338 ปีที่ถูกลืม “วัดมหาธาตุฯ” พระอารามหลวงแห่งแรกกรุงรัตนโกสินทร์

วัดมหาธาตุ

นับเป็นข่าวดีในรอบ 338 ปี ที่คนไทยและนักเดินทางทั่วโลกจะรู้จัก “วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์” อย่างเข้าใจและลึกซึ้งมากขึ้น

เมื่อภาครัฐและเอกชน “กลุ่มจิตอาสา” ตั้งใจจะปลดล็อกให้วัดแห่งนี้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง หลังถูกลืมมานานนับร้อยปี ทั้งคนทั่วไปยังเข้าใจผิด คิดว่า “วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร” คือ วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร ย่านบางเขน หรือไม่ก็ วัดมหาธาตุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทั้ง ๆ ที่เป็นคนละวัด คนละทำเล เพียงมีชื่อคล้ายกัน และยังเข้าใจคลาดเคลื่อนอีกว่า “วัดมหาธาตุฯ” เป็นวัดปิด ซึ่งวัดนี้เป็นวัดเปิดเหมือนวัดทั่วไปปกติ

เดิมชื่อ “วัดสลัก” เปิดเส้นทางท่องเที่ยวสายบุญ

ล่าสุด คณะกรรมการจัดงานสมโภชพระอารามหลวง 338 ปี นำโดย “ฐนิวรรณ กุลมงคล” กรรมการอำนวยการฝ่ายฆราวาส และนายกสมาคมภัตตาคารไทย ได้จัดบิ๊กอีเวนต์เยือนวัดมหาธาตุฯ ก่อนงานสมโภช พระอาราม โดยเปิดเส้นทางท่องเที่ยวสายบุญ “ไหว้พระ-ขอพร รับปีใหม่ 2567” ชมสถาปัตยกรรม ศิลปะวัดดัง ยุคต้นรัตนโกสินทร์ เรียนรู้เรื่องราวในประวัติศาสตร์ และพระพุทธศาสนา

โดยมี อาจารย์นัท จุลภัสสร พนมวัน ณ อยุธยา เป็นวิทยากรเล่าให้ฟังว่า

วัดมหาธาตุฯ เดิมชื่อ “วัดสลัก” สันนิษฐานว่า วัดนี้แต่ก่อนมีพระภิกษุเป็นชาวฝีมือแกะสลักอยู่จำนวนมาก อาจเป็นเหตุให้ชาวบ้านเรียกชื่อวัดว่า “วัดสลัก”

เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชตั้งเมืองธนบุรีเป็นราชธานี สร้างพระนครทั้ง 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา วัดสลักอยู่ในพระนครฝั่งตะวันออก จึงทรงยกฐานะเป็นพระอารามหลวง เป็นที่สถิตของพระราชาคณะ

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจักรีบรมนารถ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดเกล้าฯ ย้ายพระนครมาฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา จึงทำให้มีวัดที่อยู่ใกล้ชิดพระราชวังที่สร้างขึ้นใหม่ 2 วัด คือ วัดโพธาราม และวัดสลัก

1.วัดโพธาราม อยู่ชิดกับพระบรมมหาราชวังข้างด้านใต้ รัชกาลที่ 1 ทรงสถาปนาวัดนี้และพระราชทานนามว่า “วัดพระเชตุพน”

2.วัดสลัก อยู่ข้างเหนือพระบรมมหาราชวัง แต่อยู่ชิดด้านใต้พระราชวังบวรฯ สมเด็จพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงสถาปนาวัดสลักและขนานนามใหม่ ชื่อว่า “วัดนิพพานาราม” “วัดพระศรีสรรเพชญ” “วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ” และในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้เพิ่มสร้อยนามของวัดเป็น “วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์”

ท่ามกลางแลนด์มาร์ก-แหล่งท่องเที่ยว

นอกจากนี้ วัดมหาธาตุฯ ซึ่งเป็นพระอารามหลวงแห่งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งอยู่ในทำเลที่เป็นไข่แดง ใจกลางแลนด์มาร์กและแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ อาทิ วัดพระแก้ว หรือ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร และ 3 วังถนนหน้าพระลาน คือวังท่าพระ (วังหน้าพระลานตะวันตก ปัจจุบันเป็นสถาบันการศึกษาด้านศิลปะ คือ มหาวิทยาลัยศิลปากร) วังกลาง และวังตะวันออก

