การศึกษาในโลกเสมือน ข้ามพรมแดนการเรียนรู้ไร้ขีดจำกัด

นับว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ช่วยเร่งความเร็วของโลกอนาคตให้มาอยู่ในปัจจุบันเร็วขึ้น เพราะอย่างที่ทราบ 2 ปีผ่านมา โดยเฉพาะแวดวงการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นครู นักเรียน และผู้ปกครอง ต่างต้องปรับตัวเข้าสู่การเรียนการสอนออนไลน์เต็มรูปแบบ แม้กระทั่งปัจจุบัน

ขณะเดียวกัน เมื่อแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอันโด่งดังอย่าง “เฟซบุ๊ก” เปิดตัว “Metaverse” เทคโนโลยีโลกเสมือนจริงที่คาดว่าจะเข้ามาเปลี่ยนการสื่อสาร และปฏิสัมพันธ์ของผู้คนบนโลกใบนี้อย่างมหาศาล โดยเฉพาะในโลกการศึกษา และการเรียนรู้

“ศ.ดร.ใจทิพย์ ณ สงขลา” อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ สาขาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงสะท้อนทรรศนะ และข้อห่วงใยต่อการศึกษาในอนาคตที่ Metaverse จะเข้ามามีบทบาทเชื่อมการเรียนรู้ระหว่างโลกจริง และโลกเสมือน

Metaverse เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จะเข้ามาปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์การสื่อสารทางสังคม และการเรียนรู้และเสริมต่อประสบการณ์ให้ผู้เรียนเข้าสู่โลกความเป็นจริงที่อาจไม่เคย หรือไม่สามารถได้พบเห็นผ่านโลกเสมือน

ดังนั้น ผู้ที่อยู่ใน Metaverse จะสร้างอวตาร หรือตัวตนในรูปลักษณ์ที่พอใจ มีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม สัมผัสวัตถุ และบรรยากาศ ด้วยกราฟิกที่มีมิติจากบริบทสิ่งแวดล้อม ทั้งยังเชื่อมโยงตัวตน และชีวิตบนสังคมเสมือนจริง ซึ่งจะช่วยเพิ่มพูนประสบการณ์หลายอย่างที่โลกความเป็นจริงอาจพาไปไม่ได้ หรือไม่ทั่วถึง

Metaverse จะช่วยทำให้สิ่งที่เป็นนามธรรม จับต้อง และเข้าใจยาก กลายมาเป็นภาพเสมือนจริงที่สัมผัส และจับต้องได้ การเรียนรู้เรื่องราวต่าง ๆ ทั้งวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และสิ่งแวดล้อมก็จะเข้าใจได้ง่ายขึ้น และเกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ได้เร็วขึ้น

เพราะใน Metaverse ผู้เรียนจะได้ไป และได้ทำในสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ในสภาพกายภาพจริง เช่น การทดลองวิทยาศาสตร์ที่มีความเสี่ยง หรือการเดินทางทัศนศึกษาในที่ห่างไกล และยากจะไปได้ในความเป็นจริง เช่น การผจญภัยในป่าอเมซอน หรือการดำน้ำลงดูปะการังที่เกาะฟิจิ เป็นต้น

นอกจากนั้น Metaverse ยังช่วยจำลองโลกเสมือนจริง และสร้างสถานการณ์จำลองให้ผู้เรียนฝึกฝนทักษะเบื้องต้นบางอย่างจนเกิดเป็นความชำนาญอีกด้วย (mastery learning) เช่น การเข้าสู่สภาพในอวกาศ ดวงดาวอื่น หรือได้ฝึกงานร่วมกับผู้มีความสามารถในระดับโลก แม้กระทั่งการออกแบบเสื้อผ้า และเปิดร้านให้ผู้ซื้อต่างชาติพบผู้ขายจริง (เสมือน) และได้ทดลองใส่ (เสมือน) ก่อนสั่งซื้อจริงอีกด้วย”

