วิธีรับมือ Post-Vacation Blues อาการซึมเศร้าหลังวันหยุดยาว

Post-Vacation Blues วันหยุด สุขภาพจิต

วิธีรับมือภาวะ Post-Vacation Blues อาการซึมเศร้าหลังวันหยุดยาว เมื่อสงกรานต์หมดลง และทุกคนต้องกลับไปทำงานตามปกติ

เทศกาลสงกรานต์ปี 2566 หมดลงเป็นที่เรียบร้อย แม้บางแห่งจะยังจัดประเพณีวันไหลอยู่ แต่หลายคนก็ต้องเตรียมตัวกลับมาทำงานตามปกติ แต่เนื่องจากช่วงหยุดยาวที่ผ่านมา หลายคนได้เดินทางไปท่องเที่ยวพักผ่อนกับครอบครัวและเพื่อน ๆ อย่างสนุกสนานเพลิดเพลิน แต่เมื่อต้องกลับไปทำงานก็รู้สึกไม่อยากทำ หรือเบื่อหน่ายขึ้นมา

อาการดังกล่าวคือ ภาวะ Post-Vacation Blues หรือซึมเศร้าหลังวันหยุดยาว โดยผู้ที่ตกอยู่ในภาวะนี้จะรู้สึกไม่สดชื่น อาจมีปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัว มีความกังวลเรื่องทุกอย่างจนเกินเหตุ เหนื่อยง่าย พักผ่อนเท่าไหร่ก็ไม่พอ ไม่ค่อยมีสมาธิ หงุดหงิดง่าย หรือบางคนอาจรู้สึกจมดิ่งไปกับอารมณ์เศร้าหมอง

อย่างไรก็ตาม ภาวะ Post-Vacation Blues ไม่ใช่โรคทางจิตเวช อาการซึมเศร้าหลังวันหยุดยาวจะเกิดขึ้นเพียงช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น หลังจากนั้นก็จะหายไปเอง

Advertisement

ทั้งนี้ วิธีรับมือกับภาวะ Post-Vacation Blues เมื่อต้องกลับมาทำงานหลังหยุดสงกรานต์ มีดังนี้

1.หางานอดิเรกทำ

ในช่วง 2-3 วันแรก หลังจากกลับมาทำงาน ถือเป็นช่วงที่ต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการปรับสภาพจิตใจ วิธีรับมือคือการทำงานอดิเรกที่ชอบ หรือทำแล้วมีความสุข จะได้ไม่เบื่อ และไม่ซึมเศร้าจนเกินไป เช่น ดูหนัง ฟังเพลง ทำอาหาร วาดภาพ เล่นกับสัตว์เลี้ยง เป็นต้น

2.นับถอยหลังวันหยุดครั้งหน้า

Advertisement

แม้จะหมดสงกรานต์แล้ว แต่วันหยุดยาวในโอกาสอื่นยังมีอีกหลายวัน เพราะฉะนั้นแทนที่จะกังวลกับความหยุดที่ผ่านมาแล้ว ลองนึกถึงวันหยุดที่กำลังจะมาถึงในวันข้างหน้า แล้ววางแผนว่าจะไปท่องเที่ยวที่ไหน หรือทำกิจกรรมอะไรในช่วงนั้นดี การทำเช่นนี้จะช่วยให้เรามีความสุข สนุกกับการวางแผน และตื่นเต้นกับอนาคตที่รอเราอยู่

3.ออกกำลังกาย

ขณะออกกำลังกาย ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนเอนโดรฟิน ให้เรามีความสุข ลืมความทุกข์ไปชั่วขณะ นอกจากนั้นยังทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้นอีกด้วย การเพิ่มความกระฉับกระเฉงเพียงเล็กน้อย สามารถกระตุ้นการไหลเวียนเลือดและเผาผลาญแคลอรีด้วยการเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ โดยเราอาจทำแค่วิดพื้น แพลงก์ สควอช ฯลฯ ซึ่งทำได้ง่าย ๆ ที่บ้าน

Advertisement

4.ฟื้นฟูร่างกาย

สำหรับผู้ที่ยังรู้สึกเหนื่อยล้าและอ่อนเพลีย ควรมองหาอาหารจำพวกโปรตีนปราศจากไขมัน เช่น เนื้อสัตว์ ไก่ ปลา ผลไม้และผักสดที่อุดมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประโยชน์ในปริมาณสูง รวมทั้งไขมันที่ดีต่อสุขภาพ เช่น น้ำมันมะกอกและถั่วในปริมาณที่เหมาะสม ส่วนอาหารเสริมที่จะช่วยให้ปรับตัวได้เร็วยิ่งขึ้น ได้แก่ วิตามินบีรวม วิตามินซี วิตามินอี สารแคโรทีน สารไลโคพีน โคเอนไซม์ Q10 และ N-acetylcysteine (NAC) เพื่อช่วยกระตุ้นการสร้างพลังงานภายในเซลล์ร่างกายและกล้ามเนื้อ

5.สมดุลการนอนหลับ

ในช่วงวันหยุดสงกรานต์ที่ผ่านมา หลายคนออกไปเล่นน้ำกันอย่างเมามัน หรือปาร์ตี้กันสุดเหวี่ยง ทำให้นอนหลับไม่เพียงพอ การนอนหลับให้เพียงพอในช่วง 2-3 วันแรกหลังกลับจากไปเที่ยวเป็นสิ่งที่สำคัญต่อสุขภาพอย่างมาก เพราะขณะหลับร่างกายจะมีการซ่อมแซมและปรับสมดุลของสารสื่อประสาทในสมอง เพื่อกลับมาสู่โหมดภาวะปกติ ดังนั้นจึงควรนอนในเวลาที่เหมาะสมประมาณ 22.00 น. ทุกคืน และควรนอนหลับให้ได้ 7-8 ชั่วโมง ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายฟื้นฟูกลับสู่สภาวะเดิมได้รวดเร็ว

ข้อมูลจาก โรงพยาบาลสมิติเวช