ห้องเรียนแห่งอนาคต บูรณาการการเรียนรู้คู่ชุมชน

ต้องยอมรับว่า “การศึกษา” เป็นพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้นักเรียนเกิดกระบวนคิด และกระบวนการเรียนรู้ เพื่อจะได้นำองค์ความรู้ไปต่อยอดในเรื่องต่าง ๆเพราะอย่างที่ทราบ การศึกษาในโลกปัจจุบันจำเป็นต้องอาศัยเครื่องมือทางด้านเทคโนโลยีเข้ามาเป็นองค์ประกอบสำคัญ

เพราะองค์ความรู้หลายแขนงถูกซ่อนอยู่ในนั้นเกือบทั้งหมดแล้ว

ผลเช่นนี้ จึงทำให้ บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด จึงผุดโครงการ Samsung Smart Learning Center “ซัมซุง สร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต” เมื่อปี 2556 โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมและพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ให้แก่เด็ก และเยาวชนไทยทั่วประเทศ ให้มีทักษะ 3 ด้าน ประกอบด้วย

หนึ่ง ทักษะการเรียนรู้ และสร้างนวัตกรรม ประกอบด้วย ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม การคิดเชิงวิพากษ์ และแก้ไขปัญหา การสื่อสาร และการทำงานร่วมกับผู้อื่น

สอง ทักษะด้านการสนเทศ สื่อ และเทคโนโลยี ประกอบด้วย การรู้เท่าทันข่าวสารข้อมูล การรู้เท่าทันสื่อ และมีทักษะเทคโนโลยีสารสนเทศ

สาม ทักษะชีวิต และอาชีพ ประกอบด้วย ความยืดหยุ่น และการปรับตัว การคิดริเริ่ม และการกำกับตัวเอง ทักษะสังคม และการเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรม การทำงานให้เกิดผล และการรับรู้รับผิด การเป็นผู้นำ และความรับผิดชอบ

โดยทักษะทั้ง 3 ด้านจะถูกเรียนผ่านแนวคิด “ห้องเรียนแห่งอนาคต” ด้วยการนำเทคโนโลยี และนวัตกรรมต่าง ๆ มาสนับสนุนผู้เรียน ผ่านกระบวนการจัดการการเรียนรู้ เพื่อให้เด็ก ๆ เข้ามามีส่วนร่วมกับกระบวนการดังกล่าว ในลักษณะของ “active learning” ซึ่งจะมีครูเป็นโค้ช เพื่อให้นักเรียนเกิดแรงบันดาลใจทั้งใน และนอกห้องเรียน

ผ่านมา 5 ปี โครงการ Samsung Smart Learning Center “ซัมซุง สร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต” สร้างโรงเรียนต้นแบบห้องเรียนแห่งอนาคตไปแล้วกว่า 47 โรงเรียนทั่วประเทศ

โรงเรียนศาสนศึกษา อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เป็น 1 ใน 47 โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการตั้งแต่ปี 2559 จนปรากฏว่า 1 ปีผ่านไป น้อง ๆ นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการในระดับ ม.1 จำนวน 31 คน และ ม.4 จำนวน 29 คน มีพัฒนาการดีขึ้นเป็นอย่างมาก กล้าคิด กล้าแสดงออก ทั้งยังมีความสุขกับการเรียน จนทำให้พวกเขาอยากมาเรียนหนังสือทุกวัน

ถามว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ?

“ครูอัสมะ หะยีมอหะมะสอและ”ผู้อำนวยการโรงเรียนศาสนศึกษา อ.สายบุรี จ.ปัตตานี บอกว่า ผ่านมาเด็ก ๆ เรียนหนักมาก เขาต้องเรียนวิชาศาสนาในภาคเช้า และเรียนวิชาสามัญในภาคบ่าย ทั้งหมดประมาณสัปดาห์ละ 50 คาบ ขณะที่นักเรียนทั่วไปเรียนสัปดาห์ละ 40 คาบ

“ทั้งการเรียนสมัยก่อนเน้นการบรรยาย และท่องจำเป็นหลัก พวกเขาจึงเกิดความเบื่อหน่าย ไม่สนุก ไร้ชีวิตชีวา ไม่กล้าแสดงออก เวลาเจอคนแปลกหน้าก็ไม่กล้าพูด จนเมื่อปี 2559 ทางโรงเรียนส่งครูฟี (สุนันท์ สะซีลอ) และครูนา (นาซีฮา ยูโซ๊ะ) ไปเข้าร่วมอบรมโครงการ Samsung Smart Learning Center และหลังจากที่พวกเขากลับมา จึงมาตั้งชุมนุม Samsung Discovery Club ขึ้นภายในโรงเรียน”

