พันธกิจ “แอร์เอเชีย” ปูทางสู่ สายการบินสีเขียว

ยัพ มุน ชิง
ยัพ มุน ชิง

วันที่ 27 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา แอร์เอเชียจัดงานวันแห่งความยั่งยืน Airasia Sustainability Day 2023 ขึ้นเป็นครั้งแรก ที่เฮดควอเตอร์ RedQ หรือ RedQuarters ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย โดยภายในงานมีทั้งผู้บริหาร นักลงทุน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดของแอร์เอเชีย รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐ หน่วยงานกำกับดูแล สถาบันการเงิน นักวิเคราะห์การบิน พันธมิตรทางธุรกิจ และสื่อมวลชนจากนานาประเทศเข้าร่วม

กล่าวกันว่าสาระสำคัญของงานคือ การเชิญชวนทุกฝ่ายร่วมทำความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นความยั่งยืนของธุรกิจการบิน เนื่องจากแอร์เอเชียมีเป้าหมายว่าจะมุ่งสู่การเป็นสายการบินสีเขียว ทั้งยังนำประเด็นเรื่อง environment, social และ governance หรือ ESG มาปรับใช้ในการบริหารจัดการฝูงบิน

เพื่อให้เข้ากับกฎระเบียบที่ออกใหม่เกี่ยวกับด้านสิ่งแวดล้อม ที่มีวัตถุประสงค์ในการลดผลกระทบต่อสภาพอากาศขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO)

“ยัพ มุน ชิง” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านความยั่งยืน กลุ่มแคปปิตอล เอ กล่าวว่า การจัดงานความยั่งยืนเกิดขึ้นเพื่อสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนเชิงลึกในการสร้างสรรค์ และสานต่อเส้นทางสู่การลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของแอร์เอเชีย ตลอดจนความท้าทาย และโอกาสในการนำกลยุทธ์เหล่านี้ไปปฏิบัติใช้ เพื่อหันมาใช้เชื้อเพลิงชีวภาพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

Advertisment

รวมถึงโอกาสในการจัดหาเงินทุนด้าน ESG และการจัดการพัฒนาบุคลากรเฉพาะทาง เพื่อเสริมแกร่งศักยภาพ และองค์ความรู้ เพื่อตอบสนองความต้องการ และก้าวทันการเติบโตอย่างยั่งยืนสู่อนาคต

“ในขณะที่กำลังฟื้นฟูธุรกิจหลังการแพร่ระบาดโควิด เราพร้อมขยายขอบเขตวาระความยั่งยืนของเราให้กว้างและลึกยิ่งขึ้น โดยผสมผสานแนวทางปฏิบัติด้าน ESG ที่แข็งแกร่ง เข้ากับลำดับความสำคัญเชิงกลยุทธ์ของเรา เพื่อให้บริษัทฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งและดีขึ้น

รวมถึงการลดคาร์บอนในอุตสาหกรรมและธุรกิจการบินเป็นเรื่องที่ยากและท้าทาย จึงต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจทุกมิติ ไม่เพียงแค่สายการบินเท่านั้น แต่ต้องมาจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมทั้งหมด เพราะเราต้องการบรรลุเป้าหมายคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2593”

ชู 4 กลยุทธ์ลดก๊าซเรือนกระจก

“ยัพ มุน ชิง” กล่าวต่อว่า แผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของแอร์เอเชีย ทุกสายการบินต้องมี 4 แนวทางในการดำเนินการ ได้แก่ 1) การบริหารจัดการฝูงบินอย่างมีประสิทธิภาพ 2) การยกระดับการดำเนินการตามขั้นตอนปฏิบัติการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 3) การเปลี่ยนไปใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ (Sustainable aviation fuels : SAF) และ 4) การชดเชยการปล่อยมลพิษหรือการซื้อคาร์บอนเครดิต

Advertisment

สำหรับรายละเอียดทั้ง 4 แนวทางดังกล่าว สิ่งที่แอร์เอเชียให้ความสำคัญสูงสุด คือการอัพเกรดฝูงบินเป็นแอร์บัส A321neo ซึ่งเป็นเครื่องบินรุ่นที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ว่าประหยัดเชื้อเพลิงที่สุดในตลาดปัจจุบัน ซึ่งจะมาแทนที่อากาศยานแบบ A320 ทั้งหมดที่มีอยู่ภายในปี 2578 เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางปฏิบัติของกลุ่มแอร์เอเชียในการรักษารูปแบบของที่นั่งผู้โดยสารให้เป็นรูปแบบเดียวทั้งอากาศยาน

