Care the Wild สร้างป่า สร้างอาชีพให้ชุมชน

ปลูกป่า

ทรัพยากรป่าไม้เป็นรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจสังคม สิ่งแวดล้อม และความมั่นคงของประเทศ แต่การขยายตัวของเมืองทำให้พื้นที่ป่าลดลง เกิดความไม่สมดุลของระบบนิเวศ ส่งผลให้ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ผลเช่นนี้จึงเป็นที่มาของการมุ่งสร้างความสมดุลให้กับระบบนิเวศ ด้วยโครงการ Care the Wild “ปลูกป้อง Plant & Protect” แพลตฟอร์มการร่วมมือกันระหว่างตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และภาคีองค์กรเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ผ่านกลไกเพื่อการระดมทุน เพื่อการปลูกต้นไม้ใหม่ ปลูกต้นไม้เสริม และส่งเสริมการดูแลต้นไม้

โครงการมีพื้นที่ดำเนินงาน 14 ป่าชุมชน โดยหนึ่งในนั้นคือป่าชุมชนบ้านหนองทิศสอน อ.นาเชือก จ.มหาสารคาม ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าขนาดใหญ่ ที่พื้นที่โดยรอบป่ามีสภาพเสื่อมโทรมจากการเข้าทำประโยชน์ของเกษตรกร ปัจจุบันโครงการดังกล่าวได้ร่วมมือกับคนในชุมชน ฟื้นฟูปลูกป่าทดแทนให้กลับมาเป็นป่าธรรมชาติ และจัดสรรพื้นที่บางส่วนให้กลุ่มอาชีพในชุมชนใช้ประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต

ปลูกป่า

“นพเก้า สุจริตกุล” ผู้ช่วยผู้จัดการ หัวหน้ากลุ่มงานสื่อสารองค์กรและพัฒนาเพื่อสังคม ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า Care the Wild อาศัยหลักการธรรมาภิบาลป่าไม้ ซึ่งสอดคล้องกับหลักการ exchange ในการเปิดเผยข้อมูล disclosure based เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมาย และการทำงานของทุกพันธมิตร เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยการ “ปลูก” เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่า และ “ป้อง” ปกป้องผืนป่าด้วยกลไกธรรมาภิบาล การเปิดเผยข้อมูล และติดตามการเติบโตของป่าผ่านแอปพลิเคชั่น Care the Wild ในระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 6 ปี

“นับจากเปิดโครงการเมื่อ 9 กันยายน 2563 โครงการได้เพิ่มพื้นที่ป่ามากกว่า 145 ไร่ เป็นจำนวนต้นไม้กว่า 3 หมื่นต้น และมุ่งหวังการเพิ่มรายได้ให้ชุมชน ด้วยการปลูกพืชเศรษฐกิจ และพัฒนาให้พื้นที่ปลูกป่ามีระบบนิเวศที่สมดุลได้ในอนาคต”

สำหรับป่าชุมชนบ้านหนองทิศสอน ทางโครงการมุ่งเน้นการฟื้นฟูป่าชุมชน พัฒนาศักยภาพสร้างอาชีพด้วยการใช้ประโยชน์จากป่ามาพัฒนาเป็นวิสาหกิจชุมชน เพาะกล้าไม้จำหน่ายสร้างรายได้ และเศรษฐกิจชุมชนที่มั่นคงยั่งยืน

ปลูกป่า

“บ้านหนองทิศสอนมีพื้นที่ป่าจำนวนมาก มีการปลูกนำร่องไปแล้วกว่า 4 ไร่ โดยได้รับการสนับสนุนทุนเพื่อปลูกต้นไม้จากกองทุนบัวหลวง (บลจ.บัวหลวง) บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน) (โครงการวน) และบริษัท ช้อปปี้ (ประเทศไทย) จำกัด โดยมีวิสาหกิจชุมชนกลุ่มอาชีพเพื่อพัฒนาป่าชุมชนบ้านหนองทิศสอนเป็นองค์กรผู้ปลูกป่าในพื้นที่ป่าชุมชน”

“เอกลักษณ์ของพื้นที่นี้คือใช้ผืนป่าเพาะกล้าไม้ สร้างเศรษฐกิจชุมชน และสร้างอาชีพรายได้จากการเพาะขายกล้าไม้ วิสาหกิจกลุ่มอาชีพเพื่อพัฒนาป่าชุมชนดำเนินการปลูกได้สำเร็จลุล่วงเป็นไปตามแผนที่กำหนด”

