สืบสานพระราชปณิธาน “พ่อของแผ่นดิน” สร้างรายได้สู่ชาวไทยภูเขา

โครงการหลวง
ผู้เขียน : สองเราเคียงคู่

“วันพ่อแห่งชาติ” ตรงกับวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งภาครัฐและเอกชนจะจัดกิจกรรมน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างต่อเนื่อง ปีนี้ “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” ขอเชื่อมโยงแนวคิดที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ สังคม และชุมชน ทั้งสร้างความยั่งยืนและรักษ์โลกอย่างแท้จริง

มุ่งสร้างอาชีพ เน้นเพาะปลูกสู่ความยั่งยืน

ดังพระราชดำรัส ตอนหนึ่งเกี่ยวกับโครงการหลวง เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2537 ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ความว่า…

“โครงการหลวงเริ่มขึ้นเป็นกิจการเล็ก ๆ ซึ่งไม่เป็นโครงการ แต่เป็นการไปเที่ยวมากกว่า คือไปเที่ยวตามหมู่บ้านต่าง ๆ แล้วเห็นว่าควรจะช่วยสร้างอาชีพให้ชาวบ้าน มีผู้เชี่ยวชาญและหน่วยราชการเข้ามาช่วยส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น ต่อมาองค์กรต่างประเทศ รัฐบาลต่างประเทศก็มาร่วมด้วย จึงเป็นโครงการที่เรียกว่า ‘โครงการหลวง’

มีผู้เป็นอาสาสมัคร ข้าราชการ และเป็นผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ ในที่สุดเป็นโครงการที่ใหญ่โตขยายออกไปจากการช่วยประชาชนในหมู่บ้านในวงจำกัด กระทั่งเป็นการช่วยระดับภาคทีเดียว จึงต้องบริหารให้ดีขึ้น และมีคนบริจาคเงิน สิ่งของ เพื่อให้โครงการดำเนินไปตามจุดประสงค์ คือ ความกินดีอยู่ดีของประชาชน ต่อมาจึงได้เปลี่ยนเป็นมูลนิธิโครงการหลวง เพื่อให้กิจการดำเนินต่อไปได้”

จากนั้นมา นับเป็น “ก้าวใหม่” ของโครงการหลวงที่ผันตัวเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ จัดระบบงานชัดเจน ทำให้การทำงานคล่องตัว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งก่อเกิดงานวิจัยและพัฒนางานใหม่ ๆ เป็นโครงการนำร่องที่ส่งเสริมอาชีพและการตลาดสมัยใหม่ โดยแปรผลิตผลจากพื้นที่โครงการหลวงสู่เมืองหลวง ด้วยการเน้นอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมพื้นที่ต้นน้ำในภาคเหนือของประเทศไทย

พระองค์พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 2 แสนบาท เมื่อปี 2512 เพื่อนำร่องตั้งโครงการหลวง มุ่งให้ชาวเขาลดการปลูกฝิ่น พร้อมฟื้นฟูป่าต้นน้ำลำธาร โดยมีพระประสงค์ช่วยเหลือราษฎรชาวไทยภูเขาในท้องถิ่นทุรกันดารและยากจน ให้เลิกทำไร่เลื่อนลอยแล้วหันมาปลูกพืชผักปลอดสารเคมี เพื่อสร้างรายได้ที่ยั่งยืน

โดยมี หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ประธานมูลนิธิฯ ในขณะนั้น สนองพระราชดำริอย่างใกล้ชิด (เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2565 เวลา 17.24 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯไปในการพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ป.จ. ม.ป.ช. ม.ว.ม.ก.ป.ร.๓, ว.ป.ร.ด, ร.จ.ท. ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส)

น้อมหัวใจ ตามรอยพระบาท

ปัจจุบัน มูลนิธิโครงการหลวง มี จรัลธาดา กรรณสูต เป็นประธานกรรมการ พลเรือเอก ปวิตร รุจิเทศ เป็นกรรมการและเลขาธิการ และ พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ เป็นประธานกรรมการบริหาร พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ภาครัฐและเอกชน ที่ต่างน้อมหัวใจตามรอยพระบาท ร่วมสืบสานพระราชปณิธาน ให้ทุกโครงการหลวงทั้ง 38 แห่ง ดำเนินไปอย่างยั่งยืน เพื่อความสุขของปวงราษฎร

