โตโยต้า แคมปัส แชลเลนจ์ พาเยาวชนไทยดูขับขี่ปลอดภัยญี่ปุ่น

ตลอดระยะเวลากว่า 6 ปี นับจากบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยทางถนน โดยเล็งเห็นถึงความสำคัญในการปลูกจิตสำนึกให้แก่เยาวชน ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงสุด จึงได้ริเริ่มกิจกรรม “โตโยต้า ขับเคลื่อนความสุข Campus Challenge โดยโตโยต้า ถนนสีขาว” ตั้งแต่ปี 2557 ทั้งนั้นเพื่อเปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนการประชาสัมพันธ์ และรณรงค์สร้างความปลอดภัยทางถนนในสถานศึกษา จนถึงการลงมือปฏิบัติเพื่อลดอุบัติเหตุจริง อันจะเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมสร้างสังคมคนขับรถดีต่อไปในอนาคต

โดยปีที่ผ่านมาปรากฏว่ามีผู้ผ่านการชนะกิจกรรม “Campus Challenge 2019 โดยโตโยต้า ถนนสีขาว” ทั้งหมด 3 ทีมด้วยกัน ประกอบด้วย

หนึ่ง ทีมสาธุบุญโยเร ในชื่อแผนงาน The Lucky C Way ทางม้าลายสายมงคล จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คว้ารางวัลชนะเลิศ

สอง ทีม Chinathip ในชื่อแผนงาน Bluedyguard ใครไม่เห็น แต่บลูดี้เห็นเด้อ จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1

สาม ทีม 4ANGIES ขี่ม้ายูนิคอร์น ในชื่อแผนงาน UniCross Safe Life จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2

โดยทั้ง 3 ทีม หลังจากประกาศผล และรางวัลเสร็จเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2562 ผ่านมา ยังมีโอกาสไปทัศนศึกษาดูงานด้านความปลอดภัยทางถนน ณ ประเทศญี่ปุ่น เป็นเวลา 5 วัน และหนึ่งในไฮไลต์สำคัญสำหรับน้อง ๆ นิสิต นักศึกษาเหล่านี้ คือ การไปเยี่ยมชม และศึกษาดูงานที่ Tsutsumi Plant เพื่อดูไลน์การผลิตอะไหล่รถยนต์โตโยต้า, พิพิธภัณฑ์โตโยต้า ไคคัง, พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยีโตโยต้า, Toyota Automotive Museum, ศูนย์ศึกษาความปลอดภัยโตโยต้าสนามโมบิลิต้าส์, สถาบันเพื่อการวิจัย และการวิเคราะห์ข้อมูลอุบัติเหตุบนท้องถนน และ TOYOTA MEGA WEB

ยิ่งเฉพาะในส่วนของศูนย์ศึกษาความปลอดภัยโตโยต้าสนามโมบิลิต้าส์ น้อง ๆ นิสิตนักศึกษาทั้ง 3 ทีมจะต้องพรีเซนต์แผนงานของตัวเองให้แก่ผู้บริหารชาวญี่ปุ่นที่เดินทางมาจากโตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น เมืองโตเกียว เพื่อมาต้อนรับน้อง ๆ ผู้ชนะเลิศทั้ง 3 ทีม จากประเทศไทย

โจอิชิ ทาชิกาวา

“โจอิชิ ทาชิกาวา” โปรเจ็กต์แมเนเจอร์ โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ทางโตโยต้า ญี่ปุ่น มีเป้าหมายในการช่วยลดอุบัติเหตุให้เป็นศูนย์ในอนาคต เฉพาะปี 2019 คนญี่ปุ่นเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนประมาณ 3,215 คน ซึ่งถือว่าน้อยลงจากเมื่อ 2 ปีผ่านมา