“ต่อจากนั้น เขาก็มาบูรณาการกับหลักสูตร เพื่อนำมาปรับใช้กับการเรียนการสอน ด้วยการทดลองเปิดห้องเรียนบูรณาการอิสลามศตวรรษที่ 21 พร้อมกับตั้งทีมครูรุ่นใหม่อีก 8 คน เพื่อช่วยกันจัดทำหลักสูตรที่บูรณาการวิชาสามัญ และวิชาอิสลามศึกษาเข้าด้วยกัน เป็นการเรียนรู้แบบ active learning โดยมีครูเป็นโค้ชคอยแนะนำการใช้เทคโนโลยีควบคู่ไปกับการเรียน จนทำให้พวกเขารู้สึกสนุก กล้าคิด กล้าแสดงออก และดูมีความสุขอย่างเห็นได้ชัด”

“เราเปิดรับนักเรียนรุ่นแรกในปี 2560 เริ่มจากระดับชั้น ม.1 จำนวน 1 ห้องเรียน 30 คน และ ม.4 จำนวน 1 ห้องเรียน 29 คน ส่วนหลักสูตรบูรณาการอิสลามศึกษาแบบ active learning ประเด็นหลักคือเราต้องการให้ผู้เรียนเข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กับการนำความรู้ของชุมชนในเรื่องต่าง ๆ มาเป็นองค์ประกอบในการดีไซน์หลักสูตรขึ้นมา เพราะอำเภอสายบุรีมีของดีซ่อนอยู่มากมาย”

จึงออกมาเป็นหน่วยการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงผู้เรียนกับชุมชนทั้งหมด 6 หน่วย คือ ล่องน้ำหาต้นสาย, ไลฟ์สไตล์สายบุรี, ย้อนรอยบ้านเรา, นักสืบพันธุ์กำปง, SMEs ของดีเมืองสาย และใส่ใจวัยใส

สำหรับโรงเรียนศาสนศึกษาเป็นโรงเรียนเอกชนที่ไม่แสวงหาผลกำไรในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ จัดตั้งขึ้นในรูปแบบของมูลนิธิ ค่าเทอม 100 บาท เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล-ม.6 ปัจจุบันมีนักเรียน 1,648 คน นับถือศาสนาอิสลามทั้งหมด

“ครูอัสมะ หะยีมอหะมะสอและ” กล่าวถึงเรื่องรายได้ของโรงเรียนว่า ส่วนหนึ่งเราได้รับงบประมาณจากกระทรวงศึกษาฯ แต่ไม่เพียงพอ เราจึงต้องหาแหล่งทุนสนับสนุนจากที่อื่น ๆ อาทิ ประเทศมาเลเซีย ที่ให้การสนับสนุนเป็นครั้งคราว หรือจากประเทศตุรกี และอินโดนีเซียบ้าง เพราะทุกครั้งที่เขามาศึกษาดูงาน เขาจะจัดสรรงบประมาณให้กับทางโรงเรียนของเราด้วย แต่ก็ไม่มากพอ

“เราจึงต้องกู้เงินจากทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) มาปรับปรุงสถานที่การเรียนการสอน เพราะนักเรียนของเรามีจำนวนมาก ขณะเดียวกันเราต้องหาความร่วมมือจากพันธมิตรต่าง ๆ เพื่อเข้ามาช่วยอุดหนุนในเรื่องของการดำเนินการศึกษา เหมือนอย่างเช่นซัมซุงที่เข้ามาครั้งนี้ นอกจากจะนำเครื่องมือทางเทคโนโลยีมาให้ เขายังนำองค์ความรู้สำหรับการบูรณาการทางการศึกษามาให้ด้วย ซึ่งถือเป็นการให้ที่ยั่งยืนมากกว่า”

มุมเดียวกัน “ครูฟี” สุนันท์ สะซีลอ ครูผู้สอนวิชาวิทยาศาสตร์ และครูที่ปรึกษาโครงการ Samsung Smart Learning Center กล่าวว่า ตลอด 1 ปีที่บูรณาการอิสลามศึกษาแบบ active learning เราเห็นความเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลัน หลาย ๆ คนก้าวกระโดด โดยเฉพาะเด็ก ม.4 เขามีความสุขต่อการเรียนลักษณะนี้มาก ทั้งยังเกิดการเรียนรู้อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ทุกคนกล้าถาม กล้าคิด กล้าแสดงออกมาก

“แต่เด็ก ม.1 ยังเล็กเกินไป เขายังไม่ค่อยชิน ต้องปรับกันอีกเยอะ แต่โดยรวมถือว่าดีขึ้น เพราะแรก ๆ เราพยายามสอนเขาให้รู้จักตัวเองก่อน เพราะอำเภอสายบุรีมีแหล่งเรียนรู้เยอะมาก เราจึงพยายามนำองค์ความรู้มาเชื่อมโยงกับชุมชน ตรงนี้คือสิ่งที่เราได้จากซัมซุง โดยเฉพาะเรื่องบูรณาการ เพราะเขาสอนเรื่องการแตกประเด็น โดยไม่จำเป็นต้องมุ่งแต่เรื่องศาสนศึกษาอย่างเดียว”

