เปลี่ยน “ขยะ” ซองขนมไร้ราคา เป็น “อะลูมิเนียม” มีค่า

รีไซเคิล

“บพข.” เดินหน้ารีไซเคิลอะลูมิเนียมจากขยะพลาสติก ผนึกหน่วยงาน “รัฐ-เอกชน-ชุมชน” แก้ปัญหาขยะพลาสติก เปิดตัว “เครื่องจักรไพโรไลซิสแบบต่อเนื่อง” ฝีมือคนไทย เปลี่ยนขยะพลาสติกจากถุงขนมขบเคี้ยว เป็น “อะลูมิเนียม” มีราคาลดนำเข้า และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สู่ชุมชนเข้มแข็ง

วันที่ 11 ธันวาคม 2566 รายงานข่าวจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า บพข.ได้ร่วมมือ UNDP ประเทศไทย, CIRAC, บริษัท โกลบอล อาร์แอนด์ดี จำกัด, ทีมวิจัยเคมีเทคนิค จุฬาฯ และชุมชนวัดจากแดง ในโครงการแก้ปัญหาขยะพลาสติกผสมชั้นอะลูมิเนียมอย่างยั่งยืน ด้วยเครื่องจักรไพโรไลซิสแบบต่อเนื่อง ออกแบบโดยคนไทย เพื่อรีไซเคิลอะลูมิเนียมและพลาสติกใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์

โดยได้เปิดตัวเครื่องจักรไพโรไลซิสแบบต่อเนื่องสำหรับรีไซเคิลอะลูมิเนียมจากขยะพลาสติกผสมชั้นอะลูมิเนียม หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ “ถุงวิบวับ” เพื่อแยกชั้นอะลูมิเนียมออกจากพลาสติก (Laminated Plastic) และนำอะลูมิเนียมที่แยกได้มาหลอมเป็นอะลูมิเนียมก้อนที่มีความบริสุทธิ์สูงมากกว่า 97% นำกลับไปใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่มีความต้องการใช้อะลูมิเนียมได้ ขณะที่ขยะพลาสติกที่เหลืออยู่จะเปลี่ยนเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง และขายต่อได้

ดร.พงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์ ประธานอนุกรรมการแผนงานกลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียน บพข. กล่าวว่า เครื่องจักรดังกล่าวใช้หลักการของไพโรไลซิสในการแยก Laminated Plastic โดยเฉพาะอะลูมิเนียมออกจากกัน คาดว่าจะสามารถรับขยะประเภทกล่องนมและถุงขนมขบเคี้ยวได้ 100 กิโลกรัมต่อวัน และได้อะลูมิเนียมจากการรีไซเคิลประมาณ 20 กิโลกรัมต่อวัน ทั้งยังมีผลพลอยได้เป็นน้ำมันจากการหลอมละลายพลาสติก ซึ่งสามารถขายต่อได้ รวมถึงได้ Fuel Gas ที่สามารถนำมาใช้หมุนเครื่องจักรแทนก๊าซ LPG ได้อีก

Advertisment

จึงตอบโจทย์ บพข. ทั้งด้านการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า โดยการเอาอะลูมิเนียมกลับมาใช้ใหม่ ด้านการลดของเสีย และการลดการเกิดก๊าซเรือนกระจก เนื่องจาก Fuel Gas นำมาใช้แทน LPG ได้ เป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง

“ต้องขอบคุณ UNDP และ CIRAC ที่เริ่มต้นดำเนินโครงการกันมาตั้งแต่ระดับ Lab Scale ขอบคุณทีมวิจัยจากภาควิชาเคมีเทคนิค จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท โกลบอล อาร์แอนด์ดี จำกัด ที่ร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีเตาปฏิกรณ์ไพโรไลซิสแบบต่อเนื่องจากระดับ Lab Scale สู่ระดับ Pilot Scale ทำให้ได้เครื่องจักรที่จัดการกับขยะกลุ่ม Laminated Plastic ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่ขาดไม่ได้เลยคือความร่วมมือจากทางวัดจากแดงที่อนุเคราะห์สถานที่สำหรับดำเนินโครงการ และชาวบ้านในชุมชนที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี”

