พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รื้อค่าตลาด ค่ากลั่น จัดระเบียบพลังงาน

พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค
พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค

หลังรับตำแหน่งมานานร่วม 2 เดือน “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เปิด “บ้านพิบูลย์ธรรม” ซึ่งใช้เป็นสถานที่ทำงานพร้อมกับให้ “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ถึงภารกิจในการกำกับดูแลกระทรวงพลังงานตามแนวนโยบาย “มั่นคง เป็นธรรม ยั่งยืน” ให้กับพลังงานไทย

สายเลือดพลังงานทหาร

ย้อนไปถึงพื้นเพของคุณพ่อ “พลโทณรงค์ สาลีรัฐวิภาค” ท่านก็คือ อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์และเจ้ากรมการพลังงานทหาร ท่านเป็นผู้ริเริ่มการขุดเจาะน้ำมันที่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ และเป็นผู้ก่อตั้งปั๊มน้ำมันสามทหาร ซึ่งปัจจุบันคือ ปตท. ผมเองก็ไม่เคยคิดมาก่อนว่า จะได้มาเป็นรัฐมนตรีที่นี่ (กระทรวงพลังงาน) ตั้งแต่เด็กจนคุณพ่อของผมเสีย ผมก็อยู่กับพลังงานมาตลอด ผมเป็น สส.มา 30 ปี ก่อนจะมีกระทรวงพลังงานเมื่อปี 2545 จึงได้เห็นว่า ประเทศไทย ได้มีการพัฒนาด้านพลังงานไกลมากและเริ่มเข้าสู่การเป็นธุรกิจพลังงาน

ตอนแรกเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อจึงเน้นไปด้านความมั่นคงของการผลิตคือ โรงกลั่นน้ำมัน ทำให้เริ่มต้นยุคแรกของกระทรวงพลังงานและกฎหมายพลังงานจะเน้นไปที่การ “ตั้งไข่” เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงาน สร้างธุรกิจพลังงาน ทำให้บทบาทกระทรวงนี้ต่างจากกระทรวงอื่นที่เริ่มต้นและใกล้ชิดประชาชนมากกว่า

จึงมีภาพไปในทำนองที่ว่า ไม่ได้ดูแลประชาชน ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว กระทรวงพลังงาน เป็นทั้งกระทรวงเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง จากเท่าที่ผมพูดคุยกับผู้บริหารยุคใหม่ ทุกคนอยากให้ประชาชนมองกระทรวงพลังงานเป็นหน่วยงานที่ดูแลประชาชนและเข้าถึงกระทรวงพลังงาน

ทิศทางกระทรวงพลังงานใน 4 ปีนี้ที่จะเปลี่ยนแปลงไปสิ่งแรกคือ 1) ความรู้สึกของประชาชนต่อกระทรวงพลังงาน ให้กระทรวงพลังงานเป็นกระทรวงที่เข้าใจคนส่วนใหญ่ของประเทศและสร้างความมั่นคงให้ประเทศด้านพลังงาน 2) จะทำให้กระทรวงพลังงานมีความยั่งยืนในการดูแลภารกิจ

และ 3) จากเดิมเราพึ่งพาน้ำมันกับไฟฟ้า แต่วันนี้เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก มีพลังงานทดแทนออกมา สมัยก่อนไม่มีเรื่องคาร์บอน ปัจจัยต่าง ๆ เข้ามาเยอะ แต่คนไทยสามารถผลิตได้ทั้งลม แสงแดด น้ำ น้ำมันจากพลาสติก หรือน้ำมันจากยางพารา เราสามารถส่งเสริมการผลิตคิดค้นจะทำให้กระทรวงใกล้ชิดกับประชาชนมากขึ้น และมีทางเลือกในการดูแลค่าครองชีพ

