สายสวรรค์ ขยันยิ่ง เล่าเบื้องหลังการบรรยายพระราชพิธี ต้องรู้ตอนไหนควร-ไม่ควรพูด

 รุ่งนภา พิมมะศรี : เรื่อง 

เมื่อไหร่ที่มีการถ่ายทอดสดพระราชพิธีต่าง ๆ รวมถึงพิธีการสำคัญระดับประเทศ เสียงบรรยายอันไพเราะอ่อนหวานกับจังหวะจะโคนที่สุภาพนุ่มนวลของสายสวรรค์ ขยันยิ่ง เป็นเสียงที่คนไทยจดจำได้มากกว่าใคร และเมื่อเข้าใกล้งานพระราชพิธีทีไร คนดูก็มักจะนึกถึงน้ำเสียงและชื่อ “สายสวรรค์” ขึ้นมาก่อนใครเสมอ

แม้ว่าความจริงในพระราชพิธีแต่ละครั้งใช้ผู้ประกาศหลายคน แต่เธอก็ยังเป็นคนที่คนดูนึกถึงมากที่สุด อาจจะด้วยน้ำเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ หรือด้วยความคุ้นชินที่ได้ยินได้ฟังกันมานับสิบกว่าปี จนเกิดภาพจำไปแล้วว่างานพระราชพิธีต้องเป็นเสียงของสายสวรรค์

ในฐานะที่เสียงของ หนิง-สายสวรรค์ ขยันยิ่ง เป็นหนึ่งในภาพจำที่อยู่คู่กับการถ่ายทอดสดงานพระราชพิธีมานาน “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” จึงอยากให้เธอเป็นตัวแทนผู้บรรยายเล่าเบื้องหลังการทำงานของผู้บรรยายและเบื้องหลังการถ่ายทอดสดให้คนไทยฟัง รวมถึงเล่าเบื้องหลังการทำงานส่วนตัวของเธอที่ทำให้เธอครองตำแหน่ง “มือหนึ่ง” ผู้บรรยายงานพระราชพิธีมานานสิบกว่าปี ซึ่งจากบทสัมภาษณ์นี้ผู้อ่านจะได้เห็นวิธีการหาข้อมูล การทำการบ้านด้วยความทุ่มเทและขยันยิ่ง เหมือนกับนามสกุลของเธอ

Q : ก่อนเข้าเรื่องการบรรยายงานพระราชพิธี ขอถามว่าคุณสมบัติพื้นฐานของผู้ประกาศข่าวที่ดีมีอะไรบ้าง

การเป็นผู้ประกาศต้องมี 2 ส่วน คือ หนึ่ง-ส่วนที่เป็นเชิงกายภาพ มันไม่ใช่แค่บุคลิกภาพ แต่ลักษณะทางกายภาพหมายถึง เสียง รูปร่าง หน้าตา อยู่ในวิสัยที่สามารถออกกล้องได้ สามารถพูด ใช้เสียงได้อย่างมีคุณภาพ สอง-เชิงคุณภาพ คือ การสื่อสาร บางคนเสียงดีแต่สื่อสารออกมายังไม่เหมาะจะเป็นผู้ประกาศ คนที่จะเป็นผู้ประกาศข่าวไม่ใช่คนพูดเก่ง พูดเรื่อยเปื่อย แต่ต้องมีหลักและสามารถสื่อสารข้อมูลได้ถูกต้อง ตรงเนื้อหาสาระ สามารถเรียบเรียงได้ จับใจความสำคัญได้ ย่อได้ ขยายได้ และทักษะการใช้ภาษาต้องครบถ้วนทั้งฟัง พูด อ่าน เขียน

นอกจากนั้นผู้ประกาศข่าวต้องเป็นหนึ่งในทีมข่าวด้วย ไม่อย่างนั้นก็จะเป็นแค่คนที่แต่งหน้าทำผมรออ่านข่าวอย่างเดียว ซึ่งค่านิยมอันนี้ปลูกฝังกันมานานแล้ว ค่านิยมของสถาบันข่าวมักจะใช้ผู้ประกาศข่าวที่รู้เรื่อง ถ้ามีความสามารถเพียงอ่านสคริปต์ได้ถูกต้อง เวลาสคริปต์ผิด คุณก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ไม่สามารถแก้บทที่ผิดเป็นถูกได้ ผู้ประกาศข่าวเป็นปลายทางการส่งสารออกไปสู่ผู้ชม