“ขณะที่ในปี 1970 คนญี่ปุ่นเสียชีวิตสูงสุดประมาณ 10,600 คน ซึ่งเป็นการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ แต่ถ้าเทียบกับในอดีตแล้วจำนวนคนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุลดน้อยลงเรื่อย ๆ แต่ยังเป็นตัวเลขที่สูงอยู่ดี และผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่จะเสียชีวิตบนท้องถนนมากที่สุด ผลตรงนี้จึงทำให้โตโยต้ามีเป้าหมายที่จะช่วยลดอุบัติเหตุจนทำให้ผู้เสียชีวิตกลายเป็นศูนย์ แต่กระนั้น เราต้องพัฒนา 3 ด้านด้วยกัน คือ หนึ่ง พัฒนาเทคโนโลยีด้านความปลอดภัย สอง พัฒนาสภาพแวดล้อมทางด้านการจราจร และการให้การศึกษาทางด้านการขับขี่ปลอดภัย”

“ผมเชื่อว่าทั้ง 3 ประเด็นจะช่วยทำให้ลดอุบัติเหตุของผู้เสียชีวิตลงได้ และตรงนี้จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่เราจัดตั้งศูนย์ศึกษาความปลอดภัยโตโยต้าสนามโมบิลิต้าส์ขึ้นมา ขณะเดียวกัน เราก็พยายามจัดกิจกรรมให้ความรู้ต่าง ๆ เพื่อให้ทุกคนรับรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยในการขับรถ ดังนั้นในส่วนของหน่วยงานในการขับขี่ปลอดภัย จะมีอยู่ 2 แห่งด้วยกัน แห่งแรก คือ ศูนย์ศึกษาความปลอดภัยโตโยต้าสนามโมบิลิต้าส์ และแห่งที่สอง คือ TOYOTA MEGA WEB ซึ่งจะอยู่ที่โตเกียว”

“สำหรับคอนเซ็ปต์ของศูนย์ศึกษาความปลอดภัยโตโยต้าสนามโมบิลิต้าส์ คือ การเรียนรู้ความอันตรายในการขับรถ ที่นี่ทุกคนจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับสมรรถนะสูงสุดของรถยนต์ และเพอร์ฟอร์มานซ์ของรถยนต์เพื่อจะได้รับรู้ และนำมาปรับปรุงวิธีการขับรถอย่างถูกต้อง และนอกจากที่ประเทศญี่ปุ่นแล้ว การจัดการการให้ความรู้ด้านการขับขี่ปลอดภัยบนท้องถนนยังมีที่ต่างประเทศอีกด้วย”

นอกจากนั้น “โจอิชิ ทาชิกาวา” ยังกล่าวเพิ่มเติมถึงเป้าหมายในการลดอุบัติเหตุให้เป็นศูนย์ในประเทศญี่ปุ่น ให้ฟังว่า…จริง ๆ แล้วเราไม่ได้กำหนดชัดเจนว่า เป้าหมายจะบรรลุวัตถุประสงค์ในปีไหน แต่อย่างน้อยเรากำหนดเป็นเป้าหมายในอนาคต แต่อย่างที่บอก การที่เราจะบรรลุเป้าหมาย การพัฒนาใน 3 เรื่องที่กล่าวมาจะต้องสอดรับและประสานเป็นหนึ่งเดียว ผลตรงนี้จึงทำให้เราจัดกิจกรรมให้ความรู้ด้านการขับขี่ปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อพยายามลดจำนวนผู้ประสบอุบัติเหตุลงเรื่อย ๆ

“ที่สำคัญ โครงการดังกล่าวมีอยู่ในหลายประเทศทั่วโลกที่เราไปลงทุน แต่ทั้งนั้น แต่ละประเทศพฤติกรรมการขับรถยนต์ก็ไม่เหมือนกัน และกฎหมายเกี่ยวกับการจราจรก็ไม่เหมือนกันด้วย แต่กระนั้น ทางบริษัทแม่ก็ยินดีที่จะให้ความรู้เกี่ยวกับการขับขี่ปลอดภัย และถ้าหากทางโตโยต้าจากประเทศต่าง ๆ ต้องการข้อมูล ตัวอย่าง หรือคำปรึกษาใด ๆ ทางสำนักงานใหญ่ก็ยินดี และพร้อมจะสนับสนุนเต็มที่ ซึ่งเหมือนกับระบบ ICS (intelligent clearance sonar) ซึ่งเป็นระบบความปลอดภัยที่เราพัฒนาขึ้นมาเพื่อช่วยลดอุบัติเหตุให้กับผู้สูงอายุในกรณีที่เหยียบเบรก แต่ไปเหยียบคันเร่งแทน”