“ปรากฏว่าได้ผล เพราะเมื่อก่อนการเรียนจะเคร่งเครียดมาก ไม่สนุก แต่พอจัดการเรียนรู้แบบนี้ ผลตอบรับต่างกันทันที และเมื่อก่อนเนื่องจากปัญหาความไม่สงบของพื้นที่ ทำให้ครูไม่กล้าพานักเรียนออกไปเรียนรู้ตามแหล่งชุมชน แต่เดี๋ยวนี้เรากล้าที่จะพาเขาไปเรียนรู้ตามแหล่งชุมชนต่าง ๆ ตามหัวข้อที่เรานำมาสร้างเป็นหลักสูตร จนทำให้โลกทัศน์ของเขากว้างขึ้น”

“ที่ดีใจอีกอย่างคือ ทีมงานของเราประมาณ 8 คน รู้สึกมีความสุขที่สอนเด็กแบบนี้ ครูทุกคนรู้สึกกระตือรือร้น สนุก และอยากสอน อยากถ่ายทอดให้เด็กฟังทุกวัน ผมว่าตรงนี้เป็นความสุขอย่างหนึ่งของพวกเรา อย่างปีนี้ดีใจมาก มีนักเรียนครบ 60 คน แล้วทั้ง2 ห้องเรียน และมีการวางแผนการสอนล่วงหน้าแล้วด้วยว่าจะสอนเรื่องยางพารา เพราะยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจของเรา อีกอย่างเรามีแหล่งข้อมูลจากศูนย์วิจัยยาง คณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จ.ปัตตานี ที่สำคัญ เรื่องนี้น่าจะแตกแขนงไปในเรื่องอื่นได้ด้วย”

ผลตรงนี้ จึงทำให้เกิดคำถามที่ต้องถาม “วาริท จรัณยานนท์” ผู้จัดการโครงการ Samsung Smart Learning Center บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด ว่า มีโอกาสมากน้อยแค่ไหนที่โรงเรียนศาสนศึกษา อ.สายบุรี จ.ปัตตานี จะเป็นแหล่งเรียนรู้ห้องเรียนแห่งอนาคตของ 3 จังหวัดชายแดนใต้

“มีความเป็นไปได้แน่นอน เพราะตลอด 1 ปีที่ครู และนักเรียนบูรณาการอิสลามศึกษาแบบ active learning ทุกอย่างดีขึ้นจริง ๆ แม้บุคลากรจะจำกัด งบประมาณไม่เพียงพอ แต่มาถึงจุดนี้ได้ ถือว่ายอดเยี่ยมทีเดียว เพราะเป้าหมายของเราจริง ๆ ต้องการให้ 47 โรงเรียนที่เข้าโครงการกับเรามาเจอกัน เพื่อมาเล่าความงอกงามของตัวเอง ผมเชื่อว่าถ้าพวกเขามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ก็จะเกิดการบูรณาการร่วมกัน เพราะทุกโรงเรียนต่างมีข้อดี ข้อด้อยของตัวเอง”

“ตรงนี้เป็นสิ่งที่ผมหวังมาก เพราะเราอยากสร้างโรงเรียนเครือข่ายให้แข็งแรง เมื่อเขาแข็งแรง เขาจะได้ไปช่วยโรงเรียนอื่น ๆ ต่อไป เพราะเป้าหมายของโครงการ Samsung Smart Learning Center เราคิดว่าจะทำสัก 60 โรงเรียน ต่อจากนั้นเราอาจต่อยอดเพื่อพัฒนาในรูปแบบของแคมป์การศึกษา หรืออะไรบางอย่าง เพื่อให้ทุกคนเข้ามาศึกษาหาความรู้อย่างยั่งยืน ตรงนั้นเป็นทิศทางในอนาคต”

“และที่อยากทำอีกอย่าง เพียงแต่ตอนนี้อาจเป็นแค่แนวคิด เพราะซัมซุงเองเป็นบริษัทที่ให้ความสำคัญกับองค์ความรู้ทางเทคโนโลยี เรามีการพัฒนานวัตกรรมอย่างไม่หยุดยั้ง เพราะฉะนั้น แผนอนาคตสำหรับการทำ CSR เราอาจนำเครื่องมือของเราที่มีจุดเด่นหลายด้านไปเชื่อมโยงกับการเกษตร หรือที่เรียกว่า เกษตร 4.0 ก็เป็นไปได้ แต่อย่างที่บอกตอนนี้เป็นแค่แนวคิด เราจึงขอโฟกัสในเรื่องของโครงการ Samsung Smart Learning Center เสียก่อน เพราะยังมีอีกหลายโรงเรียนที่เราจะต้องเข้าไปช่วยบูรณาการ”

อันเป็นคำตอบของ “วาริท” ที่ฟังดูแล้ว รู้สึกอิ่มใจแทนโรงเรียนต่าง ๆ ที่เข้าร่วมโครงการ