ปลูกผักด้วยจักรยาน มื้อกลางวันนักเรียนบ้านหอมเกร็ด

คอลัมน์ CSR Talk

นับเป็นการผสมผสานในการทำกิจกรรมเพื่อสังคมอย่างลงตัว เมื่อคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และโรงเรียนบ้านหอมเกร็ด อ.สามพราน จ.นครปฐม ผนึกกำลังกันในการทำกิจกรรมปลูกผักด้วยจักรยาน

เพราะทางหนึ่งในส่วนของคณะวิศวกรรมศาสตร์จะนำองค์ความรู้ทางด้านวิศวะอย่างง่าย ๆ มาดัดแปลงเพื่อใช้กับแปลงเกษตร ขณะที่อีกทางหนึ่ง ในส่วนของโรงเรียน ซึ่งมีจักรยานเหลือใช้อยู่พอสมควร จึงนำมาดัดแปลงเพื่อให้จักรยานคันนี้กลายเป็นจักรยานรดน้ำแปลงผัก โดยให้นักเรียนผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาขี่จักรยานรดน้ำ

เบื้องต้น “รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์” คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า แนวคิดปลูกผักด้วยจักรยาน มาจากการผสมผสานวิศวกรรมศาสตร์มาใช้ในแปลงเกษตร โดยฝ่ายเสริมสร้างความร่วมมือและกิจกรรมเพื่อสังคมคณะวิศวะมหิดล ร่วมกับโรงเรียนบ้านหอมเกร็ด อ.สามพราน จ.นครปฐม พัฒนาจักรยานเหลือใช้มาซ่อมแซม เพื่อใช้ปั่นสำหรับการรดน้ำในแปลงเกษตรอินทรีย์เพื่อให้เยาวชนได้ออกกำลังกายไปในตัว

“ซึ่งผักที่งอกงามและปลอดภัยนี้ นำมาปรุงเป็นอาหารกลางวันให้น้อง ๆ มีสุขภาพที่ดี ทั้งยังช่วยประหยัดพลังงานและค่าใช้จ่าย และตอนนี้ได้ส่งมอบโครงการให้กับคุณเจน เกิดโพชา ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหอมเกร็ดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีพันธมิตรจากบริษัท เอสซีจี จำกัด (มหาชน) รวมถึงคณะครู นักเรียน และชุมชนมาร่วมงาน”

“สำหรับแปลงปลูกผักด้วยจักรยานรดน้ำของโรงเรียนบ้านหอมเกร็ด มี 2 แปลง ได้แก่ 1.แปลงผักกลางแจ้ง มีเนื้อที่ 10×30 เมตร ทางโรงเรียนจะปลูกพืชสวนครัว, กะเพรา, มะนาว, มะกรูด, ตะไคร้ ซึ่งเป็นพืชที่ทนแดดกลางแจ้งได้ โดยเดินท่อติดหัวสปริงเกลอร์ 5 หัว มีระยะห่างกัน 4 เมตร เวลาปั่นจักรยาน หัวสปริงเกลอร์จะปล่อยน้ำแบบกระจายสามารถครอบคลุมพื้นที่ได้ 2.แปลงผักกางมุ้ง ขนาด 5×20 เมตร และแปลงผักย่อย 6 แปลง ขนาดแปลงละ 1×2 เมตร รวมถึงแปลงผักลอยฟ้า สำหรับพืชที่จะมีแมลงรบกวน และทนแดดจัดไม่ได้ เช่น ผักบุ้ง, คะน้า, ผักกาด เป็นต้น”

“ผศ.ดร.กฤษฎา อัศวสกุลเกียรติ” รองคณบดีฝ่ายเสริมสร้างความร่วมมือและกิจกรรมเพื่อสังคม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเพิ่มเติมว่าทีมวิศวะมหิดลร่วมกันออกแบบและผลิตจักรยานรดน้ำปลูกผักโดยใช้พลังงานกล แทนการใช้พลังงานไฟฟ้า ซึ่งเป็นการประหยัดพลังงานไฟฟ้าและประหยัดพลังงานคน พร้อมไปกับช่วยส่งเสริมสุขภาพการออกกำลังกายแก่น้อง ๆ ขณะปั่นจักรยานอีกด้วย

“เฉพาะในส่วนของจักรยานรดน้ำปลูกผักประกอบด้วยจักรยาน, สายพาน, ปั๊มน้ำแบบชัก, ท่อ PVC ขนาด 3 ส่วน 4 และท่อ PVC ขนาด 1 ส่วน 4, หัวสปริงเกลอร์, ท่อ PVC ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 นิ้ว, ข้อต่อท่อขนาดต่าง ๆ, เซ็นเซอร์ และมิเตอร์ สำหรับตรวจวัดความเร็วรอบ ระยะทาง และปริมาณแคลอรีที่เผาผลาญไปกับการปั่นจักรยาน”

“อัครพงศ์ กีรติกรณ์ธนายศ” นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า หนึ่งในทีมจิตอาสาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงขั้นตอนการดำเนินงานว่า สำหรับขั้นตอนแรกเราจะนำจักรยานเก่ามารีไซเคิล ปรับปรุงซ่อมแซมให้กลับมาใช้งานในการปั่นได้ จากนั้นจะทำแท่นยึดจักรยานเพื่อวางจักรยานยึดติดกับแท่นยึด โดยการวัดขนาดจากตัวจักรยาน และระยะของปั๊มกับจักรยานให้สัมพันธ์กัน

