Social Bullying ปัญหาสังคม คล้ายจะตลก แต่ไม่ตลก

การ บูลลี่ คืออะไร
พิราภรณ์ วิทูรัตน์ : เรื่อง

ในสังคมไทยสิ่งหนึ่งที่เรามักกระทำจนเป็นนิสัยโดยไม่รู้ตัวก็คือ การพูดล้อเล่น ล้อเลียน หลายครั้งการพูดล้อเล่นในหมู่เพื่อนได้สร้างเสียงหัวเราะความสนุกสนานให้ทั้งฝ่ายล้อและฝ่ายถูกล้อ เพราะต่างรู้กันว่า สิ่งที่ผู้พูดพูดนั้นเป็นเพียงคำพูดหยิกแกมหยอก แต่ก็มีหลายครั้งเช่นเดียวกันที่คำพูดเหล่านั้นไม่ใช่แค่การล้อเล่นที่ทำให้อีกฝ่ายยิ้มรับ แต่เป็นการกลั่นแกล้งที่สร้างแผลให้กับฝ่ายที่ถูกล้อจนเกิดเป็นปมภายในใจ หรือที่เรียกว่า “bully”

หลายคนป่วยเป็นโรคซึมเศร้าเพราะถูกล้อเลียนจากรูปร่างหน้าตาไปจนถึงเรื่องเพศ นานวันเข้าสิ่งเหล่านี้ขยายวงกว้างไปตามยุคสมัย กลายเป็นการล้อเล่น-ล้อเลียน กลั่นแกล้ง ทำร้ายกันผ่านโซเชียลมีเดีย หรือที่เรียกว่า ไซเบอร์ บูลลีอิง (cyber bullying) ซึ่งหลีกหนียากยิ่งกว่าการกลั่นแกล้งกันต่อหน้า เพราะการบูลลี่ต่อหน้า เมื่อหลบเลี่ยง หรือไม่ได้อยู่ในสถานที่หรือสถานการณ์ที่เจอหน้ากัน ก็จะไม่เกิดการบูลลี่ขึ้น อย่างเช่น ช่วงปิดเทอม เด็กอยู่บ้าน ไม่ได้เจอเพื่อนที่โรงเรียน การบูลลี่ก็ไม่เกิด แต่ในยุคปัจจุบันเมื่อมีโซเชียลมีเดียที่เชื่อมโยงกันได้ทั่วโลก คนเราจึงสามารถกลั่นแกล้ง-โดนกลั่นแกล้ง ได้ทุกที่ ทุกเวลา

แม้จะไม่ใช่การสาดคำด่าทอกันซึ่งหน้า แต่เจ้าไซเบอร์ บูลลีอิง กลับสร้างหายนะให้กับผู้ถูกบูลลี่ได้มหาศาล อย่างกรณีข่าวมิ้ง-กัปตัน ในช่วงแรกนักแสดงหนุ่มถูกเข้าไปรุมด่าทอด้วยคำพูดรุนแรง (hate speech) หลายคนนำรูปของกัปตันไปตัดต่อล้อเลียนต่าง ๆ นานา จนเจ้าตัวต้องหายไปจากโซเชียลมีเดียระยะหนึ่ง แต่เมื่อความจริงปรากฏ เหล่าชาวเน็ตนักเลงคีย์บอร์ดก็หายตัวไปแบบไร้ร่องรอย ไม่มีแม้แต่คำขอโทษให้กับนักแสดงหนุ่มแต่อย่างใด

บูลลี่เพราะขาด “เซลฟ์”

พฤติกรรมการกลั่นแกล้งหรือการบูลลี่ผู้อื่น มักเริ่มขึ้นตั้งแต่วัยเด็ก โดยเกิดขึ้นที่โรงเรียนเป็นส่วนมาก ส่วนเหตุผล ที่มา สาเหตุของการบูลลี่ผู้อื่นเกิดจากอะไร ? ผศ.ดร.วิมลทิพย์ มุสิกพันธ์ นักวิชาการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายในงานเสวนาเกี่ยวกับการบูลลี่ ณ มิวเซียมสยาม ว่า เด็กที่มีพฤติกรรมชอบแกล้งคนอื่นมีอยู่หลายประเภท หลายคนรู้สึกว่าการแกล้งคนอื่นทำให้ตัวเองมีอำนาจเหนือกว่า หลายคนทำเพราะต้องการปกปิดความอ่อนแอภายในใจ แต่สิ่งที่น่ากลัวที่สุด คือ ทำเพราะคิดว่าเป็นเรื่องปกติ และทำเพราะตัวเองขาด

