โครงการพระราชดำริ “อนุรักษ์ป่าน่าน” เกษตรผสมผสาน-สร้างป่า-สร้างรายได้

จากปัญหาการบุกรุกทำลายป่าในพื้นที่จังหวัดน่าน เพื่อใช้เป็นพื้นที่เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว ทำให้พื้นที่ป่ามีสภาพเสื่อมโทรม ส่งผลให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ตามมา ทั้งไฟป่า หมอกควัน และชะล้างพังทลายของดิน ด้วยความห่วงใยในสภาพปัญหาป่าในพื้นที่จังหวัดน่าน ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเร่งฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าให้คืนสู่สมดุลโดยเร็ว

“สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” จึงมีพระราชดำริให้หน่วยงานต่าง ๆ ร่วมมือกันแก้ไขปัญหาการบุกรุกป่าในพื้นที่จังหวัดน่านอย่างยั่งยืน เป็นที่มาของการประชุมสัมมนา “รักษ์ป่าน่าน” ภายใต้ความร่วมมือของสำนักงานโครงการสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กองทัพบก, มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และจังหวัดน่าน โดยการสนับสนุนและประสานงานของธนาคารกสิกรไทยเพื่อแสวงหาความร่วมมือในการฟื้นฟูป่าต้นน้ำน่าน พร้อมทั้งส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนในจังหวัดน่านได้ประกอบสัมมาอาชีพที่สร้างสรรค์ และพอเพียง ทำให้สามารถดำรงชีพที่มีคุณภาพร่วมอยู่กับป่าได้ ตลอดจนปลูกจิตสำนึกให้เด็กและเยาวชนน่าน ให้รับช่วงต่อไปในการรักษาทรัพยากรอันเป็นสมบัติแผ่นดินสืบไปในภายภาคหน้า

ล่าสุดเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา “สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” เสด็จพระราชดำเนินเปิดการสัมมนารักษ์ป่าน่าน ครั้งที่ 4 ณ ศูนย์การเรียนรู้ และบริการวิชาการ เครือข่ายแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในการนี้ “สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” ทรงมีพระราชดำรัสเปิดการประชุมสัมมนารักษ์ป่าน่าน ครั้งที่ 4 ความสำคัญตอนหนึ่งว่า

“…เราทั้งหลายทราบกันดีว่าการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าที่ถูกทำลายไปมากแล้ว เป็นงานยากและมีรายละเอียดมากมาย กว่าจะเห็นผลต้องใช้ระยะเวลานาน ระหว่างการทำงานก็ต้องพบอุปสรรคใหญ่น้อยที่ทำให้งานขาดความราบรื่น แต่ถ้าเราไม่ลงมือทำตั้งแต่บัดนี้ ในวันข้างหน้า ความยากลำบากย่อมเกิดแก่อนุชนรุ่นหลังซึ่งก็เป็นเชื้อสายของพวกเรา การอนุรักษ์ป่าน่านจึงเป็นวาระสำคัญที่ต้องเร่งลงมือทำ ทั้งต้องพยายามสร้างจิตสำนึกรู้คุณของทรัพยากรให้เกิดขึ้น และเผยแพร่ออกไปให้ทั่วถึงทุกชุมชน…”

“…การสัมมนารักษ์ป่าน่าน เป็นการระดมกำลังสมองระดมความคิดของหลาย ๆ ฝ่าย ผู้ทำงานจะได้หารือกันว่าควรทำสิ่งใดเพิ่มเติมอีกบ้าง การบริหารจัดการที่ผ่านมาควรปรับปรุงอย่างไรหรือไม่ ตลอดจนการโน้มน้าวให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น งานนี้อาจจะกระทบต่อการประกอบอาชีพของราษฎร ก็ควรมาพิจารณาร่วมกันว่าจะหาทางแก้ไขช่วยเหลืออย่างไร เช่น จะช่วยสร้างอาชีพ หรือส่งเสริมอาชีพอย่างใดได้บ้าง เป็นต้น…”

จากนั้น “สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” ทรงบรรยายเรื่อง “การสร้างป่า สร้างรายได้”

สรุปใจความได้ว่า

การสร้างป่าสร้างรายได้ คือ การปลูกไม้ป่าดั้งเดิมของพื้นที่ให้เป็นไม้ประธานก่อน และผสมผสานกับการปลูกพืชเกษตร หรือไม้เศรษฐกิจที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่คนในท้องถิ่น โดยโครงสร้างป่าจะประกอบด้วยชั้นเรือนยอดต่าง ๆ ทั้งเรือนชั้นยอดบน เรือนชั้นยอดรอง เรือนยอดชั้นไม้พุ่ม และเรือนยอดชั้นผิวดิน เกิดเป็นความหลากหลายของพรรณไม้ ซึ่งจะทำให้ป่าใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุด

ที่ผ่านมาได้เริ่มดำเนินการสร้างป่า สร้างรายได้ ในพื้นที่ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน และ อ.นาแห้ว จ.เลย และได้ขยายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ใน จ.เชียงใหม่, ตาก และแม่ฮ่องสอน โดยได้ทำงานร่วมกับกรมป่าไม้ และสำนักส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) รวมถึงกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ด้วยการสร้างความเข้าใจร่วมกันก่อน ผ่านการประชุมร่วมกับชุมชน ชาวบ้าน ครู กศน. เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ ถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการเข้าร่วมโครงการ

ที่ต้องทำแบบนี้ ส่วนใหญ่ชาวบ้านจะกลัวว่าเมื่อทำแล้ว ที่ทำกินจะถูกยึดไป ทำอย่างไรถึงจะทำให้เขาทำมาหากินได้โดยไม่ถูกจับ และมีรายได้รองรับ ตรงนี้ต้องทำให้ชาวบ้านมั่นใจก่อน หลังจากนั้นรับสมัครชาวบ้านที่สมัครใจที่จะนำพื้นที่ของตนเองเข้ามาร่วมในโครงการ ซึ่งไม่มีการบังคับ และจำกัดขนาดของพื้นที่แต่อย่างไร จากนั้นจะมีการจดทะเบียนกลุ่มสร้างป่าสร้างรายได้ให้เป็นวิสาหกิจชุมชน โดยตั้งแต่เริ่มต้นดำเนินการเมื่อปี 2556 ถึงปี 2561 มีชาวบ้านเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 19,890 คน เกิดเป็นพื้นที่ป่าที่กำลังฟื้นฟูและอนุรักษ์ทั้งหมด 71,786 ไร่

“ส่วนการดำเนินงานในพื้นที่จังหวัดน่านที่ผ่านมามีความก้าวหน้าที่ อ.บ่อเกลือ ที่เริ่มจากสมาชิกเพียง 30 คน จนปัจจุบันขยายไปทั้ง 15 อำเภอ ของ จ.น่าน มีชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการ 4,112 คนและมีพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมที่กำลังได้รับการฟื้นฟูและอนุรักษ์กว่า 19,350 ไร่และจากข้อมูลสำรวจชาวบ้านมีรายได้จากการเพาะชำกล้าไม้ถึงร้อยละ71.04 ทำให้ชาวบ้านไม่ต้องทำไร่เลื่อนลอย มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา และมีรายได้จากการทำเกษตรแบบผสมผสานอีกด้วย”