กางแผนงาน “องค์กรโลก” สู้โควิดยั่งยืนด้วยความคิดสมัยใหม่

COVID
ภาพจาก : รอยเตอร์ส

เพียงระยะเวลาสั้น ๆ มหันตภัยไวรัสร้ายโควิด-19 ได้ปลุกกระแสดิสรัปชั่นขึ้นทั่วโลก จนทำให้ผู้คนต้องปรับตัวเกี่ยวกับการใช้ชีวิต ขณะที่ภาคธุรกิจก็ต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด

นอกจากนั้น หลังจากการเกิดการแพร่ระบาดตั้งแต่ต้นปี 2563 ที่ผ่านมา โควิด-19 ได้เผยให้เห็นถึงความเปราะบางของโลก และความไม่มั่นคงในการดำรงชีวิตของมนุษย์ ทั้งยังแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของความร่วมมือในการแก้ปัญหาอย่างปัจจุบันทันด่วนโดยไม่สามารถย้อนกลับไปในแบบที่เคยเป็นมาอีกต่อไป

ผลเช่นนี้ จึงทำให้ “ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการฟื้นฟูช่วยเหลือของหลากหลายภาคธุรกิจ เพื่อทำให้มนุษยชาติบนโลกใบนี้ให้กลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอีกครั้งหนึ่ง นัยหนึ่งเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับทุก ๆ คนที่อาศัยผืนดินแห่งนี้ทำมาหากิน

คิดใหม่เชื่อมโยงอย่างยั่งยืน

เมื่อปี 2563 หลายคนคงจำภาพบนท้องถนนไม่มีรถยนต์วิ่ง ผู้คนต่างเก็บตัวอยู่ในที่พักอาศัย และบนท้องฟ้าก็ไม่มีเครื่องบินให้เห็นเลย ขณะที่การอุปโภคบริโภคชะลอตัว ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมการผลิตผลิตสินค้าน้อยลงไปด้วย เนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์เพื่อลดการแพร่ระบาดในหลายพื้นที่ จนทำให้หลายองค์กรประกาศทำงานที่บ้าน และผู้คนจำนวนมากขาดรายได้จนแทบไม่มีใช้จ่าย

กล่าวกันว่า แม้สิ่งเหล่านี้จะส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมในเชิงบวก เพราะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือคาร์บอนออกมาสู่โลกน้อยลงกว่าเดิมมาก แต่อย่างไรก็ตามต้องให้ความสำคัญกับความยั่งยืนในทุกด้านไปพร้อมกัน ทั้งการปกป้องสภาพภูมิอากาศ การทำธุรกิจ และการทำงานร่วมกันของชุมชน

“ฌอน โอนีล” ผู้อำนวยการกลุ่มประชาสัมพันธ์และการสื่อสาร Coca-Cola Hellenic Bottling Company (Coca-Cola HBC) ผู้บรรจุขวดของโคคา-โคลาที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกกล่าวว่า ท่ามกลางความสับสนวุ่นวายของการแพร่ระบาด นักเศรษฐศาสตร์ นักการเมือง และผู้นำทางการเงินและธุรกิจ กำลังคิดหาวิธีใหม่เพื่อเชื่อมโยงด้านความยั่งยืนระหว่างภาคธุรกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม เพราะพวกเขาเชื่อว่าการคิดใหม่ทั้งหมดจะช่วยหยุดยั้งการแพร่ระบาดให้น้อยลงได้

“การคิดใหม่ที่เห็นชัดในภาคธุรกิจ คือ พวกเขาพยายามเปลี่ยนแปลงเรื่องการลงทุนให้เกี่ยวข้องกับแนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ผ่านการลงทุนใน ESG (environmental สิ่งแวดล้อม social สังคม governance ธรรมาภิบาล) โดยในปีที่ผ่านมากองทุนประเภท ESG ได้รับเงินลงทุนใหม่สุทธิจากนักลงทุนทั่วโลกราว 51.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ และมากกว่าปีก่อน 2 เท่า และขณะนี้ตลาดการลงทุนเริ่มประเมินความยั่งยืนชัดเจนมากขึ้น”

“จากนี้ไปถึงแม้สถานการณ์โควิด-19 จะเริ่มฟื้นตัวในบางประเทศ แต่ความมุ่งมั่นและความร่วมมือของชุมชนที่ยั่งยืนจะช่วยป้องกันวิกฤตกลับมาอีกครั้ง และนั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมแผนงานความยั่งยืนของทุกบริษัทจึงเป็นเรื่องสำคัญ”

