สะสมเครื่องบินบังคับ ไลฟ์สไตล์ฮิปฮิป “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค”

พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค
พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค
ผู้เขียน : กษมา ศิริกุล

มาดนักกฎหมายที่ “สุขุม นุ่ม ลึก” จนหลายคนมองว่า “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็น “คนดุ น่าเกรงขาม”

แต่แท้จริงแล้ว “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ออกตัวทันทีว่า ให้พวกเรา “เรียกพี่จะดีกว่า” หรืออาจจะเรียกน้องก็ได้ (หัวเราะ) เพราะที่ผ่านมาหลายคนคุ้นเคยที่จะเรียก ลุงตุ๋ย เมื่อครั้งทำงานร่วมกับลุงตู่ (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) หรือบางคนเรียกว่า ท่านพี ซึ่งนั่นจะถือว่าไม่สนิทกันจริง ฉะนั้น ขอให้ใช้ “พี่ตุ๋ย” จะดีกว่า

“ตัวจริงผมเป็นคนไม่ดุเหมือนลุกที่เห็นภายนอก แค่เป็นคนจริงจัง ผมไม่ชอบคุยเล่นเรื่องงาน เพราะเป็นเรื่องที่ต้องจริงจังและต้องมีข้อมูล”

วันวาน ด.ช.ตุ๋ย

ย้อนกลับไปในวัยเด็ก ด.ช.ตุ๋ย เป็นบุตรของ พลโท ณรงค์ สาลีรัฐวิภาค อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์ และเจ้ากรมการพลังงานทหาร จึงไม่น่าแปลกใจที่ “พี่ตุ๋ย” เลือกใช้ “บ้านพิบูลย์ธรรม” สถานที่แห่งความทรงจำในวัยเยาว์เป็นสถานที่ทำงาน และที่สำคัญ คุณพ่อซึ่งเป็นผู้ริเริ่มการขุดเจาะน้ำมันที่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ เป็นผู้ก่อตั้งปั๊มน้ำมันสามทหาร ซึ่งปัจจุบัน คือ ปตท. เป็นเหมือนฮีโร่ที่ปลูกฝังแนวคิดในการทำงาน ก่อนที่จะเข้ามากุมบังเหียนกระทรวงพลังงานด้วยซ้ำ

คุณพ่อ “พลโทณรงค์” สมรสกับคุณแม่ “โสภาพรรณ สาลีรัฐวิภาค” นามสกุลเดิม สุมาวงศ์ สาวงามที่เป็นอดีตดาวจุฬาฯคนแรก

“พี่ตุ๋ย” เกิดเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 สำเร็จการศึกษาจบชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล จากนั้นเรียนต่อปริญญาตรี คณะนิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จบเนติบัณฑิตไทย ที่สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา จบปริญญาโท กฎหมายอเมริกันทั่วไป (LLM) และเรียนปริญญาโทอีกใบด้านกฎหมายเปรียบเทียบ (MCL) ที่มหาวิทยาลัยทูเลน สหรัฐอเมริกา

และด้วยมีประสบการณ์ทำงาน “ผู้พิพากษา” และข้าราชการตุลาการมาก่อนเข้าสู่สนามการเมืองในนามพรรคประชาธิปัตย์ ร่วมทีมกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2551 และรับตำแหน่งเป็น เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เมื่อสมัยอดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ชีวิตครอบครัว พี่ตุ๋ย สมรสกับ สุนงค์ สาลีรัฐวิภาค (นามสกุลเดิม โทณวณิก) มีบุตรธิดารวมกันทั้งหมด 4 คน

จุดเริ่มต้น เครื่องบินปีกแข็ง

มาถึงไลฟ์สไตล์แบบสบาย ๆ ในวันว่าง พี่ตุ๋ยเล่าว่าชอบประกอบโมเดลจำลอง ทั้งรถ เรือ เครื่องบิน เริ่มเล่นเครื่องบินบังคับวิทยุมาตั้งแต่เด็กอายุ 8-9 ขวบ ตอนนั้นไม่มี “คอปเตอร์” มีแต่เครื่องบินปีกแข็ง

