BMW ผนึก 3 องค์กร จัด Choice is Yours หนุน น.ศ. สร้างผลงานลดโลกร้อน

สามารถเลือก 1 แนวคิดในการนำเสนอผลงาน ได้แก่ REduce กับบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย REuse กับมูลนิธิชัยพัฒนา REthink กับไมโครซอฟท์ ประเทศไทย และ REcycle กับเอสซีจี

วันที่ 4 กรกฎาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย (BMW Group Thailand) ไทยเปิดตัวโครงการ Choice is Yours จากความร่วมมือกันระหว่างองค์กรชั้นนำระดับโลกและประเทศจาก 4 องค์กรครั้งแรก ที่มีความเชื่อมั่น ความมุ่งมั่น และวิสัยทัศน์ร่วมกันในด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) ได้แก่ บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย มูลนิธิชัยพัฒนา ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย และเอสซีจี เพื่อส่งเสริมและผลักดันให้นิสิต นักศึกษาไทยได้แสดงศักยภาพการออกแบบแนวคิดด้านความยั่งยืน ที่จะสร้างผลกระทบเชิงบวกแก่สิ่งแวดล้อมและสังคม

โดยทีมผู้เข้าแข่งขันสามารถเลือก 1 ใน 4 แนวคิดในการนำเสนอผลงาน ได้แก่

  • REduce กับบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย
  • REuse กับมูลนิธิชัยพัฒนา
  • REthink กับไมโครซอฟท์ ประเทศไทย
  • REcycle กับเอสซีจี

โดยผู้เชี่ยวชาญจากทั้ง 4 องค์กรจะร่วมเป็นผู้ให้คำปรึกษาและตัดสิน เปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2565 ประกาศผลผู้มีสิทธิเข้าร่วมโครงการ 20 ทีมในวันที่ 5 สิงหาคม 2565 และประกาศรางวัลชนะเลิศในเดือนพฤศจิกายน 2565 ทั้งนี้ ระหว่างการเข้าร่วมโครงการ ทีม ผู้เข้าแข่งขันจะได้เข้าร่วมเวิร์กช็อปพร้อมปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน ได้ทัศนศึกษายังโรงงานและสถานที่ดำเนินกิจการของบีเอ็มดับเบิลยูและพาร์ตเนอร์ รับประกาศนียบัตร และได้จัดแสดงผลงานการแข่งขันแก่สื่อมวลชนและผู้สนใจในกิจกรรมต่าง ๆ

นิสิตและนักศึกษาที่สนใจเข้าร่วมโครงการ สามารถสมัครได้ที่ https://forms.office.com/r/LyscnH6L7q พร้อมส่งวิดีโอแนะนำโครงการของตนเองระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน-22 กรกฎาคม 2565 และสามารถดูรายละเอียดเกี่ยวกับการแข่งขันได้ที่ www.bmw.co.th/th/discover/choice-is-yours.html โดยจะประกาศผลทีมที่มีสิทธิเข้าร่วมโครงการด้านละ 5 ทีม รวมเป็น 20 ทีม ในวันที่ 5 สิงหาคม 2565 ทางเว็บไซต์ www.bmw.co.th และประกาศผลรางวัลชนะเลิศในเดือนพฤศจิกายน 2565

วิกฤตโลกร้อน

วิกฤตโลกร้อนและความเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศที่ได้กลายมาเป็นปัญหาสำคัญที่ทุกภาคส่วนล้วนตระหนักถึงผลกระทบที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น และความจำเป็นในการร่วมแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties : UNFCCC COP) สมัยที่ 26 หรือ “COP26”

ที่ประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติ 197 ประเทศ ได้ร่วมหารือเพื่อผลักดันเป้าหมายระดับโลกในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission : Net Zero) ภายในปี 2050 และเป้าหมายในการควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยโลกไม่ให้สูงกว่า 1.5 องศา ตามข้อตกลงปารีส (Paris Agreement)

ซึ่งถ้าหากอุณหภูมิเฉลี่ยโลกเพิ่มสูงขึ้นเกินกว่า1.5-2 องศาเซลเซียสภายในกลางศตวรรษที่ 21 นี้ สภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบนิเวศวิทยา ความหลากหลายทางชีวภาพ ต่อเนื่องไปถึงสภาวะเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของคนทั่วโลก

ซึ่งทางบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย เชื่อว่าทุกคนมีพลังในการเลือกที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนให้แก่โลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็ก ๆ ในชีวิตประจำวัน ไปจนถึงนวัตกรรมที่จะช่วยผลักดันความเปลี่ยนแปลงในระดับสังคม การแข่งขันโครงการนี้จึงมุ่งสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเป้าหมายในการควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยโลก และเป็นเวทีให้แก่นักศึกษาในการแสดงศักยภาพ ความคิดสร้างสรรค์ และพลังที่จะเปลี่ยนโลกไปพร้อมกัน