เพราะฉะนั้นคนที่อยู่ปลายทางสำคัญมาก ๆ ถ้าข่าวพิมพ์ผิด ข้อมูลผิด ผู้ประกาศข่าวต้องเป็นบรรณาธิการ หรือรีไรเตอร์ไปด้วย ต้องมีสมองคิดว่าอันนี้ผิด จะแก้ไขยังไงให้ทันท่วงที นี่คือสิ่งที่ไม่ง่าย แต่คนที่อยู่ในสายงานผู้ประกาศก็ชินกับการปฏิบัติตัวแบบนี้ ผู้ประกาศต้องพัฒนาตัวเองให้รู้รอบ รู้ให้ทั่ว การอ่านข่าวหรือการสัมภาษณ์ต้องอาศัยความรู้ทั้งนั้น รู้ที่จะคุยกับคนนี้เรื่องนี้ รู้ที่จะรายงานสิ่งนี้ออกไปสู่ผู้ชมอย่างไรให้ถูกต้อง ครบถ้วน และมีประโยชน์ในเวลาอันจำกัด

Q : คุณไม่ได้เรียนมาและไม่มีประสบการณ์มาก่อน มีการทำการบ้านพัฒนาตัวเองและเริ่มต้นทำข่าวอย่างไร

เริ่มทำข่าวด้วยการปฏิบัติจริง เนื่องจากที่ไอทีวีเป็นสถาบันข่าวที่ฝึกเราตั้งแต่แรก วิธีการฝึกของไอทีวีคือสั่งให้ไปทำเลย เขาให้เริ่มจากอะไรที่ถนัด เผอิญว่ารับราชการครูมาก่อน เรียนและสอนทางด้านนาฏศิลป์ไทย มีความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมก็เลยเริ่มจากทำข่าวการศึกษาและศิลปวัฒนธรรม แต่ว่าจะเอาข้อมูลที่หาได้มาทำเป็นข่าวยังไงก็ต้องเรียนรู้นับหนึ่งใหม่หมดเลย ฝึกไปทำไป

Q : แล้วเข้าใกล้การบรรยายงานพระราชพิธีได้อย่างไร ก่อนหน้านั้นได้อ่านข่าวพระราชสำนักหรือเปล่า

หนิงได้อ่านข่าวในพระราชสำนักช่วงหนึ่ง ไม่นาน เพราะว่าตอนนั้นไอทีวีให้คนที่ประกาศข่าวค่ำอ่านข่าวพระราชสำนักด้วย ไม่ได้แยกผู้ประกาศข่าวพระราชสำนักโดยเฉพาะ แต่ตอนหลังมีการแยกผู้ประกาศข่าวพระราชสำนัก เราก็เลือกน้องคนอื่นมาอ่าน แล้วตัวเองไปทำสิ่งที่ยากขึ้น คือบรรยายการถ่ายทอดสดพิธีการและพระราชพิธี การบรรยายพระราชพิธีเริ่มจากที่ไอทีวีเข้าไปร่วมในโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจฯ ซึ่งหลักการทำงานของโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจฯ คือ จะมีช่องที่เป็นเจ้าภาพถ่ายทอดหลักในแต่ละครั้ง และถ้าช่องไหนเป็นเจ้าภาพการถ่ายทอดสดก็จะต้องเป็นเจ้าภาพการบรรยายด้วย ในครั้งที่ไอทีวีเป็นเจ้าภาพ หนิงถูกเลือกให้บรรยาย พี่ ๆ ทีมงานผู้บริหารเขาไว้วางใจ คิดว่าเราคงทำได้ หนิงก็ไม่ปฏิเสธอยู่แล้ว คือส่วนตัวเป็นคนไม่ปฏิเสธที่จะเจออะไรใหม่ ๆ หรือสิ่งที่ท้าทาย

