3 องค์กรรวมใจ นำพาประเทศไทยก้าวไกลสู่สากล

ในภาคของการเสวนาพิเศษ “รวมใจ…นำไทยยั่งยืน” ที่ไม่เพียงจะมี “ฐาปน สิริวัฒนภักดี” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หากยังมี “ศุภชัย เจียรวนนท์” ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์และประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ “บวรนันท์ ทองกัลยา” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานทรัพยากรบุคคลและบริหาร บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด

โดยทั้ง 3 องค์กรถือเป็นหนึ่งในคณะทำงานตามนโยบายสานพลังประชารัฐของรัฐบาล “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี เพียงแต่หมวกอีกใบของ “ศุภชัย” ยังดำรงตำแหน่งประธาน UN Global Compact Local Network ประเทศไทย อีกตำแหน่งหนึ่งด้วย

เบื้องต้น “ฐาปน” ฉายภาพถึงเรื่องการเข้าไปร่วมมือกับโครงการสานพลังประชารัฐให้ฟังว่า เป็นโชคดีที่เข้ามาทำหน้าที่แทนคนไทยอีกหลาย ๆ คน ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวนับเป็นช่วงที่คนไทยอยากทำงานถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพราะหากมองย้อนกลับไป 15 ปี จะเห็นว่าสิ่งดี ๆ ต่างเป็นกระแสสำนึก มีกระแสเดินตามรอยเท้าพ่อ

“โครงการสานพลังประชารัฐจึงนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักในการดำเนินโครงการ เริ่มต้นมาตั้งแต่ปลายปี 2558 เป็นต้นมา มีการพูดคุยจนเกิดเป็นบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี (ประเทศไทย) จำกัด ขึ้น และพร้อมจะขยายสู่บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี (จังหวัด) จำกัด ให้ครอบคลุมทั้ง 76 จังหวัดต่อไป เพื่อให้แต่ละพื้นที่สามารถดำเนินการได้ด้วยตนเอง สร้างรายได้ให้คนในชุมชน ให้ประชาชนมีความสุขอย่างแท้จริง แม้ว่านโยบายภาครัฐ หรือมีการเปลี่ยนรัฐบาลกี่ยุค กี่สมัยก็ตาม”

“ทั้งนี้ มีกรอบการทำงานที่เรียกง่าย ๆ ว่า กรอบ 1-3-5-7 โดย 1 คือ 1 เป้าหมาย สร้างรายได้ให้ประชาชน, 3 คือ 3 เป้าหมาย ได้แก่ เกษตร, แปรรูป (การสร้างมูลค่าเพิ่ม) และท่องเที่ยวในชุมชน (เป็นการสร้างพลังให้เกิดขึ้นในพื้นที่ โดยไม่เดินทางมาขายในกรุงเทพฯ มีการประยุกต์สินค้าที่มีความเฉพาะกลุ่ม) 5 คือ 5 กระบวนการ ได้แก่ การเข้าถึงปัจจัยการผลิต, การสร้างองค์ความรู้, การตลาด, การสื่อสารเพื่อการรับรู้ และการบริหารจัดการเพื่อความยั่งยืน ส่วน 7 คือ 76 จังหวัด ผ่านบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี (จังหวัด) จำกัด ทั้ง 76 แห่ง”

นอกจากนั้น “ฐาปน” ยังกล่าวถึงเป้าหมายแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals-SDGs) ซึ่งประเทศไทยเป็น 1 ใน 77 ประเทศที่ลงนามใน SDGs โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน การทำงานแบ่งออกเป็น 12 คณะ จาก 5 ภาคส่วน คือภาครัฐ, ภาคเอกชน, ภาควิชาการ, ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน มีการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักยึดในการดำเนินการให้เป็นไปอย่างสอดคล้อง โดยมี SDGs เป็นตัวชี้วัดที่ช่วยชี้ให้เราเห็นทิศทางที่จะเดินต่อไปข้างหน้า

“ตัวอย่างผลลัพธ์ที่ผ่านการเชื่อมโยงทุกภาคส่วน เช่น กรณีโครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกลำไยแปลงใหญ่ขัวมุง อ.สารภี จ.เชียงใหม่ เพื่อรับซื้อลำไยโดยตรงจากเกษตรกรเพื่อช่วยเรื่องราคาลำไยตกต่ำ โดยมีท็อปส์รับซื้อในราคากิโลกรัมละ 38.21 บาท เป็นจำนวนกว่า 1 แสนกิโลกรัม จนทำให้เกษตรกรขายลำไยได้ราคาที่ดีขึ้น เพราะไม่ต้องผ่านคนกลาง รวมไปถึงกรณีการสนับสนุนการเลี้ยงกุ้งมังกร 7 สี หรือกุ้งล็อบสเตอร์ภูเก็ต พร้อมกับช่วยโปรโมตสร้างการรับรู้กุ้งล็อบสเตอร์ภูเก็ตมากขึ้น จนทำให้เกิดความต้องการสินค้า พร้อมกับสร้างตลาดในพื้นที่นั้น ๆ จนเกิดการรวมตัวเพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง”

