ทำไมถึงชอบขับรถ”ผ่าสัญญาณไฟแดง” มีคำตอบทางจิตวิทยาอธิบาย

สัปดาห์ที่ผ่านมา มีการส่งต่อคลิปไวรัล กรณีที่สัญญาณไฟจราจรทางข้ามม้าลายเปลี่ยนเป็นสีเขียวให้คนข้าม บริเวณหน้าหอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร ถนนราชดำเนิน แต่ปรากฏว่าไม่มีรถจอดให้คนข้ามตามสัญญาณแม้แต่คันเดียว จนเป็นเหตุให้คลิปดังกล่าวถูกรีทวีตออกไปเป็นจำนวนมากตั้งแต่เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ซึ่งเหตุผลที่ทำให้คนขับรถมักขับฝ่าสัญญาณไฟแดง

นอกจากการถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความไม่เคารพกฎระเบียบจราจรแล้วเรื่องนี้ยังสามารถอธิบายในเชิงจิตวิทยาได้

เริ่มจากเหตุผลระดับปัจเจกมาจากการเห็นแก่ความรวดเร็วมากกว่าความปลอดภัยโดยห้วงเวลาขณะที่คนตัดสินใจจะมีแรงจูงใจสองอย่างที่แข่งขันกันคือ ความปลอดภัย และความรวดเร็วทันใจ แต่เมื่อคนตัดสินใจเลือกแรงจูงใจ เรื่องความปลอดภัยอาจไม่เด่นชัดในใจเทียบเท่าความรีบร้อนระหว่างการเดินทาง ประกอบกับผลลัพธ์ต่อเนื่องที่ได้หลังการตัดสินใจ หากเลือกฝ่าสัญญาณไฟจราจรไปตอนนี้ คนขับรถจะไม่เสียเวลารอสัญญาณไฟเขียวในรอบถัดไป ซึ่งใช้เวลานานหลายนาที ดังนั้น ผลลัพธ์ด้านบวกข้างต้นจึงเป็นแรงกระตุ้นที่ผลักให้คนขับมักฝ่าสัญญาณไฟจราจรสีแดง

นอกจากนี้ การที่รถจำนวนมากฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจรพร้อมๆ กัน ยังสามารถอธิบายด้านจิตวิทยาได้ว่า การเห็นว่าใครๆ ก็ทำกัน ส่งผลให้คนรู้สึกไม่แปลกแยก ดังนั้น การที่มีรถคันอื่นขับฝ่าไฟแดงไปจึงเป็นอีกแรงผลักดันให้คนขับรถคันอื่นๆ คล้อยตาม พากันละเมิดกฎจราจรไปด้วย นั่นคือ สังคมที่คนละเมิดกฎจราจรถูกเข้าใจว่าเป็นเรื่องปกติ

แม้ในปัจจุบันทั่วกรุงเทพฯ มีสัญญาณไฟจราจรอัจฉริยะที่อยู่เหนือทางม้าลายกว่า 200 จุด เพื่อให้การใช้รถใช้ถนนเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและเพิ่มความปลอดภัยให้แก่ผู้ใช้ทางข้ามม้าลาย แต่กลับเป็นเพียงสัญญาณไฟไร้ความศักดิ์สิทธิ์ ไม่อาจควบคุมผู้ใช้รถใช้ถนนได้ตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ ทางแก้ที่ดีที่สุดจึงวกกลับมาที่ตัวบุคคลในเรื่องจิตสำนึกส่วนรวมนั่นเอง