แพทย์เตือนผู้สูงอายุควรระวัง แค่สำลักก็อาจเสียชีวิตได้

พญ.กอบกาญจน์ ชุณหสวัสดิกุล

แพทย์เตือนผู้สูงอายุควรระวัง เมื่อมีอายุมากขึ้น อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายเสื่อมสภาพ ทำให้การเคี้ยวและการกลืนมีปัญหา ดังนั้น แค่สำลักก็อาจเสียชีวิตได้

วันที่ 30 มิถุนายน 2566 ที่งาน Thailand Healthcare 2023 “เกษียณสโมสร” ณ สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ พบกับเวทีเสวนาเกี่ยวกับสุขภาพกว่า 30 เวที โดยกูรูและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งวันนี้เวลา 13.00-14.00 น. เป็นการเสวนาในหัวข้อ “เทคนิคการดูแลเรื่องอาหารป้องกันสำลัก” โดย พญ.กอบกาญจน์ ชุณหสวัสดิกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ป้องกัน ผู้อำนวยการสถาบัน จิณณ์ เวลเนส เซ็นเตอร์

พญ.กอบกาญจน์เปิดเผยว่า การกลืนอาหารของมนุษย์แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ 1.ช่องปาก 2.คอหอย และ 3.หลอดอาหาร สำหรับปัญหาในการกลืนอาหารของผู้สูงอายุในระยะช่องปากคือ กล้ามเนื้อบริเวณขากรรไกรจะมีความอ่อนแรง ทำให้การบดเคี้ยวอาหารที่แข็งหรือมีชิ้นใหญ่มีปัญหา ปริมาณน้ำลายลดลง อาจมีสาเหตุจากการดื่มน้ำน้อย

เข้ารับการฉายแสงซึ่งมีผลให้ต่อมน้ำลายฝ่อ ทำให้มีความยากลำบากในการใช้น้ำลายคลุกเคล้าอาหารก่อนกลืน ความสามารถในการรับรสและความรู้สึกเปลี่ยนไป การควบคุมการทำงานของลิ้นลดลง ทำให้ไม่สามารถกวาดอาหารภายในปากลงสู่คอหอยได้หมด ทำให้เกิดการตกค้างของเศษอาหารในช่องปาก และการจัดการอาหารภายในปากได้ช้า ต้องกลืนอาหารหลายครั้งในหนึ่งคำ

ถัดมาปัญหาที่พบในระยะคอหอย มักเกิดการสำลักได้ง่าย ปัญหาที่พบคือกล้ามเนื้อที่ปิดหลอดลมไม่สัมพันธ์กันกับการกลืนอาหาร เนื่องจากกล้ามเนื้อนั้นมีความแข็งแรงหรือความยืดหยุ่นลดลง รวมถึงกลไกการควบคุมระบบการกลืนทำงานได้ช้าลง

และระยะสุดท้ายหลอดอาหาร ร่างกายจะทำงานอัตโนมัติไม่สามารถควบคุมได้ หากกล้ามเนื้อส่วนนี้อ่อนแรงอาจทำให้ใช้เวลาในการส่งอาหารจากคอหอยสู่กระเพาะอาหารเพิ่มมากขึ้น อุปสรรคคือกรดไหลย้อน หูรูดมีปัญหา

ข้อสังเกตที่บ่งบอกอาการกลืนลำบาก ได้แก่ 1.ใช้เวลาในการรับประทานอาหารต่อคำนานมากขึ้น 2.ใช้ความพยายามอย่างมากในการกลืนอาหารหนึ่งครั้ง 3.ขณะรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำมีอาการไอ 4.สำลักบ่อย 5.ขณะรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำ มีอาหารบางส่วนดันขึ้นจมูก กลืนไม่ลง หรือจะอาเจียน