“โดย A321neo แต่ละลำจะมีที่นั่งทั้งหมด 236 ที่นั่ง ซึ่งเป็นการเพิ่มความจุของผู้โดยสาร ลดค่าใช้จ่ายต้นทุนต่อที่นั่ง และลดค่าการปล่อยมลพิษสูงถึงร้อยละ 20 ควบคู่ไปกับลดปริมาณก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ และระดับเสียงรบกวน ที่สำคัญ ปัจจุบันแอร์เอเชียมียอดสั่งซื้อเครื่องบิน A321neo ใหม่ 362 ลํา พร้อมจะส่งมอบระหว่างปี 2567-2578”

พร้อมเดินหน้าประหยัดเชื้อเพลิง

นอกจากนั้น แอร์เอเชียยังมีโครงการเพิ่มประสิทธิภาพในการประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงของบริษัท ซึ่งเริ่มดำเนินการมาก่อนแล้ว แต่ในส่วนของไทยแอร์เอเชียเมื่อปี 2565 ปริมาณคาร์บอนที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมการบินนั้นลดลงร้อยละ 5.6 อันเป็นผลเนื่องมาจากอัตราการปฏิบัติตามมาตรการประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงของกลุ่มบริษัท คือ

1) การใช้เครื่องเพิ่มแรงยกในการลงสนามอย่างเหมาะสม ช่วยลดปริมาณการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง 2 ลิตรต่อเที่ยวบิน ซึ่งช่วยลดปริมาณคาร์บอนจำนวน 2,166 ตัน 2) การปรับค่าเครื่องปรับอากาศบนเครื่องบินอย่างเหมาะสมระหว่างการวิ่งขึ้น ที่ช่วยลดปริมาณการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง 3 ลิตรต่อเที่ยวบิน ลดปริมาณคาร์บอนจำนวน 448 ตัน

3) การใช้อุปกรณ์เปลี่ยนทิศทางแรงขับในปริมาณที่เหมาะสม ช่วยลดปริมาณการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง 6 ลิตรต่อเที่ยวบิน ลดปริมาณคาร์บอนจำนวน 1,214 ตัน 4) การขับเคลื่อนอากาศยานด้วยเครื่องยนต์เดี่ยวหลังการลงสนามบิน เพื่อเข้าหลุมจอด ช่วยลดปริมาณการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง 7 ลิตรต่อนาที ลดปริมาณคาร์บอนฯจำนวน 1,432 ตัน

5) การลดน้ำหนักจากเอกสารเครื่องบิน ช่วยลดปริมาณการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง 1.5 ลิตรต่อชั่วโมงบิน ลดปริมาณคาร์บอน 200 ตัน 6) การขับเคลื่อนอากาศยานด้วยเครื่องยนต์เดียวระหว่างรอทำการวิ่งขึ้น ช่วยลดปริมาณการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง 7 ลิตรต่อนาทีโดยประมาณ ลดปริมาณคาร์บอนจำนวน 1,606 ตัน

สนับสนุนเชื้อเพลิง SAF มาใช้

“ยัพ มุน ชิง” กล่าวว่า นอกจากนี้ ไทยแอร์เอเชียยังหารือกับสํานักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) เพื่อร่างแผนปฏิบัติการให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (net zero carbon) ภายในปี 2593 โดยทาง CAAT ได้ออกนโยบายและมาตรการเชิงปฏิบัติที่หลากหลาย รวมถึงการสนับสนุนการนำเชื้อเพลิงยั่งยืน หรือ SAF มาใช้

ถึงแม้ว่าองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศจะออกมาสนับสนุนให้มีการทดแทนเชื้อเพลิงอากาศยาน หรือน้ำมัน Jet A-1 ที่ผลิตจากฟอสซิลด้วยการใช้ SAF ในสัดส่วนที่เหมาะสมภายในปี 2593 โดย SAF จะสามารถช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ถึงร้อยละ 80 เมื่อเทียบกับน้ำมัน JET A-1

แต่ต้องยอมรับว่าด้วยราคาของ SAF ที่สูงกว่าราคาน้ำมัน JET A-1 ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน 2-3 เท่าตัว ทำให้ยังไม่มีสายการบินไหนในโลกที่นํา SAF มาใช้ทำการบินในเชิงพาณิชย์อย่างจริงจัง

