ต้องสำรวจค่าตอบแทน

คอลัมน์ เอชอาร์คอร์เนอร์

โดย ธำรงศักดิ์ คงคาสวัสดิ์ http://tamrongsakk.blogspot.com

เวลาผมไปบรรยายเรื่องเกี่ยวกับการบริหารค่าตอบแทนที่ไหนก็ตาม ท่านที่เคยฟังผมพูดคงจะจำได้ว่าผมจะยุยงส่งเสริมให้บริษัทของท่านเข้าร่วมสำรวจค่าตอบแทนอยู่เสมอ ๆ จะเข้าร่วมสำรวจค่าตอบแทนของเจ้าภาพรายไหนก็แล้วแต่ความสะดวกของแต่ละบริษัท แต่ควร “จะต้อง” เข้าร่วมสำรวจอย่างน้อยปีละครั้ง

ซึ่งค่าเข้าร่วมสำรวจค่าตอบแทนของแต่ละเจ้าก็ไม่ได้แพงอะไรมากมาย ซึ่งมักจะมีการเชื้อเชิญบริษัทที่สนใจเข้าร่วมการสำรวจแสดงความจำนงกันช่วงกลาง ๆ ปี และสรุปผลการสำรวจกันตอนปลาย ๆ ปี

ถ้าจะถามว่าทำไมบริษัทถึงควร “จะต้อง” เข้าร่วมการสำรวจค่าตอบแทน ?

ตอบได้ว่ายุคนี้เป็นยุคของ “ข้อมูล” ครับ ใครมีข้อมูลที่ดี สมบูรณ์ ถูกต้อง เพียบพร้อม ย่อมจะได้เปรียบเสมอในการคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ แก้ปัญหา และตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ

ยุคนี้ไม่ควรตัดสินใจกันด้วยวิธี “จิตสัมผัส” แล้วนะครับ !

ตอนนี้สมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย หรือ PMAT สรุปผลการสำรวจค่าตอบแทนปี 2560-2561 เสร็จสิ้นแล้ว และเปิดให้ผู้สนใจเข้าไปดาวน์โหลดผลการสำรวจค่าตอบแทน (บางส่วน) ได้ที่เว็บไซต์ของทางสมาคมแล้วนะครับ

วันนี้ผมก็เลยขออนุญาตนำข้อมูลที่ไปดาวน์โหลดมาจาก PMAT มาเล่าสู่กันฟังในบางเรื่องที่เป็นข้อสังเกตของผมเกี่ยวกับเรื่องค่าตอบแทนในบ้านเราดังนี้ครับ

เรื่องที่ 1 : บริษัทที่เข้าร่วมการสำรวจยังมีน้อยเมื่อเทียบกับบริษัทต่าง ๆ ในบ้านเรา จากผลการสำรวจในครั้งนี้พบว่ามีบริษัทเข้าร่วมสำรวจ 237 บริษัท ทั้ง ๆ ที่บริษัทในเมืองไทยมีมากกว่านี้อีกเยอะ และบริษัทที่เข้าร่วมการสำรวจส่วนใหญ่คือ 42% หรือ 100 บริษัท เป็นบริษัทขนาดกลางถึงเล็กที่มีพนักงาน 101-500 คน

ตรงจุดนี้แหละครับที่ผมถึงได้พูดให้บริษัทต่าง ๆ เห็นความสำคัญของการเข้าร่วมสำรวจค่าตอบแทนให้มากกว่านี้ เพื่อจะได้มีข้อมูลที่ดีมากยิ่งขึ้น และเป็นประโยชน์กับส่วนรวมมากขึ้น

เรื่องที่ 2 : อัตราการขึ้นเงินเดือนประจำปี 2560 เฉลี่ยอยู่ที่ 5.10% ตัวเลขนี้ไม่ผิดคาด และสอดคล้องกับทุกสำนักเลยก็ว่าได้ ซึ่งอัตราการขึ้นเงินเดือนประจำปีในอัตราเฉลี่ย 5% นี้ ไม่ใช่เพิ่งเป็นมาปีสองปีนี้นะครับ การขึ้นเงินเดือนประจำปีเฉลี่ย 5% นี้เป็นมาไม่ต่ำกว่า 10 ปีย้อนหลังแล้วครับ

บ้านเราจะมีอัตราขึ้นเงินเดือนประจำปีเฉลี่ยอยู่ในอัตราประมาณนี้มานานมากแล้ว จนผมเคยเขียนบทความเรื่อง “การขึ้นเงินเดือนประจำปีไม่ใช่ความก้าวหน้า” เมื่อปีที่แล้ว เพื่อเป็นข้อคิดเตือนใจคนทำงานทุกคน ใครที่ยังไม่ได้อ่านก็ไปอ่านได้ตามนี้ครับ http://tamrongsakk.blogspot.com/2016/03/blog-post_28.html

เรื่องที่ 3 : คาดการณ์จ่ายโบนัสคงที่ 1.33 เดือน จ่ายโบนัสผันแปร 2.57 เดือน จ่ายโบนัสรวม 2.68 เดือน ตัวเลขนี้ใกล้เคียงกับการจ่ายโบนัสปีที่ผ่าน ๆ มาคือการจ่ายโบนัสรวมจะอยู่ที่ราว ๆ 2.5 เดือนมาหลายปีแล้วเช่นเดียวกัน สำหรับบางบริษัทที่ยังจ่ายโบนัสแบบคงที่นั้นมีอยู่ประมาณ 26.36% ของบริษัทที่เข้าร่วมการสำรวจทั้งหมด

ซึ่งการจ่ายโบนัสแบบคงที่คือชั่วไม่มี ดีไม่ปรากฏทุกคนก็เอาโบนัสไปเท่า ๆ กันคนละ 1.33 เดือน ซึ่งจะทำให้เกิดดราม่าในบริษัทได้อยู่เสมอ ๆ เพราะคนขี้เกียจไม่มีผลงาน หรือคนที่ขยันผลงานดีก็ได้โบนัสเท่ากัน อันนี้ก็คงจะแล้วแต่ “นโยบาย” ของแต่ละบริษัทแหละครับ

ในขณะที่บริษัทส่วนใหญ่ 70.71% เขาจ่ายกันตามผลงานของพนักงานแต่ละคนครับ

เรื่องที่ 4 : การปรับเงินเดือนพนักงานในกรณีเลื่อนตำแหน่งจะปรับให้เฉลี่ย 9.65% ค่าเฉลี่ยนี้อยู่ในอัตรานี้มานานแล้ว เช่นเดียวกันครับ นั่นคือตลาดจะมีการปรับเงินเดือนเมื่อพนักงานได้รับการเลื่อนตำแหน่งเฉลี่ยอยู่ที่ 10% มาโดยตลอด

ซึ่งถ้าเป็นบริษัทที่มีโครงสร้างเงินเดือนแล้ว มักจะมีหลักเกณฑ์เพิ่มเติมคือบริษัทจะปรับเงินเดือนให้กับพนักงานที่ได้รับการเลื่อนตำแหน่ง 10% แต่ต้องไม่เกินค่ากลาง (midpoint) ของกระบอกเงินเดือนถัดไปครับ

เรื่องที่ 5 : บริษัทที่เข้าร่วมการสำรวจมีโครงสร้างเงินเดือนแล้ว 68.2% ยังไม่มีโครงสร้างเงินเดือน 31.8%

ตรงนี้ผมมีข้อสังเกตอย่างนี้ครับ

1.ข้อมูลนี้เป็นข้อมูลของบริษัทที่เข้าร่วมการสำรวจเพียง 237 บริษัทเท่านั้น ยังพบว่า 1 ใน 3 ยังไม่มีโครงสร้างเงินเดือน แสดงว่าบริษัทนั้นยังไม่มีกฎกติกาในการบริหารค่าตอบแทนที่ชัดเจน และยังมีปัญหาสารพัดเกี่ยวกับระบบค่าตอบแทนอยู่เลยนะครับ แล้วบริษัทที่ไม่ได้เข้าร่วมสำรวจล่ะ ผมเชื่อว่ายังไม่มีโครงสร้างเงินเดือนเสียเป็นส่วนใหญ่ เพราะจากที่ผมไปบรรยายในบริษัทต่าง ๆ และสอบถามมายาวนานนับสิบปีพบว่าบริษัทเหล่านี้เกินกว่า 50% ยังไม่มีโครงสร้างเงินเดือน

ซึ่งแปลว่าบริษัทเหล่านี้ยังไม่มีกฎกติกาในการบริหารค่าตอบแทน และยังมีปัญหาดราม่าสารพัดประเภท…เงินเดือนของเราได้เท่าไหร่…ไม่สำคัญเท่ากับเพื่อนได้เท่าไหร่

รวมไปถึงปัญหา staff cost บวม ฯลฯ กันต่อไปแหละครับ

2.แม้บริษัทที่มีโครงสร้างเงินเดือนแล้วก็ตาม ก็อย่าประมาทไป เพราะผมเคยเจอบริษัทอีกไม่น้อยที่ไม่เคย update โครงสร้างเงินเดือนเลย เคยทำมาสิบปีแล้วเดี๋ยวนี้ก็ยังเหมือนเดิม ถ้าเป็นอย่างนี้ก็จะเกิดปัญหาพนักงานเงินเดือนตัน และปัญหาอื่น ๆ ตามมาอีกเยอะเหมือนกันนะครับ

3.บางบริษัทมีโครงสร้างเงินเดือนแล้วแต่ไม่มี “วินัย” ในการบริหารโครงสร้างเงินเดือนที่ดี หรือไม่มีหลักเกณฑ์ในการบริหารโครงสร้างเงินเดือนที่ดีก็อย่าคิดว่าจะหลุดพ้นจากปัญหาดราม่าไปได้นะครับ

4.บางบริษัทที่ผมเจอมาทำโครงสร้างเงินเดือนเอง แต่ทำแบบไม่ถูกต้อง บางบริษัททำโครงสร้างเงินเดือนโดยไม่เคยนำผลการสำรวจค่าตอบแทนของตลาดเข้ามาร่วมในการออกแบบโครงสร้างเงินเดือนเลยก็มี อย่างนี้ถ้านำโครงสร้างเงินเดือนนี้มาใช้ก็เปรียบเสมือนการออกกฎระเบียบที่ขัดต่อกฎหมายแรงงานมาประกาศใช้ในบริษัทแหละครับ เมื่อไหร่พนักงานไปฟ้องศาลแรงงานบริษัท ก็ต้องแพ้วันยังค่ำ

ทั้งหมดทั้งปวงที่ผมว่ามานี้ก็ต้องขอขอบคุณ PMAT ที่กรุณาเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะไว้ ณ ที่นี้ด้วยนะครับ เลยมีเรื่องให้ผมได้นำมาขยายความต่อ เผื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับส่วนรวมและคนที่สนใจเรื่องค่าตอบแทนด้วย

และขอฝากคำถามไว้สำหรับ HR ของทุกบริษัทที่เข้ามาอ่านว่า…ปีนี้บริษัทของท่านควรจะเข้าร่วมการสำรวจค่าตอบแทนได้แล้วหรือยังครับ ?