รวมถึงโบราณสถานทุ่งพระสุเมรุ หรือ “ท้องสนามหลวง” อยู่ด้านหน้าวัดมหาธาตุฯ ระหว่างพระบรมมหาราชวังกับพระราชวังบวรสถานมงคล เขตพระนคร ด้วยเนื้อที่เฉียด 75 ไร่ที่กว้างใหญ่ ทำให้เป็นจุดนำสายตาให้วัดมหาธาตุฯ ดูโดดเด่นสง่างาม เคียงคู่กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และด้านหลังอยู่ใกล้ท่าเรือริมเจ้าพระยาคือ ท่าช้าง ท่ามหาราช และท่าพระจันทร์

ทั้งหมดคือแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณค่าและเชื่อมโยงประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมที่น่าศึกษา

ที่สำคัญ วัดนี้ยังเป็นศูนย์วิปัสสนากรรมฐานนานาชาติ สถานที่สัปปายะ สำหรับฆราวาสทุกเพศ วัย และเชื้อชาติ สามารถเข้าเรียนรู้และฝึกปฏิบัติธรรม โดยมีพระอาจารย์ พระวิปัสสนาจารย์ และแม่ชี เป็นผู้สอน

ไฮไลต์ 3 สถานที่สำคัญ

จากเส้นทางเข้าชม สถานที่สำคัญของวัดวังหน้า เริ่มจาก ประตูทางเข้า ฝั่งถนนพระจันทร์-สนามหลวง

จุดแรก พบกับ 3 สถานที่สำคัญ ได้แก่ ต้นพระศรีมหาโพธิ์ลังกา พระบวรราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท

“ต้นพระศรีมหาโพธิ์” หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “โพธิ์ลังกา” ที่เก่าแก่ที่สุด อายุประมาณ 205 ปี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้ส่งคณะพระสงฆ์สมณทูตไทยออกไปสืบพระศาสนาในลังกาทวีป เป็นเวลาประมาณ 5 ปี และในตอนกลับ ได้นำหน่อต้นพระศรีมหาโพธิ์ จากเมืองอนุราธบุรี ประเทศศรีลังกา มาปลูกในปี พ.ศ. 2361 นับเป็นครั้งแรกที่นำต้นพระศรีมหาโพธิ์จากศรีลังกา เข้ามาปลูกในกรุงรัตนโกสินทร์

“วิหารโพธิ์ลังกา” เป็นพระวิหารน้อย สร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 และเคยเป็นตำหนักที่ประทับเมื่อครั้งทรงพระผนวช

“พระบวรราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท” ปี 2521 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จมาวางศิลาฤกษ์ และทรงเททองหล่อพระบวรราชานุสาวรีย์ มีขนาดเท่าครึ่ง อยู่ในลักษณะประทับยืนบนเกย หันพระพักตร์ออกสู่สนามหลวง พระหัตถ์ทั้งสองยกพระแสงดาบเหนือพระอุระเพื่อจบถวายเป็นพุทธบูชา ภายในฐานบรรจุเนื้อดินซึ่งเก็บจากแผ่นดินที่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท เสด็จกรีธาทัพเข้ามาทั้งสิ้น 28 แห่ง

จุดที่สอง ตึกแดง หรือ “ตึกถาวรวัตถุ หอสมุดวชิราวุธ” ชมสถาปัตยกรรมสำคัญของอาคารก่ออิฐถือปูนสมัยรัชกาลที่ 5 กราบสักการะพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร และทรงเป็นมกุฎราชกุมารพระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งบริเวณด้านหลังเป็น อาคารเบญจมราชวรานุสรณ์ (สถานปฏิบัติธรรม ศูนย์วิปัสสนานานาชาติ) จัดสร้างในสมัยรัชกาลที่ 9

จุดที่สาม ศาสนสถานที่สำคัญ คือ เขตพุทธาวาสของวัด 3 แห่ง ได้แก่ พระมณฑปพระธาตุ พระอุโบสถ พระวิหาร

-พระมณฑปพระธาตุ เป็นสถาปัตยกรรมทรงไทย หลังคาลด 2 ชั้น ประดับช่อฟ้าใบระกา หน้าบันเป็นไม้แกะสลักปิดทองประดับกระจก ตรงกลางเป็นรูปพระลักษมณ์ทรงหนุมานยืนแท่น ซึ่งเป็นตราสัญลักษณ์ของกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ส่วนบนของพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ส่วนใต้ฐานพระเจดีย์ บรรจุพระบรมอัฐิของพระปฐมบรมมหาชนก (ต้นราชวงศ์จักรี)

-พระอุโบสถ เป็นพระอุโบสถใหญ่ที่สุดของกรุงรัตนโกสินทร์ ปูลาดด้วยศิลาอ่อน หน้าบันเป็นไม้แกะสลักปิดทองประดับกระจก ใบเสมาสลักเป็นภาพนารายณ์ทรงสุบรรณ อยู่ด้านในพระอุโบสถ ส่วนด้านนอกตามมุมทั้ง 4 สลักเป็นภาพครุฑยุดนาค ภายในมีพระประธาน เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย นามว่า “พระศรีสรรเพชญ์” และพระอรหันต์ 8 ทิศ ซึ่งพระอุโบสถของวัดแห่งนี้ถือเป็นพระอุโบสถที่เชื่อกันว่าใหญ่ที่สุดในประเทศ

