BANGKOK DESIGN WEEK ดันกรุงเทพฯสู่เมืองหลวงการออกแบบโลก

กรุงเทพมหานครมีเสน่ห์ในความไม่สมบูรณ์แบบ มีความหลากหลาย มีศักยภาพในหลายด้าน บางด้านฉายออกมาให้เห็นเด่นชัด บางด้านยังแอบซ่อน รอการเข้าไปค้นหาหรือการผลักดันออกมาวันที่ 27 มกราคม-4 กุมภาพันธ์นี้ 5 พื้นที่ในกรุงเทพฯ คือ เจริญกรุง, คลองสาน, วงเวียน 22, พระราม 1 และสุขุมวิท จะได้รับผลักดันและค้นหา โดยการจัดงาน “Bangkok Design Week 2018” หรือ “เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2561”
 
“Bangkok Design Week 2018” จัดขึ้นครั้งแรก หลังจากที่ TCDC ประสบความสำเร็จในการจัดงาน “Chiang Mai Design Week” มาแล้ว 3 ครั้ง โดยงานนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “The New-ist Vibes ออกแบบไปข้างหน้า” สะท้อนกรุงเทพฯใน 3 มิติ คือ อยู่ดี (city & living), กินดี (well being & gastronomy) และธุรกิจสร้างสรรค์ (creative business)
 
กิจกรรมในงานมี 6 รูปแบบ ได้แก่ งานจัดแสดงผลงานสร้างสรรค์และนิทรรศการ (design showcase & exhibition) กิจกรรมชุมนุมทางความคิดและทอล์ก (symposium & talk) กิจกรรมสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ (busi-ness program) กิจกรรมพัฒนาย่านสร้างสรรค์ (creative district & social project) กิจกรรมสร้างสรรค์ (creative program) และครีเอทีฟมาร์เก็ต (creative market)
 
กิตติรัตน์ ปิติพานิช รักษาการผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของงานคือการแสดงศักยภาพของเมืองผ่านความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบ รัฐบาลมีนโยบาย
 
ไทยแลนด์ 4.0 หนึ่งในนั้นคือเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ การจะขับเคลื่อนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ให้เป็นรูปธรรม หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องทำงานร่วมกับเมือง ผลักดันการแสดงความสามารถของเมืองออกมาโดยการสร้างสรรค์เมือง ให้เมืองสร้างสรรค์มูลค่าใหม่ ๆ ให้กับประเทศ ฉะนั้นงานนี้เป็นงานที่จะมาดูกันว่ากรุงเทพฯมีศักยภาพอย่างไรในเรื่องการสร้างสรรค์และการออกแบบ
 
“งานเราไม่ใช่เอกซิบิชั่นในฮอล แต่เป็นงานที่จัดอยู่ในเมืองจริง ๆ เราจะเห็นว่าเมืองเรามีโนว์ฮาว มีความหลากหลายของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์มาก เรามักมองว่าโนว์ฮาวอยู่กับสถาบันการศึกษา แต่จริง ๆ แล้วมันอยู่กับเอกชน งานดีไซน์วีกจึงเหมือนเราไปเปิดประตูบ้านของภาคธุรกิจ ให้มาแบ่งปันความรู้กับผู้คนเรามองว่าดีไซน์วีกเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญทางเศรษฐกิจตัวหนึ่ง
 
เราค้นพบว่าในการจะสร้างระบบนิเวศตรงนี้ให้สมบูรณ์ เราไม่เพียงแต่พัฒนาคนอย่างเดียว เราต้องสร้างสภาพแวดล้อมให้คนมาหาความรู้ร่วมกัน ฉะนั้นในงานมีเซตความรู้ มีกิจกรรมมาให้เลือกเต็มที่ การจะทำให้เศรษฐกิจสร้างสรรค์เกิดขึ้นได้ สำคัญที่สุดคือการนำคนที่ควรเจอกันมาเจอกัน งานนี้จะทำให้คนหลากหลายศาสตร์สร้างสรรค์มาเจอกัน งานนี้จะเป็นตัวเร่งให้เกิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์เร็วยิ่งขึ้น”
 
ในการพัฒนาเมืองสร้างสรรค์ให้เมืองสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ รักษาการผู้อำนวยการ TCDC บอกว่า พุ่งเป้าหมายไปที่ 3 อุตสาหกรรม คือ 1.อาร์ตแกลเลอรี่ ซึ่งมีอยู่ในพื้นที่อยู่แล้ว 2.อุตสาหกรรมออกแบบ ซึ่งเขาบอกว่าตั้งแต่ย้ายสำนักงาน TCDC มาอยู่ในเขตบางรัก ได้เห็นว่ามีอุตสาหกรรมออกแบบในพื้นที่มากขึ้น 3.อุตสาหกรรมดิจิทัล ซึ่งมีปัจจัยที่ดึงดูดคือ มีตึก CAT อยู่ในพื้นที่ นอกจากนั้นยังสนใจอุตสาหกรรมจิวเวลรี่ ซึ่งมีอยู่ในพื้นที่อยู่แล้ว และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การสร้างเส้นทางท่องเที่ยวใหม่ ๆ ที่คนยังไม่รู้จัก
 