อเมซอนฉีดวัคซีนให้พนักงาน

ปัจจุบันเริ่มมีบริษัทยักษ์ใหญ่ร่วมมือกันในระดับประเทศและระดับโลก พร้อมใจกันต่อสู้กับไวรัสโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็น Amazon (อเมซอน) บริษัทพัฒนาแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา ที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองซีแอตเติล รัฐวอชิงตัน ดี.ซี.สหรัฐอเมริกา ที่ช่วยเรื่องการฉีดวัคซีนให้ผู้คนหลายพันคนผ่านคลินิกพ็อปอัพในรัฐวอชิงตัน ดี.ซี. และฟลอริดา

กล่าวกันว่า ความร่วมมือของบริษัทดังกล่าวเป็นการสนับสนุน “โจ ไบเดน” ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในอีกทางหนึ่งที่มีความพยายามจะฉีดวัคซีนให้กับผู้คนในประเทศถึง 100 ล้านคน ใน 100 วันแรกของการดำรงตำแหน่งประมุขฝ่ายบริหาร

“เจย์ คาร์นีย์” รองประธานอาวุโสฝ่ายกิจการองค์กรระดับโลกของ Amazon กล่าวว่า บริษัทมีความกระตือรือร้นที่จะช่วยชีวิตผู้คนจากไวรัสโควิด-19 และเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจอีกครั้งด้วยการจัดทำคลินิกวัคซีน Amazon ร่วมกับ Virginia Mason Franciscan Health

นอกจากนั้น ยังจัดทดสอบโควิด-19 แบบ on-site มากกว่า 1 ล้านครั้ง ใน 650 สถานที่ทั่วสหรัฐอเมริกา พร้อมกับถ่ายทอดทักษะด้านงานเทคโนโลยีสารสนเทศ ความสามารถด้านโลจิสติกส์ และการสื่อสารของ Amazon ไปช่วยเหลือภาครัฐเพื่อใช้กับศูนย์บัญชาการวัคซีน

“เดฟ คลาร์ก” ซีอีโอฝ่ายผู้บริโภคทั่วโลก Amazon กล่าวเสริมว่า ในฐานะที่อเมซอนเป็นนายจ้างรายใหญ่อันดับ 2 ของสหรัฐอเมริกา มีพนักงานมากกว่า 800,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่ไม่สามารถทำงานที่บ้านได้ เพราะต้องทำงานประจำที่โกดังสินค้าที่มีศูนย์ข้อมูล AWS และ Whole Foods Market (ซูเปอร์มาร์เก็ตอาหารเพื่อสุขภาพ อีกหนึ่งธุรกิจของอเมซอน) เป็นสถานที่ตั้ง

“พนักงานบางคนอาจมีโรคประจำตัวและมีความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อน เราจึงจำเป็นต้องให้พนักงานของเราฉีดวัคซีนโควิด-19 เร็วที่สุด ดังนั้น เมื่อวัคซีนในประเทศมีความพร้อม เราจึงดำเนินงานช่วยลดภาระด้านสาธารณสุขให้กับหน่วยแพทย์ภาครัฐด้วยการบริหารจัดการให้ทีมแพทย์ พยาบาลฉีดวัคซีนให้กับพนักงานของ Amazon กว่าหลายหมื่นคน เพราะเราต้องปกป้องพนักงานจำนวนมากของเรา และต้องทำให้พวกเขากลับไปทำงานให้เร็วที่สุด เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่จำเป็นต้องซื้อของทางออนไลน์ เพราะเราไม่อยากให้เขาออกจากบ้านไปเสี่ยงต่อการรับเชื้อโควิด”

ขยายความช่วยเหลือสู่อินเดีย

นอกจากนั้น ในบทบาทของ Amazon ในระดับโลกยังเข้าร่วมโครงการ Global Task Force ของหอการค้าสหรัฐอเมริกาเพื่อนำเครื่องช่วยหายใจไปยังประเทศอินเดียอย่างเร่งด่วน เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดในอินเดียถึงขั้นวิกฤต ผู้คนเสียชีวิตจำนวนมาก ขณะที่ทางการแพทย์ก็ขาดอุปกรณ์ที่จำเป็น ดังนั้น Amazon จึงระดมทุนอย่างเต็มที่เพื่อจัดหาและจัดส่งเครื่องช่วยหายใจลอตแรกกว่า 100 เครื่องไปให้อินเดียเมื่อวันที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมา พร้อมกับเดินหน้าด้วยการร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อส่งเครื่องช่วยหายใจให้มากกว่า 1,000 เครื่อง

