นับถอยหลัง…อำลา ดุสิตธานี ปิดวันนี้เพื่ออนาคตระดับโลก

 รุ่งนภา พิมมะศรี : เรื่อง-ภาพ / ธนศักดิ์ ธรรมบุตร : ภาพ

อีกราว 10 วันนิด ๆ โรงแรมดุสิตธานีจะปิดให้บริการในวันที่ 5 มกราคม 2562 หลังจากเปิดให้บริการสร้างความประทับใจให้ผู้ใช้บริการมานาน 48 ปี ก่อนที่พื้นที่จะถูกกั้นรั้วบดบังสายตา และเคลียร์พื้นที่ให้เป็นพื้นดินว่างเปล่า …แล้วขุดเจาะตอกเสาเข็มสร้างอาคารใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม เราจะพาไปย้อนอดีต เก็บความทรงจำ ทำความรู้จัก ทำความเข้าใจ โรงแรมดุสิตธานี ทั้งความเป็นมาจากอดีตถึงปัจจุบัน และความเป็นไปของดุสิตธานีในอนาคต

ความเป็นมาโรงแรมห้าดาวยอดนิยม

ความเป็นมาของโรงแรมดุสิตธานีฉบับย่อมีอยู่ว่า ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย เปิดโรงแรมปริ๊นเซส ที่ถนนเจริญกรุง ในปี พ.ศ. 2492 แต่โรงแรมปริ๊นเซสมีข้อจำกัดด้านสาธารณูปโภค เนื่องจากตั้งอยู่ในย่านเมืองเก่า แม้จะปรับปรุงซ่อมแซมอยู่เสมอก็ยังเกิดปัญหากวนใจบ่อยครั้ง ท่านผู้หญิงต้องการให้โรงแรมสมบูรณ์แบบที่สุด จึงหาที่สร้างโรงแรมใหม่ โดยเลือกบริเวณหัวถนนสีลม ตรงข้ามกับสวนลุมพินี ซึ่งอยู่ในความควบคุมดูแลของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

เมื่อเจรจาขอเช่าที่จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์แล้ว จึงจัดตั้งบริษัทด้วยทุนจดทะเบียน 40 ล้านบาท ตั้งชื่อว่า “ดุสิตธานี” ซึ่งท่านผู้หญิงชนัตถ์นึกคำนี้ขึ้นมาได้ในระหว่างสักการะพระบรมรูปรัชกาลที่ 6 ที่ลานหน้าสวนลุมพินี

การก่อสร้างโรงแรม เริ่มลงเสาเข็มเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2510 และเปิดบริการวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2513 โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 7 เสด็จทรงเปิด

 

ความแตกต่าง-ความเป็นที่สุดของดุสิตธานี

ความแตกต่างของโรงแรมดุสิตธานี คือ เชื่อมั่นนำเสนอความเป็นไทยในยุคสมัยที่สังคมไทยนิยมความทันสมัยแบบตะวันตก เริ่มตั้งแต่เรื่องชื่อโรงแรมที่ใช้ชื่อไทย ซึ่งในตอนนั้นโดนคัดค้านและได้รับคำปรามาสบ่อยครั้ง แต่ด้วยความเชื่อมั่นในคุณค่าและเสน่ห์ของความเป็นไทย จึงเดินหน้าใช้ชื่อ “ดุสิตธานี” ซึ่งเป็นที่จดจำมาจนถึงปัจจุบัน

นอกจากชื่อแล้ว อาคาร การตกแต่ง การบริการ และทุกรายละเอียดในโรงแรมได้นำเสนอความเป็นไทย เห็นได้ทั้งภายนอกและภายใน อย่างเช่น เปลือกอาคารยอดแหลมเหมือนกลีบดอกบัว การตกแต่งในห้องพัก และห้องอาหารเบญจรงค์ (เดิมชื่อห้องสุโขทัย) ซึ่งท่านผู้หญิงตั้งใจว่า ห้องอาหารหลักของโรงแรมต้องเป็นห้องอาหารไทยที่ใช้ชื่อไทย แทนที่จะเป็นห้องอาหารตะวันตกที่แขกชาวตะวันตกคุ้นเคย

