ค่าตอบแทนปี’67 ไทยขึ้นเงินเดือน 5% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ตามหลังอินเดีย-เวียดนาม

CEO
Photo: Hunters Race/unsplash

เมอร์เซอร์สำรวจค่าตอบแทน 2567 ไทยปรับสูงขึ้นเล็กน้อย แต่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย และตามหลังอินเดีย เวียดนาม ภาควิทยาศาสตร์สุขภาพ เทคโนโลยี และยานยนต์ กลุ่มได้เงินเดือนขึ้นสูงสุด

วันที่ 13 พฤศจิกายน 2566 เมอร์เซอร์ ประเทศไทย เปิดเผยผลการสำรวจค่าตอบแทนประจำปี (Total Remuneration Survey – TRS) โดยพนักงานในประเทศไทยสามารถคาดหวังการปรับเงินเดือนที่สูงขึ้นในปี 2567 สำหรับปีนี้มีองค์กรเข้าร่วมการสำรวจค่าตอบแทนประจำปีในประเทศไทยทั้งหมด 617 องค์กร จาก 7 อุตสาหกรรม โดยการสำรวจจัดทำขึ้นระหว่างเดือนเมษายนและมิถุนายนที่ผ่านมา

สำหรับภาพรวมมีการคาดการณ์ว่าค่ามัธยฐานของการขึ้นเงินเดือนประจำปี (median merit salary increments) ของปี 2567 จะเพิ่มขึ้นเป็น 5 เปอร์เซ็นต์ จาก 4.8 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2566

ไทยขึ้นเงินเดือนโดยรวม 5 เปอร์เซ็นต์

นายจักรชัย บุญยะวัตร ประธาน บริษัท เมอร์เซอร์ (ประเทศไทย) จํากัด กล่าวว่า ด้วยการฟื้นตัวที่รวดเร็วของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ประกอบกับการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ภายในประเทศ และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ บวกกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาลใหม่ คาดว่า economic landscape (ภูมิทัศน์เศรษฐกิจ) ในประเทศไทยในปี 2567 จะเป็นไปในเชิงบวก โดยจะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องอย่างค่อยเป็นค่อยไปและมีเสถียรภาพ

สำหรับค่ามัธยฐานของการขึ้นเงินเดือนโดยรวม (median salary increments) ของปี 2567 ในประเทศไทยถูกคาดการณ์ไว้ที่ 5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในภูมิภาคเอเชียที่ 5.2 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของค่าตอบแทนที่แตกต่างกันระหว่างเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วและเศรษฐกิจที่กำลังพัฒนาอยู่

Advertisment
จักรชัย บุญยะวัตร
จักรชัย บุญยะวัตร

อัตราขึ้นเงินเดือนในประเทศต่าง ๆ

โดยตามรายงานประจำปี 2567 พบว่ากลุ่มประเทศที่มีค่ามัธยฐานของการขึ้นเงินเดือนโดยรวม (median salary increments) ที่สูงที่สุดในภูมิภาค ได้แก่ อินเดีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย ที่ 9.3 เปอร์เซ็นต์ 7.0 เปอร์เซ็นต์ และ 6.5 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ

ในขณะที่ญี่ปุ่น ไต้หวัน และฮ่องกง มีการรายงานค่ามัธยฐานของการขึ้นเงินเดือนโดยรวม (median salary increments) ที่ต่ำที่สุดในภูมิภาค ที่ 2.6 เปอร์เซ็นต์ 3.8 เปอร์เซ็นต์ และ 3.9 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ

โดยผลสำรวจของประเทศอื่น ๆ ที่รวมอยู่ในการสำรวจมีดังนี้ ฟิลิปปินส์ ที่ 5.7 เปอร์เซ็นต์ จีนที่ 5.2 เปอร์เซ็นต์ มาเลเซียที่ 5.1 เปอร์เซ็นต์ เกาหลีใต้ที่ 4.4 เปอร์เซ็นต์ และสิงคโปร์ที่ 4.2 เปอร์เซ็นต์

อุตสาหกรรมที่ขึ้นเงินเดือนสูงสุดในไทย

จากผลสำรวจคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมส่วนใหญ่จะมีการเพิ่มขึ้นของการขึ้นเงินเดือนประจำปี (merit salary increment) โดยอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์สุขภาพ เทคโนโลยีขั้นสูง และยานยนต์ จะเป็นกลุ่มที่มีอัตราการเพิ่มขึ้นของการขึ้นเงินเดือนประจำปี (merit salary increment) สูงที่สุดในปี 2567 ที่ 5 เปอร์เซ็นต์

