เปลี่ยน “ยุงลาย” ให้เป็น “ฮีโร่”

ลูกน้ำยุงลาย
คอลัมน์ CSR Talk

โครงการยุงโลก (The World of Mosquito Program) จากมหาวิทยาลัยโมนาชประเทศออสเตรเลีย ร่วมกับมหาวิทยาลัยกัดจะห์ มาดะ และมูลนิธิทาห์เจีย ประเทศอินโดนีเซีย เปิดเผยผลการทดลองอันน่าทึ่งที่บ่งชี้ว่ายุงลายที่ได้รับการตกเเต่งพันธุกรรมเชื้อเเบคทีเรียวูลบัคเคีย (Wolbachia, wMel) สามารถช่วยเพิ่มโอกาสในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ด้วยการทดลองปล่อยยุงลายที่มีเชื้อวูลบัคเคียแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม (randomised controlled trial) ในเมืองยอกยาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย สามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อไข้เลือดออกทั้ง 4 สายพันธุ์ได้มากถึงร้อยละ 77

นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ป่วยไข้เลือดออกที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาลยังลดลงกว่าร้อยละ 86 อีกด้วย

โดยหลังจากที่นักวิจัยเริ่มทำการทดลองมามากกว่า 3 ปี พบว่า ประชากรยุงลายส่วนใหญ่ในเมืองยอกยาการ์ตายังคงมีเชื้อแบคทีเรียวูลบัคเคีย และในขณะนี้มีการขยายผลการทดลองปล่อยยุงลายที่มีเชื้อวูลบัคเคียไปในพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อหวังลดจำนวนการติดเชื้อไข้เลือดออกจนครอบคลุมประชากรชาวอินโดนีเซียกว่า 2.5 ล้านคนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

“ศ.คลินิก พญ.ศิริเพ็ญ กัลยาณรุจ” ผู้เชี่ยวชาญโรคไข้เลือดออก ศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทางด้านโรคไข้เลือดออก สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และที่ปรึกษาองค์การอนามัยโลกด้านโรคไข้เลือดออก กล่าวว่า ผลการทดลองใช้ยุงลายที่มีเชื้อวูลบัคเคียน่าทึ่งมาก เพราะนี่หมายถึงอนาคตที่สดใสในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ศ.คาเมรอน ซิมมอนส์” ผู้จัยร่วมในโครงการ AMED จากมหาวิทยาลัยโมนาช กล่าวว่า การทดลองครั้งนี้นับเป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ที่ทำให้เราเห็นแล้วว่าแบคทีเรียวูลบัคเคีย เป็นวิธีการยับยั้งการแพร่ระบาดของไข้เลือดออกที่โลกของเรากำลังต้องการ เพราะวิธีนี้ทั้งปลอดภัย ยั่งยืน และมีประสิทธิภาพ

ขณะที่ “ศ.สกอต โอนีล” ผู้อำนวยการโครงการยุงโลก กล่าวว่า ผลการศึกษาที่ช่วยยืนยันว่าการใช้แบคทีเรียวูลบัคเคียในการควบคุมการแพร่ระบาดของไข้เลือดออกนั้น ปลอดภัย ยั่งยืน และลดอัตราการแพร่ระบาดของไข้เลือดออกได้อย่างมีนัยสำคัญ เป็นสิ่งที่เราเฝ้ารอมาตลอด และวันนี้เรามีความมั่นใจแล้วว่าวิธีนี้จะสามารถใช้ลดความเสี่ยงการติดเชื้อไข้เลือดออกในพื้นที่ที่ต้องการทั่วโลกได้อย่างแพร่หลาย โดยไม่ต้องกังวล

สำหรับ “ศ.อาดิ อุตารินี” ผู้วิจัยร่วมในโครงการ AMED จากมหาวิทยาลัยกัดจะห์ มาดะ กล่าวเสริมว่า เราคิดว่ามีความเป็นไปได้ที่จะนำวิธีนี้ไปใช้ควบคุมโรคไข้เลือดออกในเมืองอื่น ๆ นอกจากยอกยาการ์ตา และเราเชื่อมั่นว่าวันหนึ่งในอนาคตอันใกล้ ประชาชนในภูมิภาคอาเซียนทุกคนจะสามารถใช้ชีวิตโดยปราศจากการติดเชื้อไข้เลือดออกได้อย่างแน่นอน

ดังนั้น ผลการทดลองครั้งนี้จึงมีความหมายสำหรับประชากรโลกกว่าร้อยละ 40 ที่กำลังตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไข้เลือดออก โครงการยุงโลกมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับรัฐบาลในระดับชาติและระดับชุมชน กิจกรรมเพื่อสังคมต่าง ๆ องค์กรเพื่อการกุศล และองค์กรไม่แสวงผลกำไรในการขยายผลการทดลองใช้ยุงลายที่มีเชื้อวูลบัคเคียยับยั้งไข้เลือดออกทั่วโลก

จนถึงปัจจุบันองค์กรยุงโลกได้ขับเคลื่อนให้มีการปล่อยยุงลายที่มีเชื้อวูลบัคเคียใน 11 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก, ออสเตรเลีย และละตินอเมริกา

โดยคาดว่าจะช่วยประชากรโลกกว่า 6.8 ล้านคนให้ปลอดภัยจากไข้เลือดออกเป็นที่เรียบร้อย