15 ปี TIJC เทศกาลดนตรีแจ๊ซนานาชาติ เสียงเพลงสู่สังคม

“เทศกาลดนตรีแจ๊ซนานาชาติ เพื่อการเรียนรู้” หรือ Thailand International Jazz Conference (TIJC) กำลังจะกลับมาอีกครั้ง เป็นสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมกราคมที่คอแจ๊ซเฝ้าคอยมาเจอกัน พูดคุย แลกเปลี่ยนมุมมอง พร้อมฟังคอนเสิร์ตแจ๊ซจากศิลปินทั้งไทยและระดับโลก นับเป็นเวลากว่า 15 ปีแล้วที่ TIJC มอบเสียงเพลงและการศึกษาด้านดนตรีแจ๊ซสู่สังคม พบกันวันที่ 26-28 มกราคม 2567 ณ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

“อาจารย์นพดล ถิรธราดล” รองคณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ Project Manager ของเทศกาลดนตรีแจ๊ซนานาชาติ เล่าให้ “ประชาชาติธุรกิจ” ฟังว่า TIJC เริ่มต้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2552 หรือกว่า 15 ปีมาแล้ว ก่อนหน้านั้นก็สอนและพัฒนาหลักสูตรวิชาดนตรีแจ๊ซกันมา จนรู้สึกว่าควรมีกิจกรรมอะไรบางอย่างออกสู่สังคม เป็นการทำลายกำแพง นำเสียงที่สร้างไปถึงผู้คน และเพิ่มโอกาสให้กับนักศึกษา

อาจารย์นพดล ถิรธราดล
อาจารย์นพดล ถิรธราดล

พ.ศ. 2551 จึงเริ่มทำกิจกรรมเล็ก ๆ ขึ้นในคณะ ตั้งชื่อว่า “มหิดล แจ๊ซ เฟสติวัล” เชิญมหาวิทยาลัยที่มีสาขาวิชาดนตรีแจ๊ซมาร่วมแสดงและพบปะกัน เมื่อทำแล้ว ทุกคนแฮปปี้กับสิ่งนี้มาก “รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข” คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ในขณะนั้น ก็เกิดความคิดว่าจะทำอย่างไรให้ใหญ่ขึ้น จึงได้ส่งคณะไปดูงานเกี่ยวกับการจัด “Jazz Education” ในต่างประเทศ คือ งาน “International Association for Jazz Education” (IAJE) ซึ่งเป็นการประชุมวิชาการดนตรีแจ๊ซที่ใหญ่สุดในโลก จัดที่นครนิวยอร์กในปีนั้น

เมื่อคณะดูงานพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นสเกลที่ใหญ่และมีกิจกรรมมากเกินไป ต่างประเทศจริงจังกับเรื่อง Education ชนิดที่คาดไม่ถึง ไทยเราไม่สามารถจัดงานขนาดนั้นได้ ถ้าก๊อบปี้ IAJE ไม่น่าไปรอด คงไม่มีคนสนใจแม้กระทั่งนักศึกษาหรือนักดนตรีเอง

TIJC รวมตัวคนดนตรีแจ๊ซ

แต่ในที่สุด วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ก็ประยุกต์ให้เกิดเป็นงาน TIJC ขึ้นครั้งแรกอย่างเต็มรูปแบบ จัดเป็นภาคเช้ากับภาคค่ำ มีเวิร์กช็อปโดยนักดนตรีเก่ง ๆ และอาจารย์ในช่วงกลางวัน ส่วนช่วงเย็นจัดเป็นแจ๊ซ เฟสติวัล ให้ผู้คนเลือกเข้าร่วมตามชอบใจ ปีแรก ๆ ที่จัด คนจะดูการแสดงตอนกลางคืนเป็นส่วนใหญ่ เวิร์กช็อปตอนกลางวันคนเข้าร่วมน้อยมาก ๆ

ผ่านไป 15 ปี วันนี้ถือว่ามาถูกทาง วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นสถาบันการศึกษา จึงมีพันธกิจต้อง “สร้างคน” บนความเชื่อที่ว่า “การศึกษาคือความยั่งยืนของคน” ไม่ใช่แค่มาดูความบันเทิงแล้วกลับบ้าน

ปีแรก ๆ คนมาเวิร์กช็อปหลักสิบ ทุกวันนี้ร่วม 300 คน นักดนตรีที่มาร่วมงานก็มากกว่า 800 คน ส่วนคนดูเมื่อก่อนเวทีใหญ่มีคนดู 200 คน ทุกวันนี้เกิน 1,000 คน ดังนั้น ทั้งคนดู ศิลปิน ที่มาอยู่บริเวณรอบ ๆ ตลอด 3 วันก็ทำให้เศรษฐกิจในพื้นที่ได้รับผลดีไปด้วย

