กฟผ.ฟื้นป่าชายเลนภาคใต้ เปลี่ยนดินเสื่อมโทรมเป็นตู้ ATM

“หากป่าต้นน้ำอุดมสมบูรณ์ จะทำให้น้ำไหลมารวมกันที่เขื่อน และส่งต่อไปยังระบบชลประทานเพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์เต็มที่” รัชดา ทองอยู่ ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการสังคม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เล่าถึงจุดเริ่มต้นแห่งความพยายามตลอด 24 ปีที่ผ่านมาในการปลูกป่าต้นน้ำทั่วประเทศกว่า 40,000 ไร่ และพื้นที่ป่าชายเลนกว่า 20,000 ไร่

สำหรับปีนี้ กฟผ.ยังคงเดินหน้าขยายพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศผ่านโครงการปลูกป่าชายเลนในพื้นที่ 14 จังหวัดชายแดนใต้อย่างบูรณาการ พร้อมกับสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่อีกด้วย เพราะ กฟผ.ลงนามข้อตกลงเบื้องต้น (MOU) กับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ประเมินพื้นที่ที่ต้องการให้เข้าไปพลิกฟื้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่ถูกบุกรุกนำไปทำนากุ้ง ที่กรมอุทยานฯดำเนินการ“ยึดคืน” มาได้

กฟผ.จึงนำร่องปลูกป่าชายเลนที่จังหวัดชุมพรก่อนเป็นอันดับแรกเป้าหมายอยู่ที่ 100 ไร่ เพื่อให้แล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคมนี้

“รัชดา” บอกว่า การปลูกป่าของ กฟผ.ในช่วงที่ผ่านมาได้บูรณาการด้วยการเพิ่ม “การมีส่วนร่วม” โดยเฉพาะจากประชาชนในพื้นที่ ผนึกเข้ากับเครือข่ายให้เข้ามาร่วมกันปลูกป่า เช่น บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO และบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH เพื่อสร้างพลังแห่งการพัฒนาให้มากขึ้น

“ขณะนี้ กฟผ.อยู่ระหว่างการปลูกป่าส่วนเสริมระยะที่ 3 คือ 1) ปลูกที่ท้อง นั่นคือ กฟผ.จะเข้ามาสร้างอาชีพ ลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ให้ชุมชน ด้วยการสอนเรื่อง “ชีววิถี” ตามแนวทางศาสตร์พระราชา และเศรษฐกิจพอเพียง เมื่อคุณภาพชีวิตดีขึ้นก็จะไม่มีการบุกรุกพื้นที่อุทยานด้วย 2) ปลูกที่ใจ เพื่อให้เห็นความสำคัญของป่าสิ่งแวดล้อม

โดยรวมที่ต้องร่วมกันดูแล จะไปพึ่งพาอย่างเดียวไม่ได้ โดยเฉพาะคนที่อยู่ในพื้นที่เป็น “หน่วยเฝ้าระวัง” ที่ดีที่สุด ทั้งยังช่วยเฝ้าระวังในเรื่องของไฟป่า ซึ่งมีการอบรมอาสาสมัครป้องกันภัย

ทำให้การดูแลป่ามีศักยภาพมากขึ้น และ 3) ปลูกในป่า ที่จะเน้นปลูกป่าชายเลน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่ง กฟผ.จะนำร่องใน 3 จังหวัดก่อน คือ ในจังหวัดปัตตานี ชุมพร และนครศรีธรรมราช”