ด้าน ดร.ศิขริน เตมียกุล ผู้ร่วมก่อตั้ง CIRAC กล่าวเสริมว่า ปัญหา คือโอกาส เนื่องจากขยะพลาสติกมีอะลูมิเนียมซึ่งเป็นโลหะที่มีมูลค่าสูงผสมอยู่ หากแยกออกมาได้ จะเปลี่ยนขยะที่ไม่มีมูลค่าให้เป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูง และเติบโตได้ในเชิงธุรกิจ ซึ่งบริษัทผู้ผลิตสินค้าที่จำเป็นต้องใช้บรรจุภัณฑ์กลุ่ม Aluminum Plastic ต่างให้ความสนใจแก้ไขปัญหาขยะจากบรรจุภัณฑ์ชนิดดังกล่าว

ซึ่ง CIRAC เป็นหนึ่งใน Solution Provider ให้บริษัทต่าง ๆ คาดว่าหากโครงการนี้ได้รับการขยายผลในเชิงพาณิชย์สำเร็จจะมีกำไรสุทธิ (Potential Profit) จากการจำหน่ายอะลูมิเนียมรีไซเคิลได้ถึง 140-340 เหรียญสหรัฐต่อตัน นับว่าคุ้มค่าเป็นอย่างมาก

Advertisment

นอกจากนี้ ยังเป็นการแก้ปัญหาขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติกผสมชั้นอะลูมิเนียมที่ยังไม่มีใครสามารถจัดการอย่างยั่งยืนในระดับชุมชน และระดับประเทศ ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจากกระบวนการผลิตอลูมิเนียม และลดการนำเข้าของอะลูมิเนียมจากต่างประเทศอีกด้วย

จากการสำรวจของทีมวิจัย พบว่าขยะพลาสติกในประเทศไทยมีที่มีอะลูมิเนียมผสมอยู่คิดเป็นปริมาณ 50 ตันต่อวัน เพียงพอต่อการสร้างรถยนต์ได้ถึง 150 คัน ถ้าหากรีไซเคิลอะลูมิเนียมกลับมาใช้ในอุตสาหกรรมได้ จะเพิ่มมูลค่าในอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมได้มหาศาล จากการไม่ต้องนำเข้าอะลูมิเนียมจากต่างประเทศ และสามารถที่จะใช้อะลูมิเนียมที่รีไซเคิลมาจากขยะได้เอง

ตลาดอะลูมิเนียมในไทย (Total Market) มีมูลค่าสูงถึง 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศที่ผลิตอะลูมิเนียมเองได้ ต้องนำเข้า 100% หากคิดเฉพาะอะลูมิเนียมที่แทรกซึมอยู่ตามถุงขนม ซองกาแฟ กล่องนม กล่องน้ำผลไม้ต่าง ๆ ที่ไม่สามารถรีไซเคิลนำกลับมาใช้ได้มีมูลค่าถึง 35 ล้านเหรียญสหรัฐ

รายงานข่าวระบุว่าประเทศไทยได้รับการจัดให้เป็นประเทศที่มีการปล่อยขยะพลาสติกลงสู่สิ่งแวดล้อมมากเป็นอันดับ 6 ของโลก ปัจจุบันการรีไซเคิลขยะพลาสติก เช่น ขวดน้ำพลาสติก (PET) หรือถุงแกง กลับมาใช้งานใหม่หรือเปลี่ยนสภาพเพื่อใช้ประโยชน์ในรูปแบบอื่นทำได้ไม่ยากนักด้วยกระบวนการทางเคมี แต่โครงการนี้มุ่งเน้นการจัดการกับปัญหาขยะพลาสติกในกลุ่มที่เรียกว่า “Aluminum Plastic Packaging” คือเป็นบรรจุภัณฑ์ที่มีชั้นอะลูมิเนียมเป็นเลเยอร์อยู่ด้านในตรงกลางระหว่างชั้นพลาสติก เรียกอีกอย่างว่า Laminated Plastic ทำให้ยากต่อการรีไซเคิล และไม่สามารถขายต่อได้ กลายเป็นปัญหาทางสิ่งแวดล้อม

แต่การใช้งานบรรจุภัณฑ์ชนิดนี้แพร่หลาย เนื่องจากมีคุณสมบัติที่ช่วยให้สามารถรักษาความสดใหม่ของอาหารด้านในได้ เช่น กล่องนม ถุงขนมขบเคี้ยว ซองกาแฟ ที่วางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าและร้านค้าทั่วไป หรือที่เรียกกันว่า “ถุงวิบวับ”