เมื่อมีปัญหากลืนลำบากผลเสียที่ตามมาคือ 1.ทำให้รู้สึกไม่อยากรับประทานอาหาร นำไปสู่การขาดสารอาหาร 2.สำลักอาหาร 3.หายใจขัด ไอ หายใจไม่ออก 4.ปอดบวมจากการสำลักอาหาร และน้ำเข้าปอด โดยเฉพาะหากเป็นผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียงเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ 5.ต้องให้อาหารทางสายยาง (N-G tube) ซึ่งจะทำให้เกิดการระคายเคือง และ 6.ขาดความสุขในการรับประทานอาหาร

ระบบทางเดินอาหารที่เปลี่ยนไปเมื่อสูงอายุ ประกอบด้วย 1.สุขภาพช่องปากแย่ลง เหงือกอักเสบ ฟันผุ ถือเป็นภัยเงียบ เพราะแบคทีเรียที่เกิดขึ้นจะลงไปอยู่ที่กระเพาะอาหารและลำไส้ ก่อให้เกิดการอักเสบภายในเรื้อรัง 2.กระดูกรามเสื่อมลง ฟันปลอมสบไม่ดี 3.หูรูดหลอดอาหารหย่อน 4.กระเพาะอักเสบง่ายจากเยื่อบุที่บางลง 5.ขาดสารอาหาร ซีด และ 6.แบคทีเรียในลำไส้เสียสมดุล

สำหรับปัญหาที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ ได้แก่ เคี้ยวข้าวไม่ละเอียด เคี้ยวได้น้อย กลืนไม่ดี สำลักบ่อย โดยเฉพาะของเหลว เป็นกรดไหลย้อน ลมตีขึ้น ท้องอืด แน่นท้อง ท้องผูก การดูดซึมได้น้อยลง เกิดภาวะขาดอาหารง่าย โดยเฉพาะโปรตีน และตับเริ่มเสื่อมสภาพ ทำให้การบริหารยายากขึ้น

ขณะที่สาเหตุของการกลืนลำบากคือ 1.มีความผิดปกติของระบบประสาท เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคพาร์กินสัน 2.ภาวะสมองเสื่อม 3.มีความผิดปกติทางกายภาพ เช่น มีเนื้องอกหรือมะเร็งบริเวณศีรษะหรือลำคอ และ 4.ได้รับการผ่าตัด หรือฉายแสงบริเวณลำคอ หรือภายในช่องปาก

วิธีป้องกันไม่ให้สำลักอาหารในผู้สูงอายุ ได้แก่ 1.นั่งตัวตรงขณะรับประทานอาหาร หลีกเลี่ยงท่านอน แต่หากเป็นผู้ป่วยติดเตียงให้ยกศีรษะขึ้น 45 องศา 2.ตั้งใจกลืน ไม่ดูทีวี พูดคุยกัน และหัวเราะระหว่างรับประทานอาหาร 3.ควรหลีกเลี่ยงอาหารเหนียวเคี้ยวยาก เพราะอาจทำให้ติดคอ 4.ถ้าอาหารชิ้นใหญ่ ผู้ดูแลควรใช้มีดหั่นซอยให้เล็กลงก่อน 5.การปรุงอาหารให้มีลักษณะอ่อนนิ่ม หรือหั่นเนื้อสัตว์ให้เล็กที่สุด 6.หากเป็นผักควรหั่นให้เล็กลงและต้มให้เปื่อยนุ่ม 7.อย่ารับประทานอาหารที่แห้งเกินไป ควรมีน้ำซอส หรือซุปจะช่วยให้อาหารชุ่มและนุ่มชื้น และ 8.ไม่ควรนอนทันทีหลังอาหารทุกมื้อ หรือเดินอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง

ทั้งนี้ หากพบว่ามีการสำลักให้รีบหยุดรับประทานทันที จัดท่านั่งให้ก้มไปข้างหน้าเล็กน้อย หรือนอนตะแคงกึ่งคว่ำ นำอาหารหรือฟันปลอมออกจากปากให้หมด ไม่ควรล้วงคอเด็ดขาด ในกรณีที่มีอาการเหนื่อยหอบหายใจลำบาก หน้าซีด ปากเขียวคล้ำ ต้องรีบพบแพทย์ทันที