กว่าความเหลื่อมล้ำจะหายไป อีก 200 ปี หญิง-ชายจึงจะเท่ากัน

Demonstrators shout slogans during a Women's Day rally in Istanbul on March 4, 2018. / AFP PHOTO / YASIN AKGUL
รุ่งนภา พิมมะศรี : เรื่อง

แม้ว่าในทางกฎหมาย เพศชาย-เพศหญิงมีสิทธิเท่ากันในเกือบทุกด้าน แต่ในความเป็นจริงก็เห็นว่าสังคมยังมีความไม่เท่าเทียมในหลาย ๆ ด้าน และในทางข้อมูลสถิติบอกว่าทั่วโลกยังมีความเหลื่อมล้ำทางเพศสูง ต้องใช้เวลามากกว่า 2 ศตวรรษจึงจะสามารถปิดช่องว่างระหว่างเพศชายกับเพศหญิงได้

จากรายงานความเหลื่อมล้ำทางเพศ (The Global Gender Gap Report) ที่จัดทำโดย World Economic Forum (WEF) บอกว่า ปี 2017 เป็นปีที่ช่องว่างระหว่างเพศชายกับเพศหญิงขยายกว้างขึ้นมากที่สุดในรอบ 10 ปี นับตั้งแต่มีการศึกษาครั้งแรกในปี 2006

The Global Gender Gap Report เป็นการจัดทำดัชนีชี้วัดความเท่าเทียมทางเพศ ครอบคลุมประเทศสำคัญและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ 144 ประเทศ โดยมีประเด็นที่ทำการศึกษา 4 ด้าน ได้แก่ การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ การเข้าถึงการศึกษา การเข้าถึงระบบสาธารณสุข และการมีส่วนร่วมทางการเมือง ซึ่งด้านการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ และการมีส่วนร่วมทางการเมือง เป็นเรื่องที่น่ากังวลมากเป็นพิเศษ เพราะมีช่องว่างที่กว้างมากกว่าเรื่องอื่น

ดัชนีชี้วัดความคืบหน้าในการปิดช่องว่างทางเพศปี 2017 อยู่ที่ 68 เปอร์เซ็นต์ ลดน้อยลงจาก 68.3 เปอร์เซ็นต์ในปี 2015 และ 68.1 เปอร์เซ็นต์ในปี 2016ซึ่งตัวเลขที่ลดลงหมายถึงความเหลื่อมล้ำทางเพศขยับเพิ่มขึ้น และจากตัวเลขของปี 2017 จะต้องใช้เวลาถึง 217 ปีในการปิดช่องว่างนี้

ประเทศที่มีความก้าวหน้าในการปิดช่องว่างทางเพศสูงสุด หรือพูดง่าย ๆ ว่ามีความเท่าเทียมทางเพศมากที่สุด 10 อันดับแรก คือ 1.ไอซ์แลนด์ 2.นอร์เวย์ 3.ฟินแลนด์ 4.รวันดา 5.สวีเดน 6.นิการากัว 7.สโลวีเนีย 8.ไอร์แลนด์ 9.นิวซีแลนด์ 10.ฟิลิปปินส์

Advertisment

ขณะที่ประเทศสมาชิก G20 ที่ทรงอิทธิพลทั้งทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม อย่างฝรั่งเศส อยู่อันดับ 11, เยอรมนี อันดับ 12, สหราชอาณาจักร อันดับ 15, แคนาดา อันดับ 16, แอฟริกาใต้ อันดับ 19, อาร์เจนตินา อันดับ 34, สหรัฐอเมริกา อันดับ 49, จีน อันดับ 100, อินเดีย อันดับ 108, ญี่ปุ่น อันดับ 114, เกาหลีใต้ อันดับ 118, ตุรกี อันดับ 131 และ ซาอุดีอาระเบีย อันดับ 138

ส่วนประเทศไทยของเราอยู่ในอันดับที่ 75 ต่ำกว่าหลายประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน ได้แก่ ฟิลิปปินส์ ที่อยู่ในอันดับ 10, ลาว อันดับ 64, สิงคโปร์ อันดับ 65 และเวียดนาม อันดับ 69