“มั่นคง เป็นธรรม ยั่งยืน” หมายถึง

พลังงานสำหรับผมคือ เรื่องความมั่นคง ต้องสร้างความเป็นธรรมและยั่งยืน จากอดีตสมัยสงครามโลกไทยต้องนำเข้าน้ำมัน 100% หากเขาไม่ส่งน้ำมัน ไทยขาดความมั่นคงในฐานะเป็นยุทธปัจจัยและเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อชีวิต จึงนำมาสู่การผลิตน้ำมันใช้เองในกองทัพและที่เหลือก็ขายให้กับประชาชนราคาถูก

ส่วนคำว่า เป็นธรรม เป็นสิ่งที่คุณพ่อสอนตลอดว่า ราคาพลังงานเป็นเรื่องชีวิตประชาชน คนไทยจำนวนมากเขาไม่ได้มีรายได้มากอย่างที่คุณคิด ทำอย่างไรจะทำให้เข้าถึงพลังงานในราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรมที่สุด ที่จะทำให้เขาดำรงชีวิตอยู่ได้ และคำที่ 3 คือ ทำอย่างไรจะทำให้ความมั่นคงและความเป็นธรรมในเรื่องพลังงานเป็นไปอย่างยั่งยืน

ตรงนี้เป็นเรื่อง “กฎเกณฑ์กติกา” เป็นทิศทางให้หน่วยงานรัฐและเอกชนที่มาเกี่ยวข้องกับน้ำมันก็ดี สามารถช่วยกันทำให้ได้พลังงานเพื่อความมั่นคงของประเทศ ของเศรษฐกิจ ทำให้การเข้าถึงและเกิดความเป็นธรรมอย่างยั่งยืน ไม่ใช่เข้ามาเพื่อแสวงหากำไรของตัวเองหรือเพื่อขยายธุรกิจไปเรื่อย ๆ เพราะน้ำมันไม่ใช่สินค้าที่จะนำมาทำแบบนั้น

แผนระยะสั้น-กลาง-ยาว

แผนการทำงานระยะสั้นจะเป็นนโยบายพรรคว่า จะปรับลดราคาพลังงาน และเป็นสิ่งโชคดีที่ นายกรัฐมนตรีเศรษฐา มีแนวนโยบายนี้และเป็นแนวนโยบายของรัฐบาลด้วย ทำให้นโยบายระยะสั้นเป็นจริงได้คือ การลดค่าไฟฟ้า ลดราคาน้ำมัน

ส่วนระยะกลางคือ การปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย เพื่อเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานของกระทรวงและทำให้โครงสร้างพลังงานมีความเป็นธรรม เหมาะสม และรองรับความมั่นคงของประเทศทุกด้าน สโคปของแผนก็คือ 1) จะรวบรวมกฎหมายเกี่ยวกับพลังงานทั้งหมดมาศึกษา หากรวมได้จะรวม ถ้าไม่จำเป็นก็ยกเลิก เพื่อลดจำนวนกฎหมายให้น้อยลง หรือหากเรื่องไหนไม่มีกฎหมายก็เขียนใหม่ 2) กฎหมายพลังงานจะต้องตอบสนอง 3 เรื่อง คือ ต้องทำให้เกิดความมั่นคง เป็นธรรม และเกิดความยั่งยืน

ตอนนี้ผมได้ตั้ง คณะกรรมการปรับปรุงและแก้ไขกฎหมาย มี ท่านอธึก อัศวานันท์ ที่ปรึกษาเป็นประธาน เริ่มทำงานมา 2 นัดแล้ว และมีตัวแทนจาก สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ดูแลด้านกฎหมายมาทำ ให้รายงานทุก 30 วัน ส่วนระยะยาวต้องเตรียมการงานบริหารกระทรวง ทั้งกฎหมายที่ต้องออกมารองรับเพื่อให้นโยบายเป็นไปตามที่บอกทั้งหมด มั่นคง เป็นธรรม ยั่งยืน สามารถเดินต่อไปได้แม้ว่าจะเลยจากนี้ไป 4 ปีก็จะยังคงอยู่

