คำมั่นผู้นำโลก “COP26” ทุกประเทศมุ่งสู่ Net Zero ปี 2050

ที่มา : UNFCCC

การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties : UNFCCC COP)

เป็นการประชุมเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศครั้งสำคัญ และใหญ่ที่สุดในโลก โดยจัดเป็นประจำทุกปี ยกเว้นปี 2020 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

กระทั่งถึงปี 2021 จึงกลับมาจัดงานอีกครั้ง สำหรับครั้งนี้ถือเป็นการจัดงานครั้งที่ 26 หรือ COP26 ซึ่งมีขึ้นระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม-12 พฤศจิกายน 2564 เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ ในเครือสหราชอาณาจักร

โดยมีผู้นำทั่วโลกทั้งจากประเทศพัฒนา และกำลังพัฒนากว่า 120 ประเทศ โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ กว่า 25,000 คน และนักเคลื่อนไหวหลายพันคนเข้าร่วมประชุม

UN กางแผน 5 ข้อ รักษ์โลก

“อันโตนิโอ กูเตอร์เรส” เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวว่านับตั้งแต่มีข้อตกลงปารีสเมื่อ 6 ปีผ่านมา โดยปีนี้นับว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์

ทั้งยังมีการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นจำนวนมากจากฝีมือมนุษย์ โดยผ่านการทำธุรกิจในหลากหลายประเภท จนทำให้มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาจำนวนมาก กระทั่งทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกกับโลกใบนี้อย่างไม่น่าให้อภัย

“ผลเช่นนี้ จึงนับเป็นเรื่องเร่งด่วนที่เราต้องผลักดันให้มนุษยชาติหยุดทำลายโลกใบนี้ ไม่เช่นนั้นจะหายนะมากกว่านี้ ที่สำคัญ อาจส่งผลกระทบต่อมวลมนุษยชาติอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน”

“อันโตนิโอ กูเตอร์เรส” จึงเสนอ 5 แนวทางออกสำหรับแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเร่งด่วนดังนี้

หนึ่ง เวลาพูดว่า “พอ” เราต้องหยุดที่จะทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ปฏิบัติต่อธรรมชาติเหมือนอย่างของไร้ค่า การเผาไหม้ การขุดเจาะน้ำมันที่ลึกลงเรื่อย ๆ

เพราะตอนนี้น้ำแข็งขั้วโลกกำลังละลายมากขึ้น ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลเป็น 2 เท่าจากเมื่อ 30 ปีก่อน และป่าฝนอเมซอนก็ปล่อยคาร์บอนออกมามากกว่าที่เคยดูดซับได้

สอง รักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงถึง 1.5 องศาเซลเซียส ทุกประเทศต้องช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง และลดลง 45 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2030 ซึ่งควรจะนำการดำเนินงานโดยประเทศที่พัฒนาแล้ว

เช่น ประเทศ G20 เนื่องจากพวกเขาเป็นตัวแทนของการปล่อยมลพิษประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนั้น ทุกประเทศจะต้องทบทวนแผน และนโยบายด้านสภาพอากาศระดับชาติของตนอีกครั้ง ไม่ใช่ทุก ๆ 5 ปี แต่เป็นทุกปี

สาม ปกป้องชุมชนที่เปราะบาง ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมามีผู้คนเกือบ 4 พันล้านคนประสบภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ และความหายนะที่จะมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น

จึงต้องมีระบบเตือนภัยล่วงหน้า ผู้บริจาคทุกคนต้องจัดสรรเงินทุนเพื่อสนับสนุนด้านสภาพอากาศครึ่งหนึ่ง โดยระดมเงินทุนจากประเทศพัฒนาแล้ว 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนามาต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

สี่ สร้างความสามัคคี ระหว่างรัฐบาล ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม ประเทศที่พัฒนาแล้วต้องช่วยเหลือประเทศที่กำลังพัฒนาและด้อยพัฒนา โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด (least developed countries : LDCs)

และประเทศหมู่เกาะขนาดเล็กที่กำลังพัฒนา (small island developing states : SIDS) พวกเขาต้องการเงินทุนโดยด่วน และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ง่ายขึ้น

ห้า สร้างความคืบหน้า เพราะหลายประเทศให้คำมั่นที่น่าเชื่อถือในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในกลางศตวรรษ (2050) ซึ่งจะส่งผลต่อการลงทุนระหว่างประเทศในธุรกิจถ่านหินลดลง และกว่า 700 เมืองทั่วโลกกำลังมุ่งสู่ความเป็นกลางของคาร์บอน

“กองทัพปฏิบัติการด้านสภาพอากาศจะต้องนำโดยคนหนุ่ม-สาว เพราะพวกเขาเป็นกลุ่มคนที่มากกว่า และมีเสียงที่ดังกว่าในการเรียกร้องการแก้ปัญหาต่าง ๆ และผมพร้อมจะยืนเคียงข้างพวกเขา”

อังกฤษชวนมุ่งสู่เป้าหมาย

“บอริส จอห์นสัน” นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร กล่าวว่ามีเพียง 12 ชาติในกลุ่ม G20 เท่านั้นที่ตั้งเป้าปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 หรือก่อนหน้านั้น

และแทบจะไม่ถึงครึ่งของประเทศในกลุ่ม G20 ที่ส่งแผนงาน nationally determined contribution (NDC) ที่ได้รับการปรับปรุงแก้ไขแล้ว นับตั้งแต่ร่วมลงนามในความตกลงปารีสเมื่อปี 2015

