เช็กที่นี่! วิธีทบทวนสิทธิ ม.33, 39, 40 รับเงินเยียวยา รีบยื่นก่อน 31 ต.ค.

เปิดวิธีทบทวนสิทธิลูกจ้างและนายจ้างมาตรา 33 แรงงานอิสระมาตรา 39 และ 40 พร้อมโหลดแบบฟอร์มที่นี่ รีบยื่นก่อน 31 ตุลาคม 2564

วันที่ 27 กันยายน 2564 นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม-กันยายน 2564 สำนักงานประกันสังคม (สปส.) สังกัดกระทรวงแรงงาน ได้จัดทำโครงการเยียวยานายจ้างและลูกจ้างมาตรา 33 ใน 9 ประเภทกิจการ แรงงานอิสระมาตรา 39 และแรงงานอิสระมาตรา 40 ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด​ (สีแดงเข้ม) 29 จังหวัด โดยได้โอนเงินเยียวยาไปแล้วกว่า 8 หมื่นล้านบาท แต่ยังผู้ประกันตนที่มีคุณสมบัติครบตามเงื่อนไข ยังไม่ได้รับเงินเยียวยา โดยสาเหตุมีหลายปัจจัย

ม.33 แจ้งประเภทกิจการให้ถูกต้อง

มาตรา 33 ใน 9 ประเภทกิจการ ได้แก่ 1.ก่อสร้าง 2.ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร 3.ศิลปะความบันเทิงและนันทนาการ 4.กิจกรรม บริการด้านอื่น ๆ 5.การขายส่ง ปลีก ซ่อมยานยนต์ 6.การขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า 7.กิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน 8.กิจกรรมวิชาชีพ วิทยาศาสตร์ และกิจกรรมทางวิชาการ 9.ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร

โดยเงินที่นายจ้างได้รับคิดจาก 3,000 บาท คูณจำนวนลูกจ้าง 1 คน สูงสุดลูกจ้าง 200 คน หรือไม่เกิน 6 แสนบาทต่อเดือน ส่วนลูกจ้างได้รับเงินเยียวยาเดือนละ 2,500 บาทต่อคน

ทั้งนี้ กลุ่ม 10 จังหวัด ประกอบด้วย กทม. นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา และกลุ่ม 3 จังหวัด ประกอบด้วย ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และพระนครศรีอยุธยา ทั้ง 13 จังหวัดนี้อยู่ในพื้นที่ล็อกดาวน์ 2 เดือน จึงได้รับเงินเยียวยา 2 เดือน

กลุ่ม 16 จังหวัด ประกอบด้วย นครราชสีมา ระยอง ราชบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ลพบุรี เพชรบูรณ์ ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี เพชรบุรี ตาก อ่างทอง นครนายก สมุทรสงคราม และสิงห์บุรี อยู่ในพื้นที่ล็อกดาวน์ 1 เดือน นายจ้างได้รับเงินเยียวยา 1 เดือน และลูกจ้างได้รับเงินเยียวยา 1 เดือน

สาเหตุที่นายจ้างและลูกจ้างมาตรา 33 ยังไม่ได้สิทธิเยียวยามาจากหลายปัจจัย เช่น

  • นายจ้างแจ้งประเภทกิจการไม่ถูกต้อง
  • นายจ้างแจ้งลูกจ้างเป็นผู้ประกันตนล่าช้า
  • มีการบันทึกข้อมูลผิดพลาด ใส่รหัสลูกจ้างผิด จากรหัสสัญชาติไทยเป็นรหัสต่างด้าว
  • ชื่อหรือนามสกุลลูกจ้างตามบัตรประชาชนไม่ตรงกับฐานข้อมูลของประกันสังคม
  • นายจ้างไม่ได้แจ้งจดทะเบียนสาขา โดยสำนักงานใหญ่ของนายจ้างอยู่นอกพื้นที่ 29 จังหวัด แต่มีสาขาอยู่ใน 29 จังหวัด ทำให้ลูกจ้างสาขาไม่ได้รับสิทธิเยียวยา

ดังนั้น นายจ้างเช็คข้อมูลประเภทกิจการที่เคยยื่นแบบ ทางระบบ e-service ของประกันสังคม (www.sso.go.th/eservices/esv/index.jsp) ว่าได้แจ้งสาขาไว้ตรงกับ 1 ใน 9 ประเภทกิจการหรือไม่ และนายจ้างควรแจ้งให้ลูกจ้างทราบถึงสาเหตุด้วย