ขณะที่ “ศุภชัย” ขอมองย้อนมาที่ปัญหาของโลกก่อน เพราะตอนนี้โลกเป็นระบบทุนนิยม ทำให้มีผลกระทบต่อความยั่งยืนที่ไม่ใช่แค่ประเด็นความเหลื่อมล้ำ แต่เป็นเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย ผลกระทบเรื่องนี้ส่งผลให้สหประชาชาติ (UN) ออกเป้าหมายร่วมระดับโลกขึ้นมา 17 ข้อ เพื่อทำให้แต่ละภาคส่วนที่เคยทำงานแยกกัน ต่างคนต่างตั้งเป้าของตัวเอง จนทำให้เดินไปคนละทิศทาง หันมามีจุดมุ่งหมายเพื่อความยั่งยืนในแนวทางเดียวกัน

“สำหรับระดับองค์กร Core Value เปรียบเสมือนเป้าหมายร่วมของบุคลากร ผู้บริหาร และผู้ถือหุ้น ที่เมื่อทำตามอย่างต่อเนื่องจะช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กรได้ ซึ่ง 3 ประโยชน์สู่ความยั่งยืนเป็นหนึ่งในค่านิยม 6 ข้อของซีพี โดยเราคำนึงถึงประเทศชาติต้องก้าวหน้า ประชาชนต้องได้ประโยชน์ และสุดท้ายจึงเป็นประโยชน์ของพนักงานและบริษัท”

“ทั้งนี้ นวัตกรรมก็เป็นหนึ่งในค่านิยมของซีพี เพราะเราเชื่อว่าการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ มีความสำคัญต่อการแข่งขันที่ทำให้ประเทศก้าวไปข้างหน้าด้วยกันอย่างมั่นคง แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ เราต้องบริหารศักยภาพของคนในองค์กรให้ดี มีผู้นำที่มองระยะยาว เพราะยิ่งองค์กรขนาดใหญ่เท่าไหร่ ความคาดหวังจากสังคมในการช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับส่วนรวมก็จะมากตามไปด้วย”

“ศุภชัย” กล่าวเพิ่มเติมว่า การทำงานเพื่อส่วนรวม เราไม่สามารถคิดและทำในเชิงเดี่ยวได้ จำเป็นต้องมีเครือข่ายของคนที่มีเป้าหมายเดียวกัน อย่างเช่น โครงการสานพลังประชารัฐ ที่ภาครัฐมองเห็นว่าภาคเอกชนสามารถเป็นกำลังสำคัญ ซีพีจึงเป็นอีกองค์กรที่เข้าไปช่วยในฐานะหัวหน้าทีมภาคเอกชนด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ

“โดยเรามองว่าประเทศไทยต้องทำการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศการศึกษา 10 ข้อ เช่น ความโปร่งใส, การเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร, กลไกตลาด, กองทุน, การเชื่อมโยงกลไกตลาด, พัฒนาผู้บริหารสถานศึกษา เป็นต้น”

“เพราะมิติของประเทศไทยมี Thailand 4.0 อันเป็นเป้าหมายร่วมในการสร้างความยั่งยืน ซึ่งผมมองว่าการจะทรานส์ฟอร์มประเทศไทยตามเป้าหมายจะต้องมี 3 ด้านประกอบกันคือ Economic Zoning Hub, Education/Innovation Hub และ Agriculture Transformation สิ่งเหล่านี้เป็นกุญแจสำคัญที่จะขับเคลื่อนฮับเหล่านี้ จะต้องมีพื้นฐาน 3 ส่วน ประกอบด้วยความรัก, ความฝัน และความมั่นคงมาช่วยด้วย เพราะความรักเป็นพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันของคนในสังคม ความฝันเป็นแรงผลักดันสู่ความสำเร็จ และความมั่นคงในชีวิตเป็นตัวสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศชาติ”

สำหรับ “บวรนันท์” ฉายภาพลงรายละเอียดในเรื่องโครงการ “มิตรผลร่วมปลดหนี้ให้พนักงาน” โดยบอกว่า ปรัชญาธุรกิจขององค์กรคือร่วมอยู่ ร่วมเจริญ ถือเป็นพื้นฐานสำคัญในการดำเนินงานของมิตรผล โดยบริษัทเข้าไปช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรชาวไร่อ้อยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ผ่านโครงการหมู่บ้านเพิ่มผลผลิต ซึ่งดำเนินการไปแล้ว 9 ตำบล 136 หมู่บ้าน และ 1 ชุมชน