สิ่งที่เด็กไทยขาด คือ เซลฟ์ (self) หรือความมั่นใจ เด็กที่มีนิสัยชอบบูลลี่คนอื่นถูกลดทอนเซลฟ์ไปจากสถาบันสำคัญสองแห่ง ได้แก่ สถาบันครอบครัว และสถาบันการศึกษา ครอบครัวคือสถาบัน

แรกสุดที่คอยอบรมและขัดเกลาเด็กคนหนึ่ง รายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่หลายคนมองข้าม อาจทำให้เซลฟ์ในตัวเด็กลดลงเรื่อย ๆ อย่างการกอด การอุ้ม หรือคำชมเชย ซึ่งเด็กบางคนไม่เคยได้รับสิ่งเหล่านี้ ยกตัวอย่าง เด็กที่เรียนไม่เก่ง เมื่อผลการเรียนไม่ดี หากพ่อแม่พูดกับลูกว่า “ไม่เป็นไร เอาใหม่” เด็กจะรู้สึกรักตัวเอง มากกว่าการที่พ่อแม่ด่าทอ เพราะเขาจะจดจำคำพูดและรายละเอียดเหล่านี้เข้าสู่คลังในสมอง ฉะนั้น เด็กคนหนึ่งจะเป็นอย่างไร ครอบครัวมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการเพิ่ม-ลดเซลฟ์ของเด็ก

ส่วนสถาบันการศึกษาได้สลายเซลฟ์ของเด็กไปตั้งแต่ก้าวเท้าเข้าสู่รั้วโรงเรียน ด้วยระบบการศึกษาไทยที่วางอยู่บนพื้นฐานของความเหมือนกัน

โรงเรียนไทยมีความพยายามทำให้คนที่มีความแตกต่างหลากหลาย รวมเป็นหนึ่งเข้าสู่ศูนย์กลาง ทั้งวิธีการประเมินวัดผลเด็กด้วยบรรทัดฐานเดียวกัน ไปจนถึงการแต่งกายและทรงผม ซึ่งความจริงแล้ว พื้นที่บนเนื้อตัวร่างกายเป็นพื้นที่ส่วนบุคคล

เมื่อใดก็ตามที่เด็กออกจากบ้านด้วยเสื้อผ้าหน้าผมที่ไม่ได้เลือกเอง สิ่งเหล่านี้จะค่อย ๆ กัดกร่อนความมั่นใจของเด็กไปเรื่อย ๆ นี่คือพื้นฐานที่ทุกคนควรได้รับการยอมรับ

“กระทั่งแผนการเรียนในโรงเรียนที่เข้าไปจำกัดขีดความสามารถของเด็ก หลายคนเก่งในเรื่องที่ไม่ใช่วิชาการ หลายคนเก่งในวิชาที่ไม่มีบรรจุเป็นแผนการเรียน ทำให้เด็กคิดว่าตัวเองเป็นคนไม่เก่ง ไม่มีความสามารถ เมื่อไม่รู้ว่าตัวเองถนัดอะไร การตระหนักถึงคุณค่าในตัวเองจึงแทบไม่มี ซึ่งเรื่องนี้ส่งผลไปถึงการสร้างความเคารพ (respect) ทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น ทั้งหมดล้วนผลักให้เด็กกลายเป็นคนที่ไม่มีความมั่นใจ และไม่มีความเคารพต่อตนเอง รวมถึงต่อผู้อื่นด้วย”

แก้บูลลี่ได้ผลชะงัด แก้ที่ตัว “เหยื่อ”

แนวทางแก้ปัญหาการรังแก การกลั่นแกล้งกัน ในเบื้องต้น ผศ.ดร.วิมลทิพย์ได้เสนอโมเดลการแก้ปัญหาของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นหนึ่งประเทศที่ประสบปัญหาการกลั่นแกล้งในโรงเรียน จนเกิดการฆ่าตัวตายอยู่บ่อยครั้ง

ผศ.ดร.วิมลทิพย์ให้ข้อมูลว่า ญี่ปุ่นค้นพบวิธีการที่เรียกว่า “Victim is not a Victim” คือ ต้องทำให้เหยื่อหรือคนที่ถูกบูลลี่แข็งแกร่งพอที่จะผ่านเรื่องเหล่านี้ไปได้ และในวันข้างหน้าเมื่อโลกเปลี่ยนไป