สำหรับความช่วยเหลือครั้งนี้ “อามิต อากาวัล” รองประธานกรรมการโกลบอล และ Country Head ของ Amazon India กล่าวเสริมว่า นี่เป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากอย่างยิ่งสำหรับพวกเราทุกคนในอินเดีย เรากำลังทำงานร่วมกับภาครัฐเพื่อดูโรงพยาบาลที่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่สุดในการใช้เครื่องช่วยหายใจเหล่านี้เพื่อช่วยชีวิตผู้ยากไร้ทั่วไปในอินเดีย

“นอกจาก Amazon แล้ว ยังมีบริษัทยักษ์ใหญ่อีกแห่งหนึ่งที่ร่วมช่วยเหลือเรื่องเครื่องช่วยหายใจในอินเดียด้วย คือ Microsoft เนื่องจากบริษัทนี้ดำเนินธุรกิจและมีสำนักงานในอินเดียมาเกือบ 30 ปี ที่สำคัญบริษัทแห่งนี้มีทีมงานหลายพันคน และตอนนี้ครอบครัวของพวกเขากำลังเผชิญกับความเสี่ยงจากไวรัสร้ายครั้งนี้”

ไมโครซอฟท์นำเทคโนโลยีสู้ไวรัส

“เคท เบเกน” รองประธานและหัวหน้าฝ่ายการกุศลของ Microsoft กล่าวว่า การจัดหาเทคโนโลยีเป็นเรื่องสำคัญ และการสนับสนุนทางเทคนิคก็มีบทบาทอย่างมากต่อการตอบสนองการระบาดอย่างมีนัยสำคัญ เพราะเทคโนโลยีจะช่วยให้ทุกคนทำงานจากระยะไกลร่วมกันได้ ทั้งยังช่วยสื่อสารระหว่างรัฐบาลกับองค์กรต่าง ๆ

“ผลเช่นนี้ จึงทำให้เรานำ Microsoft Teams มาช่วยประชุมแบบ virtual ซึ่งเสมือนกับเป็นการประชุมจริง ทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงจากการสื่อสารในระยะใกล้ได้ด้วย นอกจากนั้น Microsoft ยังก่อตั้งทีม Microsoft Disaster Response Team เพื่อสนับสนุนด้านเทคโนโลยีเพื่อต่อสู้กับการระบาดในอินเดีย ซึ่งเราทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐในอินเดียเพื่อดูว่าจะให้ความช่วยเหลืออะไรได้บ้าง”

3 ภารกิจเร่งด่วนของ “UN”

ขณะที่บทบาทขององค์การสหประชาชาติ (United Nations-UN) จะต้องระดมทุนเพื่อช่วยเหลืออีกหลายประเทศทั่วโลกที่กำลังวิกฤตและกำลังฟื้นตัวใน 3 เรื่องหลัก ดังนี้

หนึ่ง การเตรียมความพร้อมเชิงกลยุทธ์และแผนตอบสนองความต้องการด้านสุขภาพอย่างเร่งด่วน โดยแผนดังกล่าวจัดทำโดย WHO และพันธมิตรในการกำหนดลำดับความสำคัญสำหรับการตอบสนองด้านสุขภาพของโลก

มีการสรุปมาตรการด้านสาธารณสุขที่ทุกประเทศต้องนำไปปฏิบัติ เพื่อเตรียมรับมือกับโควิด-19 โดยอาศัยการสนับสนุนทางการเงินผ่านงบประมาณของรัฐบาลกองทุนตอบสนองเหตุฉุกเฉินกลางแห่งสหประชาชาติ (CERF) และกองทุนเพื่อการตอบสนองความเป็นปึกแผ่นของ WHO ซึ่งเปิดให้สำหรับองค์กรและบุคคลทั่วไป

สอง แผนการตอบสนองด้านมนุษยธรรมทั่วโลก เพื่อบรรเทาผลกระทบใน 50 ประเทศเปราะบางที่สุด โดยแผนดังกล่าวกำหนดลำดับความสำคัญสำหรับการรับมือโควิด-19 ในประเทศที่เปราะบางและยากจน รูปแบบหลัก ๆ คือการเพิ่มทรัพยากรสำหรับความต้องการด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 กว่า 50 ประเทศ

สาม กรอบของสหประชาชาติสำหรับการตอบสนองทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างเร่งด่วน เพื่อให้เกิดการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว และเพื่อช่วยฟื้นฟูสังคมและเศรษฐกิจในประเทศที่มีรายได้ปานกลางและต่ำ ในขณะที่สัดส่วนของเงินทุนที่ใช้ในโครงการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนมูลค่า 17.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐของสหประชาชาติจะถูกปรับไปใช้เกี่ยวกับโควิด-19 เพราะเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่สำคัญมาก ๆ

โดยที่ไม่มีใครรู้ว่าจะจบลงเมื่อใด