โอกาสส่งออกไทย หลังจีนแบนสินค้าไต้หวัน 2,000 รายการ

แนนซี เพโลซี-ไช่ อิงเหวิน
แนนซี เพโลซี-ไช่ อิงเหวิน
อัพเดตล่าสุด 11 สิงหาคม 2565 เวลา 07.59 น.

ความตึงเครียดกรณีไต้หวันได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ “นางแนนซี เพโลซี” เยือนไทเป เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2565 นับเป็นการเยือนของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐครั้งแรกในรอบ 25 ปี โดยนางแนนซีได้เข้าพบ “นางไช่ อิงเหวิน” ประธานาธิบดีไต้หวัน ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับฝ่ายจีนมาก จนหลายฝ่ายต่างกังวลกันว่า การเยือนไทเปของนางแนนซีอาจจะกลายเป็นการจุดชนวนปัญหาระหว่างสหรัฐกับจีนต่อไป

ประกอบกับวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา ตรงกับวันครบรอบ 95 ปีของการก่อตั้งกองทัพจีน หรือที่รู้จักกันในนาม “กองทัพปลดปล่อยประชาชน” (People’s Liberation Army : PLA) ยิ่งจีนประกาศขยายระยะเวลาการซ้อมรบครั้งใหญ่บริเวณรอบเกาะไต้หวัน ออกจนไปถึงวันที่ 8 ก.ย. 2565 ยิ่งทำให้สถานการณ์ตึงเครียดมากยิ่งขึ้น

จีนแบนสินค้าไต้หวัน

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป ให้ความเห็นว่า จีนใช้มาตรการทางเศรษฐกิจสั่ง “แบน” ห้ามนำเข้าสินค้าจากไต้หวัน จำนวนมากกว่า 2,000 รายการ จากทั้งหมด 3,200 รายการ ในสินค้า 35 ประเภท เช่น ปลาและอาหารทะเล, น้ำมันปรุงอาหาร, บิสกิตและเค้ก ภายใต้แบรนด์สินค้ากว่า 100 แบรนด์ เพื่อตอบโต้การเดินทางเยือนไต้หวัน ของแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ

วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา
วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา

โดยเว็บไซต์กรมศุลกากรของจีนได้ออกประกาศอย่างเป็นทางการห้ามนำเข้าสินค้าจากไต้หวัน ภายหลังจากนางแนนซี เพโลซี เข้าพบกับไช่ อิงเหวิน ประธานาธิบดีของไต้หวัน โดยระบุเหตุผลว่า สินค้าเหล่านี้ไม่ได้รับการลงทะเบียนอย่างถูกต้องตามเกณฑ์ใหม่ของจีน

ทั้งนี้ จีนพยายามลงโทษไต้หวันด้วยบทลงโทษทางเศรษฐกิจ ก่อนหน้านี้ จีนก็เคยใช้ “มาตรการห้ามนำเข้า” ลงโทษไต้หวันมาแล้ว เช่น การสั่งห้ามนำเข้าสับปะรด, แอปเปิล และน้อยหน่า แต่ที่ผ่านมาการแบนของจีน “จำกัด” อยู่ในกลุ่มสินค้าไม่กี่ชนิด และจีนไม่เคยมีการแบนสินค้าจำนวนมากเช่นนี้มาก่อน

การแบนสินค้าครั้งนี้เป็นหนึ่งในมาตรการกดดันทางเศรษฐกิจที่ปักกิ่งพุ่งเป้าโจมตีไปยัง “อุตสาหกรรมเกษตร” ของไต้หวัน เนื่องจากภูมิภาคตอนใต้ของไต้หวันเป็นแหล่งปลูกผลไม้ ซึ่งถือเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) และประธานาธิบดี ไช่ อิงเหวิน ที่มีจุดยืนสนับสนุนให้ไต้หวันประกาศเอกราชจากจีนอย่างเป็นทางการ

สำหรับมูลค่าการค้าระหว่างจีนและไต้หวัน ปี 2564 อยู่ที่ 208,917 ล้านเหรียญสหรัฐ เทียบสัดส่วนที่จีนนำเข้าสินค้าจากไต้หวัน คิดเป็น 20% เทียบกับตลาดโลก ในปี 2564 มีมูลค่า 82,690 ล้านเหรียญ และการส่งออกไปยังไต้หวัน คิดเป็นสัดส่วน 27% โดยมูลค่าการค้า 126,277 ล้านเหรียญ สินค้าส่งออกสำคัญและสินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ เครื่องจักรอุปกรณ์ไฟฟ้า, เครื่องจักรบอยเลอร์, อุปกรณ์ทัศนศาสตร์, พลาสติก และอาหาร

ขณะที่มูลค่าการค้าระหว่างประเทศไทยกับไต้หวัน ปี 2564 เท่ากับ 13,021 ล้านเหรียญ หรือส่งออก 7,043 ล้านเหรียญ คิดเป็นสัดส่วน 2% จากการส่งออกไปทั่วโลก และนำเข้า 5,977 ล้านเหรียญ คิดเป็นสัดส่วน 2% ของตลาดโลก สินค้าส่งออกและนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรอุปกรณ์ไฟฟ้า, เครื่องจักรบอยเลอร์, ยานพาหนะและส่วนประกอบ, พลาสติก, เคมีภัณฑ์อินทรีย์, ยางและผลิตภัณฑ์ยาง