โครงการหลวง อยู่ในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคเหนือ คือ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน พะเยา แม่ฮ่องสอน และตาก มีสถานีวิจัยหลัก 4 สถานี และสถานีส่งเสริมปลูกพืชทดแทนฝิ่น เรียกว่า ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงอีก 35 ศูนย์ ล่าสุดคือ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ จังหวัดตาก

โครงการหลวง

โครงการหลวงจะทำหน้าที่รับซื้อสินค้าจากเกษตรกรตามราคาและภาวะตลาด แล้วนำไปจำหน่ายโดยไม่หวังผลกำไร ซึ่ง “ส่วนต่าง” ที่ได้นำมา จะนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่าง ๆ โดยมีโลโก้ “โครงการหลวง” ที่เป็นผลผลิตสดจากดอย สินค้าแปรรูป สินค้าหัตถกรรม และสินค้าอื่น ๆ รวม 1,700 รายการ วางจำหน่ายในจังหวัดเชียงใหม่ กรุงเทพฯ และจังหวัดต่าง ๆ ทุกภาคของประเทศ

สินค้าส่วนใหญ่เป็นผลผลิตที่มาจากเกษตรกรตามพื้นที่สูงกว่า 25,000 ครัวเรือน เช่น ผัก ผลไม้ ดอกไม้ ไม้ประดับ สมุนไพร ชา กาแฟอราบิก้า เห็ด พืชไร่ชนิดต่าง ๆ และผลิตภัณฑ์แปรรูป สินค้าหัตถกรรมจากฝีมือของแม่บ้านชาวเขาชนเผ่าต่าง ๆ

ทุกขั้นตอนของห่วงโซ่การผลิตและการจำหน่ายจะได้มาตรฐานอาหารปลอดภัย (food safety) ได้แก่ GAP, GLOBAL.GAP และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ รวมถึงระบบการจัดการหลังเก็บเกี่ยว ภายใต้ระบบห่วงโซ่ความเย็น (cool chain) การคัด-บรรจุผลผลิต เก็บรักษา และขนส่งไปยังลูกค้ากลุ่มต่าง ๆ เพื่อให้คงความสด สะอาด และปลอดภัย ที่สำคัญคือ “ดี + อร่อย”

โครงการหลวง

แต่ละปีมูลนิธิโครงการหลวงจัดส่งผลิตผล ผักสด ผลไม้สด ดอกไม้สด เห็ด สมุนไพร พืชไร่ ประมง ปศุสัตว์ ชา-กาแฟ และผลิตภัณฑ์แปรรูปร่วม 700 รายการสู่มือผู้บริโภค ในหลายช่องทาง ทั้งร้านโครงการหลวงสาขาต่าง ๆ ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมอาหาร ร้านอาหาร และโรงแรมทั่วประเทศ

Gourmet Market The Mall สร้างตำนาน

เมื่อตระกูล “อัมพุช” เจ้าของ “โฮม เฟรช มาร์ท” ได้ปรับโฉมสู่ “กูร์เมต์ มาร์เก็ต” เพื่ออัพเกรดซูเปอร์มาร์เก็ตสู่ระดับพรีเมี่ยม ภาพกิจกรรมการนำร่อง “โครงการหลวง” สู่ “เมืองหลวง” ยิ่งชัดเจนขึ้น

เป็นการสร้างเสน่ห์ดึงบรรยากาศของแหล่งเพาะปลูกมาให้ประชาชนได้สัมผัสใกล้ชิด โดยเน้นความสดใหม่และปลอดสาร ปัจจุบันกูร์เมต์ฯ มี 17 สาขา 3 รูปแบบ คือ 1.สาขาในเมือง เช่น สยามพารากอน, เอ็มควอเทียร์, เอ็มโพเรียม

2.สาขาดาวน์ทาวน์ อยู่รอบนอกเมือง ได้แก่ เดอะมอลล์บางกะปิ, ท่าพระ, งามวงศ์วาน 3.สแตนด์อะโลน สาขาที่เปิดร่วมกับพาร์ตเนอร์ ตั้งเป้าจะรีโนเวตกูร์เมต์ฯทุกสาขาครบทุกสาขาภายใน 3 ปี ใช้งบฯลงทุน 1,000 ล้านบาท