ดังนั้น เมื่อปี 2565 เมื่อมีหน่วยงานภาคเอกชนของไทยเข้ามาลงทุนในการผลิต SAF จึงทำให้ช่วยรองรับปริมาณความต้องการใช้ SAF ที่ทยอยเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต จนทำให้ไทยแอร์เอเชีย เริ่มมองเห็นถึงความเป็นไปได้ในการที่จะนํา SAF มาใช้ในการบินเชิงพาณิชย์อย่างจริงจัง และเริ่มเตรียมความพร้อมในส่วนนี้

โดยการตรวจสอบข้อมูลจากผู้ผลิตเครื่องบินตระกูล Airbus A320 ซึ่งเป็นฝูงบินหลักของไทยแอร์เอเชียว่าสามารถรองรับการใช้งาน SAF ได้ในอัตราส่วนผสมร้อยละ 50 กับเชื้อเพลิงอากาศยานแบบ JET A-1 ต่อไปได้

“อุปสรรคสำคัญในปัจจุบันที่มีผลต่อการใช้เชื้อเพลิงการบินอย่างยั่งยืนของสายการบินแอร์เอเชียคือราคาที่สูงกว่าน้ำมันทั่วไป แต่ทั้งนี้เราต้องขับเคลื่อนให้เกิดการนำมาใช้จริงในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งไม่ได้คิดว่าจะต้องเป็นสายการบินแรกในอาเซียนที่จะนำ SAF มาใช้

เพราะทุก ๆ สายการบินก็เริ่มเห็นความสำคัญไปพร้อม ๆ กันว่าจะทำอย่างไรให้ธุรกิจการบินมีความยั่งยืน และปล่อยมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลง ดิฉันคิดว่าหัวใจสำคัญที่สุดที่จะทำได้คือทุกประเทศจะต้องมีการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรม

หรือแม้แต่ภาครัฐก็ต้องมีส่วนสนับสนุนด้วย เช่น ช่วยในเรื่องการจัดการขนส่งทางอากาศให้มีประสิทธิภาพ ช่วยเหลือด้านโครงสร้างอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสนามบินมาช่วยสนับสนุนให้ทุกคนรู้ถึงความสำคัญด้านความยั่งยืน และอีกหลาย ๆ ประเด็น”

มุ่งสู่การซื้อขายคาร์บอนเครดิต

“ยัพ มุน ชิง” กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นยังมีเรื่องของระบบคาร์บอนเครดิตในประเทศ สำหรับการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนภายในสายการบินที่เข้าร่วมโครงการชดเชย และการลดคาร์บอนสำหรับการบินระหว่างประเทศ (CORSIA) เพื่อนำไปชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในปี 2559

ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศแรก ๆ ที่ลงนามเพื่อเข้าร่วมในโครงการ CORSIA ของสํานักงานการบินพลเรือนระหว่างประเทศโดยสมัครใจ ซึ่งมีข้อกําหนดให้สายการบินที่จดทะเบียนในประเทศไทยทั้งหมดปฏิบัติตามระยะเวลาและเป้าหมายของ CORSIA

นับตั้งแต่โครงการมีผลบังคับใช้ในปี 2562 ซึ่งไทยแอร์เอเชียจำเป็นต้องบรรลุเป้าหมายสำคัญคือ การตรวจวัดการปล่อยคาร์บอนของบริษัทจากเที่ยวบินระหว่างประเทศ และส่งรายงานประจำปีที่ผ่านการตรวจสอบแล้วไปยังสํานักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เพื่อส่งไปยังสำนักทะเบียนกลางของการบินพลเรือนระหว่างประเทศต่อไป

“เพราะทั้งหมดจะเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจในอนาคตที่กำลังวางแผนพัฒนาโครงการเพื่อให้ผู้โดยสารสามารถชดเชยคาร์บอนโดยสมัครใจ เมื่อจองเที่ยวบินของแอร์เอเชีย ที่สำคัญโครงการนี้มีกำหนดเปิดตัวในปี 2566 และคาดว่าจะช่วยให้บริษัทสามารถพัฒนาศักยภาพภายในองค์กร สําหรับสํารวจตลาดคาร์บอน และซื้อคาร์บอนเครดิตให้เป็นไปตามข้อกําหนด CORSIA ต่อไปในที่สุด”