สำรวจโลกรับมือ “AI” ปรับโหมด “สร้างสรรค์” สร้างทีมต่อกร

กระแสการใช้หุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (artificial intelligence) ในการทำงานที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในปัจจุบัน ทำให้เกิดข้อถกเถียงในหลายองค์กร โดยเฉพาะในกลุ่มพนักงานเกี่ยวกับประเด็นว่าเทคโนโลยีเหล่านี้จะมาแทนที่พวกเขาหรือไม่ และเมื่อเรื่องเหล่านี้อยู่ในความสนใจของหลายองค์กรทั่วโลก จึงหนีไม่พ้นที่เดล คาร์เนกี (ประเทศไทย) จะให้ความสำคัญ เพราะเป็นองค์กรที่ทำงานด้านการพัฒนาศักยภาพบุคลากร ด้านการวิจัยภาวะผู้นำ และให้คำปรึกษาทางธุรกิจระดับโลกมาแล้วกว่า 107 ปี

“เดล คาร์เนกี” จึงตั้งคำถาม เพื่อหาคำตอบ ที่สุดจึงเกิดผลวิจัยที่จะช่วยให้คำแนะนำในการเตรียมพร้อมให้กับผู้คนทั่วโลกสามารถทำงานร่วมกับ AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้หัวข้อ “Beyond Technology : Preparing People for Success in the Era of AI อนาคตโลก และอนาคตไทยภายใต้การมาของ AI และวิธีรับมือ”

“ฌอง หลุยส์ วอง ดูลส์” หัวหน้าสนับสนุนแฟรนไชส์ เดล คาร์เนกี กล่าวว่า การวิจัยนี้เป็นการสำรวจคนทำงานใน 17 ประเทศทั่วโลก ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย โดยใช้รูปแบบการสำรวจออนไลน์กับพนักงานในหลากหลายอาชีพ และอุตสาหกรรมกว่า 3,500 คน ตั้งแต่พนักงานทั่วไปจนถึงเจ้าของบริษัท เราพบว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของคนในเอเชียพูดว่า AI ส่งผลกระทบต่อชีวิตของพวกเขา และคำถามที่ตามมาคือ AI จะทำให้พวกเขาสูญเสียงานที่พวกเขามีอยู่หรือเปล่า

“เมื่อเราถามพวกเขาว่าเวลาพูดถึง AI ทำให้พวกเขาคำนึงเรื่องอะไร เราจึงได้คำตอบว่า มี 3 ด้านหลัก ๆ ที่เราเรียกว่า 3Ts ได้แก่ หนึ่ง transparent-ความโปร่งใส พวกเขามักจะกังวลว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับข้อมูลในระบบ AI แล้วมีอัลกอริทึมอะไรที่อยู่เบื้องหลัง สอง trust-ความเชื่อใจ ความสงสัยว่าสามารถเชื่อใจผู้บริหารองค์กรว่าจะสามารถจัดการระบบ AI ได้ดีแค่ไหน ซึ่ง 48 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสำรวจเชื่อว่าผู้นำของพวกเขาพร้อมแล้วสำหรับ AI และในคนกลุ่มนั้น มากกว่า 50% เป็นคนที่ทำงานในระดับปฏิบัติการ สาม transition-การปรับเปลี่ยน พวกเขากังวลว่าจะเตรียมตัวอย่างไรในการอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็น AI”

“โดยสิ่งที่เราพบคือ คน 75 เปอร์เซ็นต์คิดว่า soft skills เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยในการเตรียมพร้อมรับมือกับ AI ซึ่งประกอบไปด้วยทักษะการสื่อสาร ความคิดสร้างสรรค์ และการคิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking) นั้น เป็นเพราะคนที่ทำงานกับ AI ส่วนใหญ่จะทำงานเป็นทีมมากกว่า ทำให้ทักษะเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญ”

“นอกจากนี้ คนเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ทั่วโลกรับรู้ว่าในอนาคตอันใกล้หน้าที่การงานของพวกเขาจะได้รับผลกระทบไม่ทางใดก็ทางหนึ่งจาก AI และ 44 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มตัวอย่างทั่วโลกเห็นด้วยอย่างยิ่งว่า AI จะเปลี่ยนแปลงวิถีการดำรงชีวิต และการทำงานโดยสิ้นเชิงในอีก 10 ปีข้างหน้า และเกินกว่าครึ่งรู้สึกกังวลว่าพวกเขาจะตกงานจากการนำ AI มาใช้ในองค์กร นอกจากนั้น 23 เปอร์เซ็นต์กล่าวว่าบทบาทในการทำงานของพวกเขาได้รับผลกระทบจาก AI แล้ว โดยในคนกลุ่มนี้กว่า 40 เปอร์เซ็นต์คาดการณ์ว่าจะได้รับผลกระทบภายใน 1-5 ปีข้างหน้า” 

“ฌอง หลุยส์ วอง ดูลส์” อธิบายต่อว่า ผู้คนทั่วโลกรวมถึงคนไทยมีความกังวลต่อการมาของ AI ในระดับที่สูง ในขณะที่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ AI และแนวทางปฏิบัติในการทำงานร่วมกับ AI ยังคงอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งความกดดันเช่นนี้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และภาคแรงงานในอนาคตหากประเทศ และองค์กรไม่เตรียมพร้อมรับมือ

“แม้ว่าการนำ AI มาใช้ในการทำงานจะมีประโยชน์ช่วยลดต้นทุน อำนวยความสะดวกช่วยทำให้มนุษย์ไม่ต้องเสียเวลากับการทำงานประเภท routine และมีเวลาไปทำงานที่สำคัญมากกว่าได้ก็ตาม แต่การใช้ AI โดยขาดการพินิจพิเคราะห์ย่อมทำให้มนุษย์สูญเสียโอกาส และอาจทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง อาทิ การนำ AI มาประยุกต์ใช้ในการทำงาน แม้ว่าจะลดต้นทุน ประหยัดเวลา แต่ขาดประสิทธิภาพด้านการเจรจาต่อรองเพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์”