-พระวิหาร กราบพระประธานพระพุทธเจ้า 5 พระองค์

หลวงพ่อหิน (พระพุทธรูปหินศิลาแลงเก่าแก่ที่สุด) หนึ่งในพระประธานในพระวิหาร เดิมเป็นพระประธาน ในอุโบสถวัดสลัก (ชื่อเดิมของวัดมหาธาตุฯ) สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ปัจจุบันมีอายุกว่า 338 ปี เมื่อครั้งตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ได้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่พระวิหารหลวงจนถึงปัจจุบัน

แผ่นศิลาจารึกดวงชะตา (พิชัยสงคราม) ซึ่งจารึกเป็นอักษรสมัยแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นหลักฐานสำคัญเก่าแก่ที่สุด ซึ่งมีหลักฐานปรากฏปีที่สร้าง พ.ศ. 2228 เป็นเครื่องแสดงว่า วัดมหาธาตุฯ มีอายุ 338 ปี แต่เดิมติดอยู่ที่ฐานพระประธาน ต่อมาได้ถูกอัญเชิญไปไว้ในสระทิพยนิภา เป็นเวลาประมาณ 33 ปี และนำมาเก็บไว้ในพระวิหารมาจนถึงปัจจุบัน

นอกจากนั้น ภายในพระวิหารยังมีพระแท่นบรรทมสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงนาท พิพิธภัณฑ์ โบราณวัตถุ คัมภีร์พระไตรปิฎกที่ได้ทำการสังคายนาในสมัยรัชกาลที่ 1 (พ.ศ. 2331) และผ้าห่อคัมภีร์ใบลานเก่าแก่ให้ชมอีกด้วย

เฉลิมฉลองงานสมโภช 7 วัน 7 คืน

และเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ทางวัดได้เตรียมสมโภชใหญ่ 338 ปี 7 วัน 7 คืน ระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2566-2 มกราคม 2567 เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสมหามงคลวันเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา ในปี 2567 และรำลึกถึงบูรพกษัตริย์และบูรพาจารย์ พร้อมถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า)
ภายใต้ความร่วมมือร่วมใจของกลุ่มจิตอาสา ซึ่งเป็นบุคคลในแวดวงนักธุรกิจและสังคม อาทิ กัณฑรัตน์ เจิมจิตรผ่อง อดีตรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานสื่อสารองค์กรและธุรกิจสัมพันธ์ บมจ.บัตรกรุงไทย หรือ KTC

อัยย์ วีรานุกูล ศิลปิน นักร้อง นักแต่งเพลง Producer & Creative รายการ ผู้เชี่ยวชาญการใช้เสียงร้องและพูดในที่สาธารณะ และผู้เชี่ยวชาญและสนใจด้านศิลปวัฒนธรรม ปริศนา รัตนเกื้อกูล อดีตคอลัมนิสต์ นิตยสารสกุลไทย นิศานาถ กาญจนวรรณ เจ้าของร้านกาแฟและต้นไม้เศรษฐีนำโชค ยูทูบเบอร์ คู่หูพาชิลล์ สราญภัทร หอมสุวรรณ อดีต พี.อาร์.ฟรีแลนซ์ทรูวิชั่น ปริศนา รัตนเกื้อกูล

ที่สำคัญ ยังมีซีอีโอหญิง มรกต ยิบอินซอย เป็นผู้อยู่เบื้องหลังและสนับสนุนกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ต่อพระอารามหลวงดังกล่าวมาโดยตลอด ล่าสุดได้จัดทำน้ำดื่มบริสุทธิ์ ประทับแบรนด์ “ยิบอินซอย” ให้กับผู้มาเยี่ยมชม เช่นเดียวกับผู้สนับสนุนหลัก ฐนิวรรณ กุลมงคล ผู้คุ้นเคยกับวัดมหาธาตุฯ ตราบเท่าอายุ 62 ปี โดยมีบ้านพักอาศัยคือ เลขที่ 1 ของถนนท่าพระจันทร์ ขณะที่วัดมหาธาตุฯ คือ สิ่งปลูกสร้างเลขที่ 2

ด้วยการบอกบุญร่วมบูรณปฏิสังขรณ์ ปรับภูมิทัศน์วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ให้งามสง่าสืบไป สั่งสมเสบียงบุญ เป็นซอฟต์พาวเวอร์ผ่านการท่องเที่ยวที่น่าประทับใจ