วมปลูกป่าด้วยจำนวน 2,000 ต้น บนพื้นที่ 10 ไร่เช่นกัน”

ดังนั้นตลอดปี 2566 ภาคเอกชนจะเข้าร่วมสนับสนุนการปลูกต้นไม้ตลอดฤดูปลูกเพิ่มขึ้นอีกจำนวน 45 ไร่ ณ บริเวณแปลงปลูกเดิม จึงทำให้ตลอด 2 ปีของการปลูกต้นไม้อย่างต่อเนื่องน่าจะมีต้นไม้ที่ปลูกทั้งหมด 11,000 ต้น บนพื้นที่ปลูกทั้งหมด 55 ไร่ ที่ไม่เพียงจะช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจกถึง 99,000 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า/ปี

หากยังเป็นการเพิ่มต้นไม้ให้ผืนป่าอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศที่เสื่อมโทรม ด้วยการสร้างทัศนียภาพที่ร่มรื่นในอนาคต รวมถึงการเป็นแหล่งอาหารของชุมชนอย่างยั่งยืนอีกด้วย

Advertisment

แก้ปัญหาภาวะโลกร้อน”

“นันทนา บุณยานันต์” ผู้อำนวยการสำนักจัดการป่าชุมชน และรองอธิบดีกรมป่าไม้กล่าวเสริมว่า พื้นที่แห่งนี้เดิมทีไม่ได้อยู่ในการดูแลของกรมป่าไม้ ดิฉันต้องขอขอบคุณพี่น้องบ้านโคกพลวงที่มีจิตใจรักป่า แล้วขีดวงพื้นที่ตรงนี้ให้กลายเป็นป่าชุมชน พอเป็นป่าชุมชนแล้วเข้ามาอยู่ในกรมป่าไม้จะมีพระราชบัญญัติให้เขาได้มีสิทธิ และหน้าที่ดูแลปกป้อง และฟื้นฟู

“การต่อสู้ที่จะเอาพื้นที่คืนมาเป็นพื้นที่ส่วนรวมจนเป็นป่าชุมชนไม่ใช่เรื่องง่าย แสดงให้เห็นถึงความต้องการที่จะปกป้องผืนป่าเพื่อให้ป่าแห่งนี้ส่งต่อประโยชน์ไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน แต่อย่างไรก็ตาม ในวันนี้มีภาคธุรกิจเข้ามาช่วย เข้ามาเติมเต็มศักยภาพของพี่น้องประชาชนที่นี่

เพราะเขาตั้งใจอนุรักษ์ต่อสู้ฟื้นฟูผืนป่ากลับมาเป็นผืนป่าสีเขียวอีกครั้ง ดังนั้นโครงการ Care the Wild จึงเป็นต้นแบบให้เห็นว่าถ้าเราตั้งใจจริง การปลูกต้นไม้คนละต้นสามารถสร้างผืนป่าที่ยิ่งใหญ่อย่างแน่นอน และจะกลายเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน”

“ไม่ใช่ว่า 10 ไร่ไม่มีค่า จริง ๆ แล้วถ้าพูดถึง 210 ไร่ พื้นที่ป่าที่เขามีอยู่ และถ้ามาคำนวณ carbon stock ที่มีคาร์บอนกักเก็บต้นไม้ไว้ในป่าจะมีอยู่ประมาณ 1,400 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ แต่พื้นที่อีก 250 ไร่ ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯจะเชิญชวนมาปลูกเพิ่มขึ้น

คาดว่าจะดูดคาร์บอนไดออกไซด์ในแต่ละปี รวมแล้วน่าจะได้ประมาณ 4,500 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ เทียบเท่าภายใน 10 ปี ตรงนี้แสดงให้เห็นว่าวันนี้เป็นก้าวสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่”

ไตรเตชะ ตั้งมติธรรม
ไตรเตชะ ตั้งมติธรรม

ปลูกต้นไม้ ต้องเริ่มจากวันนี้

“ไตรเตชะ ตั้งมติธรรม” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ดั่งที่ทุกคนทราบ ปีนี้ร้อนมาก ๆ ร้อนที่สุดเท่าที่ผมจำได้เลย เพราะภาวะโลกร้อนรุนแรงขึ้น จนเกิดเป็นคำถามว่า เราจะทำอย่างไรที่จะให้รุ่นลูกรุ่นหลานสามารถมีโลกเหมือนที่เราสัมผัสเมื่อ 10-20 ปีก่อน ในยุคที่อากาศยังดีอยู่ได้

ผมคิดว่าต้องเริ่มจากวันนี้ และในการที่พวกเราทุกคนกลับมาปลูกต้นไม้เพื่อให้มีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อให้รุ่นถัด ๆ ไปยังคงใช้ได้อยู่ นับเป็นเรื่องที่ดีอย่างยิ่ง