“จนแล้วเสร็จเมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2564 ผ่านมา ปลูกต้นไม้กว่า 700 ต้น เมื่อต้นไม้เติบโตแล้วจะช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้ 6,300 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า สร้างประโยชน์ให้บ้านหนองทิศสอน หมู่ 5 มี 132 ครัวเรือน ดูแลพื้นที่ป่าชุมชน จำนวน 2,515 ไร่ ครอบคลุมประโยชน์จากป่า เพื่อเป็นแหล่งอาหาร และชุมชนรอบข้างพื้นที่ป่าใช้ประโยชน์ในการสร้างรายได้ และต่อยอดการเพาะกล้าไม้เพื่อสร้างรายได้ของวิสาหกิจ และหมู่ 6, 7, 8, 9, 17 ประมาณกว่า 900 ครัวเรือน”

ปลูกป่า

“นพเก้า” กล่าวด้วยว่า นอกจากป่าชุมชนบ้านหนองทิศสอน จ.มหาสารคาม ยังมีป่าชุมชนอื่น ๆ ที่สามารถระดมทุนปลูกป่าจากผู้สนับสนุนภาคเอกชนได้อีก โดยแต่ละพื้นที่มีเอกลักษณ์และความน่าสนใจแตกต่างกันไป เช่น ป่าชุมชนโคกโสกขี้หนู จ.นครราชสีมา พื้นที่ปลูกป่า 297 ไร่ เป็นชุมชนที่มีการรวมตัวกันอย่างเข้มแข็ง เพื่อดูแลรักษาทรัพยากรในพื้นที่ป่าชุมชน และปกป้องพื้นที่ป่าชุมชนจากการบุกรุกครอบครองโดยผิดกฎหมาย, ป่าชุมชนบ้านโคกพลวง จ.นครราชสีมา มีพื้นที่ปลูกป่า 250 ไร่ เน้นการสร้างระบบนิเวศใหม่ให้คน สัตว์ และพืช

ป่าชุมชนตำบลสหกรณ์นิคม จ.กาญจนบุรี มีพื้นที่ปลูกป่า 20 ไร่ เป็นป่าชุมชนที่อุดมไปด้วยความหลากหลายสมบูรณ์ทางชีวภาพ, ป่าชุมชนบ้านหนองปลิง จ.กาญจนบุรี มีพื้นที่ปลูกป่า 50 ไร่ ตั้งเป้าลดแล้งและลดพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม, ป่าชุมชนบ้านหลังเขา จ.กาญจนบุรี มีพื้นที่ปลูกป่า 20 ไร่ เป็นป่าศักยภาพพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

ป่าชุมชนบ้านบุญเริง และป่าชุมชนบ้านอ้อย อ.ร้องกวาง จ.แพร่ มีพื้นที่ปลูก 90 ไร่ ทั้ง 2 ป่าเน้นสร้างชุมชนมีความเข้มแข็งในการปกป้อง และพร้อมพัฒนาพื้นที่ป่าที่อยู่ในความรับผิดชอบเป็นแหล่งท่องเที่ยวใกล้อ่างน้ำม่อนแม่ถาง

ปลูกป่า

“ปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ต้นไม้อยู่รอดคือระบบน้ำ ซึ่งโครงการและชุมชนร่วมกันคิดระบบตามโจทย์ของพื้นที่แต่ละแห่ง เช่น ในพื้นที่แล้งต้องดำเนินการอนุบาลไม้ปลูกใหม่ด้วยการจัดถังน้ำ วางแนวท่อ แนวสายยางน้ำหยด โดยเราจะเดินหน้าร่วมมือกับพันธมิตรเพิ่มพื้นที่ป่าอย่างต่อเนื่อง ยิ่งเฉพาะในปี 2565 จะมีพื้นที่ป่าที่รอการระดมทุนเพื่อปลูกป่าจำนวน 9 ป่าชุมชน รวมทั้งหมด 1,054 ไร่”

โครงการนี้มีคณะผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม ด้านพัฒนาสังคม และด้านวิชาการ อาทิ ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ผู้ก่อตั้งและที่ปรึกษามูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ, ประลอง ดำรงค์ไทย อดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เป็นคณะทำงานพิจารณาผืนป่า และร่วมให้คำปรึกษาในกระบวนการปลูกและปกป้อง รวมถึงนักวิชาการ ซึ่งทำงานร่วมกับสำนักจัดการป่าชุมชน กรมป่าไม้ และผู้นำชุมชน