“รวมถึงการสร้างความร่วมมือกับคู่ค้า หรือการติดตั้งระบบควบคุมการประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานเพื่อเพิ่มผลผลิต และมอบความปลอดภัยให้กับพนักงาน แต่อาจส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของพนักงานว่าองค์กรขาดความเชื่อใจในตัวแรงงานเหล่านั้นจนทำให้ต้องมีระบบคอยติดตาม ซึ่งจากตัวอย่างข้างต้นถือเป็นผลกระทบที่ทำให้ภาคแรงงานอาจเกิดการต่อต้านได้”

“ดร.ปรียกร มิมะพันธุ์” กรรมการผู้จัดการ เดล คาร์เนกี (ประเทศไทย) กล่าวเสริมว่า ผู้นำที่สร้างความน่าเชื่อถือ คงเส้นคงวา ซื่อสัตย์ จะช่วยให้พนักงานไว้ใจในการการเข้ามาของ AI ในประเทศ และองค์กรมากขึ้น จากการวิจัยพบว่าผู้มีอำนาจระดับสูง หรือพนักงานระดับสูงมีความเชื่อใจต่อผู้นำในการตัดสินใจนำ AI มาใช้ 64% ในขณะที่พนักงานระดับล่างมีความเชื่อใจเพียง 26%

“เราต้องสร้างความมั่นใจให้กับพนักงานเกี่ยวกับเรื่อง AI และในขณะเดียวกันพนักงานต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิด และพัฒนาทักษะของตนเองให้ทำงานที่ต่างออกไปจากเดิมได้ด้วย ทั้งนี้ การที่ผู้นำจะสร้างความเชื่อใจในองค์กรนั้นเกี่ยวกับการมีวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแรง เมื่อผู้นำบอกพนักงานว่าจะทำอะไร ต้องทำในสิ่งที่ได้บอกไว้ ต้องมีพื้นฐานทักษะการสื่อสารที่ดี โฟกัสในสิ่งที่จะทำ รวมถึงตั้งเป้าให้ถูก โฟกัส และทำอย่างต่อเนื่อง”

ในปัจจุบันมีการใช้ AI ในการทำงานของฝ่ายทรัพยากรบุคคลมากขึ้น (HR-human resource) เช่น การคัดเลือกคนเข้าทำงาน, การประเมินผลการปฏิบัติงาน และการเลื่อนตำแหน่ง จากการวิจัยพบว่าผู้คนยอมรับความโปร่งใสจากการประเมินผลจาก AI มากถึง 62 เปอร์เซ็นต์ ในทางกลับกัน หาก AI ในประเทศหรือองค์กรที่นำมาใช้ขาดความโปร่งใส การยอมรับจะลดเหลือเพียง 32 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น หากนำ AI เข้ามาใช้ในองค์กร พนักงานย่อมคาดหวังให้การทำงานของ AI มีความยุติธรรมและสามารถอธิบายได้ ดังนั้น ความโปร่งใสของ AI คือ ตัวแปรที่จะช่วยให้พนักงานยอมรับการทำงานร่วมกับ AI มากขึ้น

“การสื่อสารของภาครัฐบาล และองค์กรกับผู้คน, พนักงานจะต้องมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการนำ AI มาใช้ว่ามีความสำคัญ และจากการวิจัยพบว่า 63 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มตัวอย่างกังวลเกี่ยวกับความลำเอียงของคนที่สร้างระบบ AI ในองค์กร และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ AI ดังนั้น การนำ AI มาใช้จึงต้องคำนึงถึงประเด็นดังกล่าวด้วย”

“ดร.ปรียกร” กล่าวเพิ่มเติมว่า เดล คาร์เนกี (ประเทศไทย) มีหลักสูตรที่เตรียมองค์กรต่าง ๆ ในประเทศไทยให้พร้อมรับมือต่อการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นหลักสูตรด้าน transformation ซึ่งได้รับความสนใจและเป็นที่ยอมรับมาอย่างต่อเนื่อง เพราะหลายองค์กรตระหนักว่าการปรับตัวเพื่อรองรับ AI ไม่สามารถเริ่มจาก CEO หรือ HR อย่างเดียว แต่ต้องสอดคล้องไปทั้งองค์กร ซึ่งการขับเคลื่อนทั้งองค์กรไม่ใช่เรื่องง่าย จะต้องได้รับความช่วยเหลือ และแนะนำจากองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาศักยภาพบุคลากร ด้านการวิจัยภาวะผู้นำ และให้คำปรึกษาทางธุรกิจ

“ในด้านแพลตฟอร์มการโค้ชชิ่ง เราการปรับตัวให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเพิ่ม live online คือ โค้ชชิ่งแบบออนไลน์แบบไลฟ์ที่สามารถดึงดูดคนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ไม่แพ้ไปกับการโค้ชชิ่งในห้อง และเทรนเนอร์ที่จะทำการโค้ชในแพลตฟอร์มนี้ต้องได้รับการรับรองว่าผ่านคุณสมบัติโดยตอนนี้เรามีเทรนเนอร์ในไทยกว่า 10 คน”

องค์กรจึงจำเป็นต้องมองให้ไกลกว่าเรื่องเทคโนโลยีเพื่อให้การดำเนินการเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการนำเข้ามาพัฒนาประเทศ เพื่อให้องค์กรประสบผลสำเร็จในระยะยาว