อีกหนึ่งความแตกต่างที่จนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังไม่มีที่ไหนเหมือนก็คือ รูปทรงตึกที่เป็นทรงสามเหลี่ยมและมียอดแหลมคล้ายเจดีย์สีทอง อันเป็นเอกลักษณ์ที่เห็นโดดเด่นมาแต่ไกล

ส่วนความเป็นที่สุดของดุสิตธานีก็มีหลายด้าน ตั้งแต่ความเป็นที่สุดในเรื่องความสูงของตึก ซึ่ง ณ เวลาที่เปิดให้บริการนั้น โรงแรมดุสิตธานีเป็นตึกที่สูงที่สุดในประเทศไทย เป็นโรงแรมที่ห้องพักกว้างที่สุด หรูที่สุดมีห้องจัดงานที่ใหญ่ที่สุด นั่นก็คือห้องนภาลัย บอลรูม ที่ยังคงได้รับความนิยมในการจัดงานมาจนถึงปัจจุบัน

ต้อนรับบุคคลสำคัญระดับโลก

ตลอดเวลา 48 ปีที่เปิดให้บริการ โรงแรมดุสิตธานีได้ต้อนรับบุคคลสำคัญและคนดังมาแล้วแทบทุกวงการ ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 สมเด็จพระนางเจ้าฯ ในรัชกาลที่ 9 และพระบรมวงศานุวงศ์ไทยพระราชอาคันตุกะ ผู้นำประเทศ แขกของรัฐบาล ศิลปิน คนดัง ดารา นักกีฬา อย่างเช่น พระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 และเจ้าชายเฮนริก แห่งประเทศเดนมาร์ก, เวิน เจียเป่า ขณะเป็นนายกรัฐมนตรีประเทศจีน, เจ้าชายมาซาฮิโตะ และเจ้าหญิงฮานาโกะของประเทศญี่ปุ่น, ประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ของสหรัฐอเมริกา, นายกรัฐมนตรีมาร์กาเรต แทตเชอร์ของอังกฤษ, องค์ดาไลลามะ, คลิฟฟ์ ริชาร์ด, วิตนีย์ ฮุสตัน, เฉินหลง, ทีน่า เทอร์เนอร์, สตีวี่ วันเดอร์, วงโคลด์เพลย์ ฯลฯ

นอกจากนั้นยังถูกเลือกเป็นสถานที่จัดงานสำคัญ ๆ มาแล้วมากมาย ซึ่งงานใหญ่งานสุดท้ายที่ดุสิตธานีได้มีโอกาสต้อนรับก็คือ เป็นสถานที่พักและจัดกิจกรรมการประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2018 ที่ผ่านมา

อนุรักษ์เอกลักษณ์ “ดุสิตธานี” ให้คงอยู่ในโรงแรมใหม่

แม้การทุบอาคารเดิมทิ้งจะเป็นเรื่องน่าเสียดายและใจหาย แต่ผู้บริหารบอกว่า จะพยายามเก็บอนุรักษ์ของเดิมเอาไว้ให้มากที่สุด โดยได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยศิลปากรเข้ามาช่วยเรื่องการอนุรักษ์ ซึ่งทีมผู้บริหารทุ่มเต็มที่ไม่มีลิมิตงบประมาณการอนุรักษ์ “ถ้าต้องใช้เท่าไหร่ก็เท่านั้น” ศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) บอก

ส่วนสำคัญที่จะอนุรักษ์ไว้ คือ 1.ห้องอาหารเบญจรงค์ ส่วนสำคัญคือเสากลม 2 ต้น น้ำหนักต้นละ 5 ตัน ซึ่งหนึ่งในสองต้นนี้คือเสาเอกของโรงแรม บนเสามีภาพเขียนอันทรงคุณค่าผลงานอาจารย์ไพบูลย์ สุวรรณกูฏ ที่จะตัดเสาทั้ง 2 ต้นไปใส่ไว้ในโรงแรมใหม่ ฝ้าเพดานไม้สักแกะลาย ที่จะต้องถอดทั้งแผงไปวางบนเพดานห้องอาหารเบญจรงค์ในโรงแรมใหม่ และภาพเขียนบนผนังทางเดินเข้าห้องอาหารที่จะตัดไปทั้งผนังอีกเช่นกัน