“ผมชอบเล่นเครื่องบินสเกลย่อ คือ ย่อจากของจริง ไม่ใช่สร้างขึ้นมาเองแบบไม่มีต้นแบบ ซึ่งสมัยก่อนเครื่องบินเล็กเติมน้ำมัน ผมเริ่มคิดเรื่องพลังงานทดแทนมาตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว เพราะมันยากคือต้องเติมน้ำมัน ต้องสตาร์ต เวลาบินทีมีท่อไอเสียพ่นควันออกมาเหมือนเครื่องบินไฟไหม้ ผมก็คิดว่าทำไมมันไม่มีแบบไฟฟ้าตั้งแต่เด็ก ๆ อยากมีลำเล็ก ๆ ที่บินได้ในบ้าน ในห้อง”

กลับมาเล่นอีกครั้ง

“แต่ด้วยภารกิจการงานต่าง ๆ ทำให้ต้องเลิกเล่นไป จนกระทั่งผมมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เมื่อปี 2551-2552 ไปทำงานญี่ปุ่น ระหว่างนั่งรอขึ้นเครื่องที่สนามบิน ผมก็เหลือบไปเห็นเครื่องบินบังคับวิทยุลำนิดเดียว มันเหมือนกับที่เราเคยคิดตั้งแต่เด็ก เป็นเครื่องบินบังคับไฟฟ้าลำเล็ก ๆ ผมก็เลยนึกถึงตอนที่เราเป็นเด็ก แล้วก็เลยไปซื้อกลับมาเล่นใหม่”

สาเหตุที่สนใจคอปเตอร์บังคับ เพราะใช้พื้นที่น้อย เริ่มฝึกลำจิ๋วแค่ไม่กี่เซนติเมตร (ทำมือประกอบ) แล้วขยายมาเรื่อย จนตอนนี้มีเท่าไรไม่ได้นับ ซึ่งเมื่อว่างจากการทำงาน ก็เล่นเครื่องบินบังคับวิทยุในห้อง เล่นคลายเครียดมาเรื่อย ๆ จากลำขนาดจิ๋ว ๆ ไม่กี่เซนติเมตร จนตอนนี้ขนาดสเกลใหญ่ มีความยาวถึง 2.50 เมตร

ปัจจุบันที่สะสมไว้หลายแบบ หลายรุ่น อาทิ เครื่องขนาดใหญ่มาก คือ โมเดลย่อของเฮลิคอปเตอร์ที่ใช้ในสงครามเวียดนาม ขนาดย่อ 1 ต่อ 4 ของเครื่องจริง เครื่องบินสเกลย่อของไนต์ฮอว์ก ความยาว 2 เมตร พิเศษใบพัดเป็นอะลูมิเนียม ออกัสตาเป็นสเกลใหญ่ และที่เหลือก็เป็นสเกลย่อต่าง ๆ แต่คิดว่าในเร็ว ๆ นี้อาจจะไม่มีเวลาในการมาต่อเครื่องบินบังคับ เพราะด้วยภารกิจด้านพลังงานที่รัดตัว

“การที่ผมมาเป็นนักการเมือง มันทำให้ชีวิตผมตรงนี้หายไปเลย ผมยังมีโมเดลที่ต้องประกอบอีก 3 พันกล่องที่เก็บไว้ตอนนี้”

คำสอนของพ่อ

ในด้านภารกิจการดูแลกระทรวงพลังงาน ซึ่งเปรียบเสมือนกระทรวงเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศนั้น พี่ตุ๋ยให้คีย์เวิร์ด 3 คำ ในการทำงาน คือ การสร้าง “ความมั่นคง เป็นธรรม ยั่งยืน” ให้กับพลังงานไทย