นอกจากนั้น พวกเรายังล้มเหลวในการระดมเงินทุน 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี เพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนา

“มนุษยชาติไม่มีเวลาเหลือแล้วที่จะป้องกันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังนั้น จำต้องลงมือเดี๋ยวนี้ โดย COP26 เป็นช่วงเวลาที่พวกเราต้องมาร่วมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างแท้จริง และต้องทำให้บรรลุเป้าหมาย”

“แต่ละประเทศต้องสนับสนุนการยกเลิกการใช้พลังงานถ่านหิน และการขนส่งที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นี่เป็นเรื่องเกี่ยวกับพวกเราทุกคนที่ดำเนินการตามขั้นตอนที่เป็นรูปธรรม ซึ่งจะช่วยประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกด้วย”

สหรัฐชี้ Net Zero ปี 2050

“โจ ไบเดน” ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา กล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้แต่ละประเทศสูญเสียสิ่งมีชีวิต และเงินหลายล้านดอลลาร์ แต่การรวมตัวกันของผู้นำที่เมืองกลาสโกว์ครั้งนี้

จะต้องเป็นจุดเริ่มต้นของทศวรรษแห่งความทะเยอทะยาน และนวัตกรรมเพื่อรักษาอนาคตร่วมกันของพวกเรา ซึ่งผู้นำโลกสามารถช่วยรักษาเป้าหมายในการจำกัดภาวะโลกร้อนไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส หากร่วมมือกันและทำการตกลงกัน

“สหรัฐอเมริกาจะประกาศข้อผูกพันใหม่ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า เพื่อระดมการดำเนินการ ซึ่งจะรวมถึงมาตรการด้านการเกษตร น้ำมันและก๊าซ และป่าไม้ ที่ป้องกันการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ ซึ่งจะส่งผลให้สหรัฐมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ภายในปี 2050”

จีนมุ่งสู่พลังงานสีเขียว

ส่วนสาธารณรัฐประชาชนจีนถือเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกใหญ่ที่สุดในโลก จึงทำให้ประเทศต่าง ๆ ต่างจับตามองในการประชุม COP26 ครั้งนี้

แต่ทว่า “สี จิ้นผิง” ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีนกลับไม่ได้เข้าร่วมประชุม COP26 เมืองกลาสโกว์ ทั้งยังเป็นผู้นำระดับโลกเพียงคนเดียวที่กล่าวปราศรัยต่อที่ประชุมในรูปแบบลายลักษณ์อักษร

โดยเขาเรียกร้องให้ประเทศที่พัฒนาแล้วให้การสนับสนุนเพื่อช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนาทำงานได้ดีขึ้นในการจัดการกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศและทุกฝ่ายต้องทำงานอย่างเข้มแข็ง

“จีนจะเร่งการเปลี่ยนแปลงไปสู่พลังงานสีเขียว และคาร์บอนต่ำ พัฒนาพลังงานหมุนเวียนอย่างจริงจัง วางแผนสร้างลมขนาดใหญ่ และโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ และขอเรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ สร้างสมดุลระหว่างการปกป้องสิ่งแวดล้อม

และการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อจัดการกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และปกป้องการดำรงชีวิตของประชาชน”

“ประเทศเศรษฐกิจหลักควรเสริมสร้างความร่วมมือในเรื่องนี้ โดยสมาชิก G20 ควรเป็นผู้นำในการส่งเสริม และใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และประเทศที่พัฒนาแล้วควรปฏิบัติตามพันธกรณีอย่างจริงจังในการจัดหาเงินทุนสำหรับประเทศกำลังพัฒนา”

ไทยเสนอเป้าหมาย NAMA

“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมพิธีเปิด และขึ้นกล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุม

โดยกล่าวว่าไทยให้ความสำคัญสูงสุดต่อการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกับประชาคมโลก และพร้อมร่วมมือกับทุกประเทศ ทุกภาคส่วน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน

“แม้ว่าประเทศไทยจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.72 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วทั้งโลก แต่กลับเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่จะได้รับผลกระทบร้ายแรงที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไทยจึงกำหนดเป้าหมาย NAMA (nationallyappropriate mitigation action)

ภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงาน และขนส่งอย่างน้อยร้อยละ 7 ภายในปี 2020

แต่ในปี 2019 ผ่านมา ประเทศไทยสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ถึงร้อยละ 17 ซึ่งเกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ถึง 2 เท่า และก่อนเวลาที่กำหนดไว้มากกว่า 1 ปี”

“ประเทศไทยพร้อมจะยกระดับการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศอย่างเต็มที่ และด้วยทุกวิถีทาง เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ภายในปี 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero) ภายในหรือก่อนหน้าปี 2065

ด้วยการสนับสนุนทางด้านการเงิน และเทคโนโลยีอย่างเต็มที่ และเท่าเทียม รวมถึงการเสริมสร้างขีดความสามารถจากความร่วมมือระหว่างประเทศและกลไกภายใต้กรอบอนุสัญญา”

นับว่าภารกิจการป้องกันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นหน้าที่ของทุกคน และในฐานะผู้นำโลกต้องมีบทบาทในการผลักดันให้ประชาชนร่วมสู้กับปัญหานี้ และสร้างการสนับสนุนให้บรรลุเป้าหมายซ่อมแซมโลกในเวลาที่จำกัดให้ได้