Q : งานพระราชพิธีงานแรกคืองานอะไร

งานแรก ๆ เป็นงานที่ไม่ซับซ้อนมากนัก เช่น งานจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล สักสองสามครั้งก็เข้าสู่งานที่เป็นพระราชพิธีจริง ๆ ครั้งแรกในชีวิตก็คือ พระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติฯ (ขณะนั้นเป็นพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าฯ) ซึ่งไม่รู้เรื่องเลย ข้อมูลที่ได้มาเราได้แค่หมายกำหนดการ เราก็มาดูว่าในกำหนดการมีขั้นตอนอะไรบ้าง ต้องหาข้อมูลเท่าที่พอจะหาได้แล้วก็บรรยายอย่างระมัดระวัง อะไรไม่รู้ก็ต้องไม่พูด อันไหนที่มีข้อมูลในจังหวะที่เหมาะสมก็ค่อยบรรยาย ก็เอาตัวรอดได้สำหรับงานแรก

ตั้งแต่นั้นมาก็รู้สึกว่าเหมือนโชคชะตาที่เราจะต้องรับผิดชอบการบรรยายงานพระราชพิธี เราก็เริ่มเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ ทุกงานต้องเรียนรู้ตลอด เพราะเป็นเรื่องใหม่ เป็นเรื่องที่ไม่ได้ใช้ในชีวิตประจำวัน เราไม่ได้เห็นสิ่งเหล่านี้ เราไม่ได้คลุกคลีอยู่ในโลกของราชสำนัก เราก็หาข้อมูลให้มากที่สุดเท่าที่จะหาได้ หาข้อมูลที่จำเป็นและเหมาะสม แล้วถ่ายทอดออกมาให้คนดูเข้าใจต้องรู้ว่าแค่ไหน ไม่มากไป ไม่น้อยไป ไม่ก้าวล่วงเรื่องที่ไม่ควรพูด

การบรรยายไม่ได้แปลว่ามีข้อมูลมากมาย รู้ไปหมด เราต้องเบรกตัวเองเป็น ว่าอันนี้ควรพูด อันไหนไม่ควรพูด ต้องอธิบายให้คนเข้าใจว่าเป็นขั้นตอนอะไร มีความหมายความสำคัญยังไง แล้วปล่อยให้คนดูได้ดื่มด่ำไปเอง ให้คนดูตีความบ้าง ให้คนดูซึมซับบรรยากาศ เสียงปี่พาทย์ หรือว่าพระสุรเสียง หรือเจ้านายทรงมีพระราชปฏิสันถาร เวลาได้ยินพระสุรเสียงเบา ๆ เราก็ชื่นใจ พอมีเสียงบรรยายทับขึ้นมาคนดูก็จะหงุดหงิด เราก็ค่อย ๆ เรียนรู้ว่าเราควรจะเงียบหรือควรจะบรรยาย เราต้องอ่านใจคนดูด้วย หลักการคือถ้าเป็นเรา เราอยากฟังไหม เราอยู่หน้ามอนิเตอร์ดูจากจอเหมือนคนดู เพราะฉะนั้นใจมันเหมือนกันเลย เราก็อยากรู้ว่าเขากำลังทำอะไร หมายความว่าอะไร เราทำงานด้วยหัวใจ คอยประเมินสถานการณ์ไปด้วย และคอยดูแลไม่ให้เกิดเดดแอร์ พอทำหลายงานขึ้นมันก็ได้เรียนรู้และแก้ไขจุดอ่อนหรือข้อผิดพลาดได้รวดเร็วมากขึ้น และเก็บรายละเอียดได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งต้องใช้เวลาตลอดชีวิตเลยแหละ เพราะทุกงานต้องเรียนรู้ใหม่เสมอ