“กฤษฎา อุตตโมทย์” ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารกิจการองค์กร บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย กล่าวว่า บีเอ็มดับเบิลยูเป็นอีกหนึ่งบริษัทที่ยึดมั่นด้านความยั่งยืนในทุก ๆ ด้านของการดำเนินธุรกิจ และยังเป็นผู้ผลิตรถยนต์จากเยอรมนีรายแรกที่ร่วมแคมเปญระดับโลก “Business Ambition for 1.5°C”

และตั้งเป้าสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอนตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตไปจนถึงผู้บริโภคภายในปี 2050 (พ.ศ. 2593) ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความตระหนักรู้และผลักดันศักยภาพของนักเรียนนักศึกษา ซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะมาช่วยขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมายครั้งยิ่งใหญ่นี้

แนวคิดความยั่งยืน 4 ด้าน

โครงการ Choice is Yours ยังสอดคล้องกับเป้าหมายหลักในการพยายามรักษาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ตามความตกลงปารีส (Paris Agreement) และส่งเสริมแนวคิดด้านความยั่งยืนใน 4 ด้านหลัก ได้แก่

REduce มุ่งเน้นแนวคิด “ลดเพื่อเพิ่ม” ไม่ว่าจะเป็นการลดการใช้วัสดุหรือทรัพยากรที่เกี่ยวข้อง หรือการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่จะสามารถลดการสร้างขยะ มลพิษ และของเสียต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้ยั่งยืนยิ่งขึ้น

REuse นำทรัพยากรที่มีอยู่กลับมาใช้ใหม่เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าและประโยชน์สูงสุด เพื่อรักษาทรัพยากรให้คงอยู่อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด เช่น การยืดอายุวงจรผลิตภัณฑ์ สิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ผ่านการใช้ซ้ำ หรือการนำทรัพยากรท้องถิ่นมาออกแบบและใช้งานใหม่โดยที่ยังคงคุณค่าเดิมของทรัพยากรไว้เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุด

REthink นำเทคโนโลยีมาผสมผสาน ปรับเปลี่ยน หรือสร้างสรรค์แนวคิดใหม่ ๆ ที่เสริมสร้างความยั่งยืน สร้างความรู้ความเข้าใจด้านผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม และขับเคลื่อนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ว่าในระดับบุคคล องค์กร หรือสังคมในภาพรวม

REcycle นำทรัพยากรที่ใช้งานแล้วมาผ่านกระบวนการแปรรูปเพื่อนำกลับมาใช้งานใหม่ โดยหัวใจสำคัญของการรีไซเคิลที่แตกต่างจากการนำกลับมาใช้ใหม่ (reuse) คือ เป็นการจัดการของเสียหรือวัสดุเหลือใช้ที่กำลังจะเป็นขยะ โดยนำไปผ่านกระบวนการแปรสภาพ หรือปรับปรุงคุณภาพ ให้กลับมามีคุณภาพเทียบเท่าหรือใกล้เคียงของเดิม หรือให้ได้วัตถุดิบใหม่ หรือผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่อาจเปลี่ยนจุดประสงค์ในการใช้งาน เพื่อสร้างคุณค่าใหม่ให้แก่ทรัพยากร และสร้างการหมุนเวียนทรัพยากรอย่างยั่งยืน

บีเอ็มดับเบิลยูชวนลงมือทำ

“อเล็กซานเดอร์ บารากา” ประธานและซีอีโอ บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย กล่าวว่า บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Choice is Yours ซึ่งมีเป้าหมายส่งเสริมแนวคิดของคนรุ่นใหม่ด้านการพัฒนาโดยคำนึงถึงความยั่งยืน สอดคล้องกับพันธกิจของบีเอ็มดับเบิลยูที่มุ่งมั่นในด้านของความยั่งยืน

ภายใต้แนวคิดการกำจัดขยะโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม (zero-waste-to-landfill) และความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon-neutral) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้าน REduce หรือการลดปริมาณการใช้งานหรือการบริโภคทรัพยากรธรรมชาติ

“เราเชื่อว่าการแบ่งปันความรู้และพัฒนาทักษะจากการร่วมปฏิบัติงานกับผู้เชี่ยวชาญ จะทำให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้เสริมสร้างประสบการณ์และองค์ความรู้แบบรอบด้าน และนำไปพัฒนาโครงการและนวัตกรรมอื่น ๆ ได้อีกมากในอนาคต”

โครงการนี้ยังส่งเสริมให้ผู้เข้าร่วมและบุคคลทั่วไปตระหนักถึงระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) ที่มุ่งเน้นการออกแบบสินค้าและบริการที่ให้ความสำคัญต่อการใช้คุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยการหมุนเวียนวัตถุดิบและสินค้า พร้อมลดผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุด และการนำแนวคิดของแต่ละโครงการไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกที่ทุกคนสามารถเลือกที่จะลงมือทำเพื่อสร้างอนาคตที่ดียิ่งขึ้น