Advertisment

ในรายละเอียดของการศึกษายังมีข้อมูลเกี่ยวกับช่องว่างระหว่างเพศชาย-หญิงในภาคอุตสาหกรรมและการประกอบอาชีพ จากการศึกษาวิจัยใน 12 อุตสาหกรรม เช่น องค์กรไม่แสวงหากำไร, พลังงาน, การศึกษา, ซอฟต์แวร์, สุขภาพ, ภาคการผลิต, กฎหมาย, การเงิน, อสังหาริมทรัพย์ พบว่าความก้าวหน้าในหน้าที่การงานของผู้หญิงมีการชะลอตัวในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนผู้นำหญิงในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 2 เท่านั้น

มีเพียง 3 อุตสาหกรรมที่มีผู้นำหญิงเกิน 40 เปอร์เซ็นต์ คือ สุขภาพ การศึกษา และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร เนื่องจากอุตสาหกรรมเหล่านี้อาศัยแรงงานผู้หญิงมานานหลายชั่วอายุคน ดังนั้นผู้หญิงที่ทำงานมานานจึงมีโอกาสขึ้นสู่ตำแหน่งอาวุโสหรือตำแหน่งผู้นำ ฟังดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็มีข้อมูลที่สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำอีกว่า อุตสาหกรรมที่ผู้หญิงเป็นแรงงานส่วนใหญ่มักจะจ่ายค่าจ้างต่ำกว่าอุตสาหกรรมที่มีผู้ชายเป็นแรงงานส่วนใหญ่

ความเหลื่อมล้ำที่ขยับมากขึ้น และเวลาที่จะต้องใช้ในการปิดช่องว่างระหว่างเพศที่ขยับมากขึ้น นำมาสู่การตั้งคำถามว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จำเป็นจะต้องมีการหาแนวทางใหม่ ๆ ในการปิดช่องว่างระหว่างเพศ

หนึ่งในข้อสันนิษฐานว่าอาจจะเป็นทางออกคือ การมีผู้นำ-ผู้บริหารหญิงมากขึ้นจะทำให้มีการจ้างงานผู้หญิงมากขึ้น

ข้อมูลของ WEF แสดงให้เห็นว่า เมื่อผู้หญิงมีส่วนในบทบาทผู้นำมากขึ้น การจ้างงานผู้หญิงก็มากขึ้นด้วยในทั่วทุกระดับ แต่ปัญหาก็คือจำนวนผู้นำ-ผู้บริหารหญิงก็เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ดังนั้นการให้ผู้หญิงขึ้นมามีบทบาทในตำแหน่งผู้นำ-ผู้บริหารจึงเป็นเรื่องที่ต้องร่วมผลักดัน

เมื่อความเหลื่อมล้ำยังมีอยู่ การรณรงค์เพื่อความเท่าเทียมทางเพศจึงจำเป็นต้องดำเนินต่อไปจนกว่าจะบรรลุเป้าหมาย

วันที่ 8 มีนาคม วันสตรีสากลปีนี้ได้ประกาศแคมเปญ #PressforProgress เพื่อกระตุ้นให้ผู้คนทั่วโลกร่วมกันสร้างโลกที่มีความเท่าเทียมทางเพศ และจะใช้แคมเปญนี้ในการรณรงค์ไปตลอดปี จนกว่าจะมีธีมแคมเปญใหม่ในปีหน้า ในเบื้องต้นทุกคนที่สนใจสามารถเข้าไปที่เว็บไซต์ www.internationalwomensday.com แล้วตอบว่าคุณจะทำอะไรเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยผลักดันและสร้างความเท่าเทียมทางเพศ

กลอเรีย สไตเนม (Gloria Steinem) เฟมินิสต์ชื่อดัง กล่าวว่า “การต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมของผู้หญิงกับผู้ชาย ไม่ใช่เรื่องของเฟมินิสต์หรือองค์กรใดองค์กรหนึ่ง แต่ทุกคนที่สนใจเรื่องสิทธิมนุษยชนต้องพยายามสู้ร่วมกัน”