ลดเบนซิน 2.50 บาททำได้จริงหรือ

ผมกับคณะทำงานศึกษามองว่า ภายใต้โครงสร้างราคาน้ำมันปัจจุบัน การลดราคารัฐบาลต้องซัฟเฟอร์ก่อน เพราะโครงสร้างปัจจุบันเป็นแบบนี้ ราคาพลังงานหน้าปั๊มกับราคาต้นทางมันต่างกันเยอะ แต่สิ่งที่เราสามารถทำได้เลยคือ การปรับลดภาระของภาครัฐ แต่ระยะยาวต้องมาดูว่า สิ่งต่าง ๆ ที่ประกอบกันเป็นราคาน้ำมันขายปลีกปลายทางแต่ละช่วงถูกต้องไหม เหมาะสมไหม ซึ่งจะเป็นการดำเนินการเพื่อสร้างความยั่งยืนต่อไป

ตอนนี้ราคาน้ำมันดีเซลลดไปก่อนแล้ว ถ้าน้ำมันเบนซินไม่ลดมันก็ไม่เป็นธรรม เราก็ต้องให้ความช่วยเหลือภาพรวม ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องพิจารณา ขอให้ลดเท่ากัน 2.50 บาท/ลิตร แต่ต้องหารือกับกระทรวงอื่นด้วย ถ้าสอดคล้องกันก็ลด

แต่ไม่สอดคล้องกันต้องปรับลดอย่างไร ตรงนี้จะมีความชัดเจนใน 2 สัปดาห์ หากมีการลดภาษีสรรพสามิตต้องดูว่า จะช่วยได้แค่ไหน เหตุผลที่ลดราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 ก่อน เพราะเราจะเลือกใช้น้ำมันที่ราคาต่ำสุด เพื่อให้รัฐแบกภาระต่ำสุด ส่วนแผนในอนาคตผมจะลดประเภทน้ำมันทั้งเบนซินและดีเซลให้น้อยลงเช่นกัน

ค่าตลาด-ค่ากลั่น

ราคาน้ำมันในประเทศเป็นเรื่องโครงสร้างราคา ซึ่งราคาต้นทางก็คือ หน้าโรงกลั่น (ต้นทุน + กำไรเบื้องต้น = ค่าการกลั่น) และยังมีภาษีอีกหลายตัว มีค่าการตลาดและค่าขนส่ง ซึ่งการที่เราจะปรับลด เราปรับลดเรื่องนี้ โดยแนวทางจะให้ศึกษาว่าต้นทุนที่นำเข้าวัตถุดิบ (น้ำมันดิบ) จริง ๆ เฉลี่ยออกมาเท่าไร ค่าใช้จ่ายเขาเท่าไร และกำไรที่เขาควรจะได้รับนั่นคือ “ค่าการตลาด” พอนำเข้ามากลั่นแล้ว “ค่าการกลั่น” เป็นอย่างไร และจะต้องแยกกำไรหรือรายได้ของโรงกลั่นกับสถานีบริการน้ำมันให้ชัด

เพราะวันนี้ “ค่าการตลาด” ประกอบไปด้วยผลประโยชน์ของผู้ค้าน้ำมันและสถานีบริการน้ำมัน ดังนั้นข้อมูลและข้อเท็จจริงต้องชัด จะนำไปสู่การเขียนหลักเกณฑ์ ตอนนี้โครงสร้างราคาน้ำมันที่ สนพ. (สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน) ใช้อยู่เป็นข้อมูลพื้นฐานของสูตรที่ใช้

แต่ไม่ได้ขึ้นมาเป็นบทบังคับของกฎหมาย เป็นอีกส่วนต้องพิจารณาเพราะเราต้องมีอำนาจเพียงพอในฐานะ “เร็กกูเลเตอร์” ที่จะกำกับดูแลได้ ซึ่งปัจจุบันจะขอดูข้อมูล เค้าบอกให้ไม่ได้ ผมว่ามันตลก กลายเป็นว่าแล้วเราจะไปกำกับเขาได้อย่างไร