“เพราะระบบ ICS จะส่งคลื่นโซนาร์ไปทางด้านหน้า และด้านหลังเพื่อตรวจจับสิ่งกีดขวาง หากระบบตรวจพบว่ารถยนต์กำลังจะไปชนวัตถุ ไม่ว่าจะเป็นด้านหน้า หรือด้านหลังก็ตาม ICS จะตัดกำลังของเครื่องยนต์ พร้อมกับสั่งการให้เบรกทำงานโดยอัตโนมัติ เพื่อหลีกเลี่ยงการเฉี่ยวชน ที่สำคัญ เราทำการสำรวจระบบ ICS ในกลุ่มผู้ใช้งานจริง ปรากฏว่าระบบดังกล่าวช่วยลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุได้สูงสุดถึง 70% ซึ่งจะทำให้ผู้สูงอายุปลอดภัยจากการขับรถยนต์มากขึ้น ซึ่งผมคิดว่าถ้าหากนำระบบ ICS ไปใช้กับหลาย ๆ ประเทศที่เราดำเนินธุรกิจอยู่ ก็คิดว่าน่าจะช่วยลดอุบัติเหตุลงได้มากเช่นกัน”

ถึงตรงนี้ “ปวีณา นันทิกุลวานิช” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวเสริมว่า สำหรับกิจกรรม Campus Challenge 2019 โดยโตโยต้า ถนนสีขาว มีน้อง ๆ นิสิต นักศึกษาทั่วประเทศสมัครเข้ามา 868 ทีม จากทั้งหมดประมาณ 70 สถาบัน และปีนี้เป็นปีแรกด้วยที่เราเปิดโอกาสให้วิทยาลัยอาชีวศึกษาสมัครเข้าร่วมกิจกรรมได้

“สำหรับโจทย์ในปี 2019 คือ การลดอุบัติเหตุในสถานศึกษาให้เป็นศูนย์ ซึ่งเราจะเน้น 4 ปัจจัยหลัก ๆ ในการสร้างสรรค์เพื่อให้เกิดการขับรถอย่างปลอดภัย โดยเฉพาะเรื่องการลดความเร็ว และไม่ประมาท, สร้างทักษะในการขับขี่, มีวินัยจราจร และมีน้ำใจให้เพื่อนร่วมทาง ซึ่ง 4 เรื่องนี้ เราโฟกัสและให้น้อง ๆ นิสิต นักศึกษาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งมาทำโครงการ แต่จะต้องเน้นการมีส่วนร่วมของกลุ่มเป้าหมายและการเป็นโครงการต้นแบบในการลดอุบัติเหตุในสถานศึกษา”

“จนที่สุดเราได้ทีมชนะเลิศ และทีมรองชนะเลิศอีก 2 ทีม เพื่อพาพวกเขามาทัศนศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่น เพราะเราต้องการแบ่งปันประสบการณ์ดี ๆ ให้กับน้อง ๆ เพราะอย่างที่ทุกคนทราบ ญี่ปุ่นเป็นชนชาติที่มีวินัย และมีความเคร่งครัดในการทำงานค่อนข้างมาก เพราะฉะนั้น ทุก ๆ สถานที่ที่เราพาเขาไปเยี่ยมชม และทัศนศึกษา นอกจากเขาจะได้เห็นมุมมองการทำงานของคนโตโยต้าที่ญี่ปุ่น หากยังทำให้พวกเขาได้เห็นวิธีคิด วิธีการทำงาน และความใส่ใจในทุกเรื่องที่เกี่ยวกับความปลอดภัยจากการขับขี่รถยนต์ด้วย”

