จุฬาฯ จับมือ บพท. เพิ่มรายได้เกษตรกรโคเนื้อ จ.น่าน

ประชากรส่วนใหญ่ในจังหวัดน่านประกอบอาชีพการเกษตร โดยมีโคเนื้อเป็นสินค้าเกษตรที่มีความสําคัญ จึงทำให้มีเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อประมาณ 7,738 ราย มีโคทั้งหมด 47,563 ตัว ส่วนใหญ่เป็นโคลูกผสมโคพื้นเมือง ที่ต้องเผชิญกับปัญหาประสิทธิภาพการผลิตโคอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากเกษตรกรขาดความรู้ ขาดบุคลากรและกระบวนการจัดการเรื่องผสมเทียมโคเนื้อ

ด้วยเหตุนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) จึงใช้ความรู้จากงานวิจัยผสมผสานนวัตกรรม และสานพลังพหุภาคี โดยร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย เช่น สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดน่าน สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดน่าน สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดน่าน และภาคีเครือข่ายอื่น ๆ สร้างนวัตกรชุมชน

จนสามารถส่งเสริมพลังเกษตรกรผู้เลี้ยงโค 245 ครัวเรือน ครอบคลุม 17 ตำบล ใน 10 อำเภอของจังหวัดน่าน ควบคู่ไปกับการผลักดันแผนบูรณาการการพัฒนาโคเนื้อครบวงจร เพื่อพัฒนามาตรฐานคุณภาพ ประสิทธิภาพการผลิต ยกระดับรายได้เกษตรกร และสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจชุมชน

ผศ.นสพ.ดร.วินัย แก้วละมุล
ผศ.นสพ.ดร.วินัย แก้วละมุล

นำความรู้สร้างรายได้เกษตรกร

“ผศ.นสพ.ดร.วินัย แก้วละมุล” อาจารย์ประจำสำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พื้นที่ให้บริการจังหวัดน่าน ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย “การพัฒนาสมรรถนะของเกษตรกร กลไกความร่วมมือและขยายโอกาสทางการตลาดโคเนื้ออย่างยั่งยืนในจังหวัดน่าน” ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจาก บพท. กล่าวว่า

เป้าหมายของโครงการคือการนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีเข้าไปพัฒนาการเลี้ยงโคเนื้อของเกษตรกรให้สามารถผลิตโคเนื้ออย่างมีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาด และสามารถสร้างรายได้ที่ดีให้กับเกษตรกรเพื่อนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

Advertisment

“โครงการวิจัยนี้เป็นการขยายผลจากโครงการการพัฒนาระบบการผสมเทียมโคเนื้อสำหรับเกษตรกรรายย่อยในจังหวัดน่าน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก บพท. ในปีงบประมาณ 2563 ที่มุ่งแก้ปัญหาประสิทธิภาพการผลิตโคอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งการดำเนินงานในปี 2563 เกิดความก้าวหน้าหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาระบบการเลี้ยงโคเนื้อ, มีการรวมกลุ่มนักผสมเทียมที่มีในพื้นที่

และจัดตั้งกองทุนการผสมเทียมโคเนื้อขึ้น, ให้บริการการผสมเทียมโคเนื้ออย่างต่อเนื่อง สามารถผลิตลูกโคที่มีพันธุกรรมที่ดี มีอัตราการเจริญเติบโตเร็ว และตรงตามความต้องการของตลาด ทำให้เกษตรกรยอมรับการผสมเทียมมากขึ้น สามารถวางแผนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ จนได้ผลผลิตที่ตรงกับความต้องการของตลาด ส่งผลให้มีรายได้เพิ่มขึ้น และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น”

สร้างห่วงโซ่คุณค่าผลิตโคเนื้อ

“ผศ.น.สพ.ดร.วินัย” กล่าวด้วยว่า โครงการวิจัยสามารถพัฒนานวัตกรชุมชนรวม 62 คน นวัตกรองค์กรปกครองท้องถิ่น 12 คน และนวัตกรเจ้าหน้าที่ภาครัฐ จำนวน 18 คน ดำเนินการร่วมกับกลุ่มเกษตรกรใน 17 ตำบล ในพื้นที่ 10 อำเภอ (จากทั้งหมด 15 อำเภอ) ของจังหวัดน่าน มีจำนวนสมาชิกเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อจำนวน 245 ครัวเรือน มีโคเนื้อ จำนวน 1,452 ตัว

ทั้งยังมีการใช้ความรู้และเทคโนโลยีพร้อมใช้ในโครงการคือเทคโนโลยีการผสมเทียม, แอปพลิเคชั่น Mor More เทคโนโลยี, การเหนี่ยวนำการเป็นสัด, ความรู้ด้านสุขภาพสัตว์ และความรู้ด้านอาหารสัตว์ให้แก่นวัตกร

