กรุงไทย ต้นกล้าสีขาว สืบสานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

เนื่องจากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เห็นคุณค่าของพระราชดำริหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ช่วยให้ชุมชน สังคม และองค์กร อยู่ได้อย่างเป็นสุข และเจริญก้าวหน้า จึงน้อมนำมาเป็นแนวทางในการจัดทำโครงการซีเอสอาร์ ชื่อว่า “กรุงไทย ต้นกล้าสีขาว” ซึ่งให้โอกาสนักเรียนระดับ ม.ปลาย และ ปวช.ทั่วประเทศเข้าประกวดโครงงานพัฒนาชุมชนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

ตลอดระยะเวลา 11 ปี มีอาจารย์ และนักเรียนจากทั่วประเทศ สมัครเข้าร่วมโครงการกว่า 3 หมื่นคน รวมกว่า 470 โครงงาน นับเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างสังคม ชุมชน และประเทศที่เข้มแข็งอย่างยั่งยืน

“ศิริพร นพวัฒนพงศ์” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ซีเอสอาร์ของ ธ.กรุงไทย มีครบทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม แต่เราจะเน้นด้านที่เป็นจุดแข็งของเรา คือการให้ความรู้ ดังนั้น เราจึงทำโครงการเกี่ยวกับภาคการศึกษาเยอะมาก เพราะการศึกษาช่วยเสริมสร้างบุคลากรของประเทศ และจะส่งผลต่อไปสู่เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมได้

“เราทำซีเอสอาร์ทั้ง in process และ after process โดยซีเอสอาร์ในกระบวนการทำงาน คือเราลด และไม่เป็นผู้สร้างมลพิษ และทำสินเชื่อที่สนับสนุนเรื่องสีเขียว หรือไม่ยุ่งกับประเภทธุรกิจที่ไม่ชัดเจน เป็นต้น สำหรับกิจกรรมกรุงไทย ต้นกล้าสีขาวเป็นในส่วนของซีเอสอาร์ after process ที่เราเริ่มมาตั้งแต่ปี 2550 โดยในปีนั้นเป็นปีมหามงคลของชาวไทยที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา เราจึงอยากทำโครงการเพื่อสังคมที่น้อมนำคำสอนและหลักทรงงานของพระองค์”

ศิริพร นพวัฒนพงศ์

“โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง 3 ห่วง 2 เงื่อนไข ที่เป็นบทสรุปของเศรษฐกิจพอเพียงมาเผยแพร่ให้กระจาย และเติบโตยั่งยืนเหมือนต้นกล้า จึงกลายมาเป็นชื่อโครงการต้นกล้าสีขาวด้วย ถึงวันนี้ แม้ในหลวงรัชกาลที่ 9 สวรรคตแล้ว แต่หลักคำสอนของพระองค์ไม่สูญหายไปไหน เรายังจะสืบสานต่อไป เพราะเป็นหลักที่เป็นจริงและใช้ได้กับคนทุกสถานะ ทุกวัย และทุกอาชีพ”

ปีนี้มีนักเรียนสมัครเข้ามาประกวดชิงถ้วยรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และชิงเงินรางวัล โดยเราเพิ่มรางวัลรวมเป็น 2.4 ล้านบาท ทั้งหมด 218 ทีม จากนั้นเราคัดเลือกให้เหลือ 30 ทีมเพื่อเข้าค่าย The Following Camp เป็นเวลา 3 วัน ให้นักเรียนเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎี และปฏิบัติ ในเรื่องเดินตามรอยเท้าพ่อ ด้วยการยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง, เทคนิคการนำเสนอแผนงาน และการสื่อสารกับชุมชน และการบริหารโครงการแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง

นอกจากนั้นทีมที่ผ่านเข้ารอบ 11 ทีม ยังได้รับทุนเพื่อดำเนินโครงงานระยะเวลา 2 เดือน ทีมละ 50,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร

“ทุกทีมที่ผ่านเข้ารอบ 11 ทีม มีโครงงานที่ดีทั้งหมด แต่ทีมที่ชนะเลิศการประกวดในโครงการนี้คือ ทีมปอดบำบัด จากโรงเรียนรัฐราษฎร์อุปถัมภ์ จ.ราชบุรี ที่แก้ปัญหาของชุมชนในเรื่องผักตบชวาเยอะเกินไป จนทำให้น้ำเน่าเสีย โดยโครงการนี้น่าสนใจตรงที่มีชุมชนเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างชัดเจน และถึงแม้จะจบโครงการนี้ไปแล้วชุมชนก็ยังจะสานต่อได้”

ทีมชนะเลิศได้รับเงินรางวัล 800,000 บาท แบ่งเป็นสมาชิกในทีม 5 คน คนละ 100,000 บาท อาจารย์ที่ปรึกษา 1 คน 120,000 บาท สถาบันการศึกษาได้รับ 80,000 บาท และชุมชนได้รับ 100,000 บาท ทั้งยังจะได้เข้าเฝ้ารับถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมเกียรติบัตร

นอกจากนั้น ยังมีทีมที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีมหอย จากโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (ฝ่ายมัธยม) จ.มหาสารคาม รองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ทีมลูกพระวิษณุ จากวิทยาลัยการอาชีพไชยา จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งทีมนี้ยังได้รับรางวัล popular vote ด้วย และรางวัลชมเชยอีก 8 ทีม ได้แก่ ทีม MPS PAPER จากโรงเรียนมีชัยพัฒนา จ.บุรีรัมย์, ทีม WS Power จากโรงเรียนวชิรวิทย์ เชียงใหม่ จ.เชียงใหม่

ทีมฟื้นฟูภูมิปัญญา ตามรอยพ่อ อย่างพอเพียง จากโรงเรียนปิยะบุตร์ จ.ลพบุรี, ทีม Black Panther จากโรงเรียนศึกษานารีวิทยา กรุงเทพฯ, ทีมไทบ้าน จากโรงเรียนแก่งคอย จ.สระบุรี, ทีมเขาน้อย จากโรงเรียนเขาน้อยวิทยาคม จ.ตราด, ทีมเมล็ดพันธุ์แห่งความพอเพียง Seed Of Sufficiency จากโรงเรียนนางัวราษฎร์รังสรรค์ จ.นครพนม และทีม WE ARE CARBON จากโรงเรียนสาธิต มศว.ประสานมิตร (ฝ่ายมัธยม) กรุงเทพฯ

“เราเชื่อว่าน้อง ๆ ที่เข้าร่วมโครงการตั้งแต่รอบเปิดรับสมัคร ทุกคนจะสามารถน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ได้อย่างแท้จริง เพราะพวกเขาต้องเขียนแผนงานส่งเข้ามาสมัคร จึงต้องศึกษาหาข้อมูล และทำความเข้าใจในปัญหาของชุมชน”

ถึงตรงนี้ “ศิริพร” กล่าวถึงหัวใจสำคัญในการดำเนินงานของ บมจ.ธนาคารกรุงไทย ว่า เรามีในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็น super role model และคนในกรุงไทยยึดหลักซื่อสัตย์ อดทน ขยัน และพัฒนา ซึ่งเป็นพระราชปณิธานของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาใช้ทั้งสิ้น

“ไม่ว่าบริบทของโลกจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร คุณสมบัติที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จได้คือต้องอดทน แต่เท่านั้นไม่พอ ความซื่อสัตย์จะก่อให้เกิดความยั่งยืน และต้องรู้จักพัฒนาใช้นวัตกรรมมาแก้ไขปัญหา เหมือนอย่างที่ในหลวง ร.9 เคยทำมาโดยตลอด เราจึงน้อมนำเรื่องการพัฒนามาใช้กับโครงการกรุงไทย ต้นกล้าสีขาวด้วย เพราะหลังจากเสร็จโครงการในทุก ๆ ปี เราทำการประเมินผล เพื่อเรียนรู้ว่ามีจุดไหนต้องปรับปรุงพัฒนาเพิ่มขึ้นไปอีก”

“ประณิธาณ ตันติกำธน” ตัวแทนจากทีมปอดบำบัด กล่าวว่า ทีมของเราทำโครงงานที่ชื่อว่า ผักตบชวาบำบัดสร้างอาชีพเสริม เพิ่มรายได้สู่ชุมชนอย่างยั่งยืน จุดเริ่มต้นเกิดจากมองเห็นว่าวิธีแก้ปัญหาน้ำเสียจากผักตบชวาที่ชาวบ้านทำกันอยู่ยังไม่ก่อให้เกิดประโยชน์เต็มที่ แทนที่จะนำผักตบชวาไปทิ้ง เราจึงนำรากมาใช้ทำปุ๋ยซึ่งช่วยลดการใช้สารเคมี และลดต้นทุนทางการเกษตร นำใบกับลำต้นมาทำถ่าน ซึ่งช่วยลดการตัดไม้ และลำต้นที่อบกำมะถันแล้วมาทำเป็นผลิตภัณฑ์จักสานใช้ในครัวเรือนเพื่อเพิ่มรายได้

“การเข้ามาร่วมในโครงการกรุงไทย ต้นกล้าสีขาว ทำให้เราพัฒนาตนเอง ฝึกฝนทักษะในการทำกิจกรรมร่วมกับชุมชน และเข้าใจหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมากขึ้นว่ามีคุณประโยชน์มากต่อการใช้ชีวิต หลังจากโครงการนี้พวกเราก็ยังจะน้อมนำคำสอนของในหลวง ร.9 มาใช้ต่อไป”

นับว่า บมจ.ธนาคารกรุงไทย สามารถนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาต่อยอด และเผยแพร่เพื่อประโยชน์ของสังคมอย่างยั่งยืน