Advertisment

ซึ่งสาเหตุของการเพิ่มขึ้นที่สูงกว่าอุตสาหกรรมอื่นของ 3 อุตสาหกรรมข้างต้นนั้น มีหลายปัจจัยสนับสนุน เช่น การขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่เป็นผลจากการขยายตัวของนวัตกรรมใหม่อย่างรถยนต์ไฟฟ้าที่มากขึ้นในตลาด และส่งผลให้การแข่งขันขยับตัวสูงขึ้น ทำให้มีความต้องการที่มากขึ้นในการจ้างงานบุคลากรที่มีศักยภาพสูง (talent)

นอกจาก 3 อุตสาหกรรมข้างต้น อุตสาหกรรมส่วนใหญ่ก็ได้รับการคาดการณ์ว่าจะมีการเพิ่มขึ้นของการขึ้นเงินเดือนประจำปี (merit salary increment) สูงกว่าปี 2566

อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมประกันชีวิตเป็นเพียงอุตสาหกรรมเดียวที่มีได้รับการคาดการณ์ว่าการขึ้นเงินเดือนประจำปี (merit salary increment) จะมีการปรับตัวลดลงจาก 4.2 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2566 เป็น 4 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2567

การจ่ายโบนัสประจำปี 2566

สำหรับการจ่ายโบนัสประจำปี อุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง วิทยาศาสตร์การแพทย์ และสินค้าอุปโภคบริโภค เป็นกลุ่มที่ให้ความสำคัญการทำผลงานของพนักงาน ซึ่งได้ถูกสะท้อนออกมาในการสำรวจ โดยผลสำรวจชี้ให้เห็นถึงความต่างของยอดการจ่ายที่สูงที่สุดระหว่างการจ่ายโบนัสประจำปีสำหรับพนักงานที่ทำผลงานได้ตามเป้าหมายและพนักงานที่ทำผลงานได้โดดเด่นที่ 68 เปอร์เซ็นต์ 61 เปอร์เซ็นต์ และ 52 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ

2023 Thailand Total Remuneration Survey
ผลการสำรวจค่าตอบแทนประจำปีของประเทศไทยประจำปี 2566-การจ่ายโบนัสประจำปี (2023 Thailand Total Remuneration Survey-Variable Bonus)

อัตราการลาออก

อัตราการลาออกจากงานแบบสมัครใจที่สูงขึ้นแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการผ่อนคลายของตลาดแรงงานในประเทศไทย โดยตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา อัตราการลาออกจากงานแบบสมัครใจในประเทศไทยมีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและเติบโตเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2566

นายจักรชัยเสริมว่า เนื่องจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในประเทศไทย บริษัทต่าง ๆ ได้เล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ และกำลังลงทุนเพื่อขยายกิจการ ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้มีความต้องการที่เพิ่มขึ้นในตลาดแรงงาน โดยเฉพาะการแย่งตัวกันของบุคลากรที่มีศักยภาพสูง

“นอกจากนี้สังคมที่กำลังดำเนินไปในทิศทางของสังคมผู้สูงอายุได้ทำให้เกิดการขาดแคลนผู้นำในองค์กรต่าง ๆ ดังนั้นบริษัทต่าง ๆ ได้เห็นความจำเป็นที่จะต้องเริ่มต้นดำเนินกลยุทธ์ในการจัดจ้างบุคลากรที่มีศักยภาพสูง เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้”

นายจ้างต้องใช้ค่าตอบแทนดุงดูดพนักงาน

นายเดเรก เฮง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท มาร์ช แอน แมคเลนแนน ประเทศไทย กล่าวว่า ถึงแม้จะมีสัญญาณที่บ่งชี้ถึงการผ่อนคลายในตลาดแรงงาน อัตราการว่างงานในประเทศไทยยังคงอยู่ที่ 1.2 เปอร์เซ็นต์ ในครึ่งแรกของปี 2566 ซึ่งถือเป็นหนึ่งในอัตราการว่างงานที่ต่ำที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทั่วโลก

“สิ่งนี้เป็นการแสดงให้เห็นว่าพนักงานในประเทศไทยยังคงมองหาโอกาสในการทำงานที่จะช่วยให้พวกเขาเติบโตอย่างประสบความสำเร็จในอนาคต และมีโอกาสที่ดีกว่าในเรื่องของค่าตอบแทน ดังนั้น ความสามารถในการนำเสนอแพ็กเกจค่าตอบแทนที่คิดออกมาอย่างถี่ถ้วนจะเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับนายจ้างและผู้นำด้านทรัพยากรบุคคลในการดูแลและดึงดูดบุคลากรที่มีศักยภาพสูง โดยเฉพาะในสายงานที่ต้องการทักษะเฉพาะตัว เช่น เทคโนโลยีขั้นสูงและวิทยาศาสตร์สุขภาพ”