ทุกวันนี้คนร่วมงานกระจายไปทุกช่วงอายุ ตั้งแต่เด็กถึงผู้สูงอายุ มีการจัดแจ๊ซแคมป์ตั้งแต่เดือนตุลาคม รับสมัครเด็กอายุ 7-15 ปี มีผู้เข้าร่วมกว่า 250 คน นอกจากนี้ก่อนจะมีงาน 3 วัน ยังมีเวิร์กช็อป เรียนกับศิลปินระดับโลก เหมือนจำลองห้องเรียนจากนิวยอร์กมาไว้ที่ไทย

สมัยก่อนคนที่เข้าร่วมงานจะเป็นนิสิต นักศึกษา และคนที่สนใจดนตรีแจ๊ซจริง ๆ แต่วันนี้หลากหลายมาก บางคนวางแผนไว้เลยว่าสัปดาห์สุดท้ายของมกราคมจะต้องมาที่นี่ เมื่อก่อนเป็นวัยหนุ่มสาวไปถึงวัยกลางคน ณ วันนี้ตั้งแต่ 7 ขวบไปจนถึงผู้สูงอายุที่มาร้องประสานเสียงอายุ 60-70 ปี ก็มี

ภายในงานมีเวทีวงรี และเวทีใหญ่ พัฒนาการของการแสดงน่าสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ ปีแรก ๆ มีวงมาแสดงที่เวทีวงรีวันละ 2 วง แต่ตอนนี้มีคนสนใจมากขนาดที่ต้องเปิดเป็นโอเพ่นสเตจ ให้คนที่อยากขึ้นแสดงส่งเดโมมาออดิชั่น กลายเป็นว่ามีคนส่งมาทั่วทุกภูมิภาคร่วม 50 วง ต้องเปิดเวทีเพิ่มให้ผู้ออดิชั่นไม่ผ่านสามารถมีพื้นที่แสดงออก

“เป็นอะไรที่รู้สึกดีมาก ๆ วันหนึ่งการศึกษาก็ขับเคลื่อนตัวเองไปได้ คนก็เริ่มเห็นคุณค่าของเรื่องพวกนี้ จากเมื่อก่อนที่คนยังไม่ค่อยเข้าใจ พอเราเปิดพื้นที่ เปิดบรรยากาศ สร้างสิ่งแวดล้อม และสังคมให้ดี ในที่สุดคนก็มารวมกัน เป็นงานชุมนุม งานรวมญาติในรอบปีของนักดนตรีแจ๊ซ เราต้องการให้งานนี้เป็นศูนย์กลาง เป็นที่พึ่ง ที่แลกเปลี่ยน ที่แสดงออก เป็นบ้าน ให้คนที่มาเป็นส่วนหนึ่ง ตั้งวันจัดงานเป็นสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมกราคม ให้คนมีหลักในการจำ”

ฉลองยิ่งใหญ่ ครบรอบ 15 ปี

TIJC 2024 จึงเป็นการฉลองครบรอบ 15 ปีอย่างยิ่งใหญ่ มีวงต่างชาติเข้าร่วมมากที่สุดตั้งแต่เคยจัดมา มีวงไฮไลต์ที่เป็นตัวเด่นของนักดนตรีแจ๊ซ 3 วง วงนานาชาติจากยุโรป 5 วง สิงคโปร์ 2 วง และเป็นปีแรกที่มีไต้หวันมาร่วม 2 วง ถือเป็นก้าวสำคัญ เพราะเมื่อก่อนวงระดับโลกไม่เคยมา แต่เนื่องจาก TIJC เป็นที่รู้จักและน่าเชื่อถือมากขึ้น

ไฮไลต์พิเศษของปีนี้ แม้ในต่างประเทศก็หาดูได้ยาก คือ การแสดงวงออร์เคสตรา โดย “Thailand Philharmonic Orchestra” (TPO) บรรเลงร่วมกับวงดนตรีแจ๊ซ “The Pomelo Town” นำเสนออัตลักษณ์ในแบบที่ยังไม่เคยมีใครทำ แต่ง และเรียบเรียงเสียงประสานโดยคนไทยทั้งหมด อาทิ การนำบทสวดมานำเสนอในรูปแบบ Jazz Orchestra เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีการแสดงบนเวทีที่นักดนตรีแจ๊ซไทยและต่างประเทศผลัดเปลี่ยนโชว์ฝีมือทุกคืน ประกอบด้วย เวที Main Stage, เวทีวงรี (Ovel Stage) ที่เปิดโอกาสให้นักดนตรีแจ๊ซทั่วประเทศมาปล่อยของ และเวที Cat Stage ที่เปิดโอกาสให้นักดนตรีที่มาร่วมงานได้แสดงและลุ้นเล่นกับศิลปินระดับโลก

