5 เช็กลิสต์ พ่อแม่ยุคโควิดควรรู้ ก่อนพาลูกฉีดวัคซีน รับมือโอมิครอน BA.4-BA.5

ฉีดวัคซีนเด็ก
FILE PHOTO : CVC กลางบางซื่อ

5 เช็กลิสต์ ที่พ่อแม่และผู้ปกครองยุคโควิดควรรู้ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนพาลูกฉีดวัคซีน รับมือโอมิครอน BA.4 – BA.5

วันที่ 19 กรกฎาคม 2565 เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีทีท่าว่าอาจจะกลับมารุนแรงอีกครั้ง อีกทั้งไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่แม้จะมีความรุนแรงน้อย แต่การระบาดได้รวดเร็ว และมีการกลายพันธุ์เป็น BA.4 และ BA.5 สร้างความกังวลใจให้คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกวัยเรียนไม่น้อย เพราะขณะนี้เด็ก ๆ กลับมาเรียนหนังสือแบบออนไซต์ตามปกติแล้ว

แม้การแพทย์ปัจจุบันจะยังป้องกันการติดเชื้อโควิดไม่ได้ 100% แต่การฉีดวัคซีนโควิดก็สามารถลดโอกาสการป่วยรุนแรงจากการติดเชื้อได้ ซึ่งการฉีดวัคซีนโควิดในเด็กนั้นมีข้อพิจารณาที่แตกต่างจากผู้ใหญ่ ได้แก่

1.อายุเท่าไหร่จึงสามารถฉีดวัคซีนโควิดได้ ?

เนื่องด้วยกำหนดอายุของการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในเด็กยังคงอยู่ในกระบวนการอนุมัติโดย อย.อย่างต่อเนื่อง ผู้ปกครองโดยเฉพาะของกลุ่มเด็กเล็กจึงต้องมีการอัพเดตข้อมูลช่วงอายุที่ฉีดวัคซีนได้อย่างสม่ำเสมอ

ตัวอย่างเช่น ประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศแรก ๆ ที่มีการอนุมัติใช้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ในเด็ก โดยเริ่มแรกมีการอนุมัติให้ฉีดวัคซีนในเด็กวัยรุ่นอายุ 13-15 ปี เป็นกลุ่มแรก หลังจากนั้นจึงขยายมายังกลุ่มเด็กโตอายุ 6-12 ปี และล่าสุดเมื่อปี 2564 จีนได้อนุมัติวัคซีนเชื้อตายในเด็กอายุ 3 ขวบขึ้นไป

เช่นเดียวกับกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิ กัมพูชา มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ฯลฯ ก็เริ่มมีการขยายกรอบการอนุมัติใช้วัคซีนในเด็กอายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไปแล้วเช่นกัน

ขณะที่ประเทศไทย ช่วงอายุที่สามารถฉีดวัคซีนได้ ข้อมูลล่าสุด ณ ขณะนี้ คือ กลุ่มเด็กและเยาวชนที่มีอายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป ส่วนเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ยังไม่สามารถให้รับการฉีดวัคซีนได้

อย่างไรก็ตาม จากแนวโน้มของต่างประเทศที่เริ่มมีการฉีดวัคซีนในเด็กเล็กอย่างแพร่หลายมากขึ้น การฉีดวัคซีนโควิดในเด็กเล็กในบ้านเราก็อาจมีการปรับเปลี่ยนในเร็ว ๆ นี้

2.เด็กมีโรคประจำตัวสามารถฉีดวัคซีนได้เลยหรือไม่ ?

สำหรับกลุ่มเด็กที่มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 7 โรคกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ โรคอ้วนที่มีภาวะทางเดินหายใจอุดตัน โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคไตวายเรื้อรัง โรคมะเร็ง และโรคเบาหวาน รวมถึงกลุ่มโรคพันธุกรรม และเด็กที่มีพัฒนาการช้า

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญของไทยได้ให้คำแนะนำว่า เด็กที่มีโรคประจำตัวควรเป็นกลุ่มที่ต้องได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ก่อนกลุ่มเด็กที่มีสุขภาพแข็งแรงทั่วไป เนื่องจากเด็กในกลุ่มนี้เมื่อได้รับเชื้อโควิด-19 แล้วอาจมีโอกาสที่จะป่วยหนักโดยมีอาการรุนแรงมากกว่าหากยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน

โดยการเตรียมตัวก่อนฉีดวัคซีนสำหรับเด็กใน 7 กลุ่มโรคเสี่ยง สามารถทานยาประจำที่ทานอยู่ได้ตามปกติ และควรมีการปรึกษากุมารแพทย์ก่อนการรับวัคซีน

3.เด็กจำเป็นต้องฉีดวัคซีนเข็มบูสเตอร์หรือไม่ ?

การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นโดยเว้นระยะเวลาอย่างเหมาะสม สามารถช่วยสร้างภูมิคุ้มกันได้เป็นอย่างดี ทั้งยังช่วยลดโอกาสในการป่วยอาการหนักเมื่อได้รับเชื้ออีกด้วย

โดยการเว้นระยะวัคซีนเข็มแรกและเข็มที่ 2 ที่เหมาะสมสำหรับกลุ่มเด็ก ในกรณีที่เข็มแรกเป็นวัคซีนเชื้อตายจะอยู่ที่ 4 สัปดาห์ และ 8 สัปดาห์ ในกรณีที่เข็มแรกเป็นวัคซีน mRNA

4.วัคซีนโควิด-19 ฉีดร่วมกับวัคซีนเด็กชนิดอื่นได้หรือไม่ ?

ก่อนจะมาเป็นวัคซีนป้องกันโควิด-19 เทคโนโลยีวัคซีนบางชนิด อย่างเช่น วัคซีนเชื้อตาย ได้มีการพัฒนาเพื่อใช้ในการเป็นวัคซีนป้องกันโรคในเด็กมาเป็นเวลานานแล้ว อาทิ ไวรัสตับอักเสบเอ โปลิโอ และไข้หวัดใหญ่ ซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครองที่ต้องพาลูกไปฉีดวัคซีนเด็กตามนัดหมายอาจเกิดความสงสัยว่า วัคซีนเด็กสำหรับป้องกันโรคอื่น ๆ สามารถฉีดร่วมกับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้หรือไม่

สำหรับกรณีนี้ กรมควบคุมโรคได้แนะนำว่า สำหรับเด็กที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นชนิดเชื้อตาย หรือ mRNA ควรเว้นระยะห่าง 2 สัปดาห์

อย่างไรก็ตาม สำหรับวัคซีนสำหรับการป้องกันการติดเชื้อแบบฉุกเฉินบางตัวที่มีการกำหนดระยะเวลารับวัคซีน เช่น โรคติดเชื้อหลังการสัมผัสอย่างโรคพิษสุนัขบ้า และบาดทะยัก สามารถเข้ารับวัคซีนได้ตามกำหนดโดยไม่ต้องเลื่อน ถึงแม้จะเป็นวันเดียวกับการรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ก็ตาม

5.อาการหลังฉีดวัคซีนแบบไหนถึงควรพบแพทย์ ?

อาการข้างเคียงหลังการฉีดวัคซีนในเด็กก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ เช่น มีอาการปวด บวม แดง ร้อน บริเวณที่ฉีดวัคซีน อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ หรือมีไข้ ซึ่งอาการส่วนใหญ่มักเกิดในระยะ 3 วันแรก แต่ถ้าหากมีอาการผิดปกตินอกเหนือจากอาการข้างต้น เช่น แน่นหน้าอก ใจสั่น หอบ เหนื่อยง่ายผิดปกติ ควรพาบุตรหลานไปพบแพทย์ทันที

กรณีผลข้างเคียงในเด็กจากวัคซีนโควิด-19 ที่ไม่รุนแรงนั้น ล่าสุดวัคซีนเชื้อตาย โดยซิโนแวค ไบโอเทค บริษัทผู้วิจัย ผลิตและพัฒนาวัคซีนซิโนแวค ก็กำลังเป็นที่จับตา โดยขณะที่โควิด-19 ยังไม่หมดไป ทางซิโนแวค ไบโอเทคจึงเดินหน้าวิจัยและพัฒนาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ๆ และซิโนแวคก็เป็นหนึ่งในวัคซีนชนิดเชื้อตายที่ในไทยอนุมัติให้ใช้สำหรับเด็กไทย

5 เช็กลิสต์ ยุคโควิดควรรู้ ก่อนพาลูกฉีดวัคซีน รับมือโอมิครอน BA.4 - BA.5

หลังจากที่ผ่านมาซิโนแวคเป็นวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิดเชื้อตายที่ได้รับการอนุมัติให้ฉีดในไทยครอบคลุมทั้งในกลุ่มผู้ใหญ่ที่เป็นประชาชนทั่วไป และผู้สูงอายุ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีโรคประจำตัว หรือที่เรียกว่ากลุ่ม 608 ส่วนกลุ่มเด็กนั้นได้รับการอนุมัติให้ฉีดได้กับเด็กไทยกลุ่มอายุ 6 ปีขึ้นไป

ในขณะที่วัคซีนซิโนแวคนั้นได้รับการอนุมัติฉุกเฉินโดยองค์การอนามัยโลกให้ฉีดในเด็กและเยาวชนใน 14 ประเทศทั่วโลก และปัจจุบันถูกแจกจ่ายไปยังกลุ่มเด็กแล้วกว่า 260 ล้านโดสทั่วโลก โดยวัคซีนได้ถูกทดสอบประสิทธิภาพผ่านงานวิจัยที่น่าเชื่อถือในนานาประเทศ

ล่าสุด มีรายงานผลการวิจัยจาก Chilean Real-World ประเทศชิลี เผยว่า วัคซีนเชื้อตายมีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ในเด็กอายุ 6-16 ปี ได้กว่า 74.5% และป้องกันอัตราการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจากการติดเชื้อได้ถึง 91% และอาการรุนแรงฉุกเฉิน 93.8%

สำหรับประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนนั้น พบว่าในเด็กอายุ 3-5 ปี สามารถป้องกันการต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลได้ 64.6% และป้องกันอาการรุนแรงฉุกเฉินได้ 69%

และมีข้อมูลของสถาบันสาธารณสุขชิลี (ISP) จากรายงานประเมินผลการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในเด็กและเยาวชนจำนวนกว่า 6.9 ล้านโดสทั่วประเทศ พบว่าหลังฉีดวัคซีนซิโนแวค มีอัตราการเกิดผลข้างเคียงในเด็กอยู่ในระดับต่ำ คือ 10.67 ต่อ 100,000 โดส ซึ่งอาการข้างเคียงนั้นก็เป็นอาการในระดับที่ไม่รุนแรง