“ดิฉันจึงค่อนข้างเชื่อว่าต่อจากนี้ไปเมื่อพวกเขากลับไปยังสถานศึกษาของตัวเอง คงจะนำความรู้ ประสบการณ์ และมุมมองต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัยไปปรับใช้กับโครงการของตัวเองเพราะอย่างที่ทุกคนทราบใน 3 ทีม ทั้งหมดล้วนต่างทำเรื่องเกี่ยวกับทางม้าลาย และเรื่องย้อนศร ซึ่งเบื้องต้นพวกเขาอาจจะมีรูปแบบ และความคิดดี ๆ แต่การจะทำโครงการให้ยั่งยืนในอนาคต พวกเขาจะต้องพยายามดึงทุกคนที่อยู่ภายในชุมชนเล็ก ๆ ของสถาบันตัวเองเข้ามามีส่วนร่วมให้ได้ และถ้าเขาทำได้ก็จะเกิดความยั่งยืนในอนาคต”

ธนภัทร พรหมภัทร์

“ธนภัทร พรหมภัทร์” นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะวารสารศาสตร์ และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตัวแทนจากทีมสาธุบุญโยเร กล่าวถึงประสบการณ์จากการมาทัศนศึกษาครั้งนี้ว่า ในแผนงาน The Lucky C Way ทางม้าลายสายมงคล จะมี 2 เรื่องที่ซ่อนอยู่ภายใน คือ เรื่องความยั่งยืน และการสื่อสารเรื่องการศึกษา แต่พอเรามาดูงานที่ญี่ปุ่นแล้วรู้สึกว่า 2 เรื่องนี้คงไม่พอ พวกเราตกลงกันแล้วว่าจะเพิ่มเรื่องของสัญลักษณ์เข้าไปด้วย เพราะประเทศญี่ปุ่นเขาเด่นในเรื่องของการใช้สัญลักษณ์ในการสื่อสาร เราตั้งใจว่าจะใช้สัญลักษณ์นี้ไปทำเพิ่มเพื่อคนพิการ และน่าจะเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวกับการสร้างความยั่งยืน

“และใน 4 เดือนข้างหน้า เรามีโปรเจ็กต์เรื่องการให้การศึกษา และการสื่อสารด้วย ซึ่งหลังจากเราดูงานในแต่ละสถานที่ ทำให้เราเห็นอย่างหนึ่งว่าการจะให้ความรู้กับคนอย่างต่อเนื่อง และเกิดความน่าสนใจ ควรจะต้องนำ storytelling มาประยุกต์ใช้ด้วย ซึ่งแผนงานของเรานำเรื่องนี้มาใช้ก็จริง แต่เมื่อมาดูงานที่นี่ เราเห็นเลยว่านอกจากจะเล่าเรื่องเป็นแล้ว เรื่องดังกล่าวจะต้องสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนฟัง และคนดูด้วย ตรงนี้เป็นอีกอย่างที่เราจะนำมาปรับใช้ต่อไป”

“เพราะก่อนหน้าเราคุยกับอาจารย์ที่ปรึกษา และอาจารย์ที่สอนวิชา TU 100 ซึ่งเป็นวิชาที่เกี่ยวกับหน้าที่พลเมือง และนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ทุกคนจะต้องเรียน เราคิดว่าจะนำเรื่องเกี่ยวกับคนเดินเท้าบรรจุเข้าไปในวิชา TU 100 ด้วย เพื่อต้องการส่งต่อเรื่องราวดี ๆ ให้กับรุ่นน้องต่อไป ที่สำคัญ เราต้องการให้น้อง ๆสร้างอะไรให้ธรรมศาสตร์ เขาจะได้หวงแหนมหา”ลัยของเขา เพราะเราเองอีกไม่กี่ปีก็เรียนจบแล้ว ผมกับเพื่อน ๆ จึงคิดเหมือนกันว่าเราจะต้องส่งมอบสิ่งดี ๆ เหล่านี้ให้กับรุ่นน้อง ๆ ต่อไป”