จับตาห่วงโซ่เซมิคอนดักเตอร์

แน่นอนว่าปัญหาและความตึงเครียดที่เกิดขึ้นระหว่าง 2 มหาอำนาจโลกนั้นไม่ใช่เรื่องดีของคนทั่วโลก ก่อนหน้านี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เพิ่งปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (World GDP) ปี 2565 จาก 3.6% เหลือ 3.2% ซึ่งถือว่าอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับธนาคารโลก (World Bank) และ OECD ที่ปรับลดมาก่อนหน้านี้

ดังนั้นเมื่อเกิดความเสี่ยงเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการที่จะเกิดการใช้กำลังระหว่างกัน การเกิดความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศ ส่งผลให้ประเทศไทยต้องติดตามว่า การผ่อนคลายกำแพงภาษีระหว่างสหรัฐ-จีน (Trade War) ก่อนหน้าที่จะเกิดวิกฤตการณ์ไต้หวันครั้งนี้ “อาจได้รับผลกระทบ” กลับมาหรือไม่

“ไต้หวัน” ถือเป็นประเทศที่มีความสำคัญต่อโลกมากประเทศหนึ่ง โดยเฉพาะ “อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์” ที่ใช้กันในโลกทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์ไปจนถึงแล็ปทอป, นาฬิกา, เกม ส่วนใหญ่ใช้ “ชิปคอมพิวเตอร์” ที่ผลิตในไต้หวัน จากการประเมินพบว่า บริษัทผลิตสารกึ่งตัวนำไต้หวัน (Taiwan Semiconductor Manufacturing Company-TSMC) เพียงบริษัทเดียวครองส่วนแบ่งเกินกว่าครึ่งหนึ่งของตลาดโลก มีมูลค่าเกือบ 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 3.3 ล้านล้านบาท)

ดังนั้นหากไต้หวันถูกครอบครองโดยจีน อาจจะทำให้จีนกลายเป็นผู้ควบคุมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ที่สำคัญที่สุดในโลกไว้ได้ส่วนหนึ่ง จากที่ผ่านมาไต้หวันเป็นผู้นำเข้าแร่และวัตถุดิบจากจีนอยู่

โดยล่าสุด กระทรวงพาณิชย์จีน ได้สั่งงดส่งออกทรายธรรมชาติไปยังไต้หวัน เพื่อตัดต้นธารวัตถุดิบทำ “แผ่นซิลิคอน” ในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ หมายถึงต่อไปนี้ อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของไต้หวันจะ “ขาดแคลนวัตถุดิบ” รายได้ส่งออกราว 40% ของไต้หวันจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงและส่งผลต่อธุรกิจเกี่ยวเนื่องทั่วโลก

โอกาสในวิกฤต

นายวิศิษฐ์มองว่า เป็นโอกาสดีของสินค้าไทยในการส่งออกไปยังจีน เนื่องจากจีนมีมาตรการทางเศรษฐกิจสั่งแบนห้ามนำเข้าสินค้าจากไต้หวัน จำนวนมากกว่า 2,000 ชนิด โดยสินค้าที่ไต้หวันส่งออกไปจีนมาก ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้า, เซมิคอนดักเตอร์, เครื่องจักรบอยเลอร์, สินค้าพลาสติก, ทองแดง, อาหารบางชนิด

เช่น เครื่องดื่ม-อาหารสำเร็จรูป-แป้งพาสทรี-ขนมปัง-ชากาแฟ-เครื่องเทศ-ผลไม้-อาหารทะเล ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกที่ไทยมีศักยภาพในการส่งออกไปประเทศจีนอยู่แล้ว “ดังนั้นไทยอาจจะพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสในการสร้างแต้มต่อทางการค้า และแย่งชิงส่วนแบ่งทางตลาดสินค้ารายการเหล่านี้ได้เพิ่มขึ้น

เช่นเดียวกับแนวโน้มการส่งออกสินค้าอาหารไทยในช่วง 3 ไตรมาสที่เหลือของปี 2565 คาดว่าจะมีมูลค่า 913,978 ล้านบาท หรือขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 และยังคงคาดการณ์การส่งออกทั้งปีไว้ที่ 1,200,000 ล้านบาท หรือขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.3

โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากความต้องการที่สูงขึ้นตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจภาคท่องเที่ยว ราคาอาหารโลกยังคงปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลดีต่อสินค้าเกษตรและอาหารของไทยโดยรวม ประกอบกับเงินบาทอ่อนค่าที่สุดในรอบ 5 ปี

แต่อีกด้านหนึ่งก็จะมีอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ จะเป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่มีการใช้ชิปเซมิคอนดักเตอร์และแบตเตอรี่ไฟฟ้ารถยนต์ เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์, รถไฟฟ้า, เรือ, เครื่องบิน, คอมพิวเตอร์, อุปกรณ์ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมอนาคต ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อไทยด้วย

เพราะไทยมีการส่งออกสินค้าในกลุ่มที่ใช้เซมิคอนดักเตอร์ค่อนข้างมาก หากขาดแคลน supply อาจจะเกิดการชะงัก ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยและเศรษฐกิจไทย

“ประเทศไทยควรแสดงท่าทีรักษาจุดยืนไม่เลือกข้าง เพราะไทยจะต้องเลือกได้ข้างเดียวคือ ข้างรักษา ‘ผลประโยชน์’ ของไทย ดังนั้นการบาลานซ์ความสัมพันธ์จึงไม่ใช่การเชียร์มวย” นายวิศิษฐ์กล่าว