“ผมอยากร่วมปลูกป่าอย่างนี้ต่อไปเรื่อย ๆ กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่ดี เราเคยปลูกมาหลายที่ แต่หลายครั้งเราย้อนกลับไปดูพบว่าพื้นที่เหล่านั้นกลับรกร้าง และหายไปบางส่วน เพราะขาดการดูแลจัดการที่ดี แต่สำหรับกิจกรรม Care the Wild เป็นกิจกรรมที่น่าสนใจ เพราะมีคนดูแลต่อ ตอนแรกนึกไม่ออกว่าป่าจะอุดมสมบูรณ์เติบโตได้อย่างไร และจะเกิดประโยชน์จริง ๆ อย่างไร

แต่พอมาลงพื้นที่ก็เข้าใจทันที ผมจึงหวังว่าวันนี้จะเป็นจุดเล็ก ๆ จุดหนึ่งที่จะไปสู่เป้าหมายความยั่งยืนที่ยิ่งใหญ่ในอนาคต พร้อมกับขอฝากคุณชาตรี เพชรนอก ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 11 (ประธานกรรมการป่าชุมชนบ้านโคกพลวง) ช่วยดูแลด้วย”

“เพราะป่าไม้เป็นพื้นฐานสำคัญในการอยู่ต่อไปของโลกเรา นอกจากการปลูกเพิ่มพื้นที่สีเขียวแล้ว การที่เราช่วยปลูกป่าไม้จะช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ และหวังว่าโลกใบนี้จะกลับมาดีขึ้น อย่างบริษัทเราเองก็มีเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ 25% ในเวลา 3 ปีอยู่แล้ว

นอกเหนือจากการใช้โซลาร์เซลล์มากขึ้น การใช้น้ำมันและการใช้กระดาษให้น้อยลง ดังนั้นการปลูกป่าจึงเป็นส่วนเสริมที่ทำให้สภาพแวดล้อมของชุมชนดีขึ้น”

บัณฑิต อนันตมงคล
บัณฑิต อนันตมงคล

“บัณฑิต อนันตมงคล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ “BAM” กล่าวว่า BAM มี 24 สาขาอยู่ทั่วประเทศ ที่ดินส่วนหนึ่งเป็นทรัพย์ที่เสื่อมโทรม เพราะหน้าดินถูกฝนซัด จนความชุ่มชื้นบริเวณหน้าดินหายไป ฉะนั้นผมจึงมีแนวคิดว่า ถ้าเรามีที่ดินที่รกร้างว่างเปล่า แล้วยังขายไม่ได้ ก็ควรจะต้องทำอะไรสักอย่างหนึ่ง

ตรงนี้จึงเป็นหนึ่งในโปรเจ็กต์ที่เราร่วมมือกับชุมชน เพื่อให้พวกเขาเข้ามาปลูกต้นไม้ และมาใช้ประโยชน์ในช่วงเวลาที่เรายังขายที่ไม่ได้ เพราะชุมชนเองจะได้ประโยชน์ ขณะที่เราเองก็จะได้ประโยชน์เช่นกัน เพราะที่ดินไม่เสื่อมโทรม แถมต้นไม้ก็โต และช่วยลดปัญหาต่าง ๆ ไปได้เยอะ

กอปรกับสมัยก่อนผมเป็นผู้จัดการกองทุน จึงทราบว่าตลาดหลักทรัพย์ฯมีโครงการเหล่านี้เป็นจำนวนมาก และตลาดหลักทรัพย์ฯเองก็พยายามที่จะกระตุ้นให้บริษัทจดทะเบียนมีกิจกรรม ESG อยู่แล้ว ตั้งแต่เขาจะฮิตกัน ซึ่งผมเองก็มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ หลายครั้ง

“บัณฑิต” กล่าวต่อว่า สมัยก่อนเราไปปลูกป่า เราเลือกต้นไม้กันเอง แต่กิจกรรมครั้งนี้ชุมชนเป็นฝ่ายเลือกต้นไม้ให้เราปลูก ดังนั้นพวกเขาจะรู้ว่าต้นไม้ชนิดไหนจะเกิดประโยชน์กับเขา และชุมชนของเขาโดยตรง ตรงนี้จึงทำให้เขารู้สึกหวงแหนต้นไม้

เพราะเขาเป็นคนเลือกต้นไม้เอง เขาจึงต้องดูแลกันเอง เพราะเขาจะได้ประโยชน์จากต้นไม้เหล่านั้น จึงทำให้ต้นไม้มีโอกาสตายน้อยลง ผมว่าแนวคิดนี้เป็นไอเดียที่ดีมากในการปลูกป่าที่ต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์

“ภาพรวมบรรยากาศวันนี้ ผมรู้สึกแปลกใจมาก เพราะเห็นต้นไม้แปลงอื่น ๆ ที่ใช้ระยะเวลาเพียง 4-5 ปี แต่ต้นไม้กลับสูงถึง 10 เมตร ผมคิดว่าถ้าพวกเขาปลูกแบบไม่ดูแล ต้นไม้ไม่มีทางโตถึงเท่านี้ แสดงว่าผู้คนในชุมชนค่อนข้างใส่ใจและดูแลต้นไม้อย่างดี ยิ่งมาผนวกกับแนวคิดปลูกรอด 100% ยิ่งเป็นเรื่องดีที่จะช่วยการันตีความรอดของป่าในครั้งนี้”

นับเป็นโครงการที่ดีที่ช่วยสร้างผืนป่าให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อย่างแท้จริง