พิชิต วีรังคบุตร ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารและพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ เสริมว่า การทำงานของ TCDC จะไม่จบแค่วันจบงาน เนื่องจากงานนี้เป็นมิติของการจัดการ TCDC จึงได้ขอความร่วมมือผู้ประกอบการในการติดตามความต่อเนื่องหลังงาน ไม่ว่าจะมิติการเจรจาธุรกิจ ความเจริญเติบโตของธุรกิจต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นข้อมูลให้การจัดการในปีต่อไป
 
“การประเมินผลระหว่างงานจะดูทั้งมิติคน สังคมโดยรอบว่าเป็นอย่างไร ดีไซน์วีกเป็นเครื่องมือ เหมือนที่อีก 150 ประเทศใช้เป็นเครื่องมือทางเศรษฐกิจที่จะดูว่าศักยภาพของเมือง ศักยภาพของพื้นที่มีอะไรบ้าง ดีไซน์วีกมีหน้าที่ทำการวิจัยเพื่อจะดูว่ามีอะไรที่เกิดการเปลี่ยนแปลงบ้าง นี่เป็นต้นแบบ ถ้ามันสำเร็จหรือล้มเหลว มันจะมีข้อมูลในการไปพัฒนาต่อในย่านอื่น ๆ เมืองอื่น ๆ ได้อีก”
 
กิตติรัตน์บอกอีกว่า พยายามผลักดันทุกอย่าง และจะวัดผลพร้อม ๆ กันว่างานนี้เกิด contribution ทางเศรษฐกิจต่อพื้นที่นี้อย่างไรบ้าง
 
ตอนจัดงาน Chiang Mai Design Week สร้างรายได้ให้กับเมืองได้ 900 กว่าล้านบาท ครั้งนี้ก็จะวัดเช่นกัน เพราะสิ่งเหล่านี้จะยืนยันว่ารัฐจะเข้ามาซัพพอร์ตได้อย่างไรบ้าง งานนี้ตั้งเป้าจำนวนคนเข้าร่วมงาน 5 แสนคน ส่วนรายได้มองไว้หลักพันล้าน รักษาการผู้อำนวยการ TCDC บอกว่า ปลายทางจริง ๆ คือจะผลักดันกรุงเทพฯให้เป็นเมืองหลวงการออกแบบโลก หรือ “World Design Capital” ในปี 2022 ซึ่งงาน Bangkok Design Week 2018 นี้เป็นเส้นทางที่จะทำให้เห็นว่าจะผลักดันกรุงเทพฯไปสู่เมืองหลวงการออกแบบโลกได้อย่างไรบ้าง
 
สำหรับยุทธศาสตร์ที่จะไปสู่เมืองหลวงการออกแบบโลก ปี 2022 กิตติรัตน์บอกว่า TCDC ทำด้วยตัวเองไม่ได้ ต้องให้กรุงเทพฯเป็นเจ้าภาพสมัคร TCDC จะเป็นเลขาฯในการซัพพอร์ตข้อมูล ส่วนงบประมาณอาจจะมาจากหลายทาง ทั้งจากกรุงเทพฯ จากรัฐบาล เอกชน ประชาชน ตามไทม์ไลน์คือ ต้องแจ้งความจำนงต่อ World Design Organization (WDO) ภายในเดือนมีนาคมนี้ และส่ง proposal ภายในเดือนกันยายน การดำเนินการตอนนี้ TCDC กำลังทำข้อมูลให้ ครม.พิจารณา ถ้า ครม.อนุมัติก็จะเป็นนโยบายลงมาที่กรุงเทพมหานคร เพื่อสมัครให้ทัน
 
“เราต้องพิสูจน์ให้ WDO เห็นว่าเราใช้ความคิดสร้างสรรค์ไปพัฒนาเมืองพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของคนในเมืองได้อย่างไร เราไม่ได้พูดถึงการทำให้
 
เมืองสวยงาม แต่เขาถามว่าสิ่งเหล่านี้ทำให้เมืองดีขึ้นอย่างไร คุณภาพชีวิตดีขึ้นไหม ในเอเชียมีสองเมืองที่เคยเป็น world design capital คือ โซล และไทเป ไต้หวัน เราจะสมัครของปี 2022 ซึ่งมีคู่แข่งที่น่ากลัวอยู่หลายเมือง อย่าง เมลเบิร์น เซี่ยงไฮ้ และไทจง ในไต้หวัน” กิตติรัตน์กล่าว
 
กรุงเทพมหานครจะเป็น “เมืองหลวงการออกแบบโลก” ได้หรือไม่ วัดก้าวแรกที่งาน Bangkok Design Week 2018 ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่วันนี้ มีกิจกรรมมากมาย ทั้งสำหรับภาครัฐ เอกชน ชุมชน คนที่สนใจทำธุรกิจสร้างสรรค์ และประชาชนทั่วไป สนใจดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.bangkokdesignweek.com แล้วไปร่วมสร้างสรรค์กรุงเทพฯด้วยกัน