พบกันที่งาน “เทศกาลดนตรีแจ๊ซนานาชาติ เพื่อการเรียนรู้” (TIJC) ซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้งระหว่างวันที่ 26-28 มกราคม 2567 ณ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีรถรับ-ส่ง “Salaya Link” (ศาลายาลิงก์) จากสถานีรถไฟฟ้าบางหว้า

TIJC อัตลักษณ์ความยั่งยืน เป้าหมายสำคัญ

อาจารย์นพดลกล่าวว่า ตั้งแต่ พ.ศ. 2552 เป้าหมายของงานมีเรื่องเดียว คือ “การพัฒนาการศึกษาเพื่อสังคมที่ยั่งยืน” TIJC เป็นการเอาสังคมแจ๊ซ และความเป็นแจ๊ซระดับโลกมาที่นี่ เป็นการพัฒนาเรื่องคอนเทนต์ความยั่งยืนให้กับคน ทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกันในการเรียนรู้

สำหรับการจัดงาน 15 ปีที่ผ่านมา สังคมแจ๊ซก้าวกระโดดมาก จากนักดนตรีแจ๊ซคนไทยต้องก๊อบปี้ชาวต่างชาติอย่างเดียว แต่วันนี้วงแจ๊ซของไทยแต่งเพลงเองแทบทุกวง มีนักดนตรีมีฝือมือเยอะมาก ในขณะที่เมื่อก่อนคนเก่ง ๆ แทบนับจำนวนได้

เช่น วง “Thailand Philharmonic Orchestra” ออร์เคสตราของมหิดล ซึ่งปีนี้จะบรรเลงร่วมกับดนตรีแจ๊ซ เป็นไฮไลต์ที่ต้องนึกถึงความเป็นตัวเอง คนไทยแต่งเพลงเอง พยายามสร้างผลงานของตัวเอง เป็นจุดที่ต้องเสนออัตลักษณ์ ต้องย้อนไปดูว่าเมื่ออยู่ในสังคม อะไรคือสิ่งที่เป็นเรา

เมื่อก่อนเคยคิดว่า TIJC จะสร้างนักดนตรีระดับโลกได้ แต่ตอนนี้ไม่ได้คิดแบบนั้นแล้ว ไม่สนว่าจะมีนักดนตรีระดับโลกหรือไม่ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นแน่ ๆ ในสังคมไทย คือ TIJC ทำให้คนไทยรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของพลเมืองโลก มีนักดนตรีต่างชาติหลั่งไหลเข้ามา สาขาดนตรีแจ๊ซตอนนี้ก็มีเด็กต่างชาติมาเรียนมากขึ้นเรื่อย ๆ “เรากำลังเป็นส่วนหนึ่งของโลกใบนี้”

ประเทศที่เจริญแล้วจะมีดนตรีหรือศิลปะที่เข้มข้นมาก ๆ อย่างเกาหลีที่เห็นว่ามี “BLACKPINK” ไม่ได้แปลว่ามีแค่นั้น สิ่งที่อยู่ข้างหลังคือดนตรีแบบซีเรียส คนเกาหลีทำมาหากินกับการร้องโอเปร่า มีวงออร์เคสตราขนาดใหญ่อยู่แทบทุกหัวเมือง ไทยต้องทำให้ครบทุกส่วน ไม่ใช่เอาแค่ฉาบฉวย สุดท้ายก็จะไม่ยั่งยืน อยู่ในสังคมได้ไม่ยาวนาน

หากพูดถึงแจ๊ซ เฟสติวัล ญี่ปุ่นและไต้หวันจัดใหญ่มโหฬาร คนเสพศิลปะค่อนข้างจริงจังไปร่วมงานเยอะมาก แต่ถ้างานแจ๊ซเพื่อการเรียนรู้ ไทยใหญ่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยิ่งเป็น แจ๊ซ เฟสติวัล ควบคู่กับการเรียนรู้ยิ่งไม่ค่อยมีใครทำ

“นี่คือช่วงเวลาประวัติศาสตร์ที่เราได้ทำสิ่งเหล่านี้ แม้ไม่รู้ว่าในอนาคตจะมีคนทำต่อหรือไม่ แต่จะมีคนนึกถึงวันนี้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาสำคัญที่คนแจ๊ซมาร่วมกันทำ ดนตรีแจ๊ซทำให้เรามาพบกัน”