ปัญหาไซเบอร์บูลลีอิงอาจจะหายไป และมีความรุนแรงอื่น ๆ เข้ามาแทนที่ แต่ถ้าคนแข็งแกร่งพอ ไม่ว่าจะมีปัญหาอะไรเข้ามา ก็ไม่สามารถทำอะไรเขาได้ ซึ่งแนวทางนี้ใช้ได้ทั้งเก็บเด็กและวัยผู้ใหญ่ เพราะในวัยผู้ใหญ่ ในสังคมการทำงาน ก็มีการบูลลี่เช่นกัน

“เหยื่อหรือคนที่ถูกแกล้งต้องสร้างตัวเราให้แข็งแกร่งพอที่จะรับเรื่องพวกนี้ให้ได้ เมื่อโตขึ้นในวัยผู้ใหญ่ ที่ทำงานก็มีการกลั่นแกล้งเกิดขึ้นอีก ฉะนั้น สิ่งที่ต้องหันกลับมามองที่ตัวเราเอง โดยธรรมชาติเวลาเราแกล้งใครสักคน เราก็หวังจะให้คนที่ถูกแกล้งรู้สึกเจ็บปวด แต่ถ้าคนที่ถูกแกล้งไม่รู้สึกอะไร เขาก็จะเลิกแกล้งไปเอง ต่อไปข้างหน้าจะมีปัญหาอีกมากตามความซับซ้อนของโลก ถ้าคนแข็งแกร่งแล้ว เรื่องนี้ผ่านไปช่างมัน เรื่องใหม่มา ฉันอยู่ได้”

วิธีแก้เผ็ด-หักดิบคนชอบกลั่นแกล้ง

สำหรับการแก้นิสัย แก้พฤติกรรมของคนที่เป็นฝ่ายบูลลี่คนอื่น ผศ.ดร.วิมลทิพย์ยกตัวอย่างการแก้ปัญหาในประเทศเกาหลี ซึ่งเป็นวิธีการที่อาจจะฟังดูรุนแรงไปหน่อย แต่จากสถิติแล้วได้ผลเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยในโรงเรียนที่เกาหลี หากมีเด็กที่มีนิสัยชอบกลั่นแกล้ง หรือด่าทอเหยียดหยามคนอื่น คณะครูจะใช้กลยุทธ์ที่เรียกว่า “โรลเพลย์” คือ การวางแผนพร้อมกับเด็กในห้อง และผู้ปกครองของเด็กที่มีปัญหาว่า จะทำการแสดงท่าทีลักษณะเดียวกันกับที่เขาทำกับเพื่อนคนอื่น ผลปรากฏว่า เด็กที่ชอบบูลลี่คนอื่นสำนึกเมื่อโดนกับตัวเอง และบอกกับครูและเพื่อนว่า จะไม่ทำอีก

“วิธีการแบบนี้อาจจะไม่เหมาะกับสังคมไทยนัก ด้วยความละเอียดอ่อนทางวัฒนธรรม และความเป็นสังคมอุดมดราม่าของบ้านเรา ไอเดียดังกล่าวจึงอาจจะเป็นดาบสองคมได้ เกาหลีเองก็ไม่ได้ใช้วิธีการนี้กับเด็กทุกคน เพราะต้องมีการพิจารณากันไปเป็นกรณีตามความหนักเบาของพฤติกรรม และอุปนิสัยของตัวเด็กเองด้วย”

ป้องกันนิสัยบูลลี่ผู้อื่น

ส่วนคนที่เป็นฝ่ายบูลลี่คนอื่น ถ้าตระหนักได้ว่าพฤติกรรมของตัวเองนั้นเป็นสิ่งไม่ดี อยากจะแก้ไข แต่ติดปัญหาว่า เคยชินกับพฤติกรรมนี้ จนบางครั้งทำไปโดยไม่รู้ตัว จะแก้ไขปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองอย่างไร รวมถึงคนที่ยังไม่ได้ทำพฤติกรรมนี้ แต่อยากจะป้องกันไม่ให้ตัวเองเกิดนิสัยนี้ หรือป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำที่ทำไปโดยไม่รู้ตัว


จะป้องกันอย่างไร อาจารย์บอกหลักการง่าย ๆ ว่า ให้เอาใจเขามาใส่ใจเรา ให้ลองคิดกลับกันว่า หากเราโดนคำพูดหรือการกระทำแย่ ๆอย่างที่เราทำกับคนอื่น เราจะรู้สึกอย่างไร คือ ให้พึงระลึกไว้เสมอว่า สิ่งที่ตัวเราไม่ชอบ ก็อย่าไปทำสิ่งนั้นกับคนอื่น