“ศ.ดร.ใจทิพย์” กล่าวต่อว่า Metaverse จะขยายพรมแดนการเรียนรู้กว้างไกล และทำให้การเรียนรู้เป็นประสบการณ์ที่ตื่นเต้นน่าสนุกสนานยิ่งขึ้น เราสามารถเดินทาง หรือติดต่อสื่อสารกับคนที่อยู่ห่างไกล ยกตัวอย่างเช่น เราสามารถจำลองห้องเรียนเสมือนที่ไทย แต่ได้ความรู้สึกเหมือนไปนั่งเรียนที่ต่างประเทศ ไม่ว่ายุโรป อเมริกา แม้จะไกลแค่ไหนก็สามารถจำลองพื้นที่นั้นให้กลายเป็นชุมชน (community) การศึกษาร่วมกันข้ามประเทศได้

ดังนั้น เราสามารถเรียนได้ทุกที่ เรียนรู้ได้ทุกอย่างจากโลกเสมือน เพราะการเรียนรู้ของมนุษย์จะใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ซึ่ง Metaverse อาจไม่ให้ทั้งหมด เช่น การรับรส, กลิ่น, เสียง ฯลฯ แม้บรรยากาศที่สร้างขึ้นจากกราฟิกก็ไม่เหมือนของจริง 100% Metaverse จึงเป็นแค่ทางเลือกเสริม ไม่ใช่การทดแทนการเรียนการสอนภายในโรงเรียน นอกเสียจากว่าจะจัดนิเวศในการรับรู้ให้ตอบสนองกับสัมผัสทั้งห้า

เพราะโลกของ Metaverse มีความเสมือนจริงมาก ตัวตนของผู้คนที่อยู่ในโลกนั้นอาจเป็นตัวตนเสมือนด้วย ดังนั้น ผู้ที่ท่องโลกเสมือนจริงต้องตระหนักเสมอว่าทุกสิ่ง หรือคนที่เห็น และปฏิสัมพันธ์ด้วยนั้น ไม่ใช่ของจริง ดังที่เห็นในโลกเสมือน

พูดถึงตรงนี้ ทำให้นึกถึงงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่บอกว่าผู้ใช้ Metaverse ที่ไม่มีวิจารณญาณในการใช้งาน อาจตกเป็นเหยื่อความลุ่มหลง หรือการรับรู้ที่ผิดเพี้ยนจากภาพเสมือนได้ โดยหลงเชื่อเอาว่าเป็นของจริง ในโลกแห่งนั้นใครต้องการจะเป็นอะไรก็ย่อมได้ และสามารถออกแบบในสิ่งที่ต้องการจะเห็น การโฆษณาชวนเชื่อก็จะตามมาได้ง่าย

“เราจึงต้องปรับตัวสู่ Metaverse เพราะปัจจุบัน มีพื้นที่แซนด์บอกซ์ (sandbox) เริ่มปฏิบัติการใช้เทคโนโลยี Metaverse หลายแห่งในสหรัฐอเมริกา รวมถึงมีเว็บไซต์ และผู้ประกอบการเริ่มให้บริการระบบ Metaverse แล้ว

เช่น Spatial และ Metaverse Studio หรือ Koji & Metaverse หมายความว่าโลกเสมือนกำลังเข้ามาใกล้โลกความเป็นจริงมากขึ้นทุกที ดังนั้น เราควรเปิดใจรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ หมั่นค้นคว้าข้อมูลเพราะ Metaverse ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว แต่เป็นดาบสองคมได้ เราควรทำความเข้าใจและมีสติสัมปชัญญะในการใช้งาน รู้จักแยกแยะระหว่างความจริง และภาพเสมือน”

ที่สำคัญ ควรรู้เท่าทันเทคโนโลยี และการใช้ชีวิตทั้งในโลกเสมือน และโลกแห่งความเป็นจริงด้วย