Advertisment

โดยคาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 8.6 ล้านบาท ในช่วงระยะเวลา 5 ปี ล่าสุดขยายความร่วมมือไปยังกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ดำเนินการโครงการวิจัยที่มีความร่วมมืออย่างสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (สวพส.) (องค์การมหาชน) ซึ่งเป็นกลุ่มเกษตรกรรายย่อย และหันมาเลี้ยงโคเนื้อเพื่อเป็นอาชีพทางเลือกเสริม”

รศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม
รศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม

บพท.ยกระดับเศรษฐกิจชุมชน

“รศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม” รองผู้อำนวยการฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์องค์กร หน่วย บพท. กล่าวว่า บพท.มีเป้าหมายในการขับเคลื่อนงานพัฒนาเชิงพื้นที่คือการยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจสังคมท้องถิ่นด้วยความรู้และนวัตกรรม ขับเคลื่อนงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์

ทั้งยังช่วยสนับสนุนและส่งเสริมเชื่อมโยงกลไกการทำงาน ด้วยการประสานความร่วมมือกับภาครัฐ หน่วยงานท้องที่ ท้องถิ่น สร้างกลไกในพื้นที่ให้มีความเข้มแข็ง พร้อมกับการสร้างผู้นำ และการพัฒนาคนในพื้นที่ให้สามารถจัดการตนเองและสร้างการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง

“ผมเชื่อมั่นว่าการพัฒนาการเลี้ยงโคเนื้อของจังหวัดน่าน ภายใต้กระบวนการแบบมีส่วนร่วมของเกษตรกรและกลไกภาคีในพื้นที่ จะสามารถตอบโจทย์การยกระดับเศรษฐกิจครัวเรือนยากจนและส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างแน่นอน จนสร้างการเปลี่ยนแปลงคือการพัฒนาที่คนให้มีสมรรถนะที่มากขึ้น และการพัฒนาโคเนื้อตลอดห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการตลาด และพร้อมพัฒนาตลาด

ซึ่งเป็นช่องทางการจัดจำหน่ายที่สำคัญ และการพัฒนากลไกการขับเคลื่อนในระดับจังหวัด เพื่อให้เกิดการบูรณาการและเป็นการพัฒนาด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน”

อชิตรัตน์ ต๊ะชุ่ม
อชิตรัตน์ ต๊ะชุ่ม

ส่งเสริมเกษตรกรเลี้ยงโคขุน

“อชิตรัตน์ ต๊ะชุ่ม” ประธานวิสาหกิจชุมชนโคเนื้อคุณภาพ อำเภอนาน้อย และเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อ กล่าวว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงวัวใน อ.นาน้อย ประสบปัญหาแม่โคเนื้อผสมไม่ติดทําให้ระยะท้องว่างนาน จนเป็นการสูญเสียทางเศรษฐกิจ ถึงแม้มีหน่วยผสมเทียมภายใต้สํานักงานปศุสัตว์จังหวัดน่านจํานวน 2 หน่วย แต่ไม่เพียงพอต่อการให้บริการผสมเทียมโคเนื้อ

ขณะเดียวกันมีนักผสมเทียมที่ผ่านการอบรมผสมเทียมจากหน่วยงานต่าง ๆ จํานวนมาก แต่ส่วนใหญ่ไม่สามารถปฏิบัติงานได้ เนื่องจากไม่มีไนโตรเจนเหลวสําหรับเก็บน้ำเชื้อโคเนื้อ และเกษตรกรยังไม่มีการรวมกลุ่มที่เป็นรูปธรรม ต่างคนต่างขายส่งผลต่ออํานาจต่อรองด้านการตลาด

“วิสาหกิจชุมชนโคเนื้อคุณภาพ อ.นาน้อย ตั้งใจส่งเสริมให้คนในชุมชนเลี้ยงโคขุน ด้วยการชักชวนเกษตรกรที่ทำไร่เลื่อนลอยมาเลี้ยงโคขุน ทั้งยังจัดตั้งกองทุนแปลงหญ้าแปลงใหญ่โคเนื้อนาน้อย เพื่อสร้างระบบจัดการอาหารที่มีคุณค่าและเพียงพอ

โดยสำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จ.น่าน ให้คำแนะนำในการทำแปลงหญ้าแพงโกล่าสาธารณะ เนเปียร์ปากช่อง ในพื้นที่ 45 ไร่ โดยเป็นอาหารวัวถึง 300 ตันต่อปี และพัฒนาสร้างแบรนด์ น่าน บีฟ (Nan Beef) ทำผลิตภัณฑ์เนื้อโคขุนแดดเดียว เนื้อสวรรค์ และมีการขายออนไลน์ จนทำให้มีรายได้มากขึ้น”

นับเป็นกระบวนการพัฒนาด้วยกลไกการพัฒนาเชิงพื้นที่เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจสังคมท้องถิ่นด้วยความรู้และนวัตกรรม