ลึก…แต่ไม่ลับ ล้วงแผนธุรกิจยั่งยืน “ปตท.สผ.”

กว่าที่แต่ละองค์กรภาคธุรกิจจะเข้ามาอยู่ในลิสต์ของดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices) หรือ DJSI ที่เป็นตัวชี้วัดการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์กรว่า “ยาก” แล้ว การรักษาองค์กรให้ยังอยู่ในลิสต์ต่อไปนับว่า “ยากยิ่งกว่า”

โดยเฉพาะบริษัทด้านพลังงานของไทยอย่างบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ที่แม้จะติดอยู่ในลิสต์ต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 4 แล้ว ทว่า การก้าวสู่ปีที่ 5 คงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับการที่บริษัทระดับโลกในกลุ่มธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ประเภทธุรกิจขั้นต้นและธุรกิจครบวงจร (oil and gas upstream & integrated industry) ที่มีคู่แข่งในธุรกิจเดียวกันอีกมากที่กำลังไล่ตามหลังมาติด ๆ

ดังนั้น เพื่อวิ่งให้ทิ้งห่างคู่แข่งโดยมีเส้นชัยเป็น DJSI จึงทำให้ ปตท.สผ.ต้องวางแผนรองรับเฉพาะด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนแบบเข้มข้นมากขึ้น สำหรับเรื่องนี้แหล่งข่าวจาก ปตท.สผ.ระบุว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริหาร หรือบอร์ดของ ปตท.สผ.เมื่อเร็ว ๆ นี้มีการหารือถึงทิศทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนควบคู่ไปกับการทำธุรกิจ โดยบอร์ดได้ให้นโยบายกับฝ่ายบริหารว่าสำหรับกลยุทธ์ทางธุรกิจต่อจากนี้จะต้องเพิ่มภารกิจของการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ SDGs (sustainable de-velopment Goals) เอาไว้ด้วย

“โดยจะเน้นการให้น้ำหนักไปที่5 เป้าหมาย จากทั้งหมดที่มี 17 เป้าหมาย คือ 1) เป้าหมายที่ 3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (good health and well-being)

2) เป้าหมายที่ 4 การศึกษาที่เท่าเทียม (quality education) 3) เป้าหมายที่ 7 พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้(affordable and clean energy)

4) เป้าหมายที่ 8 การจ้างงานที่มีคุณค่าและเติบโตทางเศรษฐกิจ (decent work and economic growth) และ 5) เป้าหมายที่ 16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม ไม่แบ่งแยก”

นอกจากจะกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนแล้ว เพื่อให้การดำเนินการพัฒนาอย่างยั่งยืนมีความคล่องตัว ปตท.สผ.จึงแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาอีก 2 ชุด ที่ต้องรายงานตรงต่อประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ (CEO) คือคณะทำงานการพัฒนาอย่างยั่งยืน(Sustainable Development Council) ซึ่งคณะทำงานชุดนี้จะมีอำนาจสูงสุดในการกำกับดูแลการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์กร โดยมี CEO นั่งเป็นประธาน และมีผู้บริหารระดับสูงจากทุกหน่วยงานเข้ามาเป็นคณะกรรมการ เพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินงานและพิจารณาแนวทางต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน และคณะทำงานการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Working Team) คณะทำงานชุดนี้มีตัวแทนจากหลายหน่วยงาน มีผู้บริหารระดับสูงด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นคณะทำงาน เพื่อทำหน้าที่กำหนดแผนงาน กระบวนการทำงาน และตรวจติดตามการดำเนินงานตามเป้าหมายด้านความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง และรายงานผลให้กับคณะทำงานการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วย

“เป้าหมายของ SDGs ปตท.สผ.จะพยายามทำให้ได้ครอบคลุมตามที่กำหนดไว้ แต่เนื่องจากธุรกิจของเราทำเพียงการขุดเจาะและสำรวจแหล่งปิโตรเลียม อาจยังมีข้อจำกัดในบางเรื่องที่ยังไม่สามารถนำมาเชื่อมโยงกันได้ อย่างเช่น การมีแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติในทะเลอ่าวไทย ที่เน้นดูแลด้านสิ่งแวดล้อมรอบ platform ทำให้ไม่มีโครงการที่เกี่ยวข้องกับผู้คนหรือชุมชน ในขณะที่แหล่งสิริกิติ์ หรือ S1 ในจังหวัดกำแพงเพชร ที่มีหลุมผลิตน้ำมันในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร นอกจากจะมีการจ่ายค่าภาคหลวงเพื่อให้พัฒนาพื้นที่แล้ว ปตท.สผ.ยังมีโครงการด้าน CSR เพิ่มเติมให้ชุมชนใน 3 ด้าน คือ การศึกษา วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมอีกด้วย”

แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า นอกจากนี้ ในแง่ของธุรกิจได้มีการหารือถึงแนวคิดในการหาโอกาสในธุรกิจใหม่ให้กับ ปตท.สผ. จากเดิมที่ทำเพียงธุรกิจต้นน้ำ หรือการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเท่านั้น ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงจาก 2 เหตุผลหลัก คือ 1) สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกยังคงยืนราคาค่อนข้างต่ำในระดับเฉลี่ยที่ 60-70 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากเดิมที่ราคาน้ำมันเคยขึ้นไปแตะที่ระดับ 100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ซึ่งหากลงทุนเพิ่มเพื่อขุดเจาะหลุมผลิตเพิ่มอาจไม่คุ้มค่าลงทุน และ 2) การพัฒนาเทคโนโลยี หรือ disruption ทั้งในอุตสาหกรรมรถยนต์ รวมถึงอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน ทำให้มีการคาดการณ์ว่าความต้องการใช้ทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจะลดลง ถือเป็นความเสี่ยงที่ต้องหาแนวทางตั้งรับด้วย

ซึ่งบอร์ดให้แนวคิดว่า ปตท.สผ.ควรมองหาโอกาสใหม่ทางธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจพลังงานทดแทน และธุรกิจผลิตไฟฟ้าในประเทศที่ ปตท.สผ.เข้าไปลงทุนอยู่แล้ว เนื่องจากว่า ปตท.สผ.จะเข้าใจลักษณะทางภูมิศาสตร์ มีความเชี่ยวชาญ และให้ความสำคัญกับพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในประเทศที่มีศักยภาพสูงเป็นอันดับแรกก่อน

รายงานข่าวระบุเพิ่มเติมว่า ในวันที่ 1 ตุลาคม 2561 นี้ “พงศธร ทวีสิน”จะเข้ารับตำแหน่งในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ แทน “สมพร ว่องวุฒิพรชัย” ที่เกษียณอายุ โดยภารกิจสำคัญของ “พงศธร” คือการเข้าร่วมประมูลแหล่งบงกช และแหล่งเอราวัณที่จะหมดอายุสัญญาสัมปทานในปี 2565-2566 รวมถึงการพิจารณาลงทุนในโครงการที่ยังอยู่ในระหว่างการสำรวจและพิจารณาถึงความคุ้มค่าลงทุนหรือไม่ โดยเฉพาะโครงการในต่างประเทศ เช่น โครงการแคชเมเปิล (Cash Maple) ในประเทศออสเตรเลีย รวมถึงโอกาสในการลงทุนในโครงการคลังก๊าซธรรมชาติเหลวลอยน้ำ (FLNG) ในประเทศเมียนมา