“ต่อมาจึงหาทำเลที่มีแหล่งน้ำที่สามารถจะดูดน้ำขึ้นมาใช้รดแปลงเกษตรได้ และเมื่อได้ทำเลที่เหมาะสมแล้วจะวางแผ่นปูน หรือเทปูนเพื่อปรับพื้น เพื่อวางแท่นจักรยานกับปั๊ม ก่อนที่จะติดตั้งแท่นจักรยานกับปั๊ม ด้วยการนำหลักการความรู้ทางฟิสิกส์ จากศาสตร์เทคโนโลยีวิศวกรรมและคณิตศาสตร์มาประยุกต์ใช้ โดยนำสายพานมาสวมที่ล้อหลัง และอีกข้างหนึ่งสวมกับมู่เล่ของปั๊มน้ำ แล้วเริ่มเดินท่อน้ำจากแหล่งน้ำมาเข้าปั๊ม โดยใส่ฟุตวาล์วตรงตำแหน่งท่อที่จะขึ้นจากแหล่งน้ำมาเข้าปั๊ม พร้อมกับต่อท่อออกจากปั๊มไปยังร่องแปลงเกษตรที่วางแนวไว้เพื่อใส่หัวสปริงเกลอร์ ดังนั้น เมื่อปั่นจักรยานโดยใช้แรงคนก็จะทำให้น้ำถูกสูบจากแหล่งน้ำไปยังแปลงเกษตร ตามระบบกาลักน้ำ”

“ธีธัช สายเพ็ชร์” นักเรียน grade 10 โรงเรียนสาธิตนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในทีมจิตอาสากล่าวเสริมว่าการใช้งานจักรยานรดน้ำผักใช้งานง่าย และได้ประโยชน์หลายอย่าง เมื่อขึ้นไปนั่งบนเบาะจักรยาน วางเท้าบนขาเหยียบและออกแรงปั่นจักรยาน จะทำให้ล้อหลังที่มีตุ้มถ่วงทำงาน โดยใช้แรงเหวี่ยงของล้อหลังที่มีน้ำหนักเป็นตัวส่งกำลังผ่านสายพานไปยังมู่เล่ปั๊มน้ำ ทำให้ปั๊มน้ำทำงานดูดน้ำจากบ่อน้ำ ส่งจ่ายไปตามท่อถึงหัวสปริงเกลอร์ น้ำก็จะกระจายรดน้ำแปลงผักตามที่เราวางแนวสปริงเกลอร์ไว้ ผมรู้สึกภูมิใจที่ได้นำสิ่งของที่ไม่ใช้มาดัดแปลงให้เกิดคุณค่าประโยชน์ครับ”

ส่วนเรื่องการดูแลและบำรุงรักษา “เจน เกิดโพชา” ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหอมเกร็ดบอกว่า ทั้งครูและนักเรียนก็จะช่วยดูแล และต้องหมั่นทำความสะอาด และตรวจเช็กหัวกรอง หรือฟุตวาล์วที่ปลายท่อจุ่มลงไปในแหล่งน้ำ หรือบ่อเก็บน้ำเสมอ เพราะอาจมีสิ่งสกปรกมาอุดตัน และทำให้ปั๊มน้ำเสียหายได้

“ดังนั้น หากปั่นจักรยานรดน้ำแล้ว น้ำไม่ไหลออกจากหัวสปริงเกลอร์อาจมีสาเหตุมาจากมีอากาศค้างอยู่ในระบบท่อ ทฤษฎีกาลักน้ำก็เกิดไม่ได้ ต้องทำการกรอกน้ำที่วาล์วเซอร์วิสให้เต็มระบบแล้วปิดวาล์วให้สนิท ไล่อากาศในระบบให้หมด และหมั่นตรวจเช็กข้อต่อที่ระบบดูดน้ำว่ามีรอยรั่วตรงไหนหรือไม่ พร้อมกับตรวจเช็กความตึงหย่อนของโซ่จักรยาน และหมั่นหยอดน้ำมันโซ่เป็นประจำ โดยตรวจเช็กความตึงสายพานให้อยู่ในระดับที่พอดี เพราะถ้าสายพานหย่อนก็จะทำให้การปั่นปั๊มน้ำไม่มีประสิทธิภาพ ที่สำคัญ ต้องตรวจเช็กเซ็นเซอร์ในกรณีที่มิเตอร์ไม่อ่านค่า โดยตรวจเช็กตำแหน่งที่เซ็นเซอร์จับความเร็วรอบว่าตรงกับตำแหน่งที่กำหนดจุดเซ็นเซอร์ไว้หรือไม่ หรือมีการเคลื่อนที่ของเซ็นเซอร์หรือไม่”

เท่านั้นก็จะทำให้จักรยานรดน้ำผักมีประสิทธิภาพ

ที่ล้วนเกิดจากจิตอาสาในการรวมพลังคืนสิ่งดี ๆ แก่สังคม ด้วยการใช้ทักษะความรู้ทางด้านวิศวกรรมมาสร้างเป็นมื้อกลางวันให้กับน้อง ๆ อิ่มอร่อยและมีสุขภาพดีไปด้วย