จัดเทศกาลสินค้าโครงการหลวง 2565

ล่าสุด กลุ่มเดอะมอลล์ โดย กูร์เมต์ มาร์เก็ต และกูร์เมต์ อีทส์ ร่วมกับมูลนิธิโครงการหลวง จัดงาน “เทศกาลสินค้าโครงการหลวง 2565” ระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน-7 ธันวาคม 2565 ที่แกรนด์ฮอลล์ ชั้นจี เดอะมอลล์ บางกะปิ

เป้าหมายเพื่อให้เศรษฐกิจหมุนเวียน และสร้างอาชีพสุจริต สร้างรายได้สู่ชุมชน ส่งตรงจากยอดดอยสู่เมืองหลวง

ในงานจะมีผัก ผลไม้ ดอกไม้กินได้ ผลิตภัณฑ์แปรรูป อิ่มอร่อยกับเมนูพิเศษที่ปรุงด้วยวัตถุดิบจากโครงการหลวง เช่น ผักกาดฮ่องเต้ก้านขาว, ถั่วฝักยาวอินทรีย์, ขึ้นฉ่าย, โอ๊คลีฟแดง, โอ๊คลีฟเขียว, ผักเคล, ข้าวโพดหวานสองสี, มะเขือเทศเชอรี่แดง, มันเทศญี่ปุ่นสีม่วง, เมลอนไต้หวัน 101 สีขาว, แตงหอมตาข่ายเนื้อสีเขียว, อะโวคาโด, เสาวรสหวาน, ดอกไม้กินได้, ปลาเรนโบว์เทราต์, ไข่ไก่อินทรีย์, ข้าวกล้องไก่ป่า ฯลฯ

นอกจากนี้ยังมีเครื่องดื่มที่แปรรูปผลิตภัณฑ์จากนมและปศุสัตว์ เช่น ชาหมักคอมบูชะ, น้ำเสาวรสพร้อมดื่ม, โยเกิร์ตนมควาย, เนยแข็งเฟต้า ที่ผลิตจากนมควายผสมนมแพะ ผลิตภัณฑ์แปรรูป เช่น กาแฟคั่วเมล็ด ฮันนี่โพรเซส, ควินัวบาร์, ชาสมุนไพรสด 7 ชนิด, ผงโรยข้าวสูตรผักครบเครื่อง, ข้าวเกรียบแครอตทอด, ข้าวเกรียบฟักทองทอด, ข้าวเกรียบเห็ดหอมทอด, ข้าวกล้องดอยผสมควินัว ฯลฯ

ไม้ดอกและไม้กระถาง สินค้าหัตถกรรม และผลิตภัณฑ์จากดอยคำดอยตุง รวมทั้งผลิตภัณฑ์จากโครงการส่วนพระองค์จิตรลดารวมกว่า 160 รายการ

ที่สำคัญยังมีเชฟ You Hunt We Cook มาปรุงเมนูให้รับประทาน เพื่อให้ทุกคนได้ลิ้มลองความอร่อยเฉพาะงานนี้เท่านั้น ได้แก่ มันม่วงชีสฟราย และซัลซ่าข้าวโพดหวานสีม่วง

พร้อมรวบรวมเมนูอาหารจากร้านดัง 30 ร้านค้าที่ปรุงด้วยวัตถุดิบจากโครงการ อาทิ ร้านบ้านจันทิมา เมนูขนมบ้าบิ่นไส้ฟักทอง ใช้วัตถุดิบฟักทองโครงการหลวง, ร้านบ้านขันโตก เมนูแกงคั่วหอยขมเห็ด 5 อย่าง เมนูขนมจีนน้ำเงี้ยว เมนูกล้วยทรงเครื่อง ใช้วัตถุดิบเห็ด มะเขือเทศ ถั่วแดงโครงการหลวง, ร้านข้าวเหนียวสี่แผ่นดิน ใช้วัตถุดิบงาดำจากโครงการหลวง, ร้านธรรมชาติซีฟู้ด แคลิฟอร์เนียโรลปลาเทราต์, Betagro ไก่บ้านหมักสมุนไพร, ร้านเก้าอร่อย เมนูทอดมันปลากรายใช้วัตถุดิบถั่วฝักยาวจากโครงการหลวง เป็นต้น

อร่อย ได้บุญ และดีกับสุขภาพก็งานนี้ในจุดเดียว