จีนซ้อมโจมตีไต้หวัน – รัวตัดขาดสหรัฐ 8 ด้าน งงเรื่องลดโลกร้อนโดนด้วย

AP PHOTO

ยังไม่จบง่าย ๆ จีนซ้อมโจมตีไต้หวัน พร้อมใช้ 8 มาตรการตอบโต้สหรัฐ สั่งสอนทริปเพโลซี

วันที่ 6 สิงหาคม 2565 สำนักข่าว เอพี รายงานว่า ไต้หวันตรวจจับสัญญาณการซ้อมรบของจีนที่ใช้ตอบโต้กรณีนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกา ว่าเป็นการจำลองแผนโจมตีไต้หวัน หลังเรือรบและเครื่องบินรบของจีนหลายรุ่นซ้อมเคลื่อนกำลังเข้าไปล้ำเส้นกึ่งกลางของช่องแคบไต้หวัน

จีนซ้อมโจมตีไต้หวัน
ITaiwanese naval frigate Lan Yang is seen from the deck of a Chinese military ship during military exercises on Friday, Aug. 5, 2022. Lin Jian/Xinhua via AP)

กระทรวงกลาโหมไต้หวันส่งข้อความทางทวิตเตอร์ว่า กองทัพไต้หวันเฝ้าระวังสถานการณ์ มีกองเรือและฝูงบินลาดตระเวนรอบเกาะ และเตรียมพร้อมระบบขีปนาวุธภาคพื้นดิน เพื่อรับมือกับการซ้อมรบของจีน

กองทัพไต้หวันระบุด้วยว่า ตรวจจับพาหนะทางอากาศเหินอยู่นอกชายฝั่งเขตคินเหมิน ใกล้เกาะลี่หยู่ และเกาะเล็ก เป่ยติง เมื่อคืนวันศุกร์ที่ 5 ส.ค. คาดว่าเป็นโดรนของจีน ทำให้ไต้หวันยิงเตือนออกไป

จีนซ้อมโจมตีไต้หวัน
A military fighter jet flies above the Taiwan Strait  AP Photo/Ng Han Guan)

ทั้งนี้ คินเหมิน หรือที่รู้จักในชื่อ คีมอย เป็นหมู่เกาะที่อยู่ห่างจากชายฝั่งเมืองเซียะเหมิน มณฑลฝูเจี้ยน ทางภาคตะวันออกของจีน เพียง 10 ก.ม.

“รัฐบาลและทหารของเราจับตาการซ้อมรบของจีน และปฏิบัติการทางยุทธวิธีข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิด เราพร้อมที่จะตอบโต้หากจำเป็น” ประธานาธิบดี ไช่ อิงเหวิน ผู้นำไต้หวันส่งข้อความแจ้งทางทวิตเตอร์

A military jet fighter flies above the Taiwan Strait  (AP Photo/Ng Han Guan)

จีนซ้อมรบกระสุนจริงตั้งแต่วันที่ 4 ส.ค. ไล่หลังจากที่นางเพโลซีเดินทางเยือนไต้หวันเมื่อวันที่ 2-3 ส.ค. โดยตัดสินว่า นางเพโลซีละเมิดนโยบายเคารพจีนเดียว อีกทั้งยังมองว่าไต้หวันพยายามแยกตัว ซึ่งอาจต้องใช้กำลังผนวกดินแดน อีกทั้งการที่ไต้หวันต้อนรับเจ้าหน้าที่ต่างประเทศเช่นนี้ เท่ากับแสดงตนว่าเป็นเอกราช

Taiwan Air Force Mirage fighter jets taxi on a runway at an airbase in Hsinchu, Taiwan, Friday, Aug. 5, 2022.  . (AP Photo/Johnson Lai)

คาดว่าการซ้อมรบของจีนที่ดำเนินมาตั้งแต่วันพฤหัสฯ จะสิ้นสุดลงวันอาทิตย์ที่ 7 ส.ค.นี้ ถึงขณะนี้การซ้อมรบใช้วิธียิงขีปนาวุธลงเป้าหมายในทะเลทางเหนือและทางใต้ นับเป็นการซ้อมรบที่เอิกเกริกที่สุดนับจากปี 2538 และ 2539 ซึ่งตอนนั้นถูกมองว่าต้องการข่มขู่ผู้นำไต้หวันและชาวไต้หวันในช่วงเลือกตั้ง

 ขณะเดียวกัน จีนประกาศมาตรการตอบโต้สหรัฐอเมริการอบใหม่ 8 ประการ เมื่อวันศุกร์ที่ 5 ส.ค. ได้แก่

1.ตัดขาดการสื่อสารกันระหว่างผู้นำกองทัพของสองประเทศ

2.ตัดขาดการประชุมระหว่างกันระหว่างกระทรวงกลาโหมของสองประเทศ

3.ตัดขาดการเจรจาเรื่องความมั่นคงทางทะเล

4.ตัดขาดการส่งตัวผู้อพยพผิดกฎหมายกลับประเทศ 

5.ตัดขาดความช่วยเหลือด้านความยุติธรรมทางอาญา

6.ตัดขาดการเจรจาเรื่องสภาพภูมิอากาศ 

7.ตัดขาดความร่วมมือในการแก้ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ

8.ตัดขาดความร่วมมือด้านมาตรการต่อต้านยาเสพติด

A Chinese military plane flies during a training exercise. (Xinhua via AP)

มาตรการที่นานาประเทศพูดถึงและเป็นที่วิจารณ์กันมากคือ การยุติความร่วมมือทางสภาพภูมิอากาศ หรือความร่วมมือลดภาวะโลกร้อน ที่ไม่ได้ส่งผลกระทบแค่สองชาติมหาอำนาจที่ปล่อยก๊าซก่อภาวะเรือนกระจกมากที่สุดอันดับหนึ่งและอันดับสองของโลก แต่จะส่งผลกระทบโดยรวมต่อโลก และแผนงานที่มีข้อตกลงร่วมกันที่กลาสโกว์ เมื่อปีที่แล้ว

นายแอนโทนี บลิงเคน รมว.ต่างประเทศสหรัฐ กล่าวขณะเยือนฟิลิปปินส์ เมื่อวันที่ 6 ส.ค.ว่า จีนไม่ควรเอาการเจรจาเรื่องสำคัญของโลกอย่างวิกฤตสภาพอากาศ มาเป็นตัวประกัน “เพราะมาตรการที่จีนตัดขาดการติดต่อต่าง ๆ นั้น ไม่ได้ลงโทษสหรัฐอเมริกา แต่กำลังลงโทษโลก”

……