Q : ขั้นตอนเบื้องหลังการทำงานเป็นอย่างไรบ้าง

ในยุคหลัง ตั้งแต่งานพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ 9 ในส่วนการถ่ายทอดสด โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจก็เตรียมงาน ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องประชุมร่วมกัน วางแผนร่วมกันตั้งแต่ต้น เช่น พระราชพิธีมีวันไหนถึงวันไหน การถ่ายทอดจะเป็นอย่างไร แล้วถึงจะมาซอยลงหน้าที่ย่อย ๆ ส่วนผู้ประกาศเริ่มจากรับทราบหมายกำหนดการโดยรวม อาจจะมีการอบรม มีการแจ้งให้ทราบ ส่งเอกสารทางไลน์ให้ทำการบ้านก่อน หลังจากนั้นเราต้องตามรายละเอียดทั้งหมดเอง พอเราเห็นกรอบแล้ว เราต้องดูว่าวันนั้นทำอะไร และอะไรจะเป็นองค์ประกอบพระราชพิธีในวันนั้น อะไรเป็นองค์ประกอบไปสู่ขั้นตอนในวันที่สอง ที่สาม ที่สี่

สำหรับตัวหนิงเองก็ใช้ความชอบส่วนตัวและพื้นที่การทำรายการทอล์กทางช่อง 13 ปรับธีมรายการให้เป็นเรื่องเกี่ยวกับพระราชพิธี เชิญผู้รู้ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการทำงานมาทอล์กในรายการ หมายความว่าหนิงทำงานไปด้วย เก็บข้อมูลไปด้วยและทำการบ้านไปด้วย พอถึงวันพระราชพิธีเราก็มีความพร้อมพอสมควร ที่บอกว่า พอสมควร คือไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ เพราะมันเป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้ทุกวัน บางอย่างมีการปรับเปลี่ยน เราก็เอาข้อมูลที่ทำการบ้านไว้เมื่อสามเดือนที่แล้วมาพูดไม่ได้นะ เราต้องมารีไรต์ใหม่และดูว่าอันไหนเป็นปัจจุบันที่สุด ข้อมูลไหนถูกต้องที่สุด ต้องทำการบ้านอย่างนี้ตลอด จนกระทั่งพระราชพิธีเสร็จสิ้นก็ยังทำรายการต่ออีกหลายตอน หนิงทำแบบเก็บเล็กผสมน้อย แต่ทำตลอด ทำต่อเนื่องในทุก ๆ งาน

Q : เคยมีปัญหาเฉพาะหน้าเกิดขึ้นระหว่างบรรยายอย่างไรบ้าง แล้วแก้ปัญหาอย่างไร

ปัญหาเฉพาะหน้าแยกได้เป็นสามอย่าง หนึ่งคือปัญหาเรื่องเทคนิคการถ่ายทอด เช่น หน้าจอมืดไป หรืออะไรที่เป็นเรื่องการถ่ายทอดสด เราต้องตั้งสติไว้และเตรียมข้อมูลของตัวเองให้ดี เมื่อแก้ปัญหาได้ก็บรรยายต่อโดยสติไม่แตก ทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทำให้ราบรื่นต่อเนื่องที่สุดแบบที่ไม่ทำให้คนดูรู้สึกว่าเกิดความผิดพลาดนานเกินไป ซึ่งส่วนใหญ่เขาก็แก้ปัญหาได้รวดเร็วนะ ปัจจุบันนี้การถ่ายทอดมีประสิทธิภาพสูงมาก เพราะว่าเทคโนโลยีคืบหน้า ก็จะไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องพวกนี้

เรื่องที่สองคือเวลาที่ต้องบรรยายแบบไม่รู้กำหนด เราต้องทำการบ้านและเตรียมข้อมูลไว้ในมือให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ มันจะมีประโยชน์มากในกรณีที่ขั้นตอนหรือเหตุการณ์ในพระราชพิธีนั้นเกิดความล่าช้ากว่าหมายกำหนดการ หรือเพิ่มเวลามากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ผู้บรรยายกับทีมงานถ่ายทอดสดทุกคนก็จะต้องเลี้ยงไปเรื่อย ๆ เพราะเราไม่รู้ว่าเหตุการณ์จะสิ้นสุดเมื่อไหร่