นายจ้างและลูกจ้างมาตรา 33 สามารถยื่นทบทวนสิทธิตามขั้นตอนนี้

เปิดวิธี ม.39-40 ทบทวนสิทธิ

มาตรา 39 และ 40 ในกลุ่ม 10 จังหวัด และกลุ่ม 3 จังหวัด อยู่ในพื้นที่ล็อกดาวน์ 2 เดือน ได้รับเงินเยียวยาเดือนละ 5,000 บาท รวมเป็น 10,000 บาทต่อคน ส่วนกลุ่ม 16 จังหวัด อยู่ในพื้นที่ล็อกดาวน์ 1 เดือน ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาทต่อคน

สำหรับมาตรา 39 และ 40 ในพื้นที่ 29 จังหวัดที่ไม่ได้รับสิทธิ อาจเกิดจากชื่อหรือนามสกุลไม่ตรงกับฐานข้อมูลของประกันสังคม เพราะมีการเปลี่ยนชื่อหรือนามสกุล หรือตอนสมัครมีการลงข้อมูลตัวสะกดชื่อผิด เป็นต้น

สามารถยื่นแบบคำขอทบทวนสิทธิได้ตามขั้นดังนี้

  • โหลดแบบฟอร์มทบทวนสิทธิของประกันสังคม โดย คลิกที่นี่
  • พรินต์แบบฟอร์มทบทวนสิทธิออกมา กรอกข้อมูลให้เรียบร้อย และลงลายมือชื่อ
  • แนบเอกสารประกอบตามที่ระบุในแบบฟอร์ม เช่น แนบสำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาใบเสร็จ สลิปชำระเงินสมทบ (ถ้ามี)
  • แนบเอกสารประกอบที่เกี่ยวข้อง พร้อมระบุเบอร์โทรที่ติดต่อได้ แล้วไปส่งทางไปรษณีลงทะเบียน ไปที่สำนักงานประกันสังคม กรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา ทุกแห่ง ตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2564 (ยึดวันประทับตามไปรษณีย์)

ทั้งนี้ ผู้ประกันตนมาตรา 39 คือ ผู้ที่เคยทำงานอยู่ในบริษัทเอกชน และมีประกันสังคมมาตรา 33 มาแล้วไม่ต่ำกว่า 12 เดือน แล้วลาออกจากงาน หรือออกจากมาตรา 33 มาไม่เกิน 6 เดือน จากนั้นสมัครใจส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมต่อ เพื่อรับสิทธิทดแทนและคุ้มครอง 6 กรณี คือ กรณีเจ็บป่วย/อุบัติเหตุ กรณีทุพพลภาพ กรณีเสียชีวิต กรณีคลอดบุตร กรณีสงเคราะห์บุตร และกรณีชราภาพ โดยผู้ประกันตนส่งเงินสมทบเข้ากองทุน 432 บาทต่อเดือน (ตอนนี้ลดเหลือ 235 บาทต่อเดือน – พฤศจิกายน 2564)

การหลุดออกจากมาตรา 39 เกิดขึ้นเมื่อขาดการส่งเงินสมทบ 3 เดือนติดต่อกัน หรือในระยะเวลา 12 เดือนส่งเงินสมทบแบบฟันหลอ คือไม่จ่ายเงินสมทบ 9 เดือนติดต่อกัน และเมื่อหลุดออกจากการเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 แล้วจะสมัครมาตรานี้อีกไม่ได้

ส่วนผู้ประกันตนมาตรา 40 ที่สามารถยื่นทบทวนได้ต้องเป็นผู้ที่มีสถานะผู้ประกันตนตามระยะเวลาที่กำหนด แบ่งเป็น

  1. ผู้ที่มีสถานะเป็นผู้ประกันตนมาก่อนวันที่ 28 มิถุนายน 2564
  2. กลุ่มสมัครใหม่ในพื้นที่สีแดงเข้ม 10 จังหวัด และ 3 จังหวัด ที่สมัครภายใน 31 กรกฎาคม 2564 และจ่ายเงินสมทบงวดแรกภายในวันที่ 10 สิงหาคม 2564
  3. กลุ่มสมัครใหม่ในพื้นที่สีแดงเข้ม 3 จังหวัด และ 16 จังหวัด ที่สมัครและจ่ายเงินสมทบงวดแรกวันที่ 4-24 สิงหาคม 2564


หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่กระทรวงแรงงาน โทร.1506 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือทางเฟซบุ๊ก สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน