วงศกร เทพเจริญ ทายาทณุศาศิริ “ผมไม่สร้าง Success Story ผมสร้าง Value”

การสืบทอดธุรกิจครอบครัว เป็นหน้าที่และภารกิจสำคัญของคนที่เกิดบนกองเงินกองทอง นักธุรกิจทุกตระกูลพยายามผลักดันทายาทเข้าทำงานในบริษัทของตัวเอง เพื่อเรียนรู้งานก่อนจะรับหน้าที่ดูแลต่อไปในอนาคต

ในแวดวงธุรกิจจึงมีทายาทนักธุรกิจหน้าใหม่ ๆ เปิดตัวมาให้รู้จักตลอด หนึ่งคนรุ่นใหม่ที่น่าจับตามองมาจากตระกูลเทพเจริญ เจ้าของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ชื่อดัง “ณุศาศิริ” เขาคือ แบงค์-วงศกร เทพเจริญ ลูกชายคนโตของ วิษณุ เทพเจริญ และ ศิริญา เทพเจริญ ที่เพิ่งเข้ามาทำงานบริษัท ณุศาศิริ จำกัด (มหาชน) ในตำแหน่งรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

แบงค์อายุ 27 ปี จบมัธยมจากโรงเรียนประจำที่อังกฤษ และจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ชีวิตส่วนตัว เขาแต่งงานมีภรรยาชื่อ พลอย เก่งกล้า และเพิ่งมีลูกสาวอายุยังไม่ถึง 1 ขวบ ทายาทนักธุรกิจดังคนนี้มีหัวทางธุรกิจตั้งแต่เด็ก สิ่งนี้อาจจะถ่ายทอดกันทางดีเอ็นเอส่วนหนึ่ง แต่ส่วนหนึ่งแน่ ๆ มาจากสิ่งแวดล้อม การปลูกฝังของครอบครัว

“ตอนเด็ก ๆ คุณพ่อคุณแม่เลี้ยงแบบบุฟเฟต์ ให้ดูแลตัวเอง และสอนให้รู้จักการทำงานหาเงินตั้งแต่เด็ก ผมทำงานมาตั้งแต่อายุน้อย เริ่มจากตามคุณพ่อไปทำงาน ตอนเรียนอังกฤษก็หารายได้ใช้เอง โดยเอาของเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปขาย ของที่หายาก ของเด็กหอก็มีไม่กี่อย่างคือ มาม่า ขายได้ห่อละปอนด์ มาทีหนึ่งก็เอาไปให้อยู่ได้ทั้งเทอม ที่บ้านให้เงินใช้เดือนละ 50 ปอนด์ แต่ผมเป็นคนใช้เงินเยอะ ซึ่งที่บ้านก็ไม่ห้าม แต่ว่าอยากใช้ก็ต้องหาเอง ตอนอายุ 14-15 ผมหาเงินได้เดือนละหลายร้อยปอนด์” เขาเล่า

พอกลับมาไทยเขาเปิดโชว์รูมขายรถหรูตั้งแต่อายุ 19-20 ปี โดยเริ่มจากขอเงินพ่อซื้อรถเบนซ์ E-Class (350 E) 2 คัน

จริงอยู่ที่เขามีเงินจากพ่อแม่ซัพพอร์ต ทำให้เริ่มต้นง่าย แต่กิจการโชว์รูมรถครั้งนั้นก็ไม่ใช่ “ของเล่นคนรวย” แต่เป็นเหมือนโรงเรียนฝึกหัดมากกว่า เพราะเขาได้คิด ได้หาโมเดลธุรกิจที่ทำให้อยู่ได้

ส่วนการทำงานในธุรกิจครอบครัว เขาเริ่มจากทำงานบริหารโรงแรมที่ครอบครัวเข้าไปร่วมลงทุนกับพาร์ตเนอร์ ทำอยู่ 3 ปี จึงเข้ามาทำงานในณุศาศิริเต็มตัวได้ปีกว่า

แบงค์บอกหลายครั้งว่าตัวเองยังไม่เก่ง มีสิ่งที่ต้องพัฒนาอีกเยอะ และเปิดกว้างพร้อมจะเรียนรู้ตลอดเวลา “ผมไม่ได้เก่ง ทุกวันนี้ที่รู้เพราะได้โค้ชชิ่ง ได้ติวเตอร์ที่ดี ซึ่งก็คือคุณพ่อคุณแม่”

เขาบอกว่าสิ่งที่พ่อบอกและเขาจดจำตลอดคือ

“พลาดได้ ทุกคนต้องพลาด แต่พลาดแล้วต้องเรียนรู้ ผมว่าพลาดกี่ครั้งก็ได้ตราบใดที่เราเรียนรู้จากมัน คุณพ่อพูดตลอดว่า ถ้าเชื่อพ่อก็จบแล้ว ไม่ต้องลองผิดลองถูก พ่อบอกให้ขึ้นทางด่วน ผมอยากติดไฟแดง ผมบอกว่าแบงค์อยากดูว่าข้างทางมันเป็นยังไง”

ส่วนคุณแม่คนเก่ง ก็มีส่วนในการพัฒนาลูกชายคนนี้ไม่แพ้กัน

“คุณแม่จะพูดให้เราคิดอยู่ตลอด คุณแม่เป็นคนคิดไม่หยุดเลย คิดเยอะกว่าคุณพ่อ แกจะพักไม่ค่อยเป็น จะกระตุ้นให้เราคิด เพราะว่าบางครั้งเราขี้เกียจ แล้วก็เรื่องตัวเลข ก็จะต้องออดิตผมเรื่อย ๆ คุณแม่เป๊ะกว่าผมเยอะ”

ถามถึงโรลโมเดล จะเป็นใครไปไม่ได้

“ก็ต้องเป็นคุณพ่อ เพราะแกเป็นความสำเร็จที่เราเห็นชัด ๆ และเห็นทุกวัน แต่ถ้าคนที่กำลังอยู่ในกระแส ผมชอบประธานาธิบดีของอเมริกา ชอบในทางธุรกิจนะครับ เขาล้มละลาย 3 รอบ ผมชอบที่เขาแอ็กเกรสซีฟดี เขากล้าที่จะทำ”

แบงค์วิเคราะห์สไตล์การทำงานของตัวเองว่า “ผมค่อนข้างไม่ใช่คนบายเดอะบุ๊ก (ทำอะไรตามตำรา) จริง ๆ หลายอย่างต้องทำตามขั้นตอนของมัน ผมคิดตลอดว่าผมไม่ใช่บิสซิเนสแมน แต่เป็นบิสซิเนสอาร์ติสต์ เราพยายามจะแก้ปัญหาด้วยกลยุทธ์เชิงสร้างสรรค์ การแก้ปัญหามันไม่ได้มีทางเดียว เราก็ต้องหาวิธี อีกอย่างคือผมไม่ค่อยได้เรียนหนังสือ ผมก็เลยไม่รู้ว่าในตำรามันมีอะไรบ้าง” เขาบอกอย่างจริงใจ

“ผมไม่พยายามสร้างซักเซสสตอรี่ แต่ผมพยายามสร้างแวลู ผมว่าซักเซสสตอรี่มันวันไทม์แล้วมันก็จบไป ผมว่าเราสร้างแวลูให้ทั้งตัวเราและบริษัทที่เราสามารถเพิ่มขึ้นได้เรื่อย ๆ ดีกว่า ตัวผมเองมีอะไรที่ต้องเรียนรู้อีกเยอะ เพื่อนร่วมงาน ทีมงาน ก็สามารถสอนและแนะนำผมได้หลาย ๆ เรื่อง ผมว่าทีมงานที่ดีมันสำคัญ ตัวเราคนเดียวไม่สามารถทำได้”

ถามว่า ถ้ามีสิ่งที่ตัวเองมั่นใจมาก ๆ แต่มันไม่ตรงกับที่คนอื่นแนะนำ จะทำอย่างไรดี

“อยู่ที่การจัสติฟายครับ ถ้าเรายังไม่สามารถพิสูจน์สิ่งที่เราคิดว่าดีได้ ถ้ากับติวเตอร์และโค้ชชิ่ง ที่พร้อมจะฟังเราที่สุดแล้ว เรายังทำให้เขาฟังเราไม่ได้ มันก็ไม่มีใครในตลาดฟังเราหรอก ถ้าผมจะขายของชิ้นนึง ผมขายพี่ไม่ได้ พี่จะออกเงินช่วยผมเหรอ ถ้าผมขายให้พี่ได้ ผมถึงจะขายคนอื่นได้ มันก็เหมือนเขียนเรื่องกู้ธนาคารแหละครับ” เขาตอบ

อยากให้คนจดจำเราแบบไหน ? คำถามสุดท้ายที่โยนไปให้เขาได้บอกความเป็นตัวเอง

“ไม่เคยคิดเลยครับ จดจำแบบไหน…(หยุดคิด) เป็นเด็กคนหนึ่งที่ยังอยากพัฒนาอีกเยอะ เป็นจูเนียร์คนหนึ่งในอินดัสตรีละกัน ณ วันนี้ผมพร้อมจะพัฒนา เขาจะจดจำเรายังไง มันก็อยู่ที่เราจะดีลิเวอร์ ถ้าผมไม่สามารถดีลิเวอร์อะไรได้ เขาก็คงไม่รีเมมเบอร์อะไรผม ผมคิดไว้สิบอย่าง ผมดีลิเวอร์ได้ห้าอย่าง เขาก็คงจำผมแบบหนึ่ง ถ้าผมดีลิเวอร์ได้สิบสอง มันก็อีกอย่างหนึ่ง”

ถ้าคุณพ่อคุณแม่ได้ยินได้อ่านคำตอบของลูกชาย คงชื่นใจน่าดู