ภัทรวิชญ์ ภัทรวัฒน์กุล

“ภัทรวิชญ์ ภัทรวัฒน์กุล” นิสิตชั้นปีที่ 3 คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ตัวแทนจากทีม Chinathip กล่าวเสริมว่า โตโยต้ามีการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยียานยนต์สูงมาก แต่กระนั้น เขาก็ให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยมากเช่นกัน และไม่เฉพาะแต่คนญี่ปุ่นที่อยู่ภายในประเทศ หากคนที่ใช้รถโตโยต้าทั่วโลก เขาก็ให้ความสำคัญในเรื่องการขับขี่ปลอดภัยด้วย ตรงนี้ทำให้ผมคิดว่าเราควรเปิดใจยอมรับ และให้ความสำคัญกับเรื่องเทคโนโลยีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

“สำหรับเรื่องความยั่งยืนของโครงการที่เราทำก็อยากผลักดันให้เป็นโครงการของมหา”ลัยต่อไป เพราะว่าพอเราเรียนจบแล้ว แต่มหา”ลัยยังอยู่เหมือนเดิม ดังนั้น สิ่งที่เราทำมากที่สุด คือ การผลักดันให้มหา”ลัยทำโครงการของเราต่อ ที่สำคัญ ทางโตโยต้าก็ให้ทุนสนับสนุนในการทำโครงการระยะยาวอีก 4 เดือน เพราะฉะนั้น ต่อจากนี้ไปเราจะผลักดันโครงการให้ถูกรับรู้ในวงกว้างมากขึ้น ทั้งในรูปแบบของสื่อภายใน และสื่อภายนอกบนโลกโซเชียลมีเดียอะไรต่าง ๆ เพื่อต้องการสร้างโรดแมปต่อไปในระยะยาว”

ปรียานุช สุโพธิ์

“ปรียานุช สุโพธิ์” นิสิตชั้นปีที่ 3 คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ตัวแทนจากทีม 4ANGIES ขี่ม้ายูนิคอร์น กล่าวว่า หลังจากมาดูงานที่ญี่ปุ่น จากนี้ไปเราคงผลักดันโครงการนี้ให้ไปสู่ระดับนโยบายของมหา”ลัย และของทางโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยมหาสารคามต่อไป ตอนนี้เหลือแต่เพียงเข้าไปคุยกับทางผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตฯ เพราะทางมหา”ลัยเขาเห็นชอบแล้ว

“ทั้งนั้นเพื่อดึงทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นองค์การนิสิต และคณะกรรมการนักเรียน เพื่อให้เขาเข้ามามีส่วนร่วม ดังนั้นเมื่อพวกหนู และเพื่อน ๆ จบออกไป โครงการที่เราทำขึ้นมาจะได้มีคนเข้ามารับผิดชอบต่อไป ที่สำคัญ การมาดูงานครั้งนี้หนูเห็นอย่างหนึ่ง คือ การใช้สถิติมาเป็นเครื่องมือในการวัดผลสัมฤทธิ์ หนูคิดว่าจะเพิ่มเรื่องสถิติเข้าไปด้วย เพื่อให้ทุกคนรับรู้มากขึ้น ที่สำคัญ เราจะอัพเดตข้อมูลต่าง ๆ องค์ความรู้จากการมาดูงานลงไปในโซเชียลมีเดีย เพื่อสร้างศูนย์รวมความปลอดภัยขึ้นมาอีกทางหนึ่งด้วย”

ซึ่งไม่ว่าจะเกิดขึ้นเร็วหรือช้าก็ตาม แต่กระนั้น ต้องชมเชยน้อง ๆ นิสิต นักศึกษาเหล่านี้เป็นอย่างมาก ที่ไม่เพียงจะเป็น “คนรุ่นใหม่” ที่คิดดี ทำดี หากยังมองเห็นคุณค่าของตัวเอง เพื่อส่งต่อสิ่งดี ๆ ให้กับคนรอบข้างอีกด้วย

ไม่ธรรมดาเลย