ส่วนการกำกับดูแลราคาพลังงานจะขัดหลักการค้าเสรีหรือไม่นั้น ผมขอบอกว่า ไม่มีการค้าเสรีที่ไหนในโลกที่ปล่อยให้กระทบความมั่นคงและไม่สร้างภาระให้ประชาชน ตราบใดที่อยู่ในกรอบนี้เรียกว่า “เสรี” ถ้าเลยกรอบนี้เรียกว่า เป็นการเอาเปรียบสังคม ความเชื่อมโยงของราคาน้ำมันอย่าง น้ำมันดีเซลขึ้นราคา มีผลกับค่าขนส่งและราคาสินค้า

ดังนั้นหากเราเปิดโอกาสให้ผู้ค้าน้ำมันสามารถไปหาน้ำมันจากส่วนอื่น ให้คนสามารถเข้าถึงน้ำมันได้ สามารถไปหาน้ำมันที่มาทำธุรกิจในราคาที่เข้าถึงได้ เพื่อมาแบ่งเบาภาระของเขาได้ อันนี้คือหลักการ คำว่า เสรีของผมไม่ใช่เสรีทางการค้า แต่คือ เสรีภาพในการเข้าถึง รัฐต้องไม่เป็นอุปสรรค ใครจะหาได้หรือไม่ได้ ไม่ใช่เรื่องของเรา เราอย่าไปออกกติกากันเขา ซึ่งตรงนี้จะเป็นการทำงานในระยะกลาง

น้ำมันเขียวเพื่อเกษตรกร

ส่วน “น้ำมันเขียว” เป็นน้ำมันราคาต่ำสำหรับชาวประมง เพราะเขาใช้น้ำมันเป็นต้นทุนเยอะ เมื่อราคาแพงก็ไม่สามารถสู้ได้ ก็ต้องออกน้ำมันเขียว แต่เราลืมนึกถึง เกษตรกร ในช่วงเก็บเกี่ยวใช้น้ำมันเยอะมากเช่นกัน และก็ไม่มีโอกาสได้น้ำมันราคาถูกเป็นพิเศษเหมือนชาวประมง จึงเป็นภาระของเกษตรกร เหมือนต้นทุนปุ๋ย นี่จึงเป็นสิ่งที่ผมจะทำ

แต่น้ำมันจะเป็นสีอะไรค่อยมาว่ากัน และเพื่อให้เกิดความยั่งยืน เรื่องน้ำมันเขียวผมจะออกเป็นกฎหมายว่าด้วยพลังงานสำหรับเกษตรกรและชาวประมง ก่อนสิ้นปีน่าจะได้เห็นกฎหมายนี้

ส่วนเรื่องมาตรฐานน้ำมันยูโร 5 ก็ให้ปลัดไปดู ถ้ามาตรฐานต่างประเทศเค้าไม่ใช้และสิ่งแวดล้อมเขายังดี สิ่งแวดล้อมจริง ๆ คือ รถมากกว่า หากจะใช้ยูโรอะไรก็แล้วแต่ แต่รถควันดำ ปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ใช่กระทรวงพลังงานกระทรวงเดียว แต่เป็นปัญหาทั้งคมนาคม สิ่งแวดล้อม พลังงาน ถ้าโยนมาให้พลังงานคนเดียวแล้วคนอื่นไม่ทำก็ไม่มีประโยชน์ ผมยังไม่คิดว่า ทบทวนหรือไม่

แต่ต้องศึกษาจนตอบคำถามให้ได้ก่อน ซึ่งตอนนี้เท่าที่รับรายงานจากปลัด ต้นทุนการปรับขึ้นยูโร 5 จะมีผลต่อราคาน้ำมันประมาณ 15 สตางค์ ถ้าผมพร้อมกระทรวงอื่นต้องพร้อมด้วย คมนาคมต้องไม่มีรถควันดำ