“ผมก็ไม่เคยคิดว่าจะได้มาเป็นรัฐมนตรีที่นี่ (กระทรวงพลังงาน) แต่ตั้งแต่เด็กจนคุณพ่อเสีย ผมอยู่กับพลังงานมาตลอด ผมเป็น สส.มา 30 ปี ก่อนจะมีกระทรวงพลังงาน เมื่อปี 2545 จึงได้เห็นว่า ประเทศไทยได้มีการพัฒนาด้านพลังงานไกลมาก และเริ่มเข้าสู่การเป็นธุรกิจพลังงาน ตอนแรกเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ จึงเน้นไปด้านความมั่นคงของการผลิต คือ โรงกลั่น ทำให้เริ่มต้นยุคแรก

ทั้งกระทรวงพลังงานและกฎหมายพลังงานจะเน้นไปที่การตั้งไข่ สร้างความมั่นคงทางพลังงาน สร้างธุรกิจพลังงาน ทำให้บทบาทกระทรวงนี้ต่างจากกระทรวงอื่นที่เริ่มต้นและใกล้ชิดประชาชนมากกว่า จึงมีภาพว่าไม่ได้ดูแลประชาชน ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว กระทรวงพลังงานเป็นทั้งกระทรวงเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง”

พี่ตุ๋ยเล่าถึงหลักคิดที่มาของคำว่า “มั่นคง” มีจุดเริ่มต้นจากในอดีต ยุคสงครามโลกครั้งที่สอง พลังงานของไทยถูกควบคุมโดยต่างชาติ เราต้องนำเข้า 100% หากว่าไม่ส่งน้ำมันจะกระทบความมั่นคง กองทัพขาดแคลนน้ำมัน ในฐานะเป็นยุทธปัจจัย ประชาชนก็ขาดแคลนด้วย ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิต จึงนำมาสู่การผลิตน้ำมันใช้เอง เริ่มที่ อ.ฝาง ที่มีหลุมน้ำมันผุดขึ้นมา

กระทั่งต่อมาการขุดน้ำมันให้ปริมาณที่มากเพียงพอกับความต้องการของกองทัพแล้ว เหลือจะมาผลิตขายให้ประชาชนในราคาที่ถูก เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกในการใช้ชีวิต เพราะราคาต่างกันมาก จนในสมัยนั้นมีคำกล่าวว่า “คนจนเติมสามทหาร”

“คำว่าความเป็นธรรม เป็นสิ่งที่คุณพ่อสอนตลอดว่า ราคาพลังงานเป็นเรื่องชีวิตของประชาชน แต่คนไทยจำนวนมากเขาไม่ได้มีรายได้มากอย่างที่คุณคิด ทำอย่างไรจะทำให้คนเหล่านี้เข้าถึงพลังงานในราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรมที่สุดที่จะทำให้เขาดำรงชีวิตอยู่ได้ และตอนเป็นผู้พิพากษาต่างจังหวัด

ทำให้ผมเห็นว่าเราอาจจะไม่ทันรู้สึกอะไรกับการหยิบเงินจากกระเป๋า 1 ร้อยบาทมาใช้จ่าย ถ้าเทียบกับชาวบ้านร้อยบาทของเขาไม่ได้รู้สึกเหมือนกันกับเรา จึงต้องสร้างความเป็นธรรม”

ส่วนคำที่สาม คือ ทำอย่างไรจะทำให้ความมั่นคงและความเป็นธรรมในเรื่องพลังงานเป็นไปอย่าง “ยั่งยืน” ตรงนี้เป็นเรื่อง “กฎเกณฑ์กติกา” ที่จะกำหนดเป็นทิศทางให้หน่วยงานรัฐ และเอกชนที่มาเกี่ยวข้องกับน้ำมันก็ดี สามารถช่วยกันทำให้ได้พลังงานเพื่อความมั่นคงของประเทศ ของเศรษฐกิจ ทำให้การเข้าถึงและแสวงหาเกิดความเป็นธรรมอย่างยั่งยืน ไม่ใช่เข้ามาเพื่อแสวงหากำไรของตัวเอง เพื่อขยายธุรกิจไปเรื่อย ๆ น้ำมันไม่ใช่สินค้าที่จะทำแบบนั้น นี่คือ เหตุผลที่ถูกสอนมาตั้งแต่เด็ก ไม่เคยคิดว่าจะได้นำมาใช้ทำงาน จนถึงวันนี้