ห้องอาหารเบญจรงค์ – เสาน้ำหนัก 5 ตันที่มีภาพจิตรกรรมผลงาน อ.ไพบูลย์ สุวรรณกูฏ
2.เปลือกอาคาร ซึ่งเป็นสัญลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของดุสิตธานี เป็นซุ้มสูงปลายยอดแหลม ประดับกระเบื้องโมเสกสีทองและเขียว ตรงกลางเป็นเหล็กดัดสีทองประดับลายประจำยาม ตรงส่วนนี้จะได้เห็นอยู่ตรงไหนสักที่ในโรงแรมใหม่
เปลือกอาคาร

3.ต้นไม้ใหญ่และต้นไม้สำคัญจะถูกนำไปอนุรักษ์ไว้ระหว่างก่อสร้าง และจะนำมาปลูกลงในพื้นที่อีกครั้งเมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ เบื้องต้นที่คัดเลือกแล้วประมาณ 25 ต้นที่จะต้องอนุรักษ์ ซึ่งหลายต้นเป็นต้นไม้ที่ท่านผู้หญิงและลูก ๆ ลงมือปลูกเอง

น้ำตกและต้นไม้ต้นสำคัญที่จะอนุรักษ์และปลูกในโรงแรมใหม่

ส่วนสำคัญที่ไม่สามารถนำของเก่าไปได้ จะก่อสร้างใหม่แต่อาจจะไม่ได้เหมือนเดิมร้อยเปอร์เซ็นต์ คือ น้ำตกในสวนตรงกลางโรงแรม, ยอดเจดีย์สีทองซึ่งจะทำเพิ่มเติมให้เป็นชั้นจุดชมวิวที่ขึ้นไปพักผ่อนหย่อนใจได้ มีร้านอาหารและแกลเลอรี่, ห้องไลบรารี่ 1918 เป็นหนึ่งห้องสำคัญที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากรัชกาลที่ 6 (ตัวเลข 1918 มาจากปีที่ทรงก่อตั้งเมืองดุสิตธานี) เป็นห้องจัดงานขนาดเล็กที่รวบรวมสิ่งของสำคัญไว้มากมาย อย่างเช่น ผ้าเช็ดหน้าพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ที่ถูกเก็บไว้ในตู้อย่างดี

ห้อง Library 1918

 

ความเป็นไป…ในอนาคต

หลังจากปิดให้บริการในวันที่ 5 มกราคม 2562 ตามการให้สัมภาษณ์ของ ศุภจี สุธรรมพันธุ์ บอกว่าจะใช้เวลาเคลียร์พื้นที่ 3 เดือน แล้วทุบรื้ออาคาร และเริ่มการก่อสร้าง คิดว่ารวมเวลาการรื้อและก่อสร้างใหม่ไม่น่าจะเกิน 3 ปีครึ่ง-4 ปี คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2565

โครงการใหม่ที่เป็นโครงการมิกซ์ยูส บนพื้นที่ 23 ไร่ (เดิมมี 18 ไร่ ซื้อเพิ่มมาได้ 5 ไร่) จะประกอบด้วย 4 ส่วน 1.โรงแรม 250 ห้อง สูง 39 ชั้น ไม่รวมชั้นรูปท็อปยอดสีทอง 2.อาคารสำนักงาน 3.เรสซิเดนซ์ 4.ศูนย์การค้า

การแบ่งสรรพื้นที่ จะทำเป็นโพเดียมส่วนกลางเต็มพื้นที่ มีชั้นใต้ดินเป็นที่จอดรถ2 ชั้น ศูนย์การค้าใต้ดิน 2 ชั้น ส่วนโพเดียมเหนือพื้นดินเป็นพื้นที่ไลฟ์สไตล์เหนือโพเดียมมีตึก 3 ตึก คือ ตึกโรงแรม ตึกสำนักงาน และตึกเรสซิเดนซ์

ทั้งหมดทั้งมวลการเปลี่ยนแปลงของโรงแรมดุสิตธานีในครั้งนี้ผู้บริหารบอกว่า ทำเพื่อเป้าหมายของท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย ผู้ก่อตั้งโรงแรมที่อยากให้ดุสิตธานีเป็นโรงแรมไทยที่แข่งขันกับคู่แข่งที่ดีที่สุดในระดับโลกได้ ซึ่งถ้าไม่เปลี่ยนก็คงไม่สามารถแข่งขันได้