ส่วนเรื่องที่สาม เป็นเชิงกายภาพของผู้ประกาศ เช่น กระแอมกระไอระหว่างบรรยาย เรื่องการปิด-เปิดไมค์ ระวังอย่าไปกระแอมกระไอใส่ไมค์ มันจะเกิดความเสียหาย เพราะเวลาถ่ายทอดสดมันจะเงียบมาก แค่กระซิบกันยังได้ยิน ต้องเขียนกระดาษคุยกัน ถ้าจะไอต้องส่งสัญญาณกับผู้กำกับว่าปิดไมค์หน่อย บางทีก็ต้องลุกวิ่งออกไปไอข้างนอก แล้วค่อยกลับเข้ามาพูดต่อ

Q : ความพอดีในการแสดงอารมณ์ร่วมกับเหตุการณ์ มีหลักการอย่างไร

จริง ๆ แล้วอารมณ์ของผู้บรรยายเป็นอารมณ์ที่อยู่ในระดับปกติ เหมือนกันกับผู้ประกาศข่าว อารมณ์ควรอยู่ในระดับกลาง สุขก็ไม่ทำเสียงร่าเริงลั้ลลา เศร้าก็ไม่ให้สะอึกสะอื้น แต่เวลาเศร้าโดยธรรมชาติของคนเราสปีดมันช้าลงเอง มันเป็นเรื่องของอารมณ์ และคนที่มีศิลปะในการใช้เสียงย่อมรู้ว่ากำลังพูดสิ่งที่เศร้าอยู่ คนดูก็กำลังเศร้า กำลังอยู่ในภวังค์ ผู้บรรยายก็ไม่ควรไปเร่งเร้า ไม่ควรเน้น ไม่ควรทำเสียงเข้ม ไม่ทำลายภวังค์ของผู้ชม

กลับไปที่ว่าเราเป็นคนหนึ่งที่อยู่ในอารมณ์เดียวกับผู้ชม ฉะนั้นเราต้องรักษาอารมณ์รักษาบรรยากาศ คนเขากำลังร้องไห้อยู่ เราจะมาพูดประวัตินู่นนี่ มันก็ไม่ใช่ คนไม่อยากฟังคุณ ส่วนตัวเราจะทำยังไงไม่ให้เศร้าจนพูดไม่ได้ อันนี้ก็ยากหน่อยนะ หลายครั้งหนิงก็ร้องไห้ แต่ร้องไม่ให้สะอื้น คนที่ทำงานแบบนี้ก็ต้องเก็บเสียงได้ ต้องถึงขั้นมุดลงไปร้องไห้ใต้โต๊ะ ส่วนงานรื่นเริงอารมณ์ยินดีเสียงมันมาตามธรรมชาติของอารมณ์อยู่แล้ว และมันก็มาด้วยบรรยากาศในการถ่ายทอด หลักการของผู้บรรยายคือ เสียงเราไม่ควรแปลกแยกกับบรรยากาศการถ่ายทอด เป็นหลักการเดียวกันกับผู้สื่อข่าวที่รายงานสถานจากสถานที่เกิดเหตุ

สำหรับการบรรยายงานพระราชพิธีนั้นสูงกว่าการรายงานข่าวอื่นใดทั้งปวงในชีวิตเรา เพราะเป็นเรื่องของเจ้าเหนือหัวเรา ฉะนั้นเราจะใช้เสียงด้วยความเคารพ ใช้เสียงด้วยความนอบน้อม ด้วยความสุภาพ และถวายพระเกียรติมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ คือเสียงมันมาจากใจ ไม่สามารถปรุงแต่งได้ เพราะฉะนั้นเราเคารพสิ่งไหน เรามักจะพูดถึงสิ่งที่เราเคารพด้วยน้ำเสียงที่สุภาพนุ่มนวล อันนี้เป็นศิลปะที่กลมกลืนกับชีวิตและความเชื่อความศรัทธาของเรา เราศรัทธาสิ่งใดเรามักจะพูดถึงสิ่งที่เราศรัทธาด้วยน้ำเสียงแห่งความศรัทธา เราเคารพศรัทธาสถาบันพระมหากษัตริย์ เราก็จะใช้คำพูดที่ดีที่สุด สุภาพและเทิดทูนที่สุดในจังหวะที่เหมาะสมที่สุด เราตัวเล็กที่สุด เราทำถวายพระเกียรติ เพราะฉะนั้นเราไม่โชว์ เราไม่ทำสิ่งที่เกินงาม หนิงว่ามันมาจากใจและมาจากการเรียนรู้และพัฒนาไปเรื่อย ๆ แล้วก็ต้องพัฒนาต่อไม่มีจบหลักสูตร ถ้ามีงานอะไรใหม่ก็ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ ต้องทำการบ้านใหม่ตลอด