“มิตรผลเดินหน้าพัฒนาคนอย่างต่อเนื่อง เพราะเรามองว่าการทำธุรกิจไม่ใช่แค่การหาผลกำไร แต่ต้องคิดด้วยว่าจะทำประโยชน์ให้ผู้อื่นอย่างไร นอกจากการออกไปพัฒนาคนข้างนอกองค์กร เรายังมองถึงคนในองค์กรของเราด้วย เพราะคนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้องค์กรมีชีวิต ซึ่งความยั่งยืนขององค์กรเกิดจาก Productivity ของพนักงาน ที่ไม่ใช่แค่เรื่องทักษะ หรือความสามารถในการทำงาน แต่ครอบคลุมถึงเรื่องขวัญและกำลังใจ ซึ่งประเด็นที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องนี้คือปัญหาหนี้สิน”

“ปัญหาดังกล่าวมีอยู่ในทุกองค์กร และเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้พนักงานขาดกำลังใจในการทำงาน มิตรผลจึงจัดทำโครงการปลอดหนี้ ชีวีมีสุข ขึ้นเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว อันมาจากการสำรวจพนักงานในองค์กรแล้วพบว่ามีกลุ่มที่เป็นมนุษย์เงินผ่านคือสัดส่วนของรายจ่ายเท่ากับรายรับ เมื่อได้เงินเดือนมาแล้วก็จ่ายออกไปเลย ทำให้ไม่มีเงินเก็บ”

ทั้งนั้น โครงการปลอดหนี้ ชีวีมีสุข มีแนวทางการดำเนินงานทั้งหมด 5 เฟส คือ

หนึ่ง วิเคราะห์ปัญหาและออกแบบกระบวนการ โดยสำรวจวิเคราะห์และจัดกลุ่มประเภทพนักงาน เพื่อให้การแก้ปัญหาหนี้สินของพนักงานเกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีการศึกษาหาสาเหตุของการเป็นหนี้ ด้วยการสัมภาษณ์พนักงานในกลุ่มที่เป็นหนี้ล้นพ้น หรือมีหนี้มากกว่ารายได้

สอง วิธีกระบวนการในการช่วยเหลือพนักงาน มิตรผลจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือ 20 ล้านบาท พร้อมจัดอบรมด้านการเงิน เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการหนี้ การปรับโครงสร้างหนี้ และการจัดทำบัญชีครัวเรือน ขณะเดียวกันยังมีการปรับทัศนคติให้กับพนักงานเริ่มต้นตั้งเป้าหมายชีวิต โดยร่วมหาแนวทางในการพิชิตความสำเร็จ และปลูกฝังแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง

สาม ติดตามและประเมินผลพนักงานที่เข้าร่วมโครงการ ด้วยการแต่งตั้งคณะทำงานบริหารกองทุนบรรเทาภาระหนี้สินพนักงานอย่างเป็นระบบ ซึ่งพนักงานที่ได้รับการอนุมัติเงินกู้จากกองทุนทุกคนต้องทำบัญชีครัวเรือน โดยมีฝ่ายเอชอาร์คอยให้คำปรึกษา

นอกจากนี้ยังจัดโครงการ Money Coaching รายบุคคล เดือนละ 1 ครั้ง

สี่ ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิต บริษัทให้ความรู้ และส่งเสริมการดำเนินชีวิตแบบพึ่งตนเองตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ผ่านการจัดทำโครงการต่าง ๆ อย่างโครงการเปลี่ยนแปลงหญ้าเป็นแปลงผัก ซึ่งบริษัทได้จัดสรรพื้นที่ของแต่ละโรงงานให้พนักงานและครอบครัวในการปลูกผักสวนครัว รวมถึงสนับสนุนการสร้างอาชีพเสริมของกลุ่มแม่บ้าน โดยให้ความรู้สำหรับทำผลิตภัณฑ์เพื่อใช้ในครัวเรือน เพื่อลดรายจ่าย และจำหน่ายสร้างรายได้เสริม ตลอดจนโครงการส่งเสริมการปลูกผักปลอดสารพิษ เป็นต้น

ห้า สร้างความรู้ และพัฒนาแนวทางป้องกันการเกิดหนี้ ในเฟสนี้จะมีการประสานงานกับสถาบันการเงินเข้ามาให้บริการและอำนวยความสะดวกให้กับพนักงาน ทั้งการเปิดบัญชีรับฝากเงิน สลากออมสิน ให้คำปรึกษาเรื่องการเงิน และกองทุนต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการออมให้เป็นนิสัย พร้อมกันนั้นบริษัทยังจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ปลุกจิตสำนึกแนวทางการดำเนินชีวิตแบบพอเพียงด้วย

“ขณะเดียวกัน องค์กรมีการจัดทำ Life Planning และ Financial Planning ให้กับพนักงานตั้งแต่เข้ามาอบรมพนักงานใหม่ ด้วยเล็งเห็นว่า หากพนักงานมีแนวทางดำเนินชีวิตและการเงินที่ชัดเจน จะมีขวัญและกำลังใจ ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพซึ่งรากฐานคุณภาพชีวิตที่ดีของพนักงานจะกลายเป็นรากฐานความผูกพันที่ยั่งยืนกับองค์กรต่อไป”