“เพราะป่าชายเลนแต่ละพื้นที่เป็นเสมือน ‘ตู้เอทีเอ็ม’ ถ้าไม่มีเงิน ไม่มีของกินก็เข้ามาที่ป่า เนื่องจากป่าชายเลนเป็นที่อนุบาลสัตว์น้ำ กุ้ง หอย ปู ปลา ที่เข้ามาวางไข่เพาะพันธุ์ที่นี่ และออกไปเติบโตในทะเล นอกจากนี้ ในหลายพื้นที่ยังเกิด ‘เลนงอก’ หรือพื้นที่ที่น้ำตกตะกอน กฟผ.จึงร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นแกนนำในการปลูกป่าชายเลน โดยส่วนของ กฟผ.จะเข้าไปเสริมศักยภาพหากในบางพื้นที่มีปัญหา เช่น ในกรณีที่น้ำทะเลไม่ทั่วถึง จะช่วยขุดแพรก หรือขุดร่องน้ำ เพื่อเพิ่มอัตราการรอดป่าไม้ โดยเริ่มทยอยดำเนินการแล้วตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา”

นอกจากนี้ ในบางพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาด้านอื่น ๆ เช่น พื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ในชุมชนบ้านนาทัก มีการพัฒนาเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวมีโฮมสเตย์ และกำลังอยู่ระหว่างพัฒนาเป็น “วิสาหกิจชุมชน” ซึ่งมีการต่อยอดจากทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่ เช่น ดินโคลน ที่มีแร่ธาตุนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์พอกหน้าเพื่อจำหน่ายคนในพื้นที่และนักท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้ชุมชนนั้น กฟผ.ให้ความช่วยเหลือตั้งแต่การช่วยออกแบบ การสร้างมาตรฐานสินค้า และหาตลาดให้สินค้าด้วย

“ป่าชายเลนที่มีความอุดมสมบูรณ์ จะทำให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงวิถีชุมชนตามมาด้วย ทั้งยังช่วยทำให้เกิดการพัฒนาในส่วนอื่น ๆ โดยเฉพาะการสร้างรายได้เพิ่มให้ชุมชน เช่น การทำเมนูอาหาร ด้วยการนำใบส่วนยอดอ่อนต้นโกงกางมาชุบแป้งทอด และมีการผลิตข้าวสีโคลน มีวิธีการหุงออกมาแล้วข้าวมีสีเหมือนโคลน ที่มีคุณค่าทางอาหาร ทั้งหมดเกิดขึ้นจากความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลน ซึ่งช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ด้วย”

ถึงกระนั้น อาจมีการตั้งคำถามถึง กฟผ.ในการทำกิจกรรมเพื่อสังคมแบบปูพรมในพื้นที่ภาคใต้ อาจใช้เป็น “ใบเบิกทาง” เพื่อให้ชุมชนยอมรับการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งเรื่องนี้ “รัชดา” บอกว่า ต้องมีคนคิดเรื่องนี้แน่นอน แต่การลงพื้นที่ที่ผ่านมา กฟผ. “ไม่หยิบยก” เรื่องนี้ขึ้นมาพูดกับชุมชน แต่ กฟผ.เน้นที่จะเข้ามาพัฒนาคุณภาพชีวิต ซึ่งเห็นว่าแต่ละโครงการของ กฟผ.ก็เพื่อพัฒนาชุมชน ในแบบที่เรียกว่าครบทุกมิติ สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม

“เพราะผลลัพธ์ทั้งหมดของการพัฒนาชุมชน คือ ความภาคภูมิใจของคน กฟผ. ที่ต้องการการยอมรับ และความไว้วางใจจากชุมชน ที่สำคัญ การพัฒนาชุมชนจะไม่สามารถบรรลุผลด้วยการทำงานเพียงลำพัง แต่จะต้องมีชุมชนร่วมกันขับเคลื่อนด้วย และนอกเหนือจากการปลูกป่าแล้ว กฟผ.ยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการบูรณาการชุมชนใน 4 ภาคทั่วประเทศตามมาอีกด้วย ด้วยการนำชุมชนที่มีความพร้อม และมีเครือข่าย ไปจนถึงนักวิชาการนำศาสตร์พระราชามาปรับใช้ และนำความต้องการของคนในพื้นที่มาตั้งเป็นโจทย์ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาร่วมกันต่อไป”