Q : สิ่งที่ยากที่สุดของการบรรยายงานพระราชพิธีคืออะไร

สิ่งที่ยากที่สุดคือการหาข้อมูลให้ได้ละเอียดที่สุด เข้าถึงข้อมูลชั้นปฐมภูมิให้ได้ อันนี้คือสิ่งที่ยาก เพราะว่าเราก็เป็นประชาชนทั่วไป เราเข้าถึงข้อมูลได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น สำหรับสื่อมวลชน ผู้ประกาศ ผู้บรรยาย จะมีการถ่ายทอดข้อมูลผ่านการอบรม เราก็หาโอกาสไปฟัง แต่สุดท้ายแล้วก็ต้องหาเพิ่มอยู่ดี ซึ่งก็เข้าถึงข้อมูลปฐมภูมิได้ยากสักหน่อย แต่ก็ต้องพยายามให้มากที่สุด ไม่ปฐมภูมิ ได้ทุติยภูมิก็ยังดี ไม่ทุติยภูมิก็ตติยภูมิก็ยังดี ก็ทำเต็มกำลังที่เราจะหาได้ หาข้อมูลจนนาทีสุดท้ายที่จะบรรยาย แม้กระทั่งในเวลาที่บรรยายอยู่ ถ้ามีช่วงว่างก็ยังต้องหาข้อมูล ส่วนคลังข้อมูลเก่าก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง เหมือนเราเก็บข้อมูลใส่ลิ้นชักไว้ มันมีบางอย่างที่สามารถโยงกับข้อมูลในลิ้นชักได้ เช่น พระราชพิธีเป็นเรื่องใหม่ แต่สถานที่เป็นสถานที่เดิม อย่างพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม กี่พิธีก็อยู่ตรงนั้น เราก็เปิดลิ้นชักเอามาพูดได้ ฉะนั้นยิ่งมีลิ้นชักเยอะยิ่งมีประโยชน์

Q : อาจจะมีคำถามจากรุ่นใหม่ ๆ ว่า พี่หนิงได้รับเลือกตลอดเลย ผู้ประกาศรุ่นน้องจะมีโอกาสได้ทำตรงนี้ไหม

หนิงคิดว่าทุกคนมีโอกาส แต่ก็ต้องแสดงความพร้อมให้เห็นด้วย ตอนนี้ผู้บรรยายก็ไม่ได้มีหนิงคนเดียว อย่างงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกล่าสุดก็ใช้ผู้ประกาศ 10 กว่าท่าน แต่คนอาจจะจำเสียงหนิงได้ แล้วมันก็จำได้จริง ๆ เหรอ (ถามจริงจัง) คุณอาจจะจำผิดก็ได้มั้ง (หัวเราะ) ตอนนี้ก็มีรุ่นใหม่ผลัดเปลี่ยนขึ้นมาบ้าง เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่พูดไม่ได้มากนะคะ มันเป็นเรื่องความเชื่อมั่น เพราะมันเป็นเรื่องที่ผิดไม่ได้ มันไม่ใช่งานทดลอง น้อง ๆ จะต้องมีโอกาสสักวันหนึ่ง แต่ว่าต้องแสดงความพร้อมให้เห็น และเริ่มจากงานที่ไม่ซับซ้อนก่อน หนิงก็เริ่มมาจากงานที่ไม่ซับซ้อนเหมือนกัน