REuse ใช้ใหม่เพื่อความคุ้มค่า

“ภากมล รัตตเสรี” กรรมการและรองเหรัญญิก มูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวว่า “ภัทรพัฒน์” ตราพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อทำการตลาดให้แก่ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ซึ่งเริ่มจากผลผลิตภายในโครงการของมูลนิธิชัยพัฒนาไปสู่สินค้าของชุมชนและผลิตผลของเกษตรกรในแต่ละท้องถิ่น

โดยพัฒนาให้มีความโดดเด่นสวยงาม มีความหลากหลาย และแสดงถึงการพัฒนาตามแนวพระราชดำริอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูป หรืองานหัตถกรรม มีคุณค่าและความแตกต่างของผลิตภัณฑ์อยู่ที่เรื่องราว รวมถึงแนวทางการพัฒนา เพื่อให้ราษฎรผู้ผลิตเกิดความภาคภูมิใจและผู้ซื้อผลิตภัณฑ์เกิดความพึงพอใจ และหนึ่งในความภาคภูมิใจนั้นคือผลิตภัณฑ์จากกก ของกลุ่มเกษตรกรสมาชิกกลุ่มผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 พระราชทาน “เพื่อนช่วยเพื่อน” จังหวัดสุรินทร์

ที่ปัจจุบันได้มีการต่อยอดผลิตภัณฑ์จากเสื่อกกให้ก้าวไปอีกขั้น สู่การเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่มีความสวยงาม เรียบหรู ซึ่งด้วยความรู้ความเชี่ยวชาญที่เราได้ช่วยสร้างคุณค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น เราหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเห็นเยาวชนรุ่นใหม่มาร่วมแสดงความคิดสร้างสรรค์ในการแข่งขัน และสามารถนำเอาแนวคิดด้านการ REuse นี้ ไปต่อยอดและปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อทรัพยากรอื่น ๆ ที่มีอยู่ในประเทศไทย และสร้างความยั่งยืนให้ให้แก่สิ่งแวดล้อมและสังคมต่อไป

REthink เทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน

“ชนิกานต์ โปรณานันท์” รองกรรมการผู้จัดการ สายงานการตลาดและปฏิบัติการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า โครงการนี้จะเปิดประตูให้นิสิต-นักศึกษาที่เข้าแข่งขันได้เรียนรู้ถึงโอกาสมากมายในการนำเทคโนโลยีมาขับเคลื่อนความยั่งยืน พร้อมนำแรงบันดาลใจและความรู้ไปต่อยอดให้เกิดขึ้นได้จริงในอนาคต

“เราเชื่อว่านวัตกรรมที่ดีจะต้องมีบทบาทในการเสริมศักยภาพให้กับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน คิดค้นสิ่งใหม่ ๆ หรือสานต่อความยั่งยืนเพื่อโลกของเรา เช่นเดียวกับที่ไมโครซอฟท์เอง มีเป้าหมายที่จะลดการปล่อยคาร์บอนให้เป็นลบภายในปี 2573”

REcycle ปรับปรุงคุณภาพ

“ยุทธนา เจียมตระการ” ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การบริหารกลาง เอสซีจี กล่าวว่า เรื่องการรีไซเคิลเป็นหลักการหนึ่งของเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เอสซีจีทำมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้แนวปฏิบัติ SCG Circular Way ที่มุ่งใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่ามากที่สุดในทุกกระบวนการ

ตั้งแต่ออกแบบ ผลิต ใช้ ไปจนถึงปลายทาง คือ การรีไซเคิลวัสดุเหลือใช้ หรือของเสีย ให้กลับมาเป็นวัตถุดิบใหม่อีกครั้ง เป็นการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น การรีไซเคิลกล่องกระดาษที่ไม่ใช้แล้วเป็นเตียงสนามกระดาษ การนำพลาสติกใช้แล้วกลับมารีไซเคิลเป็นพลาสติกคุณภาพสูง การนำเศษวัสดุเหลือทิ้งจากการก่อสร้างกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่

นอกจากนี้ ยังมุ่งสร้างจิตสำนึกของพนักงานเรื่องการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า คัดแยกขยะให้ถูกประเภท เพื่อนำกลับไปรีไซเคิลให้ได้มากที่สุด และขยายความร่วมมือไปยังชุมชนรอบโรงงาน วัด โรงเรียน มหาวิทยาลัย ตลาด

สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ SD (Sustainable Development) ที่เอสซีจีทำมาอย่างต่อเนื่อง และยกระดับสู่ ESG (Environmental, Social, Governance) ด้วยแนวทาง ESG 4 Plus ได้แก่

1. มุ่ง Net Zero ในปี 2050 (พ.ศ. 2593)

2. Go Green

3. Lean เหลื่อมล้ำ

4. ย้ำร่วมมือ ภายใต้การดำเนินงานอย่างโปร่งใส เป็นธรรม

“เอสซีจีเชื่อมั่นว่าการทำงานร่วมกันในครั้งนี้ จะช่วยพัฒนาต่อยอดไอเดียของน้อง ๆ ให้เกิดเป็นโครงการ หรือนวัตกรรมเพื่อส่งต่อโลกที่ยั่งยืนให้กับคนรุ่นต่อไป”